ไม่ท้อ-ไม่ถอดใจ-ไม่ยุบสภา "บิ๊กตู่"อยู่ได้นานแค่ไหน? สงครามโรค-โควิด ยังวิกฤติ


เพิ่มเพื่อน    

         ท่าทีทางการเมืองของ "บิ๊กตู่-พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี" ซึ่งตอบคำถามของสื่อมวลชน ผ่านการสื่อสารด้วยการบันทึกเทปเมื่อช่วงเย็นวันพฤหัสบดีที่ 29 ก.ค. และสื่อเริ่มนำมาเผยแพร่อย่างกว้างขวางตั้งแต่ช่วงค่ำวันเดียวกัน มีความน่าสนใจยิ่ง เพราะนับแต่โควิดระบาดหนัก การให้สัมภาษณ์สื่อ-การแถลงข่าวของพลเอกประยุทธ์ก็หายไปร่วมเดือน จากมาตราการต่างๆ ที่ออกมา เช่น การขอความร่วมมือไม่ให้สื่อมวลชนเข้าไปทำข่าวที่ทำเนียบรัฐบาล โดยที่ผ่านมา พลเอกประยุทธ์ใช้การสื่อสารผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัวและผ่านทีมงานโฆษกรัฐบาลเป็นหลัก

            จุดใหญ่ในบทสัมภาษณ์ดังกล่าว เนื้อหาหลักๆ ก็คือการพูดถึง "สงครามโรค-โควิด" ในประเทศไทยเวลานี้ โดยเฉพาะการรับมือ-แก้ปัญหาของรัฐบาล-ศบค. เช่น การช่วยเหลือเยียวยาประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากมาตราการต่างๆ ที่รัฐบาลออกมา ภายใต้คำยืนยันที่สรุปได้ว่า รัฐบาลพยายามแก้ปัญหาต่างๆ อย่างดีที่สุด ทั้งเรื่องการดูแลรักษาประชาชนที่ป่วยโควิด, การจัดหาวัคซีนฉีดให้ประชาชน, การทำให้ภาคเศรษฐกิจยังอยู่ได้, การช่วยเหลือประชาชนทุกกลุ่ม

            "ผมเพียงแต่พูดว่าผมเห็นใจ ผมเสียใจ และผมก็พยายามแก้ปัญหาอุปสรรคที่มีมากมาย นายกรัฐมนตรีก็ยินดีที่จะทำหน้าที่ให้ดีที่สุด และต้องมีความร่วมมือระหว่างกันด้วยข้อมูลข้อเท็จจริงที่ตรงกันถึงจะแก้ปัญหาได้ นายกฯ ทำงานไม่เคยทิ้งสักงาน คงไม่ใช่โควิดอย่างเดียว โควิดเป็นเรื่องหลักที่ประชาชนเดือดร้อน แต่มีเรื่องอย่างอื่นตามมาด้วย ทั้งคุณภาพชีวิต การต่างประเทศ เศรษฐกิจ สังคม ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ การลงทุน การค้า การเพิ่มรายได้ประเทศ ก็ต้องทำทุกเรื่อง แต่ผมไม่เคยท้อ เพียงแต่เสียใจกับคนที่สูญเสีย และให้กำลังใจกับคนที่ทำงาน อย่าท้อแท้ เพราะเป็นสิ่งที่เราต้องทำด้วยกัน เพราะเราเป็นคนไทยด้วยกัน"

            ในส่วนของประเด็นทางการเมือง แม้พลเอกประยุทธ์จะบอกว่า "ไม่ท้อ" แต่หลายคนก็อยากรู้ชัดๆ ว่า วันนี้ "บิ๊กตู่-พลเอกประยุทธ์" จะเอาอย่างไรต่อทางการเมือง เพราะช่วงนี้ ในทางการเมือง ก็อย่างที่เห็นคือ เป็นช่วงกระแสนิยมบิ๊กตู่ไม่ติดลมบนเหมือนในอดีต จนถูกมองว่าอยู่ในช่วงขาลง จากปัญหาเรื่องโควิด-วัคซีน-คนป่วย-คนตาย ที่ยังวิกฤติหนักอยู่ จนกระแส "เปลี่ยนม้ากลางศึก" จากที่เคยดังมาจากฝ่ายตรงข้ามรัฐบาล   มาวันนี้เริ่มพบสุ้มเสียงมาจากฝ่ายที่เคยเชียร์รัฐบาล-พลเอกประยุทธ์ ที่บางส่วน ก็แสดงท่าทีผิดหวังในตัวพลเอกประยุทธ์ไม่น้อย เพราะมองว่ารัฐบาลน่าจะรับมือและแก้ปัญหาโควิดได้ดีกว่านี้ จนมีเสียงดังออกมาจากคนเคยเชียร์รัฐบาลหลายกลุ่มว่า หากสถานการณ์โควิดเริ่มพอคุมได้ ทุกอย่างดีขึ้นบ้าง ก็อาจถึงเวลาต้องเปลี่ยนผู้นำประเทศก็ได้

            ซึ่งในบทสัมภาษณ์ดังกล่าว เมื่อถูกถามด้วยคำถามที่ว่า “สถานการณ์ต่างๆ ในขณะนี้คิดถอดใจลาออกหรือยุบสภาในช่วงเวลานี้หรือไม่?” คำตอบที่ได้ "พล.อ.ประยุทธ์" บอกไว้ดังนี้

                "ยังไม่ใช่เวลา วันนี้ทำงานหนักทุกวัน หลายคนก็บอกว่าทำงานหนักแล้วไม่เห็นได้งาน ก็ขอไปหาให้เจอว่ามีงานอะไรที่ออกมาแล้วบ้าง ซึ่งคิดว่าผมก็พยายามทำอย่างที่สุดแล้วด้วยการฟังเสียงประชาชน พร้อมติดตามสถานการณ์จากคณะแพทย์ และสาธารณสุข"

            ข้างต้นคือท่าทีทางการเมืองของพลเอกประยุทธ์ ที่ทำให้หลายคนเห็นทิศทางการเมืองของรัฐบาลในช่วงกำลังสู้รบกับสงครามโรคโควิดพอสมควร

ทางการเมืองสรุปได้ว่า ยังไงพลเอกประยุทธ์จะยังคงเดินหน้าทำงานต่อไป ไม่คิดจะลาออกหรือยุบสภา อย่างที่บางฝ่ายไปวาดฉากทัศน์การเมืองเกินความจริง

ดังนั้น เอาเป็นว่าเบื้องต้นยังไง ในช่วงนี้ไปจนถึงช่วงการเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาล-นายกรัฐมนตรี ที่น่าจะเกิดขึ้นช่วงต้นเดือนกันยายนก่อนปิดสภา 18 ก.ย. ผู้นำประเทศ ยังคงชื่อ พลเอกประยุทธ์ต่อไป ส่วนจะมีการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองใดๆ หลังจบศึกซักฟอก เช่น "การปรับคณะรัฐมนตรี-การลาออกหลังจบศึกซักฟอก-การยุบสภา หลังเสร็จสิ้นการอภิปรายไม่ไว้วางใจ" สิ่งเหล่านี้จะเกิดขึ้นหรือไม่ทางการเมือง เป็นเรื่องที่ต้องจับตากันต่อไป

            ซึ่งถึงตอนนี้ ทุกคนเห็นความจริงตรงกันว่า จุดสำคัญที่จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง ไม่ว่าจะเป็นสูตรใด สุดท้ายแล้วมันจะเกิดขึ้นหรือไม่ อยู่ที่ปัจจัยเดียวเท่านั้นคือ

            "สถานการณ์โควิดในประเทศ"

            เพราะตอนนี้ พลเอกประยุทธ์เปรียบไปก็เหมือนแม่ทัพใหญ่ ในฐานะผู้นำประเทศใน "สงครามโรค-โควิด"

โดยหากสถานการณ์โควิดต่อจากนี้ ไม่ดีขึ้น มีแต่ทรุดหนักลงเรื่อยๆ เช่น คนติดเชื้อใหม่รายวันยังคงสูงขึ้นต่อเนื่อง- คนเสียชีวิตทั้งที่โรงพยาบาลและที่บ้านยังเกิดขึ้นทุกวัน-คนป่วย คนติดเชื้อ ไม่สามารถเข้าสู่ระบบการรักษาได้ทุกคน  โดยเฉพาะคนไข้โควิดมีอาการหรือผู้ป่วยหนัก เพราะเตียงคนไข้หนัก ห้องผู้ป่วยไอซียูในโรงพยาบางต่างๆ เต็มหมด จนเสี่ยงต้องเสียชีวิตเพราะได้รับการรักษาไม่ทัน รวมถึงประชาชนจำนวนมากหลายล้านคนต่างได้รับผลกระทบจากมาตรการต่างๆ ของรัฐบาล ทำให้ขาดรายได้ เงินไม่พอประทังชีวิตตนเองและครอบครัว ขณะเดียวกัน ภาคเศรษฐกิจก็ได้รับผลกระทบ จนต้องหยุดกิจการ ไปต่อไม่ไหว ชนิดที่เรียกว่าประชาชนมองไม่เห็นแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์  

            พลเอกประยุทธ์ ในฐานะแม่ทัพใหญ่  ก็ปฏิเสธความรับผิดชอบไม่ได้ ประชาชนย่อมมองว่า พลเอกประยุทธ์แพ้ในสงครามโรคครั้งนี้ เพราะนำทัพสู้ได้ไม่ดี บัญชาการรบผิดพลาด ทำให้ประชาชนบาดเจ็บล้มตาย ระบบเศรษฐกิจเสียหาย โดยถ้าสถานการณ์เลวร้ายไปถึงขั้นนั้นขึ้นมาจริง แน่นอนว่า เสถียรภาพรัฐบาล-เก้าอี้นายกฯ ของพลเอกประยุทธ์ย่อมสั่นคลอน อยู่ได้ยากในความรู้สึกของประชาชน

            การรบในสงครามโรค-โควิด ต่อจากนี้ พลเอกประยุทธ์ นายกฯ-ประธาน ศบค. จึงต้องวางแผนบัญชาการรบด้วยสมอง-ต้องทุ่มเท และแสดงฝีมือให้คนเห็นประจักษ์ เพื่อกอบกู้สถานการณ์ให้ดีขึ้นให้ได้

โดยแม้อาจไม่เห็นผลทันตาภายใน 2-3 สัปดาห์ต่อจากนี้ แต่อย่างน้อยพลเอกประยุทธ์ต้องทำให้สถานการณ์โควิดในประเทศไทยกระเตื้องขึ้นได้บ้าง ต้องทำให้ประชาชนเกิดความหวังว่าจะสามารถอยู่รอดได้หลังสงครามโรคโควิดจบลง โดยหากพลเอกประยุทธ์ทำได้ กอบกู้สถานการณ์ให้ดีขึ้นมาได้ อย่างน้อยเฉพาะหน้าในทางการเมืองก็มองกันว่า แม้ศึกซักฟอกที่จะเกิดขึ้น พลเอกประยุทธ์จะเจอการซักฟอกที่หนักหน่วงรุนแรงที่สุดในชีวิต กับการที่ฝ่ายค้านจะลากเรื่องโควิด-วัคซีน-คนตาย มาถล่ม เพื่อหวังกลบฝังพลเอกประยุทธ์กลางสภา แต่ถ้าสถานการณ์ต่อจากนี้ไปจนถึงช่วงศึกซักฟอก ภาพรวมสถานการณ์โควิดในประเทศ อย่างน้อยพอกระเตื้องขึ้น-รัฐบาลมีการช่วยเหลือเยียวยาประชาชนทั้งเรื่องระบบสาธารณสุขและเรื่องการดำเนินชีวิตอย่างตรงจุด

มันก็อาจทำให้พลเอกประยุทธ์พอประคองตัวไปรับมือฝ่ายค้านกลางสภา ได้บ้าง ไม่ใช่ยืนให้ฝ่ายค้านไล่ถลุงกลางสภาฝ่ายเดียว โดยไม่สามารถเอาการแก้ปัญหาของรัฐบาลไปยืนซดแลกหมัดกับฝ่ายค้านเพื่อเรียกคะแนนกลับคืนมาได้

            ช่วงเวลาต่อจากนี้ พลเอกประยุทธ์ ต้องเร่งวางแผนทุกอย่างในการรับมือกับโควิดทุกมิติ ทั้งเรื่องสาธารณสุข-สังคม-เศรษฐกิจโดยเร็ว และต้องเป็นแผนงานที่ทำออกมาแล้วต้องเข้าเป้า เห็นผล ซึ่งหากทำได้จะเรียกความเชื่อมั่นจากประชาชนกลับคืนมาได้บ้าง ก่อนที่มันจะสายเกินไป เพราะอย่างข้อมูลจากการแถลงข่าวอย่างเป็นทางการของ กระทรวงสาธารณสุข-กรมควบคุมโรคเมื่อวันศุกร์ที่ 30 ก.ค.ที่ผ่านมา

    นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค แถลงไว้ตอนหนึ่ง ถึงสถานการณ์โควิดต่อจากนี้ โดยอ้างอิงจากการทำแบบจำลองการคาดการณ์จากตัวเลขผู้ติดเชื้อและเสียชีวิตในอนาคต 3-4 เดือนข้างหน้า เทียบกับการระบาดและมาตรการที่ดำเนินการเพื่อควบคุมป้องกันโรค

อธิบดีกรมควบคุมโรค ได้พูดถึงเรื่องการคาดการณ์ผู้เสียชีวิตต่อวัน หากไม่มีมาตรการล็อกดาวน์หรือไม่มีมาตรการใดๆ โดยระบุว่า พบว่าจะมีผู้เสียชีวิตมากกว่า 500 คนต่อวัน จุดสูงสุดประมาณวันที่ 28 ก.ย. แต่หากมีมาตรการล็อกดาวน์ปลายเดือน กรกฎาคมจะเป็นเส้นสีส้มและสีเหลือง ตัวเลขผู้เสียชีวิตไม่เกิน 400 รายต่อวัน  จุดสูงสุดอยู่ที่ 26 ต.ค. อย่างไรก็ตามถ้าล็อกดาวน์ยาวนานขึ้น จำนวนผู้ติดเชื้อรายวันจะลดลง จุดสูงสุดจะอยู่กลางเดือน พ.ย.

    "มาตรการที่กระทรวงสาธารณสุขดำเนินการ ตั้งเป้าจะทำให้สถานการณ์อยู่ในเส้นสีเขียวที่มีทั้งมาตรการล็อกดาวน์ การค้นหาผู้ป่วย และการเร่งฉีดวัคซีนในผู้ป่วยโรคเรื้อรัง ผู้สูงอายุ และหญิงตั้งครรภ์ ซึ่งเสี่ยงติดเชื้ออาการรุนแรงและเสียชีวิต เมื่อใช้ 3 มาตรการร่วมกันจะทำให้มีผู้ติดเชื้อเสียชีวิตประมาณหลัก 100 กว่าราย คือสิ่งที่เรากำลังพยายามกันอยู่” นพ.โอภาสให้ข้อมูล

            การคาดการณ์สถานการณ์โควิดดังกล่าว ทำให้เห็นชัดว่า แนวรบ สงครามโรค-โควิดรอบนี้ คงสู้กันยาว สิ่งที่ตามมา ก็คือการใช้มาตรการต่างๆ เช่น ล็อกดาวน์-เคอร์ฟิว เพื่อควบคุมการแพร่เชื้อต่อไปอีกระยะหนึ่งจนกว่าสถานการณ์จะดีขึ้น ถึงค่อยผ่อนคลายมาตรา ซึ่งถ้าเป็นเช่นนี้ คนที่บาดเจ็บที่สุดก็คือ "ประชาชนคนธรรมดา" โดยเฉพาะกลุ่มคนที่เข้าไม่ถึงระบบสาธารณสุขได้อย่างทันท่วงที ยามเมื่อตัวเองหรือคนในครอบครัวติดเชื้อ ต้องได้รับการดูแลรักษา และประชาชนที่ได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจ ซึ่งลำพังแค่เงินเยียวยาช่วยเหลือจากรัฐบาลไม่เพียงพอแน่นอน

                วิกฤติระบบสาธารณสุข-สังคม-เศรษฐกิจ อีกหลายระลอก ที่รออยู่ จากผลพวงสงครามโรค-โควิด ที่รบกันยืดเยื้อ โดยมีประชาชนหลายล้านคนต้องได้รับผลกระทบ  พลเอกประยุทธ์จะรอช้าไม่ได้ในการวางแผนรับมือ

 ที่สำคัญ ต้องเป็นแผนที่สู้แล้วต้องได้ผลด้วย คือสถานการณ์ต้องกระเตื้องขึ้น-ประเทศไทยรอดได้ในเวลาอันรวดเร็ว แต่ถ้าทำไม่สำเร็จ ก็ต้องยอมรับว่าแม้ต่อให้พรรคร่วมรัฐบาลมีเสียง ส.ส.จำนวนมากในสภา ในการค้ำยันเก้าอี้นายกฯของพลเอกประยุทธ์ แต่ถ้าสงครามโรค-โควิดครั้งนี้ คนไทยแพ้พ่าย หรือถึงรอดได้ แต่รอดโดยใช้เวลาในการทำสงครามนานเกินไป จนประชาชนบาดเจ็บล้มตายจำนวนมาก ที่หากเป็นเช่นนี้ การอยู่ต่อ เป็นนายกฯ ของพลเอกประยุทธ์ ลำบากแน่ในเรื่องการยอมรับจากประชาชน.  

 

 

           

 

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"