สหรัฐไม่เล่นด้วยเกมยื้อเวลาเลือกตั้งพม่า จี้อาเซียนกดดันต่อ


เพิ่มเพื่อน    

รัฐบาลสหรัฐระบุ ผู้นำรัฐบาลทหารพม่ากำลังเล่นเกมถ่วงเวลาด้วยการประกาศแผนจัดการเลือกตั้งใหม่ภายใน 2 ปี เรียกร้องประเทศอาเซียนเพิ่มแรงกดดันเมียนมาปฏิบัติตามแผนที่เคยตกลงกันไว้ ขณะแอนโทนี บลิงเคน รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐ เตรียมประชุมทางไกลกับรัฐมนตรีต่างประเทศของกลุ่มอาเซียน

แฟ้มภาพ พลเอกอาวุโส มิน อ่อง หล่าย เดินทางมาถึงสำนักงานเลขาธิการอาเซียนในกรุงจาการ์ตาของอินโดนีเซีย เพื่อร่วมการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียน เมื่อวันที่ 24 เมษายน 2564 (Secretariat of the President of Ind/Anadolu Agency via Getty Images)

    รายงานเอเอฟพีเมื่อวันอังคารที่ 3 สิงหาคม กล่าวว่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐมีกำหนดเข้าร่วมการประชุมผ่านระบบวีดิทัศน์ทางไกลกับรัฐมนตรีต่างประเทศของกลุ่มอาเซียนในสัปดาห์นี้ ซึ่งเป็นความพยายามล่าสุดของรัฐบาลประธานาธิบดีโจ ไบเดน เพื่อเข้ามาเกี่ยวพันกับภูมิภาคที่เป็นแนวหน้าของการแข่งขันระหว่างสหรัฐกับจีน

    ก่อนหน้าการประชุมของกลุ่มอาเซียน พลเอกอาวุโส มิน อ่อง หล่าย ผู้บัญชาการทหารสูงสุดและผู้นำรัฐบาลทหารเมียนมา ให้คำมั่นสัญญาว่าเขาจะจัดการเลือกตั้งและยกเลิกภาวะฉุกเฉินภายในเดือนสิงหาคม 2566 ซึ่งเป็นการยืดเวลาจากกรอบเดิม ที่เคยประกาศไว้หลังก่อรัฐประหารวันที่ 1 กุมภาพันธ์ ว่าจะจัดเลือกตั้งใหม่ภายใน 1 ปี

    รายงานเอเอฟพีและรอยเตอร์อ้างคำกล่าวของเจ้าหน้าที่ระดับสูงในรัฐบาลสหรัฐรายหนึ่งที่กรุงวอชิงตันเมื่อวันจันทร์ว่า คำประกาศดังกล่าวเป็นการเรียกร้องให้อาเซียนต้องเพิ่มความพยายามของตน เพราะเห็นได้ชัดเจนว่ารัฐบาลทหารพม่าแค่กำลังถ่วงเวลาและต้องการยืดปฏิทินให้ยาวออกไปเพื่อความได้เปรียบของตนเอง และยิ่งเป็นเหตุผลว่า ทำไมอาเซียนต้องมีส่วนร่วมในเรื่องนี้ และดำเนินตามและสนับสนุนข้อตกลงฉันทมติ 5 ข้อที่เมียนมาก็ลงนามด้วย

    ด้านสเตฟาน ดูจาร์ริก โฆษกองค์การสหประชาชาติ กล่าวถึงคำประกาศของผู้นำทหารเมียนมาว่าไม่ได้นำพาไปยังทิศทางที่ถูกต้อง "มันกำลังทำให้เราไกลออกไปจากสิ่งที่เราเรียกร้อง สิ่งที่ชาติสมาชิกเรียกร้อง ซึ่งก็คือการกลับคืนสู่ระบอบประชาธิปไตย, ปล่อยตัวนักโทษการเมืองทั้งหมด, ยุติความรุนแรงและการปราบปราม" เขากล่าว

    พลเอกอาวุโสมิน อ่อง หล่าย มาเข้าร่วมการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนเมื่อเดือนเมษายนด้วย ซึ่งนำไปสู่การคำประกาศฉันทมติที่เรียกร้องให้เมียนมายุติความรุนแรงโดยทันทีและแต่งตั้งผู้แทนพิเศษของอาเซียน แต่หลังจากนั้น นายทหารผู้นี้กลับถอยห่างจากข้อตกลงดังกล่าว และถึงขณะนี้อาเซียนยังไม่สามารถแต่งตั้งผู้แทนพิเศษได้ โดยสุนทรพจน์ของเขาเมื่อสุดสัปดาห์ และคำกล่าวของเรตโน มาร์ซูดี รัฐมนตรีต่างประเทศอินโดนีเซีย บ่งชี้ว่าเมียนมาและอาเซียนยังไม่เห็นพ้องต้องกัน คาดด้วยว่ามาร์ซูดีจะได้พบปะกับบลิงเคนที่กรุงวอชิงตันสัปดาห์นี้

    เจ้าหน้าที่สหรัฐรายเดิม ซึ่งรายงานสรุปต่อนักข่าวก่อนหน้าการประชุมทางไกลระหว่างบลิงเคนกับรัฐมนตรีอาเซียน กล่าวด้วยว่า สหรัฐได้เสนอให้ขยายการมีส่วนร่วมกับอาเซียนให้ครอบคลุมถึงการสานเสวนาระดับรัฐมนตรีหลายกระทรวงเพิ่มอีก 5 รอบ ซึ่งสหรัฐหวังว่าอาเซียนจะเห็นพ้องด้วยโดยเร็ว โดยหนึ่งในนี้คือการเจรจากันในด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

    เขาบอกด้วยว่า คาดว่าบลิงเคนจะเปิดเผยรายละเอียดต่อรัฐมนตรีอาเซียนเกี่ยวกับการสนับสนุนอย่างต่อเนื่องของสหรัฐต่อเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในการต่อสู้กับโควิด-19 ที่กำลังระบาดหนักในภูมิภาคนี้ นอกจากนี้ รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐยังจะกล่าวถึง "การบีบบังคับ" ของจีนต่อประเทศในอาเซียนกรณีทะเลจีนใต้ที่มีข้อพิพาทต่อกัน รวมถึงขับเน้นข้อวิตกด้านสิทธิมนุษยชนในจีนด้วย

    สัปดาห์ที่ผ่านมา ลอยด์ ออสติน รัฐมนตรีกลาโหมสหรัฐ ก็เพิ่งมาเยือนภูมิภาคนี้และกล่าวถึงทะเลจีนใต้ว่า การอ้างสิทธิของจีนเหนือน่านน้ำนี้เกือบทั้งหมดนั้นไม่อยู่บนพื้นฐานกฎหมายระหว่างประเทศ.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"