เปิดข้อมูลไฟเซอร์ก่อนฉีดให้กับคนไทย


เพิ่มเพื่อน    

ในที่สุดวัคซีน mRNA ที่เข้ามาประเทศไทยอย่างเป็นทางการ อย่าง "ไฟเซอร์" ก็มาเสียที หลังจากคนไทยบางกลุ่มได้ชูว่าเมื่อไหร่วัคซีนเทพจะมาเสียที โดยประเทศไทยได้รับบริจาควัคซีนไฟเซอร์จำนวน 1.5 ล้านโดส ที่เป็นวัคซีนของสหรัฐอเมริกาบริจาคเพื่อช่วยป้องกันการแพร่ระบาดของโควิดในประเทศไทย นับเป็นไฟเซอร์ล็อตแรกที่ถูกนำเข้ามาในประเทศ หลังจากนี้สหรัฐอเมริกาจะบริจาคให้ไทยเพิ่มอีก 1 ล้านโดส รวมถึงไทยเองมีแผนจัดซื้ออีก 20 ล้านโดส ที่เพิ่งมีการลงนามในสัญญาเมื่อวันที่ 20 ก.ค.ที่ผ่านมา
    สำหรับวัคซีนไฟเซอร์ 1.5 ล้านโดส จะฉีดใช้ให้ 4 กลุ่มเป้าหมาย ดังนี้ กลุ่มที่ 1 บุคลากรการแพทย์และสาธารณสุขที่ปฏิบัติหน้าที่ดูแลผู้ป่วยทั่วประเทศ เป็นเข็มที่ 3 เพื่อกระตุ้นภูมิคุ้มกัน จำนวน 700,000 โดส โดยได้มีการสำรวจรายชื่อจากโรงพยาบาลต่างๆ ที่ส่งมา จากนั้น กระทรวงสาธารณสุขจะกระจายวัคซีนไปโรงพยาบาลเป้าหมายเพื่อฉีดให้บุคลากรสาธารณสุขมีภูมิคุ้มกันมากขึ้น
    กลุ่มที่ 2 ฉีดในกลุ่มเสี่ยง 608 ได้แก่ ผู้สูงอายุ ผู้ที่มี 7 กลุ่มโรคเรื้อรัง หญิงตั้งครรภ์ที่อายุครรภ์เกิน 12 สัปดาห์ แต่เนื่องจากไฟเซอร์สามารถฉีดในเด็กอายุ 12 ปีขึ้นไปได้ จึงจะมีการฉีดให้กับเด็กที่มีอายุ 12 ขึ้นไปและป่วยใน 7 กลุ่มโรคเรื้อรังนี้ด้วย โดยจะมีการกระจายไปใน 13 จังหวัดพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด คือ กทม. สมุทรปราการ ปทุมธานี นนทบุรี นครปฐม สมุทรสาคร ฉะเชิงเทรา ชลบุรี พระนครศรีอยุธยา สงขลา ปัตตานี ยะลาและนราธิวาส จำนวน 645,000 โดส
    กลุ่มที่ 3 ชาวต่างชาติที่พำนักในประเทศไทย โดยเป็นผู้ที่มี 7 กลุ่มโรคเรื้อรัง หญิงตั้งครรภ์ที่อายุครรภ์เกิน 12 สัปดาห์ และคนไทยผู้ที่จะเดินทางไปต่างประเทศที่จำเป็นต้องฉีดวัคซีนไฟเซอร์ เช่น นักเรียน นักศึกษา เป็นต้น จำนวน 150,000 โดส
    และกลุ่มที่ 4 สำหรับการทำการศึกษาวิจัย โดยการอนุมัติของคณะกรรมการวิจัยจริยธรรม เพื่อนำผลการวิจัยมาใช้ในการกำหนดนโยบายต่อไป จำนวน 5,000 โดส
    โดยจากคุณสมบัติทางคลินิก มีข้อบ่งชี้สำหรับฉีดเพื่อกระตุ้นให้ร่างกายสร้างภูมิคุ้มกันในผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 12 ปีขึ้นไป เพื่อป้องกันโรคที่เกิดจากเชื้อโควิด-19 ซึ่งการฉีดให้บุคคลที่มีอายุ 12 ปีขึ้นไป ให้ฉีด 2 โดส ซึ่งการฉีดเข็มที่ 2 ควรใช้หลังจากการฉีดเข็มแรก 3 สัปดาห์ ทั้งนี้ แนะนำว่าให้ผู้ที่ได้รับการฉีดเข็มแรกควรได้รับการฉีดกระตุ้นในเข็มที่ 2 ด้วยไฟเซอร์เช่นเดิม
    แต่ไฟเซอร์ป้องกันโควิดสายพันธุ์ใหม่ได้หรือไม่ จากเว็บไซต์ของไฟเซอร์เผยว่า วัคซีนไฟเซอร์มีประสิทธิภาพ 100% ในการป้องกันโควิดเบตา (แอฟริกาใต้) สถานที่ซึ่งพบสายพันธุ์ B.1.351 เป็นครั้งแรก นอกจากนี้ การศึกษาอื่นพบว่าผู้ที่ได้รับวัคซีนไฟเซอร์ครบ 2 เข็ม มีโอกาสติดเชื้อโควิดสายพันธุ์ที่พบครั้งแรกในสหราชอาณาจักร หรือ B.1.1.7 น้อยลง 90%
    อีกทั้งจากข้อมูลที่ไฟเซอร์เผยในรายงานผลประกอบการประจำไตรมาสที่ 2/2021 ชี้ว่า การฉีดวัคซีนไฟเซอร์เป็นเข็มที่ 3 โดยเว้นระยะห่างจากเข็มที่ 2 อย่างน้อย 6 เดือน ช่วยให้มีระดับแอนติบอดีสำหรับต้านไวรัสสายพันธุ์ดั้งเดิม เมื่อเทียบกับการฉีด 2 เข็ม เพิ่มขึ้น 5-8 เท่า และต้านสายพันธุ์เบตาเพิ่มขึ้น 15-21 เท่า
    ส่วนข้อควรระวังในการใช้ยา ภาวะภูมิไวเกินและการแพ้  พบรายงานเหตุการณ์ภูมิแพ้รุนแรงอย่างเฉียบพลันหลังการฉีดวัคซีน ควรมีการเตรียมความพร้อมตลอดเวลาสำหรับการดูแลและให้การรักษาที่เหมาะสม โดยแนะนําให้มีการติดตามอาการอย่างใกล้ชิด อย่างน้อยที่สุด 30 นาทีหลังฉีดวัคซีน ไม่ควรฉีดวัคซีนครั้งที่ 2 ให้กับผู้ที่เกิดการแพ้ยาขั้นรุนแรงจากการฉีดวัคซีนครั้งที่ 1
    ข้อมูลกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบและเยื่อหุ้มหัวใจอักเสบ พบรายงานหลังจากการฉีดน้อยมาก รายงานส่วนใหญ่พบในเพศชายวัยหนุ่ม โดยจะเกิดอาการภายใน 14 วันหลังจากการฉีดวัคซีน โดยเฉพาะภายหลังการฉีดวัคซีนครั้งที่ 2 จากข้อมูลที่ปรากฏพบว่าการดำเนินโรคของภาวะกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบและเยื่อหุ้มหัวใจอักเสบภายหลังการได้รับวัคซีนไม่แตกต่างจากการดำเนินโรคในสภาวะปกติ หากผู้ที่รับการฉีดวัคซีนควรได้รับคำอธิบายถึงวิธีการสังเกตอาการตนเองเพื่อสามารถแจ้งแพทย์ได้ทันท่วงทีหากมีอาการที่อาจบ่งชี้  เช่น การเจ็บหน้าอกแบบเฉียบพลันและอาการคงอยู่ หายใจสั้น หรือใจสั่นภายหลังจากการฉีด ควรดำเนินการตามแนวทางปฏิบัติหรือปรึกษาแพทย์เฉพาะทางเพื่อวินิจฉัยและรักษาภาวะดังกล่าว
    ทั้งนี้เช่นเดียวกับวัคซีนชนิดอื่นๆ ควรเลื่อนการฉีดวัคซีนออกไปในผู้ที่มีอาการไข้สูงเฉียบพลันหรือการติดเชื้อเฉียบพลัน ในส่วนภาวะเกล็ดเลือดต่ำและความผิดปกติของการแข็งตัวของเลือด เช่นเดียวกับยาฉีดเข้ากล้ามเนื้ออื่นๆ ควรฉีดวัคซีนด้วยความระมัดระวังในผู้ที่ได้รับยาต้านการแข็งตัวของเลือด หรือผู้ที่มีภาวะเกล็ดเลือดต่ำ หรือผู้ที่มีความผิดปกติเกี่ยวกับการแข็งตัวของเลือดใด เนื่องจากอาจเกิดภาวะเลือดออกหรือจ้ำเลือดหลังจากการฉีดเข้ากล้ามเนื้อในบุคคลเหล่านี้
    ด้านความปลอดภัยของไฟเซอร์ ได้รับการประเมินในผู้เข้าร่วมการศึกษาที่มีอายุตั้งแต่ 12 ปีขึ้นไป จากการศึกษาทางคลินิก 2 การศึกษา จำนวน 22,875 ราย ประกอบด้วยผู้มีอายุ 16 ปีขึ้นไป จำนวน 21,744 ราย และผู้มีอายุ 12 ถึง 15 ปี จำนวน 1,131 ราย โดยเป็นผู้ได้รับวัคซีนไฟเซอร์อย่างน้อย 1 เข็ม โดยผู้ที่มีอายุ 12-15 ปี  อาการไม่พึงประสงค์ที่พบบ่อยที่สุดคือ อาการปวดบริเวณที่ฉีดยา มากกว่า 90% อ่อนล้าและปวดศีรษะ มากกว่า 70% ปวดกล้ามเนื้อและหนาวสั่น มากกว่า 40% ปวดข้อและมีไข้ มากกว่า 20% และผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 16 ปีขึ้นไป อาการไม่พึงประสงค์ที่พบบ่อยคือ อาการปวดบริเวณที่ฉีด มากกว่า 80% อ่อนล้า มากกว่า 60% ปวดศีรษะ มากกว่า 50% ปวดกล้ามเนื้อและหนาวสั่น มากกว่า 30% ปวดข้อ มากกว่า 20% ไข้และบวมบริเวณที่ฉีด มากกว่า 10% โดยมักมีความรุนแรงต่ำหรือปานกลาง และหายเป็นปกติภายในไม่กี่วันหลังจากฉีดวัคซีน พบว่าการเกิดเหตุการณ์ของการก่อปฏิกิริยา มีความถี่ต่ำลงเล็กน้อยโดยมีความสัมพันธ์กับอายุที่มากขึ้น
    อย่างไรก็ตาม ความคาดหวังด้านประสิทธิผลของไฟเซอร์คงไม่ต่างกับวัคซีนอื่นๆ ก่อนหน้านี้ที่เข้ามาไทย คือการป้องกันการเจ็บป่วยรุนแรง และลดการเสียชีวิตในประชากรไทย ที่ขณะนี้ยังคงน่าเป็นห่วง ซึ่งสิ่งที่สำคัญเหนือกว่านั้นคือการดูแลตัวเอง ทั้งการเว้นระยะห่าง สวมหน้ากากอนามัย เพื่อลดโอกาสการติดเชื้อระหว่างบุคคล.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"