จุฬาฯ เปิดตัวนวัตกรรมเครื่องแบ่งบรรจุวัคซีนด้วยระบบอัตโนมัติ


เพิ่มเพื่อน    

6 ส.ค.64 - ที่ อาคารจามจุรี 9 จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แถลงข่าวเปิดตัวนวัตกรรมเครื่องแบ่งวัคซีนด้วยระบบอัตโนมัติ (Automate Vaccine) ซึ่งพัฒนาขึ้นโดยคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ ร่วมกับกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ และภาคเอกชน  โดยศ.นพ.ดร.นรินทร์ หิรัญสุทธิกุล รองอธิการบดี ด้านการติดตามและประเมินผลยุทธศาสตร์ แผน การงบประมาณ และสุขภาวะ จุฬาฯ  กล่าวว่า ปัญหาในการฉีดวัคซีนที่เกิดขึ้นมีอยู่สองประเด็น คือ เรื่องของความละเอียดถี่ถ้วนในการฉีดวัคซีน โดยใช้ปริมาณวัคซีนที่ถูกต้อง ซึ่งปัจจุบันต้องใช้แรงงานคนในการแบ่งบรรจุวัคซีน การนำเครื่องแบ่งบรรจุวัคซีนอัตโนมัตินี้เข้ามาใช้ จะเป็นประโยชน์ในเรื่องของประสิทธิภาพและความปลอดภัย และอีกประเด็นคือเรื่องของความจำกัดของปริมาณวัคซีนที่กระจายสู่ประชาชน หากเราสามารถแบ่งบรรจุวัคซีนได้แม่นยำ ก็จะช่วยประหยัดวัคซีน ทำให้ไม่เสียเปล่า เป็นการใช้วัคซีนให้ได้คุ้มค่าที่สุด ปัจจุบันได้มีการใช้นวัตกรรมแบ่งบรรจุวัคซีนที่ ศูนย์บริการฉีดวัคซีน จุฬาฯ 

ผศ.ดร.จุฑามาศ  รัตนวราภรณ์ ประธานหลักสูตรวิศวกรรมชีวเวช คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ  กล่าวว่า ทางคณะฯ ได้รับโจทย์โดยตรงจากรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ที่เล็งเห็นปัญหาของการแบ่งบรรจุวัคซีนแอสตราเซเนกาซึ่งเป็นวัคซีนที่บรรจุมาในแบบหลายโดสใน 1 ขวด (multiple dose) โดย 1 ขวด บรรจุ 13 โดส สามารถแบ่งฉีดได้ 10 โดส ซึ่งการดูดวัคซีนขึ้นมาแบ่งบรรจุโดยบุคคลากรทางการแพทย์แต่ละรอบจะมีการสูญเสียวัคซีนเกิดขึ้น หากมีวิธีที่จะรักษาโดสที่เกินมาในแต่ละขวดได้ ก็จะเป็นการเพิ่มจำนวนวัคซีนที่แจกจ่ายให้กับประชาชน ซึ่งเป็นที่ต้องการมากในขณะนี้ เครื่องแบ่งบรรจุวัคซีนดังกล่าวสามารถดูดวัคซีนออกจากขวดได้อย่างแม่นยำและรวดเร็ว และสามารถแบ่งบรรจุได้ถึงขวดละ 12 โดส ทำให้มีวัคซีนในการฉีดเพิ่มขึ้น 20% ทั้งยังช่วยแบ่งเบาภาระงานของบุคลากรทางการแพทย์ในการแบ่งบรรจุวัคซีน  

“ในการทำงานของเครื่องแบ่งบรรจุวัคซีนอัตโนมัติ เจ้าหน้าที่จะต้องเตรียมเข็มฉีดยาวางไว้บนแท่นจำนวน 12 หลอด จากนั้นนำขวดวัคซีนวางไว้ในจุดที่กำหนด เครื่องจะดูดวัคซีนออกมาจนหมดขวดโดยใช้หัวดูดสุญญากาศ โดยใช้หลักการดูดของเหลว พร้อม Air Cushion ทำให้วัคซีนไม่สัมผัสกับหัวดูดโดยตรง จากนั้นจะเคลื่อนไปแบ่งบรรจุลงเข็มฉีดยาตามจำนวนที่กำหนด คือ 0.5 มิลลิลิตรเท่ากันทั้ง 12 หลอด ตัวเครื่องทำงานแบบสายพาน ทำให้แบ่งบรรจุวัคซีนลงหลอดฉีดยาอย่างต่อเนื่อง แม่นยำ และรวดเร็ว โดยใช้เวลาประมาณ 4 นาทีเท่านั้น จากนั้นปิดหลอดด้วยเข็มฉีดยา และนำมาเก็บใส่ถาดบรรจุวัคซีนเพื่อนำไปใช้ฉีดต่อไป” ดร.จุฑามาศ กล่าว

นอกจากนี้ นวัตกรรมเครื่องแบ่งบรรจุวัคซีนอัตโนมัติ สามารถประยุกต์ใช้กับการแบ่งบรรจุวัคซีนทางเลือกอื่นๆ ที่เป็นประเภทหลายโดสใน 1 ขวด อย่างวัคซีนไฟเซอร์ โดยใช้หลักการเดียวกัน ปรับเปลี่ยนอุปกรณ์แค่บางชิ้นส่วน ซึ่งอยู่ในขั้นตอนของพัฒนาของทีมวิจัย.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"