(เรื่องเล่าพลังงาน) โรงไฟฟ้าชุมชนเพื่อเศรษฐกิจฐานราก หนึ่งในนโยบายพลังงานเพื่อชุมชนของรัฐบาล


เพิ่มเพื่อน    

โครงการโรงไฟฟ้าชุมชนเพื่อเศรษฐกิจฐานราก หรือเรียกสั้นๆ ว่า “โรงไฟฟ้าชุมชน” เกิดขึ้นเป็นครั้งแรกโดยรัฐบาลชุดปัจจุบัน บนแนวคิดที่จะพัฒนาพลังงานจากบนดิน ผลิตไฟฟ้าตามศักยภาพเชื้อเพลงสะอาดที่หาได้ในพื้นที่ตามชนบท โดยประชาชนสามารถเข้าถึงพลังงานไฟฟ้าได้ และมีราคาที่เหมาะสม “โรงไฟฟ้าชุมชน” ตามนโยบายนี้ หมายถึง โรงไฟฟ้าที่ชุมชนมีส่วนร่วม ชุมชนเข้าไปเป็นหุ้นส่วนโรงไฟฟ้าและจัดจำหน่ายไฟฟ้าร่วมกับองค์กรเอกชน ชุมชนร่วมผลิตเชื้อเพลิงตามวัสดุการเกษตร เพื่อจำหน่ายให้แก่โรงไฟฟ้าเพื่อช่วยผลิตไฟฟ้า โดยชุมชนจะได้รับส่วนแบ่งรายได้ ทั้งการจำหน่ายไฟฟ้าและจำหน่ายพืชพลังงานเพื่อเป็นเชื้อเพลิง
    

นโยบายโรงไฟฟ้าชุมชนได้ถูกบรรจุในแผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก ปี พ.ศ.2561-2580 (AEDP 2018) ตั้งแต่วันที่ 11 กันยายน 2562 กำหนดกรอบเป้าหมายการรับซื้อไว้ 1,933 เมกะวัตต์ โดยคาดว่าจะประกาศรับซื้อได้ภายในปี 2563 แต่การกำหนดหลักเกณฑ์และเงื่อนไขโครงการยังไม่เสร็จ ก็มีการเปลี่ยนแปลงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานในเดือนกรกฎาคม 2563 มาเป็น นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ ซึ่งนโยบายโครงการโรงไฟฟ้าชุมชนได้รับการสานต่อ โดยมีการทบทวนหลักเกณฑ์และเงื่อนไขบางส่วน เพื่อให้ชุมชนได้รับประโยชน์สูงสุดภายใต้ 2 หลักการคือ “เกษตรกรได้รับประกันราคาพืชพลังงาน” และ “ไม่กระทบต่อค่าไฟฟ้าของประชาชน”
    

จนสุดท้ายนโยบายโรงไฟฟ้าชุมชนก็ได้ฤกษ์ออกประกาศ เมื่อวันที่ 23 มีนาคม 2564 โดยคณะกรรมการกำกับการพลังงาน (กกพ.) ได้ออกประกาศเชิญชวนรับชื้อไฟฟ้าจากผู้ผลิตไฟฟ้าขนาดเล็กมาก (VSPP) โครงการโรงไฟฟ้าชุมชนเพื่อเศรษฐกิจฐานราก (โครงการนำร่อง) กำหนดเป้าหมายรับซื้อเพียง 150 เมกะวัตต์ ประกอบด้วยโรงไฟฟ้าชีวมวลขนาดไม่เกิน 6 เมกะวัตต์ จำนวน 75 เมกะวัตต์ และก๊าซชีวภาพขนาดไม่เกิน 3 เมกะวัตต์ จำนวน 75 เมกะวัตต์ มีอัตรารับซื้อไฟฟ้าชีวมวลขนาดเสนอขายไม่เกิน 3 เมกะวัตต์ อัตรา Feed-in tariff (Fit) ที่ 4.8663 บาทต่อหน่วย และขนาดที่เสนอขายเกิน 3 เมกะวัตต์ อัตรา Fit ที่ 4.2780 บาทต่อหน่วย ส่วนเชื้อเพลิงชีวภาพขนาดเสนอขายไม่เกิน 3 เมกะวัตต์ อัตรา Fit ที่ 4.7426 บาทต่อหน่วย ระยะเวลาสนับสนุน 20 ปี และ มี FitPremium พื้นที่พิเศษอีก 0.50 บาทต่อหน่วย ดังรายละเอียดตามตารางนี้
 

 กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) ได้ทำการประเมินผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ สังคมและการจ้างงานโครงการนี้ว่า ผลประโยชน์ต่อเศรษฐกิจส่วนรวมจะทำให้มีเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจถึง 27,000 ล้านบาท ประกอบด้วยค่าก่อสร้าง 13,000 ล้านบาท และค่าดำเนินการ และบำรุงรักษาตลอด 20 ปี 14,000 ล้านบาท เกษรตกรมีรายได้จากการขายเชื้อเพลิงในระยะเวลา 20 ปี คิดเป็นเงิน 51,000 ล้านบาท เกิดการจ้างงานกว่า 24,000 อัตรา ลดการย้ายถิ่นฐานของแรงงานและสร้างความเข้มแข็งให้ชุมชน สร้างประโยชน์แก่ชุมชนที่เข้าร่วมโครงการ จะมีส่วนร่วมในการผลิตและจำหน่ายไฟฟ้า และมีส่วนร่วมในความเป็นเจ้าของ ผ่านหุ้นบุริมสิทธิไม่น้อยกว่าร้อยละ 10 มีรายได้จากการจำหน่ายพืชพลังงาน โดยมีประกันราคารับซื้อ มีเงินจากกองทุนพัฒนาไฟฟ้ามาใช้ประโยชน์กับชุมชน รวมทั้งมีผลประโยชน์ด้านสังคม เช่น ด้านสาธารณสุข ด้านสาธารณูปโภค และด้านการศึกษา เป็นต้น
    

กกพ.ได้ออกประกาศรับซื้อข้อเสนอขายไฟฟ้า โดยกำหนดระยะเวลายื่นข้อเสนอระหว่างวันที่ 19-23 เมษายน 2564 ประกาศผู้ผ่านการคัดเลือกวันที่ 15 กรกฎาคม 2564 ลงนามในสัญญาเพื่อขายไฟฟ้าวันที่ 12 พฤศจิกายน 2564 และเริ่มซื้อขายไฟฟ้าในวันที่ 12 พฤศจิกายน 2567 ผลจากการประกาศดังกล่าวมีเอกชนผู้สนใจจำนวนมาก โดยมีผู้ยื่นข้อเสนอมากถึง 232 โครงการ ทำให้การทำงานของการไฟฟ้าฝ่ายจำหน่าย (กฟน.และกฟภ.) ต้องใช้เวลาในการพิจารณามากขึ้น ประกอบกับปัญหาการระบาดของโควิด-19 การไฟฟ้าจึงขอเลื่อนการพิจารณา จากวันประกาศผู้ผ่านการคัดเลือก จากวันที่ 15 กรกฎาคม 2564 เป็นวันที่ 2 กันยายน 2564 ล่าช้าไปประมาณ 49 วัน ส่งผลต่อวันเวลาลงนามในสัญญาภายในวันที่ 31 ธันวาคม 2564 และเริ่มขายไฟฟ้าให้ระบบภายในวันที่ 31 ธันวาคม 2567
    

เนื่องจากประเทศไทยไม่ได้มีการประกาศรับซื้อไฟฟ้ามาเป็นระยะเวลานานพอสมควร ในขณะที่เอกชนผู้ลงทุนไทยเองมีจำนวนมาก มีความพร้อมด้านเทคโนโลยี บุคลากร และเงินทุน ดังจะเห็นได้จากมีผู้ลงทุนยื่นข้อเสนอถึง 232 โครงการ และโครงการนี้เป็นการแข่งขันด้านราคา (Competitive Bidding) ผู้เขียนคิดว่าจะมีการแข่งขันด้านราคาอย่างรุนแรง ราคาที่ประมูลได้คงอยู่ในระดับต่ำกว่าค่า Fit ที่กำหนดไว้มากพอควร ซึ่งจะเป็นผลดีทำให้ค่าไฟฟ้าถูกลงและประชาชนมีงานจากการจ้างงานทำในพื้นที่ ลดการย้ายถิ่นฐานของแรงงาน มีรายได้จากการจำหน่ายพืชพลังงานและเงินปันผลจากการเป็นเจ้าของโรงไฟฟ้า รวมทั้งมีเงินลงทุนหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจกระจายไปทั่วประเทศ จำนวน 27,000 ล้านบาท ซึ่งจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศที่กำลังประสบปัญหาในขณะนี้ได้.


โดย  วีระพล จิรประดิษฐกุล


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"