ยันจนท.ด่านหน้า ได้ไฟเซอร์ทุกคน ฉีดแล้ว1.2แสน


เพิ่มเพื่อน    

ครม.อนุมัติงบกลาง 1,877 ล้านบาท กรณีให้บริการฉีดวัคซีนโควิดนอกสถานพยาบาลของ สธ.เร่งสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ สธ.เผยฉีดไฟเซอร์แล้ว 1.2 แสนคน พร้อมจัดส่งเพิ่มพื้นที่ 13 จว.แดงเข้ม ยันด่านหน้าได้ทุกคน เอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำยูเอ็นมอบ 5  ล้านเหรียญสหรัฐฯ ช่วยไทย "หมอประสิทธิ์" เผยเดลตาระบาด 132 ประเทศทั่วโลกจะเกิดปัญหาแย่งวัคซีนจนถึงปลายปี 
     เมื่อวันอังคาร ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. รายงานสถานการณ์โควิด-19 ประจำวันว่า ยอดฉีดวัคซีนวันที่ 9 ส.ค. มีการฉีดไป 501,330 โดส ทำให้ขณะนี้มียอดฉีดสะสม 21,171,110 โดส 
    ที่ทำเนียบรัฐบาล นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติจำนวนเงิน  1,877,455,000 บาท กรณีให้บริการฉีดวัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 นอกสถานพยาบาลกระทรวงสาธารณสุข โดยที่สถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 บุคลากรด้านการแพทย์และสาธารณสุขต้องปฏิบัติงานด้านการป้องกัน สอบสวน คัดกรอง  รักษาพยาบาลทั้งในเวลาและนอกเวลา ซึ่งเป็นภารกิจที่หนัก เร่งด่วน  ฉุกเฉิน เป็นด่านหน้าในการเผชิญกับความเสี่ยงมาตลอด ประกอบกับนโยบายการเสริมสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ให้ประชาชนในประเทศไทย บุคลากรด้านการแพทย์และสาธารณสุขจึงมีภาระงานเพิ่มขึ้น นอกเหนือจากภารกิจปกติซึ่งมีมากเกินอัตรากำลัง จึงจำเป็นต้องระดมบุคลากรในงานสนับสนุนอื่นๆ มาช่วยปฏิบัติงานภายในระยะเวลาที่จำกัดเร่งด่วนให้เสร็จสิ้นตามเป้าหมาย และเพื่อเสริมสร้างขวัญกำลังใจบุคลากรในส่วนที่รัฐบาลสามารถตอบแทนให้ได้โดยไม่ขัดต่อระเบียบปฏิบัติราชการ 
    นายอนุชาตอบคำถามแทน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กรณีการจัดสรรวัคซีนไฟเซอร์ ที่บุคลากรทางการแพทย์ออกมาถามหาว่าทำไมรัฐจัดสรรให้น้อยกว่าจำนวนแพทย์ว่า ขอชี้แจงว่าวัคซีนไฟเซอร์ที่เข้ามาไทย 1.5 ล้านโดสได้จัดสรรบุคลากรทางการแพทย์ประมาณ 7 แสนโดส เบื้องต้นส่งล็อตแรกไปแล้วประมาณ  50-75% ไปยังโรงพยาบาลต่างๆ ที่มีการสำรวจผู้ต้องการฉีดวัคซีน  โดยจะทยอยส่งเป็นล็อตเพื่อประสิทธิภาพสูงสุดในการบริหารจัดการ  เพราะหากส่งไปครั้งเดียวร้อยเปอร์เซ็นต์ บางพื้นที่อาจได้รับเกินหรือขาด แต่ขอยืนยันหลังจากนี้จะทยอยส่งให้ครบตามจำนวนบุคลากรทางการแพทย์ที่แจ้งความจำนงมา และที่จะได้รับการฉีดตามกฎระเบียบที่กระทรวงสาธารณสุขตั้งไว้ต่อไป 
    ที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) นพ.เฉวตสรร นามวาท ผู้อำนวยการกองควบคุมโรคและภัยสุขภาพในภาวะฉุกเฉิน กรมควบคุมโรค แถลงว่า  การจัดสรรวัคซีนไฟเซอร์เป็นไปตามไทม์ไลน์ ยืนยันว่าเป้าหมายการจัดการวัคซีนไฟเซอร์ บุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขด่านหน้าจะได้รับวัคซีนทุกคนตามประสงค์ตามเกณฑ์ ซึ่งจะพิจารณาตามข้อวิชาการว่ามีรายใดที่เหมาะสมกับการฉีด ในวันนี้จะมีการส่งวัคซีนไฟเซอร์ไปยัง รพ.จังหวัดควบคุมสูงสุดเข้มงวด 13 จังหวัด ได้แก่  กรุงเทพฯ, ฉะเชิงเทรา, ชลบุรี, นครปฐม, นนทบุรี, นราธิวาส, ปทุมธานี,  ปัตตานี, พระนครศรีอยุธยา, ยะลา, สงขลา, สมุทรปราการ และสมุทรสาคร สำหรับผู้สูงอายุ, กลุ่ม 7 โรคเรื้อรัง และหญิงตั้งครรภ์ เพื่อฉีดเข็มที่ 1 โดยอีก 3 สัปดาห์จะนัดหมายฉีดเข็มที่ 2 
    “โดยยอดการฉีดวัคซีนขณะนี้ในภาพรวมนับตั้งแต่ 28 ก.พ. - 9 ส.ค. มีการฉีดไปแล้ว 21 ล้านโดส เฉพาะในกรุงเทพฯ และภูเก็ตก็ฉีดได้ประมาณ 70% ของจำนวนประชากรที่อาศัยอยู่ใน 2 จังหวัด   สำหรับการฉีดวัคซีนในเข็มที่ 1 รวมทุกยี่ห้อ 16 ล้านโดส ซึ่งเมื่อวานก็มีการฉีดสูง 5 แสนโดส ส่วนการฉีดวัคซีนไฟเซอร์เข็มที่ 1 จำนวน  3.3 หมื่นคน ส่วนไฟเซอร์เข็มที่ 2 จำนวน 1.3 หมื่นคน ในบุคลากรที่ฉีดเข็มกระตุ้นที่ 3 จำนวน 8.2 หมื่นคน ในขณะที่ภาพรวมการฉีดสะสมแล้วทุกยี่ห้อ โดยซิโนแวคอยู่ที่ 10 ล้านคน แอสตร้าเซนเนก้าอยู่ที่ 9.2 ล้านคน ซิโนฟาร์มอยู่ที่ 1.5 ล้านคน และไฟเซอร์อยู่ที่ 1.2  แสนคน” นพ.เฉวตสรรระบุ  
    เมื่อถามเกี่ยวกับการจัดสรรวัคซีนไฟเซอร์ให้น้อยกว่าจำนวนบุคลากรทางการแพทย์ที่ส่งรายชื่อเข้ามาในหลายพื้นที่ นพ.เฉวตสรร กล่าวว่า อย่างกรณีข่าวในพื้นที่ จ.ขอนแก่นและ รพ.สนามธรรมศาสตร์ฯ ที่ได้รับวัคซีนไฟเซอร์ไม่เพียงพอตามจำนวนนั้น ขณะนี้ได้จัดส่งครบแล้ว  ดังนั้นในหลักเกณฑ์การจัดสรรวัคซีนโดยการดูฐานข้อมูลบุคลากรฉีดวัคซีนอยู่เท่าไหร่ และสำรวจบุคลากรที่มีวัตถุประสงค์รับวัคซีนไฟเซอร์มีจำนวนเท่าไหร่ ซึ่งในการสำรวจรอบแรกอาจจะมีการตกหล่น อย่างไรก็ตามวัคซีนที่จัดไปในรอบแรกข้อมูลอาจจะมีการคลาดเคลื่อน เตรียมพร้อมที่จะจัดส่งไปเพิ่มเติมให้แก่ รพ.ที่ยังไม่ได้รับ ยืนยันว่าบุคลากรด่านหน้าจะได้รับวัคซีนทุกคน  
    เพจสถานทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย U.S.Embassy Bangkok โพสต์ข้อความว่า "เอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำสหประชาชาติ ลินดา โทมัส-กรีนฟิลด์  ประกาศความช่วยเหลือด้านโรคโควิด-19 รอบใหม่ มูลค่า 5 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ให้ไทย ซึ่งจะช่วยสนับสนุนบุคลากรสาธารณสุขที่ให้บริการฉีดวัคซีนแก่ประชาชน ตลอดจนเสริมสร้างศักยภาพระบบสาธารณสุขของไทยในการป้องกัน ตรวจหา และตอบสนองต่อโรคโควิด-19"
    ที่คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ม.มหิดล มีการแถลงข่าว  "ถอดบทเรียนจากสัญญาณเตือนภัย: สถานการณ์โลก จากวิกฤติสายพันธุ์ Delta" โดย ศ.ดร.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ม.มหิดล กล่าวว่า  โควิดสายพันธุ์เดลตารุนแรงกว่าที่คาดการณ์ไว้ แพร่กระจายไปแล้วกว่า 132 ประเทศ ขณะที่ทั่วโลกฉีดวัคซีนไปแล้วอยู่ที่ 4.4 พันล้านโดส เฉลี่ยฉีดวันละ 42 ล้านโดส ในสหรัฐอเมริกามีการเริ่มฉีดวัคซีนในช่วงปลาย ธ.ค.63 ทำให้มีตัวเลขจำนวนผู้ติดเชื้อลดลง แต่ในระยะนี้ตัวเลขผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นแตะหลักแสนคนต่อวัน แต่การเสียชีวิตไม่เพิ่มขึ้นอยู่ที่ 500 คนต่อวัน ขณะนี้มีการฉีดวัคซีนไปแล้ว 350 ล้านโดส เฉลี่ยฉีดวันละ 7.1 แสนโดส ในประชากรกว่า 58% ได้รับวัคซีน 1 โดส และ 50% ได้รับวัคซีนครบ 2 โดส และอังกฤษมีการฉีดวัคซีนไปเมื่อ 8 ธ.ค.63 อัตราการติดเชื้อหรือเสียชีวิตลดลงชัดเจน และเมื่อมีการติดเชื้อสายพันธุ์เดลตาขึ้นมาใหม่ มีอัตราการติดเชื้อเฉลี่ยอยู่ที่หลักหมื่นคนต่อวัน แต่อัตราการตายเฉลี่ยอยู่ที่หลักสิบคนต่อวัน 
    “เมื่อตัวเลขผู้ติดเชื้อในหลายประเทศเพิ่มมากก็กระทบกับจำนวนวัคซีน โดยเมื่อตอนโควิดระบาดใหม่ๆ บริษัทวัคซีนทั้งหลายคาดว่าวัคซีนที่ผ่านการทดสอบระยะที่สามแล้ว น่าจะสามารถผลิตออกมาได้ 2  หมื่นล้านโดสใน 1 ปี ซึ่งประชากรโลก 7.8 พันล้านคน คนละ 2 โดสก็ประมาณ 1.5 หมื่นล้านโดสที่จะครอบคลุมประชากรโลก แต่ในความเป็นจริงไม่สามารถทำได้ทัน ซ้ำเติมด้วยสายพันธุ์เดลตาที่แพร่กระจายเร็วอีก จึงทำให้จากการคำนวณศักยภาพการผลิตจนถึงปลายปี  2564 ผลิตได้ไม่เกิน 1.3 หมื่นล้านโดส ดังนั้นตั้งแต่ช่วงนี้จนถึงปลายปีก็จะพบปัญหาการแย่งชิงวัคซีน เนื่องจากไม่เพียงพอรองรับกับความต้องการ” นพ.ประสิทธิ์ระบุ  
    วันเดียวกัน สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดบุรีรัมย์ได้โพสต์เฟซบุ๊ก  สสจ.บุรีรัมย์ ชี้แจงกรณีมีกระแสข่าวทางโซเชียลว่า จังหวัดบุรีรัมย์ได้รับจัดสรรวัคซีนไฟเซอร์ก่อนที่กระทรวงสาธารณสุขจัดสรรให้ และได้รับจัดสรรจำนวนวัคซีนเป็นลำดับที่ 3 ของประเทศว่า ไม่เป็นความจริง โดยได้รับการจัดสรรตามเกณฑ์ของกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งเจ้าหน้าที่ทางการแพทย์และสาธารณสุขที่ให้บริการด่านหน้าได้ยื่นความจำนงตามสิทธิการฉีดเข็ม 3 ถึง 10,093 คน และขอรับวัคซีนไฟเซอร์รายใหม่  240 คน (480 โดส) รวมทั้งหมด 10,573 โดส โดยได้รับการจัดสรรวันที่ 6 ส.ค.ที่ผ่านมา พร้อมกันทั่วประเทศ 7,200 โดส ซึ่งต้องได้รับจัดสรรวัคซีนส่วนที่เหลืออีก 3,373 โดส นอกจากนี้บุรีรัมย์ได้รับการจัดสรรวัคซีนไฟเซอร์อยู่ลำดับที่ 10 ของประเทศ 
      ที่ จ.ขอนแก่น พญ.นาตยา มิลส์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลขอนแก่น ชี้แจงถึงกรณีองค์กรแพทย์ออกแถลงการณ์เรียกร้องการขอรับวัคซีนไฟเซอร์ตามที่ได้เสนอขอไป 1,449 โดส แต่ได้รับการจัดสรรเพียง 720 โดสว่า ขณะนี้ภายในโรงพยาบาลได้มีการทำความเข้าใจร่วมกันทุกฝ่าย และวันนี้ได้รับการจัดสรรวัคซีนครบเต็มจำนวนแล้ว คือ  1,449 โดส ซึ่งเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นการสื่อสารที่ผิดพลาดภายในองค์กร ซึ่งการฉีดวัคซีนเข็ม 3 ของ รพ.ขอนแก่นจะเร่งดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในสัปดาห์นี้.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"