จับตา‘พ.ร.ก.คุ้มครองแพทย์’   ‘ความแหลมคม’ทางการเมือง 


เพิ่มเพื่อน    

แม้กระทรวงสาธารณสุขจะออกมาชี้แจงเหตุผลของการผลักดันพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) จำกัดความรับผิดบุคลากรสาธารณสุขในการรักษาผู้ป่วยโควิด-19 พ.ศ....ว่าเป็นไปเพื่อสร้างความมั่นใจและปกป้องบุคลากรทางการแพทย์และผู้ปฏิบัติงานที่เกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการโควิด-19 ภายใต้สถานการณ์แพร่ระบาดและทรัพยากรที่มีจำกัด 
    แต่ในทางการเมืองแล้ว พ.ร.ก.จำกัดความรับผิดบุคลากรสาธารณสุขในการรักษาผู้ป่วยโควิด-19 พ.ศ....หรือที่ นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี เรียกสั้นๆ ว่า พ.ร.ก.คุ้มครองแพทย์ กลับมีความแหลมคมเป็นอย่างมาก 
    นั่นเพราะหลายฝ่าย โดยเฉพาะฝ่ายค้านมองว่า พ.ร.ก.ฉบับนี้กำลังถูกสร้างขึ้นมาเพื่อใช้เป็นเกราะคุ้มครองระดับผู้บริหารมากกว่า โดยใช้บุคลากรทางการแพทย์บังหน้าเท่านั้น 
    โดย นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ที่ออกมาคัดค้าน “การนิรโทษกรรมแบบเหมาเข่ง” ระบุว่า โดยหลักการแล้วในสถานการณ์โรคระบาดเช่นนี้ การจำกัดความรับผิดทั้งทางอาญาและแพ่ง ให้กับแพทย์ พยาบาล และบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขที่ปฏิบัติด่านหน้า ที่ทำงานเต็มความสามารถ โดยสุจริต และไม่ได้เลือกปฏิบัติ ภายใต้ทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัดนั้นเป็นสิ่งที่ควรทำอยู่แล้ว 
    “แต่ข้อเท็จจริงหนึ่งที่ต้องยอมรับก็คือ การที่สถานการณ์การแพร่ระบาดเกิดขึ้นรุนแรงที่เป็นอยู่ในทุกวันนี้ปฏิเสธไม่ได้ว่า ส่วนหนึ่งมาจากการตัดสินใจเชิงนโยบาย ทั้งๆ ที่ควรจะคาดการณ์ได้ล่วงหน้าอยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็น 1.การไม่กระจายความเสี่ยงในการจัดหาวัคซีน 2.การจัดฉีดวัคซีนที่ล่าช้า ขาดการวางระบบในการจัดการ และการบริหารฐานข้อมูลที่ดี 3.การเบิกจ่ายงบประมาณในการเตรียมความพร้อม ทั้งด้านอุปกรณ์ทางการแพทย์ ยา และเวชภัณฑ์ต่างๆ ที่จำเป็น ที่ขาดประสิทธิภาพ ดูเบาต่อสถานการณ์” 
    อย่างไรก็ดี หากมองข้ามความขัดแย้งระหว่าง นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.สาธารณสุข กับ นายวิโรจน์ ที่เป็นไม้เบื่อไม้เมากันเรื่องโควิด-19 มาโดยตลอด การผลักดัน พ.ร.ก.ฉบับนี้ แม้มีเจตนาที่ดี แต่สามารถสร้างจุดเปลี่ยนทางการเมืองได้ หากผลักดันอย่างไม่รอบคอบ 
    เพราะต้องไม่ลืมว่า การที่ฝ่ายบริหารและระดับนโยบายได้ประโยชน์ไปด้วย ย่อมเปิดช่องให้ถูกครหาว่า ทำเพื่อประโยชน์ตัวเองมากกว่า เหมือนกับการล้างผิด-ฟอกตัว ให้กับตัวเอง  
    แม้แต่ นายวิษณุ ยังมองเห็นถึงความสุ่มเสี่ยง จึงแนะนำนายอนุทินระหว่างการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันอังคารที่ผ่านมา ที่แม้จะไม่ได้พูดตรงๆ แต่รู้สึกได้ว่าอย่าผลีผลาม 
    “ถือเป็นหลักการที่ดี เจตนาที่ดี ที่แพทย์อาจจะถูกฟ้อง แต่อาจจะไปใช้วิธีอื่นได้ เช่น ดึงเอาบุคลากรทางการแพทย์มาเป็นเจ้าพนักงานของ ศบค. ซึ่งได้รับการคุ้มครองตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉิน แต่ไม่แน่ใจว่าเพียงพอหรือไม่ แต่หากจำเป็นต้องออกเป็น พ.ร.ก.ก็อยากให้นำเรื่องที่เป็นประโยชน์ต่อประชาชน หรือเรื่องที่ต้องการแก้ไขอื่นๆ เช่น เรื่องวัคซีน โรงพยาบาลสนาม เอามารวมใน พ.ร.ก.ฉบับนี้ ไม่ใช่นิรโทษกรรมเรื่องเดียว” แหล่งข่าวอ้างคำพูดนายวิษณุ  
    โดย พ.ร.ก.คุ้มครองแพทย์ฉบับนี้ค่อนข้างอ่อนไหว และอาจกลายเป็นชนวนความขัดแย้งครั้งใหญ่ได้ ดังจะเห็นจากปฏิกิริยาจากสังคมที่ต่างให้น้ำหนักไปที่การ “นิรโทษกรรมให้ตัวเอง” ของรัฐบาล 
    ประกอบกับอารมณ์ของประชาชนในขณะนี้ที่กำลังไม่พอใจรัฐบาล เนื่องจากมองว่า รัฐบาลบริหารจัดการโควิด-19 ผิดพลาด ไม่ว่าจะเป็นมิติของจำนวนผู้ติดเชื้อ การเข้ารับการรักษา การเข้าถึงวัคซีนที่มีประสิทธิภาพ รวมถึงผู้ประกอบการ ลูกจ้าง ที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาด การเร่งผลักดัน พ.ร.ก.ฉบับนี้จึงไม่ต่างอะไรกับการราดน้ำมันใส่กองไฟ 
    ขณะที่การใช้วาทกรรม “นิรโทษกรรม” มันค่อนข้างละเอียดอ่อนในสังคมไทย เพราะเป็นคำที่ใช้ล้างผิดให้กับผู้กระทำผิด โดยไม่ต้องรับโทษ สังคมยิ่งรับไม่ได้ 
    หากย้อนกลับไปสมัยรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ส่วนหนึ่งที่ นายสุเทพ เทือกสุบรรณ จุดกระแสขับไล่รัฐบาลติด ก็เพราะมีเงื่อนไขสำคัญจากการผลักดันร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมสุดซอย ที่ประชาชนส่วนใหญ่ในประเทศไม่เห็นด้วยกับวิธีการนี้  
    เรื่องนี้แม้จะมีเจตนาดีเพื่อช่วยบุคลากรทางการแพทย์ แต่หากผู้ได้รับประโยชน์มีฝ่ายการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้องย่อมเกิดกระแสต้านมหาศาล และอาจกลายเป็น “จุดร่วม” ให้ฝ่ายต่างๆ ออกมาขับไล่รัฐบาล จนไม่สามารถรับมือไหวเหมือนกับเรื่องอื่นๆ  
    มันอาจกลายเป็นตัวแปรสำคัญ ถึงขั้นที่ชี้เป็นชี้ตายการคงอยู่ของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้เลยทีเดียว หากไม่รอบคอบ. 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"