ถอดสลักด้วยการเมือง ป่วนไม่ถึงเส้น“จลาจล”


เพิ่มเพื่อน    

ทุกครั้งของม็อบ “ล้มประยุทธ์” ประกาศยุติชุมนุม เป็นอันรู้กันว่านั่นคือสัญญาณที่จะเกิดเหตุเผชิญหน้ากันขึ้นระหว่างผู้ชุมนุมสายฮาร์ดคอร์ กับเจ้าหน้าที่ตำรวจ สังเกตได้จากสามครั้งที่ผ่านมาในสมรภูมิสามเหลี่ยมดินแดง มักเกิดจากเหตุต่อเนื่อง ทั้งกรณีของม็อบ 7 สิงหาฯ จัดโดยกลุ่มเยาวชนปลดแอก ที่เปลี่ยนเส้นทางการเดินไปพระบรมมหาราชวังไปอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ ตามมาด้วยม็อบ 10 สิงหาฯ จัดขบวน “คาร์ม็อบ” ไปอาคาร “ซิโน-ไทย ทาวเวอร์” บ้านพัก “ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า” และ “คิงส์ พาวเวอร์” และม็อบ 11 สิงหาฯ โดยกลุ่มทะลุฟ้าแสดงสัญลักษณ์เรียกร้องให้ตุลาการยืนข้างประชาชนที่อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ โดยเป้าหมายสุดท้ายในการเคลื่อนม็อบทั้ง 3 ครั้งคือ บ้านพักของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในกรมทหารราบที่ 1 มหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์ (ร.1 ทม.รอ.) 
    แม้มีการจับกุม “ฮาร์ดคอร์” ทั้งในพื้นที่การชุมนุม และการที่เจ้าหน้าที่ตำรวจนำหมายจับติดตามไปควบคุมตัวได้ในภายหลัง ในกรณีที่ทำลายทรัพย์สินราชการ การใช้สิ่งเทียมอาวุธเข้าขว้างปาเข้าสู่เจ้าหน้าที่ ผ่านการทำสำนวนของพนักงานสอบสวนที่เร่งในการหาพยานหลักฐาน ทั้งจากภาพถ่ายและกล้องวงจรปิด โดย พล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข ผบ.ตร. ได้จัดชุดเฉพาะกิจในการดำเนินการเรื่องเหล่านี้ให้รวดเร็ว ครอบคลุมและมัดตัวผู้ก่อเหตุให้ได้ แต่ก็ใช่ว่าจะสามารถควบคุมบุคคลเหล่านั้นไว้ได้นาน 
    ยิ่งช่วง “ลูกติดพัน” ประมาณสองทุ่มเป็นต้นไป เกิดความชุลมุนวุ่นวายกระจัดกระจายหลายกลุ่ม จนไม่รู้ว่าใครเป็นใคร จนต้องใช้เวลาแกะรอยติดตามจากพยานหลักฐาน ขณะที่กลุ่มจัดตั้งเครือข่ายอาชีวะที่ร่วมเคลื่อนไหวกับกลุ่มราษฎร เยาวชนปลดแอก และแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม ได้ถอนตัวออกไปเกือบหมด เหลือเพียงอาชีวะ “ขาแรง” และเยาวชน “ขาเฮ้ว” ที่แยกตัวมา และยังไม่อยากเลิก เนื่องจากอารมณ์ค้างจากการวิ่งหนีแก๊สน้ำตาและกระสุนยาง  
    รวมไปถึงเด็กที่อยู่ในชุมชนแฟลตย่านนั้น และกลุ่มที่มาสมทบจากเส้นห้วยขวาง ลาดพร้าว ใช้ยานพาหนะเป็นจักรยานยนต์ในการเคลื่อนที่ออกไปทำลายทรัพย์สิน ป้อมจลาจล แล้วมุดเข้าตรอกซอกซอย พบข้อมูลว่าส่วนใหญ่เป็นทั้งเยาวชนที่มีคดี บางคนไร้หลักแหล่ง เกี่ยวพันกับยาเสพติด ต้องการผสมโรงเพื่อความสะใจ
    ขณะที่กลุ่มการ์ดอาชีวะ “บิ๊กเนม” เครือข่ายกลุ่มราษฎร เช่น “ฟันเฟืองประชาธิปไตย “และ “ฟันเฟืองธนบุรี” มีการสลายตัว แยกกันไปเคลื่อนไหวอิสระอยู่ด่านหน้าที่แนวปะทะในชุดแรก ส่วน “ม่อน อาชีวะ” ที่แยกตัวออกมาจาก “ฟันเฟือง” เนื่องจากไม่เห็นด้วยกับข้อเรียกร้องทะลุเพดาน ล่าสุดจะออกมาเคลื่อนไหวกับ “ไทยไม่ทน” และกลุ่มที่ “ไล่ประยุทธ์” ทุกกลุ่มอย่างเป็นอิสระ ต่างจบภารกิจ และถอนตัวหลังเผชิญหน้ากับ คฝ.จน “หมดของ” แล้ว ไม่ได้จรยุทธ์ปฏิบัติการป่วนเมืองต่อเหมือนกลุ่ม “ไร้หลักแหล่ง” ที่ปิดจ๊อบเป็นชุดสุดท้าย 
    ที่ผ่านมาพนักงานสอบสวนใช้พยานหลักฐาน ภาพถ่าย ภาพจากกล้องวงจรปิด ในการยื่นศาลขออนุมัติหมายจับ แต่เนื่องด้วยสถานการณ์โควิด-19 ผู้ชุมนุมใช้โอกาสของการใส่แมสก์ป้องกันการแพร่เชื้อเป็นเกราะกำบัง และปฏิเสธข้อกล่าวหา หากพนักงานสอบสวนไม่มีหลักฐานและพยานแวดล้อมอื่นยืนยันจนมัดตัวแน่น ศาลก็ไม่อาจอนุมัติการประกันตัวได้ จึงเป็นช่องโหว่อีกประการที่ทำให้ “กลุ่มฮาร์ดคอร์” ได้รับการปล่อยตัวหลังจากถูกจับกุม
    ทำให้หลายฝ่ายกังวลว่า หากปล่อยให้สถานการณ์ล่วงเลยต่อไป เสี่ยงที่จะมีการนำอาวุธจริงเข้ามาผสมโรง กระตุ้นให้ตำรวจต้องปฏิบัติการด้วยกระสุนจริงตอบโต้ “เข้าล็อก” กับการปราบปรามการจลาจล มีการใช้กำลังทหาร เลยไปถึงการโหมกระแส “ปฏิวัติรัฐประหาร” ประกอบฉาก เพื่อให้กลุ่มการเมืองสามารถนำไปเคลมกับนานาชาติได้ ในการเดินเกม “โลกล้อมไทย” จากร่องรอยการเปิดหัว “183 แบล็กลิสต์” หน่วยความมั่นคงไทย ที่ "ตั้ง อาชีวะ" ผู้ต้องหาคดี 112 หนีคดี เป็นผู้นำ โดยระบุว่าจะยื่นให้ยูเอ็นและวุฒิสมาชิกสหรัฐ แทมมี ดักเวิร์ธ นำร่อง  
    นั่นก็เป็นแค่การประเมินตามภาพจำเก่าๆ ของนักเคลื่อนไหวที่ยังวนเวียนในทฤษฎีอนาธิปไตย ที่เชื่อว่าจะจบด้วยการเปลี่ยนแปลงในที่สุด!!
    แต่สถานการณ์ในขณะนี้ต่างจากเหตุการณ์เมื่อปี 53 และปัจจัยทางการเมืองเปลี่ยนแปลงไปจากเมื่อก่อน โดยเฉพาะบทเรียนจากการสูญเสีย การถูกดำเนินคดี แกนนำพาเหรดเข้าคุกกันไม่จบสิ้น จึงเชื่อว่าเหตการณ์จะไม่ซ้ำรอยเดิม เพราะโครงสร้างการเมืองในระบบขณะนี้ได้ถูกล้วงลึกมากขึ้นกว่าเดิมจากที่ไม่เคยแตะมาก่อน
ขณะที่ปฏิกิริยาของกองทัพที่หลายฝ่ายอยากให้ “ขยับ” เพื่อให้เข้าองค์ประกอบการโค่นล้มทั้งโครงสร้างได้ง่าย แต่ดูเหมือนว่าไม่ได้ง่ายอย่างที่คิด เพราะ “ผู้นำเหล่าทัพ” ไม่ได้เป็นเครือข่ายเดียวกับม็อบ อำมาตย์ และการเมือง เหมือนช่วงหลังปฏิวัติรัฐประหาร 2549 และ 2557 จึงเห็นแต่ทหาร “สงบนิ่ง” อยู่ในกรมกอง ไม่ข้ามเส้นแอคชันทางการเมือง ปล่อยให้เจ้าหน้าที่ตำรวจควบคุมสถานการณ์ตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินไปตามขั้นตอน
    และถ้าสถานการณ์ถึงทางตัน หรือยกระดับความรุนแรงไปจนถึงขั้นมีผู้เสียชีวิต ก็ยังมีวิถีทางยุติปัญหาได้ จากการกดดันทางการเมืองเพื่อ “ถอดสลัก” ระเบิดให้หยุดทำงาน ตัดตอนไม่ให้ไปทะลุเพดานไกลกว่ารัฐบาล ยุติศึกกับกลุ่มการเมืองเบื้องหลัง "เด็ก" ไว้ชั่วคราว ในช่วงที่ประเทศกำลังเจอศึกหนักทั้งเรื่องโควิด-19 และ เศรษฐกิจที่ตกต่ำ 
ปรากฏการณ์ “การเมืองบนท้องถนน” ในขณะนี้จึงเป็นเครื่องมือเดินเกมการเมืองในสภาฯ เพื่อบีบเข้าสู่การคายอำนาจของคนที่ถืออำนาจในปัจจุบัน จะด้วยการตัดสินใจของตัว พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เอง การแสดงออกในการร่วมรัฐบาลของพรรคร่วม รวมไปถึงปฏิกิริยาของพรรคฝ่ายค้านเองที่ต่างเฝ้าชิงจังหวะความได้เปรียบในการเมืองในสนามเลือกตั้งครั้งหน้า จะไปจับขั้วการเมืองใหม่กันอย่างไร โดยมีการกำหนดกติกาการเลือกตั้งในการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ส่งผลต่อการได้เปรียบเสียเปรียบของ “เพื่อไทย-ก้าวไกล” เป็นตัวแปร 
จากร่องรอยความแตกร้าวหลัง “โทนี่รีเทิร์น” ปลุกกระแสลูกพรรคอย่าเพิ่งย้ายบ้าน เลยไปถึงการอวย “ลายจุด” จัด “คาร์ม็อบ” และการขยับของ “เต้น” ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ ที่ลดระดับเพดานลงมาแบบกั๊กๆ สวนทางกับภาพในอดีต “สู้ไปกราบไป” ที่ “ม็อบเด็ก” ไปขุดมาเหน็บแบบเจ็บๆ ส่งผลให้เห็นทางแยกระหว่าง “เพื่อไทย” และ “ก้าวไกล” ที่ชัดเจนขึ้น
    ความไม่ลงรอยระหว่าง “พรรคร่วมฝ่ายค้าน-พรรคร่วมรัฐบาล” จึงมีแนวโน้มจะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในช่องทางปกติได้  ไม่ถึงขั้นต้องต้องใช้กำลัง “เอกซ์เซอร์ไซส์” ให้เข้าล็อกคนที่อยากทะลุเพดาน!!.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"