‘พลเอกอนันตพร’ รมว.พม.เยี่ยม พอช. และมอบนโยบาย ย้ำต้องทำให้ได้ตามปรัชญาองค์กร คือ “ทำให้ประชาชนเกิดพลัง”


เพิ่มเพื่อน    

สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน /   พลเอกอนันตพร  กาญจนรัตน์  รมว.พม.เยี่ยม พอช. และมอบนโยบาย  ย้ำต้องทำงานให้ได้ตามปรัชญาองค์กร คือ  “ทำอย่างไรให้ประชาชนเกิดพลัง  ขณะที่ ผอ.พอช.เสนอประเด็นหารือให้กระทรวง พม.ช่วยเจรจาขอใช้ที่ดินรัฐจากหน่วยงานเจ้าของที่ดินเพื่อแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยคนจน  รวมทั้งการเสนอร่าง พ.ร.บ.สวัสดิการชุมชน  แก้ไข พ.ร.บ.สภาองค์กรชุมชน  ฯลฯ เพื่อให้กระทรวงช่วยผลักดัน

วันที่  14 มิถุนายน   เวลา 9.30  น.  พลเอกอนันตพร  กาญจนรัตน์   รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.)  และคณะ  ได้เดินทางมาที่สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) หรือ ‘พอช.’  ถนนนวมินทร์   เขตบางกะปิ  กรุงเทพฯ  เพื่อตรวจเยี่ยมและมอบนโยบายการบริหารงานให้แก่สถาบันฯ  โดยมีนายสมชาติ  ภาระสุวรรณ  ผู้อำนวยการ  และผู้บริหาร พอช. ให้การต้อนรับ 

นายสมชาติ  ภาระสุวรรณ  ผู้อำนวยการ พอช.  กล่าวว่า  พอช.ทำงานโดยให้องค์กรชุมชนเป็นแกนหลัก  และใช้พื้นที่เป็นตัวตั้ง  เพื่อนำไปสู่การสร้างเสริมให้ชุมชนเกิดความเข้มแข็ง  สามารถพัฒนาและแก้ไขปัญหาของชุมชนท้องถิ่นได้   โดยการดำเนินงานของ พอช.ในปีงบประมาณ 2561  (ตุลาคม 2560- พฤษภาคม 2561)  มี 8 แผนงานหลัก  เช่น  1.การสนับสนุนการพัฒนาที่อยู่อาศัยผู้มีรายได้น้อยในเมืองและชนบท  25,408    ครัวเรือน 

2.การส่งเสริมและสนับสนุนการยกระดับพื้นที่รูปธรรมการพัฒนาชุมชนท้องถิ่นจัดการตนเอง 500   ตำบล  3.การสนับสนุนการเชื่อมโยงและบูรณาการแผนพัฒนาชุมชนท้องถิ่นสู่แผนยุทธศาสตร์จังหวัด 500   ตำบล 25 จังหวัด  4.ส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพแกนนำและขบวนองค์กรชุมชน 1,870   ตำบล  3,000   คน  ฯลฯ

 สำหรับการพัฒนาที่อยู่อาศัยผู้มีรายได้น้อยทั่วประเทศ  ซึ่งเป็นนโยบายสำคัญของรัฐบาล  เพื่อลดปัญหาความเหลื่อมล้ำทางสังคม  ตามแผนแม่บทการพัฒนาที่อยู่อาศัยผู้มีรายได้น้อยระยะ 20 ปี (พ.ศ.2560-2579)  ซึ่ง พอช.ดำเนินการ   ขณะนี้มีความคืบหน้า  ดังนี้  1.บ้านมั่นคง  มีเป้าหมาย 6,710  ครัวเรือน    ขณะนี้ดำเนินการไปแล้ว  2,739  ครัวเรือน  (40.82 %)  2.ชุมชนริมคลอง  เป้าหมาย  7,069  ครัวเรือน   ดำเนินการแล้ว  2,635  ครัวเรือน (37.28 %) 

3.คนไร้บ้าน  ดำเนินการใน 3  จังหวัด  คือ  เชียงใหม่  ขอนแก่น  และกรุงเทพฯ   ปัจจุบันศูนย์ฟื้นฟูและพัฒนาศักยภาพคนไร้บ้านจังหวัดเชียงใหม่ก่อสร้างเสร็จแล้ว   จังหวัดขอนแก่นจัดซื้อที่ดินแล้ว  อยู่ในระหว่างการออกแบบ  และที่กรุงเทพฯ จัดซื้อที่ดินพร้อมอาคารในเขต อ.รังสิต  จ.ปทุมธานี  และ 4.บ้านพอเพียงชนบท  เป้าหมาย 15,000 ครัวเรือน  ดำเนินการแล้ว  16,260  ครัวเรือน  รวม  1,329   ตำบล  74   จังหวัด (108.4 %)

                ทั้งนี้โครงการบ้านพอเพียงชนบท  เริ่มดำเนินการตั้งแต่ปี 2560  ระยะเวลาดำเนินการ 20 ปี (พ.ศ.2560-2579) มีเป้าหมายทั้งหมด 76  จังหวัด  จำนวน 5,362    ตำบล  รวม  352,000 ครัวเรือน  โดย พอช.สนับสนุนงบประมาณซ่อมแซมครัวเรือนที่ยากจน  บ้านเรือนทรุดโทรม  ไม่มั่นคง  ไม่เกินครัวเรือนละ 18,000 บาท   โดยให้ชุมชนดำเนินการผ่านกลไกต่างๆ ในท้องถิ่น  เช่น  สภาองค์กรชุมชนตำบล  ร่วมกับหน่วยงานภาคีในท้องถิ่น

ส่วนโครงการพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากและทุนชุมชน  มีเป้าหมาย 500  ตำบล  ดำเนินการแล้ว  557    ตำบล  ในพื้นที่ 76 จังหวัด,  โครงการสนุบสนุนการจัดสวัสดิการชุมชน  มีกลุ่มเป้าหมาย  350,000 คน  ดำเนินการแล้ว 754  กองทุน  รวม  644,011 คน,   สภาองค์กรชุมชนตำบล  มีเป้าหมาย  750    ตำบล  ดำเนินการแล้ว  178  ตำบล

ผอ.พอช.กล่าวถึงการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการองค์กรในด้านต่างๆ  เช่น  ด้านค่านิยมองค์กร  โดยได้ร่วมกันระดมความเห็นเพื่อจัดทำค่านิยมองค์กรเพื่อนำไปสู่การปฏิบัติ  มีทั้งหมด 8   ข้อ  เช่น  การสร้างความสำเร็จด้วยการทำงานเป็นทีม  ความรับผิดชอบในบทบาทหน้าที่  เป็นนักแก้ปัญหาและมุ่งทำงานให้เกิดผลสำเร็จ  ยึดมั่นในความถูกต้องเป็นธรรม  เป็นองค์กรแห่งการเรียนรู้  ฯลฯ

“ในด้านคุณธรรมและความโปร่งใส  สถาบันฯ ได้ดำเนินการในหลายกิจกรรม  เช่น  มีการแต่งตั้งคณะทำงานส่งเสริมคุณธรรมและความโปร่งใส  ประกาศเจตจำนงสุจริตในการบริหารองค์กร    แต่งตั้งคณะทำงานเพื่อจัดการเรื่องร้องเรียน  และสอบทานการดำเนินโครงการของชุมชน  เพื่อให้สถาบันฯ และชุมชนดำเนินโครงการและกิจกรรมต่างๆ ด้วยความโปร่งใส  สามารถตรวจสอบได้”  นายสมชาติกล่าว

นอกจากนี้ ผอ.พอช.ยังได้นำประเด็นต่างๆ  นำเสนอต่อพลเอกอนันตพรเพื่อหารือถึงแนวทางในการดำเนินการต่อไป  เช่น  การใช้ที่ดินเพื่อที่อยู่อาศัยตามโครงการบ้านมั่นคง  เนื่องจากที่ผ่านมาการจัดทำโครงการบ้านมั่นคงมีความล่าช้า  โดยเฉพาะการเจรจาขอใช้ที่ดินจากหน่วยงานรัฐเพื่อลดค่าใช้จ่ายให้แก่ชุมชน  ซึ่งต้องผ่านขั้นตอนของกฎหมายและการอนุมัติหลายขั้นตอน   โดยมีหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง  เช่น  กรมธนารักษ์  กรมเจ้าท่า  การรถไฟ  กรมทรัพยากร  กรมป่าไม้  ฯลฯ

เช่น  จังหวัดตราด  มีชาวบ้านที่อาศัยอยู่ในที่ดินที่กรมเจ้าท่าดูแลในพื้นที่ 26   ตำบล  ประมาณ 10,000 ครัวเรือน  แต่ชาวบ้านไม่สามารถซ่อมแซมหรือทำโครงการพัฒนาที่อยู่อาศัยที่ทรุดโทรมได้  เนื่องจากจะต้องได้รับการอนุญาตจากกรมเจ้าท่า  แต่ยังติดขัดขั้นตอนตามระเบียบของกรมเจ้าท่า  ดังนั้นจึงขอให้กระทรวง พม.ช่วยประสานงานกับกระทรวงคมนาคม  เพื่อทำข้อตกลงหรือความร่วมมือในการพัฒนาที่อยู่อาศัย  โดยชาวบ้านมีแผนงานในการพัฒนาคุณภาพชีวิต  มีกติกาดูแลสิ่งแวดล้อม  ขยะ  และไม่บุกรุกพื้นที่  ฯลฯ

ประเด็นการบูรณาการโครงการที่อยู่อาศัยของหน่วยงานภายในกระทรวง พม. ตามแผนแม่บทการพัฒนาที่อยู่อาศัยผู้มีรายได้น้อยระยะ 20 ปี    ซึ่งมีหลายหน่วยงานในกระทรวง พม. รับผิดชอบ   เนื่องจากบางโครงการมีกลุ่มเป้าหมายและหลักเกณฑ์การทำงานใกล้เคียงกันหรืออยู่ในพื้นที่เดียวกัน   เช่น  โครงการบ้านพอเพียงชนบทของ พอช.  โครงการซ่อมแซมบ้านผู้สูงอายุของกรมสวัสดิการผู้สูงอายุ (ผส.)  การปรับสภาพแวดล้อมคนพิการของกรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ (พก.)  ฯลฯ    จึงควรมีแนวทางบูรณาการแผนงานและการทำงานร่วมกัน  รวมทั้งงบประมาณในการพัฒนาที่อยู่อาศัยผู้มีรายได้น้อยให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน

ประเด็นแผนการปฏิรูปประเทศไทย    เนื่องจาก พอช.มีส่วนเกี่ยวข้องกับการจัดทำแผนปฏิรูปประเทศไทย  รวมทั้งหมด  55 เรื่อง  ใน  8 ประเด็นการปฏิรูป  เช่น  แผนปฏิรูปด้านสังคม  ด้านเศรษฐกิจ  ด้านการเมือง  การบริหารราชการแผ่นดิน  ด้านกฎหมาย  ฯลฯ   โดย พอช.มีแผนที่จะดำเนินการจำนวน 19 โครงการ  และมีแผนเกี่ยวกับการร่าง พ.ร.บ.และแก้ไข พ.ร.บ.  จึงเสนอ รมว.พม.เพื่อหารือ  ดังนี้

1.ร่าง พ.ร.บ.สวัสดิการชุมชน   โดยรัฐธรรมนูญมาตรา 43  กำหนดว่าชุมชนสามารถจัดสวัสดิการชุมชนได้  และหน่วยงานสามารถสนับสนุนได้    ทั้งนี้กองทุนสวัสดิการชุมชน  ปัจจุบันมีมากกว่า  5,949  กองทุน  มีสมาชิกมากกว่า 5.3  ล้านคน   แต่กองทุนยังไม่มีสถานะเป็นนิติบุคคล  ดังนั้น พอช. จึงเสนอให้มีการจัดทำร่าง พ.ร.บ.สวัสดิการชุมชนขึ้นมา   โดยมีสาระสำคัญ  คือ  ให้มีคณะกรรมการสวัสดิการชุมชนระดับชาติและระดับจังหวัด   และให้กองทุนสวัสดิการเป็นสถานะเป็นนิติบุคคล 

2.ร่างแก้ไข พ.ร.บ. สภาองค์กรชุมชน 2551  เนื่องจาก พ.ร.บ.สภาองค์กรชุมชนมีผลบังคับใช้มาเป็นระยะเวลา  10 ปี   ควรมีการปรับแก้ไขกฎหมายให้เหมาะสมกับสถานการณ์   และสภาองค์กรชุมชนมีบทบาทด้านต่าง ๆ ในการพัฒนาชุมชนฐานรากมากขึ้น  ควรปรับแก้กฎหมายให้สอดคล้องกัน    โดยมีสาระสำคัญในการแก้ไข  คือ   สภาองค์กรชุมชนเป็นนิติบุคคล   แก้ไขคำนิยามคำว่า “ตำบล” ในกรุงเทพมหานคร   และปรับปรุงกระบวนการจัดตั้งและบทบาทหน้าที่สภาองค์กรชุมชน  

3.การยกสถานะ พอช. จาก พ.ร.ฎ. เป็น พ.ร.บ.  เนื่องจาก พอช.จัดตั้งและดำเนินงานมาแล้ว 17 ปี  สถานการณ์ทางเศรษฐกิจและสังคมเปลี่ยนแปลง  จำเป็นต้องปรับแก้ไขกฎหมายให้เหมาะสม   นอกจากนี้ตามแผนปฏิรูปประเทศไทย มีกฎหมายใหม่ที่เกี่ยวข้องกับ พอช.อย่างน้อย 5 ฉบับ  เช่น   พ.ร.บ.สวัสดิการชุมชน  พ.ร.บ.สภาองค์กรชุมชน  พ.ร.บ.วิสาหกิจชุมชน   พ.ร.บ.ป่าชุมชน  ฯลฯ  ดังนั้นจึงเสนอจัดทำร่าง พ.ร.บ.พอช.ขึ้นมา  เพื่อยกฐานะ พอช. จาก พ.ร.ฎ. เป็น พ.ร.บ.   และเพิ่มบทบาทหน้าที่ของ พอช.  เช่น  สภาประชารัฐระดับตำบล  การเชื่อมโยงองค์กรชุมชนในอาเซียน  งานเศรษฐกิจชุมชน 

พลเอกอนันตพร  รมว.พม. กล่าวว่า  ในส่วนของประเด็นข้อติดขัดเรื่องการพัฒนาที่อยู่อาศัย  เช่น  โครงการบ้านมั่นคงชนบทที่ต้องใช้ที่ดินของรัฐ  ต้องใช้ความร่วมมือจากหน่วยงานต่างๆ เพราะมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหลายฝ่าย  มีกฎหมายคนละฉบับ  ดังนั้นจึงต้องใช้หลักการบูรณาการหรือทำข้อตกลงร่วมกัน  โดยต้องเสนอเป็นโมเดล  มีรายละเอียดให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเห็นภาพ  และให้ พอช.จัดทำข้อเสนอเป็นหลักการว่า  ประเด็นปัญหาที่เกิดขึ้นอยู่ในยุทธศาสตร์ใด  เช่น  อยู่ในแผนแม่บทที่อยู่อาศัยแห่งชาติ  มีข้อติดขัดตรงไหน  และต้องการความร่วมมือจากหน่วยงานใด  เพื่อตนจะได้นำข้อมูลไปเจรจากับกระทรวงที่เกี่ยวข้องเพื่อให้แก้ไขปัญหาได้เร็ว  และอาจเริ่มจากเรื่องที่เล็กก่อน

ส่วนการเสนอร่าง พ.ร.บ.สวัสดิการชุมชน  การแก้ไข พ.ร.บ.สภาฯ และการยกสถานะ พอช.นั้น  พลเอกอนันตพรกล่าวว่า  เรื่องนี้ควรจะทำมานานแล้ว  เนื่องจากตอนนี้รัฐบาลมีเวลาน้อย  เพราะมีโรดแมปเลือกตั้งในเดือนกุมภาพันธ์ปีหน้า  ดังนั้นจึงต้องรีบทำเรื่องนี้ภายในระยะเวลา 1-2 เดือนนี้  เพราะจะต้องนำเรื่องเข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกาซึ่งต้องใช้เวลานาน 

ในช่วงท้ายพลเอกอนันตพรกล่าวให้นโยบายการทำงานกับผู้บริหาร พอช.ว่า  ให้ปรับเปลี่ยนการทำงานให้ดีขึ้น  และพัฒนางานเดิมให้ดีขึ้น  ทั้งด้านบุคลากร  ด้านไอที  รวมทั้งการทำงานต่างๆ  ต้องคิดแบบใหม่  ต้องยึดโยงเป้าหมายให้ได้  ทั้งเป้าหมายระดับชาติ  (มั่นคง  มั่งคั่ง  และยั่งยืน)   เป้าหมายระดับกระทรวง  และเป้าหมายของสถาบันฯ 

“ทำงานชิ้นเดียว  แต่ต้องได้ผลงานหลายชิ้น  สามารถตอบโจทย์ได้หลายด้าน  และสุดท้ายคือ กระบวนการทำงานภายในต้องทำงานให้เกิดความคุ้มค่า  เงินทุกบาท  ทุกสตางค์  มีความโปร่งใส  มีผลิตผล  ผลิตภาพ  และต้องตอบให้ได้ว่าที่ทำมาทั้งหมดนั้น  ประเทศชาติได้อะไร  ประชาชนได้อะไร  และต้องทำให้ได้ตามปรัชญาของ พอช.  คือ  ทำอย่างไรให้ประชาชนเกิดพลัง”  พลเอกอนันตพร  รมว.พม.กล่าวย้ำ


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"