"ไม้อ่อน-ไม้แข็ง"ทวงหนี้กยศ.


เพิ่มเพื่อน    


    ทุกๆ วันที่ 5 ก.ค.ของทุกปี คือวันครบกำหนดชำระหนี้ของลูกหนี้กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) ถือเป็นหน้าที่สำคัญของรุ่นพี่ที่ต้องเร่งชำระหนี้ เพื่อนำเงินมาหมุนเวียนให้นักเรียน นิสิต นักศึกษารุ่นน้องได้มีเงินไว้ใช้สำหรับเรียนในปีการศึกษาต่อๆ ไป สิ่งนี้จึงถือเป็นหน้าที่สำคัญที่รุ่นพี่ลูกหนี้ กยศ.จะลืมเสียไม่ได้ 
    แต่ที่ผ่านมาคงได้เห็นข่าวตัวเลขลูกหนี้ กยศ.ที่มีปัญหาการผิดนัดชำระหนี้ และกำลังจะถูกฟ้องร้องดำเนินคดีในปี 2561 จำนวนถึง 1.2 แสนราย คิดเป็นมูลหนี้รวมทั้งสิ้น 1.2 หมื่นล้านบาท หรือเฉลี่ยที่รายละประมาณ 1 แสนบาท ก็แอบน่าตกใจว่า ในหนึ่งปีมียอดลูกหนี้ที่ผิดนัดชำระหนี้อยู่จำนวนไม่น้อยเลยทีเดียว และเมื่อมาดูสถิติรวมในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา พบว่า กยศ.ได้มีการฟ้องร้องดำเนินคดีกับลูกหนี้ที่ผิดนัดชำระไปแล้วทั้งสิ้น 1.2 ล้านคดี คิดเป็นมูลหนี้จำนวนมหาศาลถึง 4.8 หมื่นล้านบาท
    โดยจากข้อมูลการปล่อยกู้ของ กยศ. พบว่า ปัจจุบันกองทุนฯ มีการปล่อยกู้ให้กับนักเรียน นิสิต นักศึกษาแล้ว จำนวน 5.4 ล้านราย คิดเป็นวงเงินกว่า 5.7 แสนล้านบาท โดยในจำนวนนี้มีลูกหนี้ดีที่มีการชำระและปิดบัญชีไปเรียบร้อยแล้วเพียง 8 แสนราย และอีกกว่า 5 หมื่นรายมีสถานะตาย หรือพิการ ส่งผลให้ขณะนี้ยังเหลือยอดผู้กู้อยู่ในระบบของ กยศ.ทั้งสิ้น 4 ล้านคน โดยในจำนวน 4 ล้านคนนี้เอง พบว่ามีสถานะปกติเพียง 1 ล้านกว่ารายเท่านั้น ส่วนอีกจำนวน 2 ล้านกว่าราย มีสถานะเป็นลูกหนี้ผิดนัดชำระ คิดเป็นมูลหนี้สูงถึง 6.8 หมื่นล้านบาท
    และในปีนี้ 2561 กยศ.ได้ตั้งเป้าหมายที่จะปล่อยกู้เพื่อช่วยเหลือนักเรียน นิสิต นักศึกษา ประมาณ 7 แสนราย คิดเป็นวงเงิน 3 หมื่นล้านบาท ซึ่งเป็นจำนวนปกติที่กองทุนได้มีการปล่อยกู้เพื่อช่วยเหลือนักเรียน นิสิต นักศึกษา โดยในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมากองทุนได้มีความพยายามในการบริหารจัดการเงินทุนหมุนเวียนเพื่อให้เพียงพอที่จะดำเนินการปล่อยกู้ให้กับนักเรียน นิสิต นักศึกษาที่ต้องการ โดยไม่ได้มีการขอจัดสรรจากงบประมาณรัฐบาลแต่อย่างใด 
    ทั้งแนวทางการ "หักเงินเดือน" ลูกหนี้ กยศ.เพื่อใช้หนี้ ซึ่งถ้าจะเรียกว่าเป็นไม้แข็งก็คงไม่ผิด เพราะหากไม่จริงจัง หรือเด็ดขาดพอ ก็มีโอกาสที่ในอนาคตเราอาจจะได้เห็นยอดลูกหนี้ที่ผิดนัดชำระและถูกฟ้องร้องดำเนินคดีเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องเช่นกัน โดยแนวทางดังกล่าวนี้จะเริ่มต้นในเดือน ก.ค.2561 โดยจะเริ่มกับข้าราชการ พนักงาน หรือลูกจ้างชั่วคราวก่อน นำร่องที่ข้าราชการกรมบัญชีกลาง หลังจากนั้นจึงจะดำเนินการหักเงินเดือนกับข้าราชการ พนักงานหรือลูกจ้างชั่วคราวในสังกัดกระทรวงการคลัง และส่วนราชการทั้งหมดต่อไป
    โดยปัจจุบันมีข้าราชการที่เป็นลูกหนี้ กยศ.ทั้งสิ้น 1.7 แสนราย คิดเป็นมูลหนี้ราว 1.6 หมื่นล้านบาท และในจำนวนนี้เองพบว่ามีลูกหนี้ที่เป็นสถานะปกติ มีการผ่อนชำระตามรอบเวลาครบถ้วนเพียง 9 หมื่นกว่ารายเท่านั้น ส่วนอีก 7 หมื่นกว่าราย เป็นลูกหนี้ที่ผิดนัดชำระทั้งสิ้น และหลังจากเริ่มดำเนินการกับลูกหนี้ข้าราชการ พนักงานและลูกจ้างชั่วคราวของภาครัฐแล้ว หลังจากนั้นก็จะเริ่มดำเนินการแนวทางหักเงินเดือนกับลูกหนี้ กยศ.ที่เป็นพนักงานบริษัทเอกชนในช่วงปลายปี 2561 ต่อไป
    ซึ่งจะเริ่มนำร่องกับบริษัทเอกชนที่มีขนาดใหญ่ๆ ก่อน อาทิ ซีพี, กรุงไทย และรัฐวิสาหกิจ เช่น การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) หลังจากความพยายามของ กยศ. ในการหารือร่วมกับองค์กรนายจ้างมาระยะหนึ่ง จนตกผลึกมาเป็นแนวทางที่เตรียมดำเนินการในช่วงเร็วๆ นี้ อีกทั้งก่อนหน้านี้ กยศ.ยังได้ร่วมมือกับธนาคารกรุงไทย เปิดช่องทางการชำระหนี้ที่สะดวกขึ้นให้กับลูกหนี้ กยศ.ผ่านระบบคิวอาร์โค้ด ก็น่าจะเป็นอีกช่องทางที่ช่วยทำให้การชำระหนี้ง่ายขึ้น และจะเป็นผลดีกับนักเรียน นิสิต นักศึกษารุ่นน้องๆ ให้มีเงินเรียนต่อไป
    อย่างไรก็ดี ยังเป็นอีกประเด็นที่ต้องติดตามกันต่อว่า แนวทางการหักเงินเดือนและการเพิ่มช่องทางการชำระหนี้ที่สะดวกสบายมากขึ้น จะเป็นผลช่วยให้ยอดการฟ้องร้องดำเนินคดีกับรุ่นพี่ที่ผิดนัดชำระหนี้ลดน้อยลงหรือไม่ โดยเห็นว่าแนวทางการอำนวยความสะดวกต่างๆ อย่างเดียวคงไม่เพียงพอ เพราะยังต้องอาศัยจิตสำนึกของรุ่นพี่ ที่ควรมอบโอกาสทางการศึกษาให้รุ่นน้องๆ ได้เรียนหนังสือต่อไปด้วย.

ครองขวัญ รอดหมวน


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"