เสียงข้างมากไม่ง่ายรื้อระบบเลือกตั้ง วาระ2-3ไม่เคลียร์ส่อจบศาลรธน.


เพิ่มเพื่อน    

ทำท่าว่าความมั่นใจของเสียงข้างมากใน กมธ.ร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขมาตรา 83 และ 91 ที่รัฐสภาให้ความเห็นชอบวาระแรก เพื่อแก้ไขระบบบัตรเลือกตั้ง ส.ส. จากบัตรเลือกตั้งหนึ่งใบ เป็นระบบบัตรเลือกตั้งสองใบ ประกอบด้วย ส.ส.เขต 400 คน และบัญชีรายชื่อจำนวน 100 คน จะไม่ได้จบลงง่ายๆ เสียแล้ว ในการโหวตของรัฐสภาวาระ 2 ก่อนมาลงมติ 15 วันให้หลังในวาระ 3 ช่วงเดือน ก.ย.นี้
    แม้ กมธ.เสียงข้างมากจะพยายามถูไถ ใช้ข้อบังคับการประชุมรัฐสภา 124 วรรค 3 แก้ปัญหาความบกพร่อง ไม่ครอบคลุมเนื้อหา หลังจากรัฐสภารับหลักการญัตติแก้ไขรัฐธรรมนูญของพรรคประชาธิปัตย์ ที่เสนอแก้ไขระบบเลือกตั้งเพียง 2 มาตรา คือ มาตรา 83 และ 91 ด้วยการให้สมาชิกรัฐสภาประกอบด้วย ส.ส.และ ส.ว.แปรญัตติมาตราที่เกี่ยวข้องเข้าไปเพิ่ม จนครอบคลุมสาระสำคัญดังกล่าวแล้วก็ตาม
    ทั้งที่ความจริงแล้ว วาระแรกรัฐสภาควรจะเห็นชอบญัตติของพรรคเพื่อไทยและพรรคพลังประชารัฐ ที่มีจำนวนมาตราที่ครอบคลุม อาทิ มาตรา 83, 85, 86, 91, 92, 94 ฯลฯ แต่ก็ด้วยเหตุผลทางการเมืองล้วนๆ โดยเฉพาะ ส.ว. ซึ่งถือเป็นส่วนสำคัญในการแก้รัฐธรรมนูญ ที่ต้องอาศัยเสียงถึง 84 เสียง กลับไม่ยอมให้ 2 ร่างของ 2 พรรคดังกล่าวผ่าน
    จึงเป็นเหตุให้ กมธ.เสียงข้างมาก พยายามใช้เทคนิคกฎหมาย ตามข้อบังคับประชุมรัฐสภา 124 เพื่อแก้ไข ด้วยการแปรญัตติร่างกฎหมายที่ตกไปแล้ว นำกลับขึ้นมาพิจารณาใหม่
    ท่ามกลาง กมธ.เสียงข้างน้อยไม่เห็นด้วย เพราะถือว่าเป็นการแก้เกินเลยไปไกลกว่าหลักการ และอาจสะสร้างประเพณีที่ไม่ชอบธรรมในการพิจารณากฎหมายอื่นๆ ในอนาคต จึงขอสงวนคำแปรญัตติและไปสู้ต่อในการพิจารณาในวาระ 2
    แถม กมธ.เสียงข้างมากยังแทรกบทเฉพาะกาลให้ กกต.มีอำนาจกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการเลือกตั้ง ส.ส.หากมีการยุบสภาเลือกตั้งใหม่ ในกรณีที่พิจารณาแก้ไขกฎหมาย พ.ร.ป.เกี่ยวกับระบบเลือกตั้ง ส.ส.ยังไม่แล้วเสร็จภายใน 120 วัน ล่าสุดประธาน กมธ.ได้เรียกประชุมด่วน โดยมีแนวโน้มจะตัดประเด็นดังกล่าวเพื่อลดเงื่อนไขนำไปสู่ศาลรับธรรมนูญออกไปบ้าง เนื่องจากการไปเพิ่มอำนาจของ กกต. สุ่มเสียงจะต้องทำประชามติเสียก่อน ตามมาตรา 256 (8) (9)
    อย่างไรก็ตาม ในระหว่างการทำหน้าที่ของ กมธ. ยังมีข้อสังเกตคือ การแก้รัฐธรรมนูญครั้งนี้ประชาชนแทบไม่ได้ประโยชน์ แต่กลับเห็นการประสานผลประโยชน์ของบรรดาพรรคการเมือง ที่แม้จะยืนอยู่คนละข้างแต่เพื่อประโยชน์ของตัวเองก็สามารถจับมือร่วมกันทำงานได้
    ฝ่ายแรกที่ยืนอยู่ฝั่ง กมธ.เสียงข้างมาก ประกอบไปด้วย พรรครัฐบาล นำโดยพรรคพลังประชารัฐ พรรคประชาธิปัตย์ และพรรคเพื่อไทยยืนอยู่มุมฝ่ายค้าน เพราะเชื่อว่าระบบเลือกตั้งบัตร 2 ใบจะทำให้พรรคตัวเองมี ส.ส.เพิ่มขึ้นอย่างที่เป็นอยู่ และ ส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อไม่ถูกตัดออก ส่วนพรรคไหนใครจะคิดผิด หรือเสียค่าโง่ ประชาชนจะให้คำตอบในวันเลือกตั้ง
    ขณะที่ กมธ.เสียงข้างน้อยที่ไม่เห็นด้วย ประกอบไปด้วย พรรคก้าวไกลที่ยืนอยู่ฝ่ายค้าน โดยมีพรรคภูมิใจไทย และพรรคชาติไทยพัฒนา ฝ่ายรัฐบาลให้การสนับสนุน เพราะชอบระบบเลือกตั้งแบบเดิม คือ คิดคำนวณแบบจัดสรรปันส่วนผสม ที่จะทำให้ ส.ส.บัญชีรายชื่อเพิ่มขึ้น ที่สำคัญ หากกลับไปใช้ระบบเดิม มีการวิเคราะห์กันว่าพรรคก้าวไกลจะเสียหายที่สุด อาจเป็นพรรคต่ำสิบหรือสูญพันธุ์ก็เป็นได้
    "พรรคก้าวไกล" สะท้อนความไม่ชอบว่า กมธ.เสียงข้างมากใช้ข้อบังคับประชุมรัฐสภาข้อที่ 124 เป็นการขัดต่อหลักการแก้ไขรัฐธรรมนูญและหลักนิติธรรม ที่รัฐสภามีมติให้แก้แค่มาตรา 83 และ 91 เท่านั้น แต่กลับไปตีอำเภอใจจนเกินหลักการ ยังเป็นการกระทำที่ย้อนแย้ง ทำลายความน่าเชื่อถือของรัฐสภา เพราะเป็นการสอดไส้ร่างของพรรคเพื่อไทยและพลังประชารัฐ ที่ตกไปแล้วในวาระแรก แต่กลับนำมาปลุกผีสอดไส้ในร่างของพรรคประชาธิปัตย์
    ขณะที่ พรรคภูมิใจไทย ไม่เห็นด้วยเช่นกัน โดยระบุว่า มีความห่วงกังวลว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญของ กมธ.จะเป็นการกระทำที่ผิดข้อบังคับการประชุมร่วมรัฐสภาอย่างมากมาย ถึงขนาดทำผิดกฎหมาย ผิดรัฐธรรมนูญหรือประมวลจริยธรรมอย่างร้ายแรง ดังนั้นหากลงมติเห็นชอบไป สมาชิกเองก็สุ่มเสี่ยงจะกระทำผิดกฎหมาย ถูกดำเนินคดี ถูกถอดถอนจากตำแหน่งได้
    ในเบื้องต้น ก่อนนำเรื่องเข้าสู่การประชุมรัฐสภาในวาระ 2 วันที่ 24-25 ส.ค.นี้ พรรคก้าวไกลได้เสนอญัตติด่วน ตามข้อบังคับการประชุมรัฐสภา ข้อ 151 เพื่อให้ที่ประชุมรัฐสภาวินิจฉัยการแก้รัฐธรรมนูญของ กมธ.เสียงข้างมากชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ ซึ่งเชื่อว่าผลที่ออกมาจะเป็นการประลองกำลังยกแรกว่า และประเมินว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญจะสำเร็จหรือไม่ตามกลไกรัฐสภา
    หากญัตติตามข้อ 151 พรรคสีส้มตกไป ก็ต้องดูว่าในการพิจารณาวาระ 2
    สมาชิกรัฐสภาจะมีท่าทีอย่างไร โดยเฉพาะ ส.ว. ซึ่งถือว่าเป็นผู้ชี้ขาดในประเด็นนี้อย่างชัดเจน แม้วาระ 2 จะใช้แค่เสียงข้างมากที่อาจผ่านไปได้ แต่วาระ 3 จะมีเงื่อนไขพิเศษเพิ่มขึ้นมา คือ ต้องได้รับเสียงสนับสนุนเกิน 84 เสียงร่วมด้วย ควบคู่กับการได้เสียงของฝ่ายค้านคือพรรคเพื่อไทย สนับสนุนเกินร้อยละ 20
    สถานการณ์ท่าทีของ ส.ว.ล่าสุดก็ยังลอยตัว ไม่แสดงจุดยืนชัดเจน และโยนเป็นเรื่องผลประโยชน์ของพรรคการเมืองล้วนๆ ที่มีได้มีเสียทั้งคู่ พร้อมกับส่งสัญญาณว่าเรื่องนี้อาจจะไปจบที่ศาลรัฐธรรมนูญหลังรัฐสภาเห็นชอบผ่านวาระ 3 ไปแล้ว โดยสมาชิกรัฐสภาจำนวน 1 ใน 10 เท่าที่มีอยู่ หรือประมาณ 70 เสียงขึ้นไป ก็สามารถยื่นเรื่องให้วินิจฉัยได้ เท่าที่ดูเสียงของพรรคก้าวไกลและพรรคภูมิใจไทย รวมกันก็มีเสียง ส.ส.เกินเกณฑ์ที่กำหนด
    หรืออีกกรณีหากการแก้ไขร่างของพรรคประชาธิปัตย์ที่มีสภาพพิการ และเห็นท่าทีแล้วลากต่อไปไม่ไหว อาจจะถูก ส.ว.คว่ำในวาระ 3 ก็เป็นได้ และยื้อเรื่องการแก้รัฐธรรมนูญให้เล่นละครต้มคนดูต่อไปได้อีก เพราะวาระของรัฐบาลยังเหลือปีกว่า
    แต่ที่แน่ๆ ใครที่คิดว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนี้ 3 พรรคใหญ่จะฮั้วกัน และใช้เสียงข้างมากลากไป โดย ส.ว.จะลงมติตามใบสั่งให้ผ่านฉลุย คงไม่ใช่เรื่องง่ายเสียแล้ว.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"