ยุทธศาสตร์ชาติ20ปี มัดตราสังนักการเมือง


เพิ่มเพื่อน    

     ถือเป็นการตอกลิ่มความชัดเจนที่ คสช.จะต้องอยู่ในอำนาจต่อไป หลังเมื่อวันที่ 15 มิ.ย. สนช.จะประทับตราร่างยุทธศาสตร์ชาติ ตามที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) เสนอ ตามมาตรา 28 (9) แห่ง พ.ร.บ.การจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ พ.ศ.2560 และเมื่อเห็นชอบแล้วจะนำขึ้นทูลเกล้าฯ เพื่อทรงลงพระปรมาภิไธยต่อไป และคาดว่าจะประกาศใช้ได้ในต้นเดือน ต.ค.นี้
    โดยหลังจากนี้ ครม.ทหาร รวมทั้งรัฐบาลอีก 20 ปีหลังเลือกตั้งจะเดินตามกรอบยุทธศาสตร์ชาติใน 6 ด้าน ได้แก่ 1.ยุทธศาสตร์ชาติด้านความมั่นคง 2.ยุทธศาสตร์ชาติด้านการสร้างความสามารถในการแข่งขัน 3.ยุทธศาสตร์ชาติด้านการพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพทรัพยากรมนุษย์ 4.ยุทธศาสตร์ชาติด้านการสร้างโอกาสและความเสมอภาคทางสังคม 5.ยุทธศาสตร์ชาติด้านการสร้างการเติบโตบนคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และ 6.ยุทธศาสตร์ชาติด้านการปรับสมดุลและพัฒนาระบบการบริหารจัดการภาครัฐ  
    หากมองในมุมบวก โดยเฉพาะจากฝั่งแม่น้ำ 5 สาย เห็นว่าจะทำให้การพัฒนาประเทศมีความมั่นคงต่อเนื่อง เพราะทุกรัฐบาลต่อจากนี้ต้องปฏิบัติตาม โดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และหัวหน้า คสช. เคยกล่าวไว้ว่า เป็นยุทธศาสตร์จะพาประเทศพ้นกับดักรายได้ปานกลางให้เร็วที่สุด และใน 20 ปี เราต้องเป็นประเทศที่มีรายได้ที่เพียงพอ
    แต่หากให้วิพากษ์วิจารณ์ในมุมร้ายกลับมีผู้ไม่เห็นด้วยมากกว่า โดยเฉพาะนักการเมืองและกลุ่มต่อต้านรัฐบาลทหาร อย่างเช่น โครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน หรือไอลอว์ ได้สรุปปัญหาของยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีเอาไว้ เช่น คนที่เขียนยุทธศาสตร์ชาติเกิดขึ้นจาก คสช. และเมื่อบังคับใช้แล้ว รัฐบาลจากการเลือกตั้งต้องเดินตาม รวมทั้งนโยบายการหาเสียงให้สอดคล้องด้วย             
    ยังพบว่า ยุทธศาสตร์ชาติตัวจริงไม่ได้ร่างขึ้นตามรัฐธรรมนูญ 2560 เท่านั้น แต่แอบจัดทำไว้ก่อนแล้ว โดยคณะกรรมการชุดหนึ่งที่ตั้งขึ้นตามมติคณะรัฐมนตรี วันที่ 30 มิถุนายน 2558 แต่ร่างฉบับที่เขียนกันไว้ก่อนแล้วก็ไม่เปิดเผยให้ประชาชนได้รับรู้ จนกระทั่งไปยื่นเรื่องต่อคณะกรรมการวินิจฉัยการเปิดเผยข้อมูลข่าวสาร        
    ที่สำคัญประชาชนไม่ได้มีส่วนร่วมอย่างแท้จริง เพราะ พ.ร.บ.การจัดทำยุทธศาสตร์ชาติเขียนรับรองไว้ว่า การจัดรับฟังความคิดเห็นที่ได้ทำไปก่อนหน้านี้ให้ถือว่าได้รับฟังความคิดเห็นไปแล้ว
    นอกจากนี้ยังเป็นอีกกฎหมายที่พรรคการเมืองใหญ่ เช่น พรรคเพื่อไทยและพรรคประชาธิปัตย์ออกมาร้องยี้ ไม่ต่างรัฐธรรมนูญ 60 หากมีโอกาสก็จะรีบแก้ไข โดยสะท้อนว่าสมัยนี้โลกเปลี่ยนแปลงเร็วมาก บางเรื่องที่เขียนไว้อาจไม่ทันสมัย ไม่สอดคล้องภาวการณ์ของโลก แต่เราจะมาผูกยุทธศาสตร์เป็นกฎหมาย จึงเป็นเรื่องที่น่าห่วง ที่ต้องแถลงนโยบายให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ และปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด ซึ่งถือเป็นกับดักชิ้นใหญ่ของรัฐบาลหน้า  
    ที่สำคัญยังมีมาตรการควบคุม ติดตาม ลงโทษ เป็นไปตามพระราชบัญญัติการจัดทํายุทธศาสตร์ชาติ พ.ศ.2560 มาตรา 25 ที่ระบุว่า ในกรณีที่สภาผู้แทนราษฎรหรือวุฒิสภาพิจารณารายงานตามมาตรา 24 แล้วเห็นว่าหน่วยงานของรัฐไม่ดําเนินการตามมาตรา 26 วรรคสอง โดยไม่มีเหตุอันสมควร ให้สภาผู้แทนราษฎรหรือวุฒิสภา แล้วแต่กรณี มีมติส่งเรื่องให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติพิจารณาดําเนินการกับหัวหน้าหน่วยงานของรัฐนั้น ตามหน้าที่และอํานาจให้แล้วเสร็จภายในหนึ่งปีนับแต่วันที่ได้รับเรื่อง และในกรณีที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติมีมติว่าข้อกล่าวหามีมูล ให้ผู้บังคับบัญชาของผู้ถูกกล่าวหานั้นสั่งให้ผู้นั้นพักราชการหรือพักงาน หรือสั่งให้ออกจากราชการหรือออกจากงานไว้ก่อน หรือสั่งให้พ้นจากตําแหน่งต่อไป
    เท่าที่ทราบกันอยู่ ผู้ที่ชงเรื่องเอาผิดผู้ไม่ปฏิบัติตามยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ก็คือวุฒิสภา 250 คน ที่มาจากการสรรหาจาก คสช. รวมทั้งผู้ลงโทษก็คือ ป.ป.ช. ก็มีสภาพและที่มาไม่คล้ายกัน รวมทั้งตัวประธานองค์กรอิสระดังกล่าว ก็ยังมีข้อกล่าวหาใกล้ชิดกับผู้มีอำนาจใน คสช. รวมทั้งประเด็นคุณสมบัติตามกฎหายที่เป็นข้อโต้เถียงทางวิชาการจนถึงบัดนี้  
    กล่าวโดยสรุปว่า ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีนั้นเหมาะสมกับ คสช.เพื่อสืบทอดอำนาจ เพราะเป็นผู้ตั้งเอง ชงเอง และกินเอง ขณะที่นักการเมืองก็เปรียบดังถูกมัดตราสัง เพราะไม่สามารถคิดอะไรก้าวหน้าเกินเลยไปได้.
 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"