สื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์


เพิ่มเพื่อน    

ในยุคปัจจุบัน การสื่อสารในสังคมมีเสรีภาพมากขึ้น เพราะกระแสประชาธิปไตยในประเทศมีความเข้มข้น การควบคุมหรือการกำกับดูแลสื่อไม่ว่ารูปแบบใดก็ตาม อาจจะถูกกล่าวหาว่าเป็นการลิดรอนเสรีภาพ การแสดงออกของประชาชน ในอดีตเราอาจจะเรียกร้องเสรีภาพของสื่อสารมวลชน แต่ปัจจุบันเมื่อเรามีสื่อออนไลน์ใช้กัน การเรียกร้องเสรีภาพก็ยิ่งมีความเข้มข้นมากขึ้น เพราะพื้นที่สื่อออนไลน์นั้นให้เสรีภาพกับการสื่อสารของประชาชนมากขึ้น ในขณะที่สื่อสารมวลชนเป็นการทำงานขององค์กรสื่อที่มีนโยบายและกติกาต่างๆ กำกับดูแลการทำงานของพนักงานในองค์กร ซึ่งถือว่าเป็นการคัดกรองการใช้เสรีภาพของสื่อสารชั้นหนึ่ง ก่อนที่ข่าวสารต่างๆ จะเข้าถึงประชาชน แต่สำหรับการสื่อสารผ่านสื่อออนไลน์นั้นเป็นสื่อที่ประชาชนทุกคนสามารถเป็นผู้ผลิตข่าวสารได้ ทำให้ประชาชนทุกคนมีเสรีภาพในการให้ข้อมูลข่าวสารกับสาธารณชน และหากจะมีกฎหมายใดๆ ในการกำกับและควบคุมการสื่อสารบนพื้นที่สื่อออนไลน์ หรือหน่วยงานที่ออกกฎหมายที่อาจจะถูกกล่าวหาว่าลักลอบเสรีภาพของประชาชน 

ในขณะที่เรามองว่าข่าวสารต่างๆ ในสื่อสารมวลชนที่มีทั้งเรื่องราวที่ดีมีประโยชน์และเรื่องราวที่โกหก บิดเบือน ยุยง กล่าวร้ายบุคคลอย่างไม่เป็นธรรม ซึ่งถ้าหากข่าวสารประเภทหลังถูกเผยแพร่ออกไป เราก็ถือว่าสื่อนั้นไม่สร้างสรรค์ ผู้นำเสนอข่าวไม่มีจรรยาบรรณของการเป็นสื่อสารมวลชนที่ดี และสิ่งที่พวกเขานำเสนอนั้นอาจจะเป็นสื่อที่อันตราย ไม่ปลอดภัยสำหรับบุคคล สังคม และประเทศชาติ เพราะอาจจะทำให้เกิดความเข้าใจผิด เกิดความเชื่อที่ผิดๆ เกิดพฤติกรรมและทัศนคติทางการเมือง สังคม และเศรษฐกิจที่ไม่เหมาะสม อย่างไรก็ตามการทำงานของสื่อสารมวลชนที่เป็นการทำงานแบบองค์กรนิติบุคคลนั้น ยังมีการควบคุมและกำกับอยู่หลายชั้น ไม่ว่าจะเป็นกฎหมาย  นโยบายขององค์กร กฎระเบียบขององค์กร ความนิยมของผู้บริโภคที่จะก่อให้เกิดรายได้ ดังนั้นหากจะเป็นการสื่อสารที่ไม่ปลอดภัยก็มิใช่ว่าจะเกิดขึ้นได้ง่ายๆ แต่ในปัจจุบันนี้เรามีสื่อสังคมออนไลน์ (social media) ที่เป็นสื่อเปิด ให้เสรีภาพในการแสดงออกของประชาชนโดยทั่วไป ที่ไม่มีกฎระเบียบและนโยบายขององค์กรกำกับ โอกาสที่สื่อออนไลน์จะไม่สร้างสรรค์และไม่ปลอดภัยมีมากกว่า

สื่อสารมวลชนนั้นถือว่าเป็นสื่อปิด หมายความว่าไม่ใช่ใครอยากจะพูด อยากจะเขียนอะไรก็ได้ กฎหมายก็มีไว้กำกับ หน่วยงานเซ็นเซอร์ก็ตรวจสอบ NGO ที่เป็นกลุ่มเฝ้าระวังสื่อก็มี ผู้บริโภคที่อ่าน ที่ดู ที่ฟังก็เป็นส่วนหนึ่งของการกำกับสื่อ นอกจากนั้นแล้วก็ยังมีบรรณาธิการเป็นผู้เลือกข่าวและเนื้อหาสาระที่จะเผยแพร่ ดังนั้นข่าวบางข่าว เรื่องราวบางเรื่องราวก็ได้เผยแพร่ แต่บางเรื่องราวก็ไม่ผ่านการอนุมัติของบรรณาธิการ ก็จะไม่สามารถเผยแพร่ได้ อีกประการหนึ่ง การจะนำเสนอเรื่องราวอะไรในสื่อสารมวลชนนั้น เจ้าของสื่อมีการเรียกเก็บเงินค่าเผยแพร่ ดังนั้นคนที่ต้องการเผยแพร่เรื่องราวบางอย่างแต่ไม่มีงบประมาณเพียงพอก็ไม่อาจจะเผยแพร่เรื่องราวนั้นๆ ในสื่อสารมวลชนได้

สื่อสังคมออนไลน์มีความแตกต่างจากสื่อสารมวลชนในหลายประเด็น กล่าวคือ สื่อสังคมออนไลน์เป็นสื่อเปิดที่ให้เสรีภาพแก่คนทุกคนที่ต้องการเผยแพร่เรื่องราวข่าวสารต่างๆ โดยไม่มีบรรณาธิการเลือกข่าว ไม่มีการเก็บเงินค่าเวลาหรือค่าพื้นที่ สื่อสารมวลชนมีพนักงานทำหน้าที่ต่างๆ ตามที่ผู้บริหารกำหนด และจะต้องปฏิบัติตามนโยบายและกฎระเบียบขององค์กร แต่สื่อสังคมออนไลน์นั้น ทุกคนสามารถเป็นผู้สื่อข่าวโดยไม่ต้องมีใครแต่งตั้ง ทุกคนสามารถเป็นผู้ผลิตข่าวได้ตามที่ตนเองต้องการ ไม่มีบรรณาธิการกำกับดูแล ไม่มีนโยบายของใครมาเป็นข้อจำกัด ไม่มีงบประมาณที่ต้องใช้จ่าย ไม่มีกองเซ็นเซอร์มาตรวจสอบ สื่อสารมวลชนถ้าหากทำงานไม่ถูกใจผู้บริโภค ไม่มีคนอ่าน ไม่มีคนดู ไม่มีคนฟัง คะแนนนิยมต่ำ โฆษณาก็จะไม่เข้า ธุรกิจก็จะอยู่ไม่ได้ เมื่อเป็นเช่นนี้แล้วสื่อมวลชนจะทำอะไรตามใจตัวเองโดยอ้างเสรีภาพคงไม่ได้ แต่สื่อสังคมออนไลน์นั้นจะมีคนอ่าน คนดูมากน้อยแค่ไหนก็ไม่มีผลกับการเผยแพร่ของเขา เมื่อไม่มีค่าใช้จ่ายก็ย่อมไม่มีการขาดทุนกำไรแต่อย่างใด ดังนั้นคนที่เผยแพร่เรื่องราวข่าวสารบนพื้นที่สื่อสังคมออนไลน์จึงมีเสรีภาพในการแสดงออกเต็มที่ ส่งผลให้สื่อสังคมออนไลน์จำนวนมากกลายเป็นสื่อที่ไม่สร้างสรรค์ และก็อาจจะเป็นสื่อที่ไม่ปลอดภัยได้ง่ายๆ ทั้งนี้เพราะประชาชนทั่วไปที่ทำหน้าที่ในการผลิตสื่อเพื่อเผยแพร่บนพื้นที่สื่อสังคมออนไลน์นั้นไม่มีความเป็นมืออาชีพ ไม่มีทั้งศาสตร์และศิลป์ในการทำหน้าที่เป็นสื่อในการเผยแพร่เรื่องราวข่าวสารสู่สาธารณชน

ความไม่เป็นมืออาชีพ การไม่มีกฎหมาย กฎระเบียบ กติกาที่ควบคุมการทำหน้าที่สื่อของประชาชนทั่วไปที่เป็นผู้นำเสนอเรื่องราวข่าวสารบนพื้นที่สื่อสังคมออนไลน์ ทำให้ข่าวสารต่างๆ ที่เราได้พบเห็นบนพื้นที่สื่อสังคมออนไลน์ไม่ค่อยจะสร้างสรรค์นัก และที่เป็นสื่ออันตรายก็มีไม่น้อยเลย พวกเราคงได้เห็นเป็นประจักษ์อยู่มากมาย

* มีทั้งเรื่องราวที่โกหก บิดเบือน ทำให้ประชาชนได้ข้อมูลผิดๆ

* มีทั้งข้อมูลที่กล่าวหาว่าร้ายผู้อื่นอย่างไม่เป็นธรรม ทำให้ได้รับความเสียหาย

* มีทั้งข้อความหยาบคาย ลามก อนาจาร ใช้ข้อความที่ไม่สุภาพ

* มีทั้งภาพลามก อนาจาร ภาพที่ไม่สมควรจะเผยแพร่สู่สาธารณชน

* มีทั้งการแสดงพฤติกรรมไม่เหมาะสม ปลูกฝังค่านิยมที่ผิดๆ ให้เกิดขึ้นในสังคม

การนำเสนอเรื่องราวข่าวสารบนพื้นที่สื่อสังคมออนไลน์ในลักษณะที่กล่าวข้างต้น ถือได้ว่าเป็นสื่อที่ไม่สร้างสรรค์และไม่ปลอดภัย ทำให้เกิดความเสียหายต่อตัวบุคคล องค์กร สังคม ชุมชน ตลอดไปจนถึงความมั่นคงของประเทศชาติ ทั้งทางการเมือง การทหาร การปกครอง ทางเศรษฐกิจ ทางวัฒนธรรม ทางสังคม ทางศาสนาและศีลธรรม สมควรที่พวกเราต้องรณรงค์กำจัดสื่อไม่สร้างสรรค์และไม่ปลอดภัยเหล่านี้ให้หมดสิ้นไปจากสังคมไทย.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"