รัฐบาล คสช.ไม่อยู่ EEC ก็เดินหน้า


เพิ่มเพื่อน    

 รบ.คสช.ไม่อยู่ อีอีซีก็เดินหน้า ถ้าไม่ทำต่อ ก็ต้องตอบประชาชน

           การเดินหน้าโครงการเขตส่งเสริมระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ในพื้นที่ 3 จังหวัด คือ ชลบุรี ระยอง และฉะเชิงเทรา ที่หลายฝ่ายมองว่าคือนโยบายหรือผลงานด้านเศรษฐกิจที่สำคัญของรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่มาจากรัฐประหาร พบว่ายังคงเดินเครื่องอย่างหนัก ยิ่งปัจจุบันหลังมีการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศใช้พระราชบัญญัติเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก พ.ศ.2561 เมื่อวันที่ 15 พ.ค.61 ที่ผ่านมา ก็ยิ่งดูเหมือนว่าจะทำให้รัฐบาลและนักลงทุนทั้งชาวไทยและต่างชาติมีความมั่นใจในโครงการนี้มากขึ้น

         คณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก  (กพอ.) และเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) กล่าวถึงโรดแมปการขับเคลื่อนโครงการอีอีซีต่อจากนี้ ภายใต้ความเชื่อมั่นว่าอีอีซีเป็นโครงการที่สร้างประโยชน์ให้ประชาชนในพื้นที่และประเทศชาติ ดังนั้นหากหลังจากนี้จะมีการเปลี่ยนแปลงรัฐบาลหลังการเลือกตั้ง ก็มั่นใจว่าโครงการจะได้รับการสานต่อ เพราะหากไม่มีการเดินหน้าต่อ ก็ต้องตอบคำถามประชาชนให้ได้ว่าเพราะเหตุใด ยิ่งเมื่อมีกฎหมายเรื่องอีอีซีประกาศใช้ อันแตกต่างจากยุคที่ทำโครงการอีสเทิร์นซีบอร์ดซึ่งเวลานั้นไม่มีกฎหมายรองรับ ก็ยิ่งทำให้การเดินหน้าโครงการอีอีซีได้รับความเชื่อมั่นจากนักลงทุนต่างชาติมากขึ้น

           หลังจากนี้เมื่อ พ.ร.บ.เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกมีผลบังคับใช้ สิ่งที่จะเห็นก็คือนักลงทุนใหม่ๆ จากจีน ญี่ปุ่น ยุโรปจะเข้ามาอีกเยอะ"

         ...อันเป็นผลของ พ.ร.บ.เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกที่ทำให้มีความมั่นคง เพราะกระบวนการทำเรื่องอีอีซีตั้งแต่ยังไม่มีกฎหมายออกมา ทุกอย่างไม่ได้เร่งรัดทำ แต่มีกระบวนการกลั่นกรองกฎหมายที่ใช้เวลาพอสมควรร่วมสองปีกว่า ขณะที่การเตรียมนโยบายก็ร่วมสองปี รวมแล้วโครงการระเบียงเขตเศรษฐกิจภาคตะวันออกทำมาร่วมสองปีครึ่ง ทำพร้อมกับ 10 อุตสาหกรรมที่ได้รับการส่งเสริม คือ  อุตสาหกรรมยานยนต์แห่งอนาคต, อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ, อุตสาหกรรมการเกษตรและเทคโนโลยีชีวภาพ, อุตสาหกรรมการแปรรูปอาหาร, อุตสาหกรรมท่องเที่ยวกลุ่มรายได้ดีและการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ, อุตสาหกรรมหุ่นยนต์, อุตสาหกรรมการบินและโลจิสติกส์, อุตสาหกรรมการแพทย์ครบวงจร, อุตสาหกรรมเชื้อเพลิงชีวภาพและเคมีชีวภาพ และอุตสาหกรรมดิจิทัลที่ทำทั่วประเทศ แต่ต้องมีจุดที่นักลงทุนอยากจะมา เราก็ดูพื้นที่และทำโครงการอีอีซีที่เป็นนโยบายวางไว้ร่วมสองปี ตั้งแต่ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ เข้ามาเป็นรองนายกฯ ทั้งหมดทำมาร่วมสองปีครึ่ง แล้วเริ่มจริงๆ เดือนมีนาคมปีที่แล้วทำมาตลอด หลังจากนี้มีภารกิจเพิ่มขึ้นเยอะ

         ...หลักๆ คือทำต่อเนื่องจากที่เคยทำ ยกตัวอย่างเช่นโครงสร้างพื้นฐานที่ก็ทำแล้ว เช่นรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ผลักดันให้สนามบินอู่ตะเภาใช้ให้เต็มประโยชน์ หรือโครงการรถไฟทางคู่เชื่อม 3 ท่าเรือ เอาสามท่าเรือมาใช้ให้เป็นประโยชน์ คือ ท่าเรือแหลมฉบัง, ท่าเรือสัตหีบ และท่าเรือมาบตาพุด  โดยสัตหีบกับมาบตาพุดก็จะมีโครงการเฟสสาม จริงๆ ของสัตหีบก็มีการทำอยู่แล้วแต่จะขยายทำให้เป็นเรื่องการท่องเที่ยวต่อ อันนี้คือส่วน infrastructure หลักๆ

         ..ส่วน infrastructure ที่เหลืออยู่ก็จะมีเรื่องเกี่ยวกับดิจิทัล ส่วนเรื่องถนนอะไรต่างๆ ก็มีการทำอยู่แล้ว โดยการเดินหน้าโครงการเช่นรถไฟความเร็วสูง ก็จะทำให้เกิดทีโออาร์ให้ได้ในช่วงนี้ ก็ใกล้จะเสร็จแล้ว ส่วนสนามบินก็ต้องออกทีโออาร์ให้ได้ก่อนกลางปีนี้ เช่นเดียวกับท่าเรือสองโครงการทีโออาร์ก็จะออกมาได้ในปีนี้ แล้วเราก็มีการขอทำโครงการกับทีจีและแอร์บัส ทำเรื่องโรงซ่อมเครื่องบินเป็นโครงการพิเศษ โดยโครงการทั้งหมดจะทำทีโออาร์ให้เสร็จก่อนสิ้นไตรมาสที่ 4 ในปีนี้

         เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก กล่าวต่อไปว่า การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน infrastructure ที่ต้องทำต่อ ถือเป็นการสร้างพันธสัญญาของรัฐบาลว่ารัฐบาลเอาจริง  ไม่ใช่เอาแต่พูดเฉยๆ แต่โครงการพวกนี้เป็นโครงการที่ร่วมลงทุนกับเอกชน เพราะตอนนี้เราไม่อยากใช้งบประมาณ เพราะทำเรื่องโครงการที่พอจะมีรายได้บ้าง เอกชนก็มีเงินมาก ก็ให้มาร่วมลงทุนเช่นโครงการนี้ เอกชนรายใดจะร่วมลงทุนเท่าใดก็ว่ามา ผลตอบแทนเป็นอย่างไรว่ามา แล้วไปบริหารในเวลาที่กำหนดเช่น 20-30 ปี ลักษณะโครงการแบบนี้จะทำให้รัฐบาลประหยัดงบประมาณ ทำให้นำเงินไปใช้ในส่วนอื่น เช่น การพัฒนาการศึกษา การช่วยเหลือคนจน การพัฒนาการป้องกันประเทศ

         ผมเชื่อว่าถ้าเราทำเก่งพอ โครงการต่างๆ ข้างต้นที่พูดถึงอาจไม่ต้องใช้งบประมาณเลย บางโครงการก็อาจใช้งบประมาณก็จะมีกำไร แล้วเอกชนก็จ่ายค่าต๋งให้รัฐบาล เช่นท่าเรือหรือสนามบินที่ทำอย่างไรก็ต้องได้กำไร แต่ว่าทำรถไฟความเร็วสูงอาจขาดทุน รวมๆ กันแล้วน่าจะไม่ต้องใช้เงินหรือใช้เงินน้อยมาก อันนี้คือความตั้งใจของเรา หมายความว่าการพัฒนาอีอีซีรอบนี้เป็นภาระของรัฐบาลน้อยมาก ทำให้รัฐบาลสามารถนำเงินไปใช้พัฒนาเรื่องอื่นได้

         คณิศ-เลขาธิการสำนักงานอีอีซี ย้ำว่า 10 อุตสาหกรรมเป้าหมายที่บอกไว้ข้างต้นเป็นภารกิจที่ประเทศต้องทำ เพราะเมื่อช่วง 2-3 ปีที่แล้วความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทยต่ำมาก โดยผลปรากฏว่าตัวรองรับเทคโนโลยีของไทยเริ่มแพ้สิงคโปร์ มาเลเซียแล้ว และกำลังจะแพ้ฟิลิปปินส์  อินโดนีเซีย เวียดนาม ซึ่งสาเหตุเกิดจากหลายอย่าง เช่นเราลงทุนน้อยมาก ที่ลงทุนน้อยมากก็เพราะเราตีกันมากในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ตีกันมาก เดินขบวนกันมาก เอกชนก็ไม่ลงทุน ต่างชาติก็ไม่มา ทำให้การลงทุนน้อย จีดีพีก็น้อย

           เรื่องทั้งหมดก็ทำให้สถานการณ์เศรษฐกิจประเทศในระยะยาวของไทยทั้งหมดแย่มาก การลงทุนไม่มี ความสามารถในการรองรับเทคโนโลยีใหม่ๆ ก็ไม่มี ที่เกิดขึ้นกับเราก็คือพอเพื่อนบ้านเราเช่นพม่า  สถานการณ์ในประเทศเริ่มสงบ เริ่มเข้าระบบ ในช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมาอุตสาหกรรมแรงงานไทยก็ไปอยู่กัมพูชา-พม่า-ลาว ก็ทำให้อุตสาหกรรมของไทยเกิดหลุมใหญ่ คือการลงทุนที่เคยมีก็ไม่มี

         ...วิธีที่จะก้าวต่อไปได้ก็คือ ต้องนำอุตสาหกรรมใหม่ให้เข้ามา เป็นอุตสาหกรรมที่ไม่ต้องใช้แรงงาน  แต่ใช้เทคโนโลยีสูงถึงจะมาสร้างประเทศได้ ทำให้ 10 อุตสาหกรรมกับอีอีซี ก็คือการนำ 10 อุตสาหกรรมที่ประเทศต้องการสำหรับอนาคต นำมาลงทุนในพื้นที่อีอีซีในสามจังหวัด ทั้งระยองชลบุรี-ฉะเชิงเทราให้มากที่สุด เพราะสามจังหวัดดังกล่าวคือ เขตพัฒนาพื้นที่อีสเทิร์นซีบอร์ดมาก่อน ที่เป็นโครงการซึ่งคนเข้าใจว่าการพัฒนาแบบนี้จะมีประโยชน์แก่เขาอย่างไร อีกทั้งนักลงทุนไทย นักลงทุนต่างชาติก็เข้าใจเพราะเคยไปพื้นที่อีสเทิร์นซีบอร์ดมาแล้ว ที่โครงสร้างพื้นฐานก็ไม่เลว เช่นถนนที่วิ่งไประยอง-สัตหีบ จากกรุงเทพฯ มีทั้งหมด 22 เลน ไม่มีที่ไหนเยอะแบบนี้เพราะเป็นการทำเพื่อรองรับอีสเทิร์นซีบอร์ดก็กลับมาเป้าหมายเดิมที่วางไว้กับ 10 อุตสาหรรม ช่วงแรกๆ ยังไม่ค่อยไปไหน เพราะไม่มีการบอกไว้ว่าจะให้โครงการไปอยู่ที่ไหน จึงมีการทำโครงการอีอีซี เพื่อบอกกับนักลงทุนว่า อุตสาหกรรมแบบไหน หากไปลงทุนในอีอีซีแล้วจะได้สิทธิประโยชน์อะไร

         คณิศ กล่าวถึงแนวโน้มการลงทุนในอีอีซีว่า ตัวเลขอย่างเป็นทางการพบว่าการลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมายในพื้นที่อีอีซี มีการเพิ่มขึ้นจากปีก่อนประมาณ 49 เปอร์เซ็นต์ และใน 49 เปอร์เซ็นต์พบว่าเกือบ 80 เปอร์เซ็นต์เป็นการลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมาย ทั้งที่ยังไม่ได้ลงโครงสร้างพื้นฐานอะไร แค่ทำโครงการ แต่เพราะคนเข้าใจแล้วจนมีการปรับกระบวนการลงทุนที่จะมาร่วมลงทุนกับเรา

         ที่สำคัญที่สุดในปีที่แล้วนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นมา โดยก็ได้บอกว่าจะช่วยกันพัฒนาพื้นที่อีอีซี จะพาการลงทุนมา ที่เห็นก็คือญี่ปุ่นเข้ามาลงทุนเยอะ ก็มาต่อเนื่องเป็น Connecting Industry เขาจะทำอุตสาหกรรมญี่ปุ่นที่ลงทุนแล้ว ให้ขยายเข้าไปสู่ออโตเมชัน เป็นการเชื่อมโยงการผลิตในระบบ Electronics เพื่อให้เข้ากับฐานการผลิตของเขาที่มีทั่วโลก นอกจากนี้อีอีซีที่ส่งเสริมอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว ก็พบว่ามีนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้าไปในพื้นที่จังหวัดของอีอีซี เช่นพัทยารวมแล้วปีละประมาณ 10 ล้านคน รวมถึงมีนักท่องเที่ยวไทย มีการจัดประชุมกันประมาณอีกปีละ 10 ล้านคน เราก็คิดว่านักท่องเที่ยวคงขยายตัวไม่ต่ำกว่า 5เ ปอร์เซ็นต์ แต่ก็อยากเห็นมากกว่านี้ ก็เลยมีการไปลงทุนในเรื่องเกี่ยวกับการท่องเที่ยว เช่นการทำแผนโปรโมตการท่องเที่ยวอย่างเป็นหลักเป็นฐาน

         ทั้งนี้ คณิศ-เลขาธิการสำนักงานอีอีซี ยืนยันว่า การทำโครงการมุ่งเน้นในเรื่องต้องสร้างความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นในพื้นที่ ที่ก็คือต้องไปดูเรื่องสาธารณูปโภค สาธารณูปการ รวมถึงการวางเมืองใหม่ เมืองน่าอยู่ให้พื้นที่ ไม่อยากให้การขยายตัวที่จะเกิดขึ้นในอนาคตเหมือนกับกรุงเทพมหานครคือต่างคนต่างทำที่จะยุ่งเหยิงมาก ก็เลยต้องมีการวางแผนวางเมืองไว้ในอนาคต รวมถึงเรื่องการศึกษา ซึ่งเราก็ไปช่วยทำแผนการศึกษาในพื้นที่ โดยให้มีการเชื่อมโยงฐานการศึกษาในกรุงเทพฯ และที่อื่น

         ทั้งหมดคือสิ่งที่ได้มีการสัญญาว่าจะมีการทำโดยท่านนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก และยิ่งเวลานี้กฎหมายอีอีซีประกาศใช้ ก็จะมีความเข้มข้นในการเดินหน้าเรื่องต่างๆ ข้างต้นมากขึ้น

         คณิศ-เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก ที่เป็นอดีต กมธ.วิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.อีอีซี ในชั้นสภานิติบัญญัติแห่งชาติด้วย ชี้ประเด็นสำคัญที่น่าสนใจของกฎหมายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกฯไว้ว่า เรื่องที่สำคัญในกฎหมายฉบับดังกล่าวก็เช่น 1.จะเป็นเรื่องที่ตรงไปตรงมา คือให้มีกระบวนการบริหารงานที่เป็นถาวร เช่นการให้มีคณะกรรมการนโยบายที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธานโดยตำแหน่ง และมีรัฐมนตรีอีก 14 คนเป็นกรรมการ ดังนั้นไม่ว่ารัฐบาลชุดไหนจะเข้ามาบริหารประเทศ คณะกรรมการชุดนี้ก็จะอยู่ต่อไปภายใต้กฎหมายฉบับนี้

         ..2.มีการตั้งสํานักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก เมื่อก่อนสมัยอีสเทิร์นซีบอร์ดมีลักษณะเป็นสำนักงานเล็กๆ ในสภาพัฒนาการเศรษฐกิจฯ พอรัฐบาลชุดไหนไม่อยากทำก็เลิกไป อย่างสํานักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกที่ตั้งอยู่ในตึกนิคมอุตสาหกรรมฯ ปัจจุบัน ก็คือสำนักงานเดิมของอีสเทิร์นซีบอร์ด พอไม่มีใครสนใจก็ทิ้งร้าง แต่ปัจจุบันในการทำโครงการอีอีซีที่มีสำนักงานอย่างเป็นทางการ ก็จะทำให้มีกระบวนการที่ดูแลโครงการอีอีซีตลอดไปตามกฎหมายไม่ว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงรัฐบาล 3.ให้ไปดูแลพื้นที่ด้วย เช่น ทำแผนพัฒนาพื้นที่ ให้มีกองทุนดูแลพัฒนาพื้นที่ด้วย

         คณิศ-เลขาธิการสำนักงานอีอีซี สรุปว่าทั้ง 3 องค์ประกอบดังกล่าวจะมีความสำคัญด้วยกันหมดทั้งสิ้น เช่นในส่วนของนักลงทุนต่างประเทศ เมื่อมีการดำเนินการที่มีกฎหมาย มีคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก จะเป็นความสำคัญสำหรับนักลงทุนต่างประเทศ ขณะที่สำหรับชุมชนก็จะเป็นการการันตีว่าสิ่งไหนที่ทำกับชุมชนจะต้องมีการทำเช่น เรื่องการดูแลสิ่งแวดล้อมและผังเมือง เมื่อมีการออกกฎหมายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกก็จะทำให้การทำโครงการอีอีซีจะมีความแตกต่างจากสมัยอีสเทิร์นซีบอร์ด เพราะสมัยอีสเทิร์นซีบอร์ดเน้นเฉพาะการทำอุตสาหกรรม การสร้าง modern  sector ให้สาขาการผลิตใหม่ แต่อีอีซีเป็นการทำในเชิงการพัฒนาพื้นที่แบบเต็มรูปแบบ เพราะลงไปทำกับชาวบ้านด้วย เช่นเรื่องสิ่งแวดล้อม ต้องดูแลให้ดี หรือชีวิตความเป็นอยู่ของคนในพื้นที่ต้องดูแลให้ดี

         "สิ่งที่ต้องทำต่อจากนี้ก็คือการเดินหน้าใน 5 เรื่องทั้ง infrastructure, อุตสาหกรรมเป้าหมาย, การท่องเที่ยว, การพัฒนาเมืองใหม่และการศึกษา ก็ทำไปแบบระนาบใหญ่จุดมุ่งหมายใหญ่ของอีอีซี คือการช่วยพัฒนาประเทศไทย เพื่อสะสมทุน พัฒนาการสะสมเทคโนโลยีให้แก่เยาวชนไทยในอนาคตที่เป็นหัวใจหลัก

         ...เราหวังว่าเมื่อทำอีอีซีที่เป็นตัวนำแล้ว ก็จะนำไปสู่ที่อื่นต่อ สิ่งที่ประเทศไทยขาดคือขาดการลงทุน  ขาดเทคโนโลยี จึงจำเป็นต้องพัฒนาคนเพื่อรองรับเทคโนโลยี

         หลังกฎหมายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกประกาศใช้ ก็ทำให้เราสามารถทำเรื่อง infrastructure ได้เร็วขึ้น และจะเห็นได้ว่านักลงทุนต่างชาติที่เป็นนักลงทุนใหม่เข้ามา จะมีนักลงทุนไทยที่กลัวๆ กล้าๆ  ไม่ยอมลงทุนก็จะเข้ามาลงทุน ทั้งหมดผมเชื่อว่าจะเห็นผลภายในปีนี้ โดยเฉพาะนักลงทุนต่างชาติจะเห็นจากหลายประเทศโดยเฉพาะจากจีน

         สอบถามกรณีกลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่ของต่างชาติ เช่น โทนี เฟอร์นานเดส ประธานแอร์เอเชีย บอกว่าสนใจจะเข้ามาลงทุนในอีอีซี เรื่องนี้ คณิศ-เลขาธิการสำนักงานอีอีซี เปิดเผยว่าแอร์เอเชียมาคุยกับเรา 2-3 เรื่อง เช่นเรื่องแรกเขาอยากจะมีบริษัทใหญ่ ศูนย์กลางใหญ่ตั้งอยู่ที่เมืองไทย อันที่สอง เขาบอกว่าหากเราจะมีการขยายสนามบินอู่ตะเภา เขาพร้อมจะร่วมมือด้วย เขาพร้อมจะหานักลงทุนเข้ามาในอีกสองปีข้างหน้าประมาณ 4 ล้านคน แล้วภายในห้าปีประมาณ 15 ล้านคน จะช่วยหาคนมา แต่ที่เขาขอและจะร่วมมือกันก็คือ เขาขอว่าจะดูเรื่องเกี่ยวกับ Terminal ตัวอาคารผู้โดยสารสำหรับโลว์คอสต์ แอร์ไลน์ รวมถึงขอดูว่าจะมีโรงซ่อมของเขาไว้ซ่อมเครื่องบินของเขา ซึ่งอันนี้ก็ไม่ได้มีปัญหาอะไร

         ผมเชื่อว่าอุตสาหกรรมเป้าหมายอย่างอื่นพอจะเห็นได้ว่าได้เดินไปแล้ว โดยใน 5 อันแรกเป็นเรื่องรถยนต์ ตอนนี้เริ่มมีการลงทุนยานยนต์สมัยใหม่แล้ว เพราะตอนนี้เริ่มมีการเปลี่ยนจากที่ผลิตรถเครื่องที่ใช้น้ำมัน ตอนนี้เริ่มเห็นอนาคตแล้วว่าจะทำรถยนต์ที่ใช้พลังไฟฟ้าให้ได้ ในที่สุดประเทศไทยต้องผลิตรถใช้พลังไฟฟ้า เช่นเดียวกับอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะก็มีการทำอยู่แล้ว เช่นที่มี Alibaba เข้ามา ก็เป็นการผลักดันอุตสาหกรรมเดิมทั้งรถยนต์ การท่องเที่ยว การเกษตรให้ขึ้นมา ส่วนอุตสาหกรรมเป้าหมายอีก 5 อันหลัง เช่น หุ่นยนต์ การบินและโลจิสติกส์ เชื้อเพลิงชีวภาพและเคมีชีวภาพ ดิจิทัล การแพทย์และสุขภาพครบวงจร ก็เป็นการเติมขึ้นมา

         ...ตอนที่คุยกันเรื่อง 10 อุตสาหกรรมเป้าหมายก็ได้คุยกับผู้เชี่ยวชาญ มีการถามกันว่าอุตสาหกรรมเดิมในไทยมีอะไรที่จะรอดได้ ปรับตัวได้ในช่วงการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยี ก็มีการให้ข้อมูลว่ารถยนต์ไปได้ แต่ต้องไปทางรถยนต์ไฟฟ้าหรืออีวีในประเทศ อิเล็กทรอนิกส์ไปได้แต่ต้องทำ Internet of  Things ส่วนการท่องเที่ยวก็ไปได้ แต่ต้องทำให้เป็นการท่องเที่ยวเชิงคุณภาพ เช่นด้านการแพทย์ ส่วนอุตสาหกรรมที่จะเกิดในประเทศก็มีการให้ข้อมูลว่า ออโตเมชันกับโรโบติกส์เกิดแน่ โดยเมืองไทยมีโอกาสทำได้มากเพราะมีฐานอุตสาหกรรมขนาดใหญ่

         ที่จะเกิดในภูมิภาคอย่างมากก็คือเรื่องอุตสาหกรรมการบิน เราเลยให้ใช้สนามบินอู่ตะเภาเป็นเซ็นเตอร์รับเรื่องการบิน เช่นเดียวกับเศรษฐกิจชีวภาพหรือไบโออีโคโนมี ที่เอาฐานการเกษตรของเราไปทำเรื่อง เช่นเอทานอล นำสินค้าเกษตรของเรามาแปรรูปให้มีเทคโนโลยีมากขึ้น รวมถึงการผลักดันเรื่อง Medical Hub เรื่องการแพทย์ และเรื่องดิจิทัล ที่ทั้งหมดเราไปได้อยู่แล้ว

         อุตสาหกรรมเป้าหมาย 5 อันหลังเป็นสิ่งที่เราต้องรีบสร้างขึ้นมา การดึงแพล็ตฟอร์มจากอาลีบาบาเข้ามา การดึงแอร์บัส แอร์เอเชียให้เข้ามาทำงานกับเรา ก็เพื่อพยายามสาน 10 อุตสาหกรรมให้เดินไปข้างหน้าให้เร็วที่สุด ที่ตอนนี้ก็เริ่มทำไปแล้ว และเมื่อกฎหมายอีอีซีประกาศใช้จะเห็นแบบใหญ่โตมโหฬารมากขึ้น

อีอีซีภาคสมบูรณ์

Eastern Seaboard ที่ขาดหาย

         สำหรับคนที่ยังไม่เข้าใจความเกี่ยวเนื่องระหว่าง Eastern Seaboard กับ ECC เรื่องนี้ คณิศ-เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก สรุปให้เข้าใจว่า ผมเชื่อว่า Eastern Seaboard พัฒนามาแล้วระดับหนึ่งแล้วหยุดไป แต่อีอีซีที่เราทำโครงการ เราพิจารณาจากโครงสร้างการเปลี่ยนแปลงของโลก เช่น ตอนนี้เทคโนโลยีเปลี่ยนหมดเลย เราไม่สามารถทำปิโตรเคมิคัลแบบเดิมได้แล้ว เพราะมีเรื่องสิ่งแวดล้อมเยอะ และมีอุตสาหกรรมใหม่ๆ เข้ามามาก เราคงไม่ผลิตรถยนต์กันแบบเดิมแล้ว เพราะเมื่อมีอีอีซีก็มีการนำเทคโนโลยีเข้ามา เราต้องรีบใช้โอกาสนี้เพื่อดึง Eastern  Seaboard ให้ไปข้างหน้าให้เร็วที่สุด ด้วย 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย ผ่านการสร้างเมืองและกระบวนการต่างๆ

         "ทำให้อีอีซีคือภาคสมบูรณ์ของ Eastern Seaboard เป็นการทำงานต่อเนื่องแต่เป็นภาคสมบูรณ์ Eastern Seaboard ทำมาได้ครึ่งหนึ่ง ที่ต้องทำต่อแต่การทำต่อเมื่อมีเทคโนโลยีเข้ามามาก ก็ถือโอกาสปรับเสียทีเดียวไปเลย ให้มีความคล่องตัว มีกฎหมายรองรับ"

         ตอนทำโครงการ Eastern Seaboard ผู้ใหญ่ที่เคยทำโครงการก็บอกว่าตอนนั้นก็คิดจะออกกฎหมายมารองรับโครงการ Eastern Seaboard แต่สมัยนั้นทำไม่ได้ เพราะรัฐบาลไม่ให้ทำ หน่วยราชการไม่ให้ทำ

         ครั้งนี้เลยเป็นความกล้าหาญของรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ ที่มีการออก พ.ร.บ.เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกเพื่อให้เกิดความมั่นคง เพราะหากไม่มั่นคงก็จะเกิดลักษณะที่เกรงกันคือ พอเปลี่ยนรัฐบาลแล้วก็จะเปลี่ยน แต่อีอีซีเปลี่ยนไม่ได้แล้ว ทุกฝ่ายมีหน้าที่ต้องทำตามกฎหมาย สํานักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกก็มีหน้าที่ตามกฎหมาย รัฐบาลใหม่หากเข้ามาก็มีหน้าที่ต้องทำตามกฎหมาย ถ้าไม่ทำต่อก็ต้องตอบคำถามประชาชนในพื้นที่ ต้องตอบคำถามนักลงทุนทั้งชาวไทยและต่างประเทศว่าทำไมไม่ทำต่อทั้งที่มีกระบวนการอยู่

         ถามถึงกรณีโครงการอีอีซี ทำไมให้ความสำคัญกับเรื่องสิ่งแวดล้อม เห็นมีบัญญัติไว้ในกฎหมายอีอีซีหลายมาตรา เลขาธิการสำนักงานอีอีซี แจงว่าอีอีซีให้ความสำคัญกับเรื่องนี้มาก เพราะตอนทำ Eastern Seaboard จุดหนึ่งที่เกิดขึ้นก็คือ ไปกระทบเรื่องสิ่งแวดล้อมค่อนข้างเยอะ คือการทำอะไรใหม่ก็ต้องมีผลกระทบ แต่ไม่ได้หมายความว่าถ้าไม่มี Eastern Seaboard จะไม่มีปัญหาสิ่งแวดล้อมในพื้นที่ ต้องบอกตรงๆ ว่าหากเราจำได้ สมัยเมื่อ 30 ปีที่แล้ว แถวจังหวัดระยองตอนนั้นก็กำลังจะแย่ เพราะตอนนั้นไม่มีธุรกิจอะไรเลยที่ระยอง อย่างตอนนั้นที่คนไปดูพื้นที่แล้วเป็นห่วงกันมากคือมีการนำเรือเก่ามาจอดไว้ที่ชายหาดริมทะเล แล้วก็ตัดเหล็ก เอาเหล็กไปหลอมขาย ที่อันตรายมาก สิ่งแวดล้อมมีปัญหามาก ระยองกำลังจะเป็นแบบนั้น แต่ดีที่มี Eastern Seaboard ขึ้นมา ก็ทำให้ธุรกิจแบบนั้นจบไป แล้วมีธุรกิจใหม่ที่สร้างรายได้ให้คนพื้นที่มาก จนทำให้ระยองเป็นจังหวัดที่มีรายได้ต่อหัวประชากรสูงสุด การว่างงานในจังหวัดแทบไม่มี ต่ำมาก คนในพื้นที่จึงเข้าใจอยู่แล้วว่าการพัฒนาในพื้นที่สร้างประโยชน์ให้กับเขา ขอเพียงเช่น เรื่องปัญหาสิ่งแวดล้อม อย่าทำให้มันแย่กว่าที่เคยเป็น ในอีอีซีที่มีการประกาศเขตพื้นที่ส่งเสริมอุตสาหกรรม ก็จะประกาศเฉพาะพื้นที่ซึ่งเป็นนิคมอุตสาหกรรม ซึ่งได้มีการทำ EIA-EHIA หมดแล้ว ที่เหลือเราจึงไม่ไปยุ่ง ไม่ไปกระตุ้น เราอยากให้อยู่ในนิคมอุตสาหกรรมจริงๆ มีขอบเขตการดูแลโดยนิคมอุตสาหกรรมที่ชัดเจน ปรากฏว่าในพื้นที่ซึ่งเราประกาศไป 23 แห่ง มีพื้นที่เหลืออยู่ประมาณ 23,000 ไร่ ที่เพียงพอสำหรับการที่อุตสาหกรรมใหม่ๆ จะไปลง และอุตสาหกรรมที่จะไปอยู่ในอีอีซี เช่น หุ่นยนต์ ไม่ใช่อุตสาหกรรมที่จะไปทำลายสิ่งแวดล้อมแล้ว รวมถึงอื่นๆ เช่น อุตสาหกรรมเกี่ยวกับอากาศยาน โรงซ่อมเครื่องบิน จะสะอาดกว่าบ้านของคนทั่วไปอีก ทั้งหมดในอีอีซีจะไม่ใช่การทำให้สิ่งแวดล้อมเสียแล้ว ไม่ใช่การไปเอาโรงงานอุตสาหกรรมมาตั้งแล้วมีควัน แบบนั้นหมดสมัยไปแล้ว

            - ตอนนายสนธยา คุณปลื้ม ที่ปรึกษานายกฯ ลงพื้นที่ชลบุรีซึ่งเป็นพื้นที่ของตัวเอง ให้ความเห็นว่าประชาชนในพื้นที่ไม่ค่อยมีส่วนร่วมในโครงการอีอีซี รวมถึงเป็นห่วงเรื่องราคาที่ดินจะขยับสูงขึ้นมาก?

         เรื่องที่ดินในประเทศไทยจะไม่เหมือนประเทศอื่น เพราะที่ดินของภาครัฐมีน้อย และทุกครั้งที่มีการพัฒนามันมีการเก็งกำไร เราก็บอกว่าเรื่องที่ดิน เราไม่เกี่ยว เพราะว่าเวลาที่เราใช้ที่ดินในการทำอุตสาหกรรม เราประกาศที่ดินที่เป็นของเอกชนอยู่แล้ว เราจะไม่มีวันไปซื้อที่ดินมา หรือไปตั้งอะไรที่ทำให้เกิดการเก็งกำไร แต่การเก็งกำไรที่ดินโดยธรรมชาติ เช่น อุตสาหกรรมมันจะใหญ่ขึ้น นิคมอุตสาหกรรมจะมีธุรกิจมากขึ้น ก็ทำให้ราคาที่ดินข้างๆ ก็ต้องมีราคาขึ้นโดยธรรมชาติ แต่ก็เป็นวิธีการทำงานที่ก็ต้องเป็นแบบนั้น โดยปกติบอกตรงๆ ว่าที่ดินในประเทศไทยเมื่อเทียบกับประเทศอื่น ที่ดินราคายังค่อนข้างต่ำ

         ส่วนเรื่องการร่วมมือกับชุมชน เราทำความร่วมมือกับชุมชนพอสมควร โดยทำในลักษณะการทำความเข้าใจ แต่ก่อนหน้านี้ไม่ได้ไปทำงานร่วมกับเขา เพราะตอนนั้นยังไม่มีกฎหมายออกมา แต่ต่อจากนี้ก็ต้องไปทำเรื่องแผนอะไรต่างๆ ตามที่กฎหมายกำหนด โดยนำหน่วยงานที่เกี่ยวข้องลงไปด้วย เช่น ท่าเรือแหลมฉบัง ที่พอท่าเรือเข้ามาก็ต้องมีความแออัด ถนนไม่พอ นำรถไฟเข้าไปก็ช่วยได้ แต่กระบวนการจัดการทั้งหลายก็ต้องทำ ทางนายกเทศมนตรีในพื้นที่ก็เห็นด้วย จึงจะมีหลายโครงการที่ลงไปทำ เราก็ทำเป็นจุดๆ ไป แต่การดูแลชาวบ้านในจังหวัด ทางจังหวัดกับหน่วยงานในพื้นที่เขาดูแลอยู่แล้ว เช่น เรื่องถนนไม่ดี ตรงนี้จังหวัดจะรับผิดชอบไม่เกี่ยวกับเรา

            - สถานการณ์การเมืองทั้งเรื่องการเลือกตั้ง-โรดแมป อีกทั้งมักมีการชุมนุมการเมืองเกิดขึ้นตลอด สิ่งเหล่านี้นักลงทุนต่างชาติเคยสอบถามอะไรหรือไม่กับการลงทุนในอีอีซี?

         ตอนแรกเขาก็กลัว คือนักลงทุนญี่ปุ่นไม่ค่อยเท่าไหร่ แต่นักลงทุนจีนหากไม่มี พ.ร.บ.เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกไม่มา นักลงทุนยุโรปหากไม่มี พ.ร.บ.นักลงทุนใหม่ๆ ก็ไม่มา ไม่มีความมั่นใจ แต่เมื่อมีการประกาศใช้ พ.ร.บ.อีอีซีแล้วก็พอจะได้ พอจะดึงนักลงทุนใหม่จากจีน ฮ่องกง ญี่ปุ่น ไต้หวัน ยุโรป มาได้ แต่ก็อย่างที่บอก เมื่อเปลี่ยนรัฐบาลใหม่มันก็จำเป็นต้องดูแลเรื่องนี้ต่อ เพราะเรื่องนี้เป็นความต้องการของประชาชนในพื้นที่และของประเทศ

         อีอีซีไม่ได้ทำเรื่องเกี่ยวกับตัวเองเท่าใด แต่เป็นการเปิดประตูประเทศ อย่างของที่ส่งออก เช่นส่งไปลาว กัมพูชา ถามว่าไปที่ท่าเรือหรือไม่ ก็ไปแหลมฉบัง ดังนั้นตัวมันเองคือประตูของภูมิภาค มันจึงไม่ใช่แค่ประโยชน์กับสามจังหวัดในอีอีซีอย่างเดียว แต่เป็นประโยชน์ของประเทศและประเทศเพื่อนบ้าน หรือสนามบินอู่ตะเภา หากไม่นำมาใช้ ถามว่ากรุงเทพฯ จะมีสนามบินเพิ่มขึ้นหรือไม่ อย่างดอนเมือง ตอนนี้ก็แน่นแล้ว โดยสนามบินอู่ตะเภายังมีความสามารถในการรองรับคนได้อีกร่วม 60 ล้านคน จะช่วยแบ่งเบากรุงเทพฯ ในการรับคนอีก 15 ปีข้างหน้าได้ ก็จะช่วยด้านการเดินทาง การท่องเที่ยว

            ถามว่าถ้ามีรัฐบาลใหม่เข้ามาควรทำหรือไม่ ผมก็คิดว่านโยบายพวกนี้ก็คงดำเนินการต่อ เราก็พยายามบอกว่าเราสัญญาอะไรไว้กับประชาชน นักลงทุนต่างชาติ นักลงทุนไทย เราก็ต้องดำเนินการตามนั้น"

         เมื่อถามว่า มั่นใจหรือไม่ว่าถ้ามีการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในอนาคต โครงการอีอีซีจะเป็นอย่างไรต่อไป คณิศ กล่าวอย่างเชื่อมั่นว่า ก็ต้องเดินต่อ เพราะก็มีหลายนโยบาย เช่น อย่างนโยบาย 30 บาท รักษาทุกโรค ไม่ว่าจะเปลี่ยนมากี่รัฐบาลก็ยังมีการทำต่อ อีอีซีก็เหมือนกัน ถ้าสมมุติว่าอีอีซีเป็นที่ต้องการของประเทศก็ทำต่อ ไม่ว่าใครจะมาก็ช่วยกันทำต่อ เพราะไม่ใช่ policy ฉาบฉวย เรื่องนี้อีอีซี เพราะอะไรที่เคยสัญญาไว้กับประชาชนในอีสเทิร์นซีบอร์ด มันไม่ได้ทำต่อ นักลงทุนญี่ปุ่นเขาก็เคือง พูดง่ายๆ บอกว่าจะทำอะไรต่างๆ เยอะแยะแล้วก็ไม่ได้ทำ เราก็เลยนำมาทำอีอีซีที่เป็นภาคสมบูรณ์ของอีสเทิร์นซีบอร์ด แต่ให้มีการกำกับดูแล มีการออก พ.ร.บ.เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก อย่างทีมที่ทำงานเรื่องนี้มาตั้งแต่ต้นก็เคยบอกกับนายกรัฐมนตรีไว้แต่แรกว่า ต้องขอให้ออกเป็น พ.ร.บ. เพราะไม่อย่างนั้นก็จะหายอย่างที่บางคนกังวล พอรัฐบาลไหนไม่เอาแล้วก็จะมายุบกรรมการทิ้ง ไม่ทำหรือไม่ประชุมแล้ว.

................................

สัตหีบโมเดล รองรับอุตสาหกรรม Robotics

            คณิศ-เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก กล่าวย้ำว่า การเดินหน้าโครงการอีอีซี หัวใจสำคัญจริงๆ ก็คือต้องการพัฒนาคนและศักยภาพของคนในประเทศ เพื่อเตรียมพร้อมสำหรับการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีและอุตสาหกรรมที่กำลังเข้าสู่ยุคอุตสาหกรรมใหม่ ที่ยังขาดแคลนแรงงาน-คนทำงานจำนวนมากในประเทศไทย อีอีซีจึงให้ความสำคัญกับเรื่อง ทุนมนุษย์ อย่างมาก

            เรื่องนี้สำคัญมาก ในอดีตจะเห็นได้ว่าเมื่อไทยมีการทำโครงการ Eastern Seaboard ก็ทำให้เศรษฐกิจไทยขยายตัวได้เร็ว ประมาณ 7-8 เปอร์เซ็นต์ บางปีเฉลี่ยออกมา 10 เปอร์เซ็นต์ เป็นแบบนั้นได้สักระยะ ประมาณ 5 ปี จากนั้นก็เริ่มตก ที่ตกเพราะอุตสาหกรรมที่นำเข้ามาไม่เชื่อมโยงกับคนในประเทศ คนไม่สามารถใช้ประโยชน์จากตรงนั้นได้ หรือใช้ได้ก็แค่แรงงาน

         สิ่งที่อีอีซีทำเราจุดประกายเรื่อง 10 อุตสาหกรรม เช่น เรื่อง Automation แรงงานในโรงงานก็ต้องเปลี่ยน แรงงานเพื่อนบ้าน เช่น เมียนมา-ลาว ก็กลับบ้านแล้ว หากมีชีวิตที่ดีกว่า ก็มีบางส่วนเดินทางกลับออกไป ทำให้กระบวนการผลิต-กระบวนการภาคบริการ หากจะทำต่อก็ต้องมีระบบมาใช้ ระยะแรกเราก็ต้องให้ต่างชาติมาช่วยลงทุนทำกับคนไทย แต่เมื่อต้องทำต่อในอนาคต ต้องมีคนไทยที่รู้เรื่อง พอพ้นจากการลงทุนครั้งนี้ประมาณสัก 4-5 ปีข้างหน้า คนไทยต้องพร้อม เช่น ทำระบบอัตโนมัติใหม่ ทำ Robotics วิทยาการหุ่นยนต์คนไทยต้องเก่งแล้วเป็นระดับ World Class ให้ได้

         ...ต้องเร่งสร้างคนขึ้นมา สำคัญมาก เพราะหากไม่มีคนที่เราวางไว้ก็ทำให้ธุรกิจต่างๆ จะหมุนอีกรอบหนึ่งไม่ได้ หมุนไปเรื่อยๆ เราต้องใช้คน ซึ่งจะพึ่งต่างชาติไม่ได้ เราต้องมีคนไทยที่รู้เรื่องมาทำ จึงเป็นเรื่องสำคัญมากที่การพัฒนาเทคโนโลยีในช่วงนี้จะต้องพัฒนาคนไปพร้อมกัน

         เมื่อเรามาดูกันก็พบว่าเรื่องนี้หนักมาก เพราะระบบการศึกษาของไทยเป็นระบบการศึกษาที่ผลิตตามใจฉัน คือผลิตอะไรก็ได้ ที่แค่ให้ได้ปริญญาตรีแล้วหวังว่าจะได้งาน แต่ตัวเลขที่เราเจอ เช่น ช่างฝีมือในพื้นที่ในสามจังหวัดคือ ฉะเชิงเทรา ระยอง ชลบุรี เราทำประมาณการจากบีโอไอพบว่า ตอนนี้ขาดแรงงานถึง 5 หมื่นคน ขนาดที่ยังไม่ได้ทำอุตสาหกรรมใหม่เลย ส่วนปริญญาตรีที่จบมาว่างงานหรือทำงานต่างระดับที่เรียนจบมาถึง 30 เปอร์เซ็นต์คือ 100 คน พบว่ามีถึง 30 คน ไม่ได้ทำงานอย่างที่ตัวเองเรียนมา เช่นจบรัฐศาสตร์มาแต่ไม่สามารถทำงานในสายงานได้แล้วต้องรองาน ระหว่างรองานก็ทำงานต่างระดับ คือไปขายโทรศัพท์มือถือบ้าง ขายของอะไรบ้าง จึงไม่ได้ทำงานอย่างที่เรียนมา อันนี้เป็นปัญหาใหญ่มากของประเทศไทย

         เราก็เลยเริ่มต้นใหม่ด้วยการทำอาชีวะก่อน ซึ่งเมื่อไปดูในพื้นที่พบว่ามีโครงการที่ดีอยู่โครงการหนึ่งเรียกว่า สัตหีบโมเดล ที่เริ่มต้นด้วยการนำระบบของออสเตรียมาใช้ โดยทำงานกับผู้ประกอบการโรงงานอุตสาหกรรม โดยต้นปี โรงเรียนอาชีวะสัตหีบเขารับเด็กเข้ามา สมมุติว่าพันคน เขาก็ให้ผู้จัดการโรงงานกับบริษัทเอกชนมาสัมภาษณ์คนพันคนที่รับมา เพื่อดูว่าคนไหนที่คิดว่าสามารถเป็นบุคลากรทางด้านเทคนิค เทคโนโลยีในโรงงานได้ ก็มีโรงงานใหม่ๆ เข้ามาแล้วมาพิจารณาเลือกดูว่าคนไหนที่ความรู้ความสามารถพื้นฐานพอไปได้ เสร็จแล้วก็ให้ทุน โดยทุนนี้กำหนดว่าต้องทำหลักสูตรร่วมกันกับโรงงาน เช่น เด็กคนนี้ต้องไปทำเรื่อง Robotics ก็ให้สอนเรื่อง Robotics มากหน่อย และพอศึกษาจบในปีแรก พอขึ้นปีที่สองก็นำเด็กคนนั้นไปฝึกงาน โดยตอนที่เรียนก็จ่ายเงินค่าเรียนให้หมด แล้วยังให้เงินอีกเดือนละประมาณ 4 พันบาทเป็นค่าเบี้ยเลี้ยง ก็ทำให้เด็กก็ดีใจ ไม่ต้องพึ่งพ่อแม่ พอปีที่สอง เมื่อไปทำงานโรงงาน โรงงานให้ค่าแรงวันละ 300 บาท เด็กก็ดูแลตัวเองได้ หลังจากจบมาแล้วสองปี โรงงานก็รับไปทำงาน

         กระบวนการแบบนี้มีค่าใช้จ่ายถูกกว่าที่จะใช้วิธีแบบเดิมคือจ้างคน แล้วนำคนไปเทรนใหม่ ต้องมานั่งทำงานด้วยกันใหม่สองปี เราก็เลยทำหลักสูตรระยะสั้นให้เด็กที่กำลังจะจบ ให้เรียนต่ออีกหกเดือน แต่เรียนเรื่องใหม่แล้วไปทำงานเลย กับอีกแบบคือ เรียนสองปี แต่ให้ทำหลักสูตรใหม่

         ที่ทำแบบนี้เพราะกระบวนการทำงานเพื่อส่งเสริมด้านการลงทุนด้านเทคโนโลยีรอบนี้ ใครที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนที่บีโอไอ หรือใครที่ได้รับการช่วยเหลือ เราให้เขาต้องไปทำงานกับสถาบันการศึกษาของเราด้วยเพื่อเป็นการสร้างคน

         ...อย่าง BMW ต้องสร้างคนขึ้นมา 20 คน เขาบอกไม่เป็นไร หากสร้างคนมา 20 คนแล้วมาทำงาน แต่จะสร้างให้เลย 100 คน เมื่อกระบวนการขึ้นมาแบบนี้มันก็สร้างขึ้นมาเป็นวงจรใหญ่ได้ แทนที่จะมีแค่ที่เดียว เราก็เลยทำเอ็มโอยูกับ 14 วิทยาลัย เพื่อจะสร้างคนให้ได้สักปีละ 1 พันคน ก็เป็นการการันตีว่าเขาก็จะมีงานทำ อีกทั้งระหว่างที่เรียนก็มีรายได้ พอเรียนจบก็ทำงานในโรงงานก็มีรายได้ที่ดี ทั้งหมดเป็นโครงการที่เราลงไปทำ ก็เสร็จแล้ว เอางบประมาณอะไรลงไปทำแล้ว

         นอกจากนี้เราก็พบว่าคนที่จบช่าง จบวิศวะมาแล้วจำนวนมาก แต่ความรู้ความสามารถยังไม่พอที่จะทำในอุตสาหกรรมใหม่ เช่น จบวิศวะมา แต่ไม่เคยเรียนเรื่องหุ่นยนต์ ก็จับนำมาเทรน ตั้งหลักสูตรขึ้นมา ให้เทรนสัก 3-6 เดือน พอเทรนแล้วเขาก็จะมีงาน ก็ทำให้มีรายได้มากขึ้น ซึ่งมีคนกลุ่มนี้อยู่พอสมควร เดิมมหาวิทยาลัยอยากผลิตนักศึกษาอะไรก็ผลิต เด็กจบมาว่างงาน แต่ต่อไปเมื่อเป็นแบบ Demand size ที่เมื่อมี 10 อุตสาหกรรมใหม่ เราต้องการคนแบบนี้ เราก็พยายามช่วยกันทำโดยการันตีได้ว่าเรียนแล้วมีงานทำแน่นอน โดยต้องค่อยๆ ชี้ให้เห็นว่าอะไรที่จะมีงานทำแน่นอน เช่น เรื่องอุตสาหกรรมหุ่นยนต์-อิเล็กทรอนิกส์ จะมีเยอะแน่ เพราะธุรกิจต่างๆ ต้องเปลี่ยนหมด หรือธุรกิจเกี่ยวกับเรื่องเครื่องบิน เช่น การซ่อมเครื่องบิน

         ตอนนี้กำลังจะทำอีกโครงการคือการผลิตกัปตัน ที่สามารถดูแลเครื่องบินได้ อย่างผมเป็นประธานกรรมการบริษัท ไทยสมายล์แอร์เวย์ จำกัด ทางบริษัทมีการจ่ายเงินเดือน-ค่าเบี้ยเลี้ยงกัปตันที่จบมาใหม่เดือนละสองแสน ทำไมเราไม่สร้างเยอะๆ เพราะทั่วโลกมีความต้องการหมด แต่เราผลิตน้อย ก็ต้องผลิตให้มาก ให้คนมีความสามารถ รับเด็กมา เมืองไทยก็มีงานเยอะแยะ หรือหากไม่ทำเมืองไทยก็ไปที่เมืองนอกก็ได้ ก็มีรายได้ แต่ที่สำคัญต้องชี้ให้เห็น ไม่ใช่แค่บอกต้องผลิตให้จบปริญญาตรี แต่จบมาแล้วจะไปทำอะไรก็ไม่รู้ นี่คือหัวใจสำคัญของเรื่อง 10 อุตสาหกรรม ไม่ใช่แค่เรื่องนำคนมาลงทุนในอีอีซี เพราะเรื่องมาลงทุนมันง่าย ประเทศไทยพร้อมอยู่แล้ว มาเลย คนก็มากันเยอะแยะ แต่การเทรนคนขึ้นมาดูแลเทคโนโลยี มาทำงานวิจัย เป็นเรื่องสำคัญ แต่ต้องใช้เวลา เราก็ต้องพยายามช่วย

            เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก กล่าวปิดท้ายว่า การลงทุนในอีอีซี จากที่เดิมรัฐบาลตั้งเป้าต้องการให้มีเงินลงทุนในอีอีซีปีนี้ 3 แสนล้านบาท จนถึงขณะนี้ดูแล้วน่าจะเกิน เพราะปีที่แล้วในพื้นที่อีอีซีมีการลงทุนแล้วประมาณ 2 แสนล้านบาท ปีที่แล้วมีการขอการลงทุนประมาณ 290,000 ล้านบาท ก็ถึง 3 แสนอยู่แล้ว ก็ตั้งใจว่าจะให้ถึง 350,000 ล้านบาท ก็คิดว่าจะเกิน หากมีการส่งเสริม มีการโปรโมต พ.ร.บ.เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกก็จะเกิด

         ตอนนี้อยู่ในขั้นตอนที่ต้องรีบดึงนักลงทุนเข้ามา ไม่ใช่แค่นักลงทุนต่างชาติ แต่ต้องคนไทยด้วย เพราะเราอยากเห็นคนไทยเป็นเจ้าของ เมื่อ 30 ปีที่แล้วตอนทำอีสเทิร์นซีบอร์ด เรายังไม่มีเงินกัน นักอุตสาหกรรมคนไทยก็ยังมีน้อย แต่ตอนนี้คนไทยก็มีเงิน มีความสามารถ ก็ต้องทำอย่างไรให้คนไทยกับต่างชาติร่วมกันลงทุน คนไทยช่วงที่ผ่านมาก็ยังกลัวๆ กล้าๆ แต่ตอนนี้กฎหมายอีอีซีออกมาแล้ว และเข็นกันดีๆ ก็จะเห็นคนไทยเข้าไปลงทุนมากขึ้น.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"