ระเบิดศึกซักฟอก เปิดแผลรัฐบาล


เพิ่มเพื่อน    

 ศึกซักฟอก ครั้งสุดท้ายของสภา ดีลลับ“พท.-พปชร.”?

สัปดาห์หน้านี้ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรมีแมตช์ใหญ่ทางการเมือง นั่นก็คือ ศึกซักฟอก-การเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีเป็นรายบุคคล ในช่วงวันที่ 31 ส.ค.ถึง 3 ก.ย. และลงมติในวันที่ 4 ก.ย. ซึ่งการอภิปรายรอบนี้ พรรคร่วมฝ่ายค้านยื่นซักฟอก 6 รัฐมนตรี ได้แก่ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม-อนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.สาธารณสุข-ศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม-สุชาติ ชมกลิ่น รมว.แรงงาน-ชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รมว.ดิจิทัลเศรษฐกิจและเพื่อสังคม และเฉลิมชัย ศรีอ่อน รมว.เกษตรและสหกรณ์

สุทิน คลังแสง ประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมฝ่ายค้านหรือประธานวิปฝ่ายค้าน และ ส.ส.มหาสารคาม พรรคเพื่อไทย หนึ่งในขุนพลหลักของเพื่อไทยในการอภิปรายไม่ไว้วางใจ กล่าวถึงภาพรวมของฝ่ายค้านในศึกซักฟอกที่จะมีขึ้น ตลอดจนได้วิเคราะห์สถานการณ์การเมืองหลังการเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาล ที่เขาเชื่อว่า ศึกซักฟอกรอบนี้น่าจะเป็นการอภิปรายไม่ไว้วางใจครั้งสุดท้ายของสภาชุดนี้ เพราะมองว่าหลังการอภิปรายจบลง จะทำให้เกิดการสั่นคลอนในรัฐบาลตามมาจนเกิดการต่อรองทางการเมืองและการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองเกิดขึ้น ซึ่งแม้จะไม่เกิดขึ้นทันทีหลังจบศึกซักฟอกแต่จะเกิดผลตามมาในช่วงปลายปีนี้ หรือช้าสุดต้นปีหน้า รวมถึงยังได้กล่าวถึงความเป็นไปได้ของ ดีลพิเศษ ของเพื่อไทยกับพลังประชารัฐในการจัดตั้งรัฐบาลร่วมกัน ซึ่งเนื้อหาปรากฏดังนี้

ประธานวิปฝ่ายค้าน เปิดเผยว่า ส.ส.ฝ่ายค้านที่จะลุกขึ้นอภิปรายจะมีประมาณ 25-26 คนหรือร่วมๆ 30 คน โดยในส่วนของเพื่อไทย ประมาณ 18 คน ซึ่งประเด็นการอภิปรายไม่ไว้วางใจ นอกจากเรื่องวิกฤตโรคระบาดโควิด-การบริหารจัดการวัคซีน-เรื่องผลกระทบทางเศรษฐกิจแล้ว ยังมีประเด็นเรื่องการทุจริต ความไม่ชอบในการทำงานของรัฐบาลอีกหลายเรื่องที่เป็นเรื่องไม่สมควร เพราะมันคือการซ้ำเติมสถานการณ์ โดยฝ่ายค้านจะนำข้อมูลมาอภิปรายให้ประชาชนเห็นว่าที่รัฐบาลแก้ปัญหาโควิดไม่ได้ไม่ใช่เพราะสถานการณ์โลก แต่เพราะรัฐบาลไม่มีประสิทธิภาพ ขาดความรู้ความสามารถในการบริหารงาน และยังไปคิดทุจริตในวิกฤตที่คนกำลังจะเป็นจะตายจากโควิดมาอภิปราย

เมื่อถามถึงการตั้งข้อหาอภิปรายพลเอกประยุทธ์ในญัตติที่ระบุว่า ค้าความตาย นั้น สุทิน ยืนยันเป็นการตั้งข้อกล่าวหาที่ไม่ได้เกินเลย เพราะวันนี้คนไทยตายจากโควิดเป็นหมื่นแล้ว ขนาดสงครามยังไม่ตายเยอะขนาดนี้ ที่บอกว่าค้าความตาย ก็เพราะมีคนตายทุกวัน และตายเพราะโควิดที่ระบาดหนักเพราะพลเอกประยุทธ์รับผิดชอบโดยผิดพลาดในเรื่องการบริหารวัคซีน เพราะถ้ามีวัคซีนฉีดครบตามกำหนดคนไม่ตายขนาดนี้ แล้วที่วัคซีนมาไม่ครบ มาก็ไม่มีคุณภาพ เพราะอะไร มันตรงไปตรงมาไหม ถ้าไม่ตรงไปตรงมาเพราะอะไร เพราะมีเงินทอนหรือไม่ หรือเพราะไปมีผลประโยชน์เรื่องวัคซีน ก็เท่ากับค้าความตาย แต่หากไม่ใช่อย่างที่ฝ่ายค้านอภิปราย ก็ชี้แจงมา สัญญาซื้อขายวัคซีนก็เอามาเปิดเผยให้ประชาชนเห็น วัคซีนที่ทั่วโลกเขาใช้กันและประชาชนต้องการให้นำเข้ามาฉีดทำไมถึงเข้ามายาก แล้วแบบนี้จะไม่ให้เขาคิดว่าคุณไม่ไปมีผลประโยชน์ได้ยังไง ถ้าคุณมีผลประโยชน์ก็คือคุณค้าความตาย สมัยก่อนโกงสร้างถนน สร้างบ่อน้ำ อย่างมาก ยังไงคนก็ไม่ตาย แต่ถ้าโกงเรื่องนี้คนมันตาย แล้วใช่หรือไม่

            ...ปัจจุบันสังคมอภิปรายนายกฯ ก็หนักแล้ว ทั้งประชาชน ทั้งหมอที่ออกมาพูด เขาอภิปรายไปก่อนฝ่ายค้าน ความไม่ไว้วางใจของสังคมมันจึงเกิดขึ้นก่อนที่ฝ่ายค้านจะอภิปราย เพียงแต่ฝ่ายค้านจะมาเช็กบิล-วางบิลเท่านั้น หากถามว่าอภิปรายรอบนี้นายกฯ จะบอบช้ำหรือไม่ ต้องบอกว่าตอนนี้ก็บอบช้ำหนักแล้ว แต่หลังอภิปรายไม่ใช่แค่บอบช้ำ จะเปื่อยเลย เพราะผมเชื่อว่านายกฯ จะตอบในสภาไม่ได้ แต่ท้ายที่สุดแล้วมันจะอยู่ที่พรรคร่วมรัฐบาล ต้องถามใจพรรคร่วมรัฐบาล จะยอมตายด้วยกันไหม จะยอมเน่าด้วยกันหรือจะชิ่งออกมาอยู่กับประชาชน เพราะฝ่ายค้านเชื่อว่านายกฯ ไม่มีทางตอบได้ แล้วก็อาศัยมือเสียงข้างมากในสภาว่าไป แต่มือมากวันนี้ อย่าประมาท เพราะมือเหล่านั้นต้องกลัวประชาชน เพราะอภิปรายรอบนี้จะเป็นการอภิปรายไม่ไว้วางใจที่หนักที่สุดของพลเอกประยุทธ์ และฝ่ายค้านเองทำงานหนักที่สุดด้วย

            ..อย่างไรก็ตาม ต้องบอกสังคมก่อนว่ามันอาจไม่ได้มีอะไรเซอร์ไพรส์มากมาย เพราะทุกวันนี้เป็นโลกโซเชียลมีเดีย สังคมก็รู้ ไม่ได้น้อยกว่านักการเมืองหรือสื่อ แต่ว่าฝ่ายค้านก็จะร้อยเรียงเรื่องเหล่านั้นให้ประชาชนเห็นว่ามันเป็นความล้มเหลวทั้งระบบที่เดินต่อไม่ได้แล้ว ปล่อยไปอีกไม่ได้แล้ว เพราะปัจจุบันมันไม่เหมือนสมัยก่อนที่สังคมปิด ชาวบ้านอาจไม่ค่อยรู้ พอฝ่ายค้านเปิดออกมาที บอกโอ้โหกันเลย แต่ยุคนี้ประชาชนเขารู้ทุกเรื่อง แต่ฝ่ายค้านจะมาย้ำแผล และต่อจิ๊กซอว์ทั้งหมดให้เห็นว่ามันเป็นความล้มเหลวที่ใหญ่หลวง โดยหากปล่อยไว้มันจะแย่ มันจะพังทั้งหมด

            ...ส่วนอนุทิน รมว.สาธารณสุข ประเด็นการอภิปรายก็ชัดเจนเหมือนพลเอกประยุทธ์ คือมีส่วนในการร่วมสร้างความผิดพลาด เพราะเรื่องโควิด ด่านหน้ามันคือกระทรวงสาธารณสุข วันนี้ระบบสาธารณสุขมันพัง อย่างในกรุงเทพฯ มีข่าวร้านขายอาหาร คนในบ้านติดโควิดตายหมดยกครัวสามศพ และยังมีคนตายจากโควิดกันอีกเยอะ สิ่งที่เกิดขึ้นมันคืออะไร และไปเช็กดูแล้วที่คนตายกันเยอะ เพราะรอตรวจ รอเตียง มันคือระบบสาธารณสุขล้มเหลว จริงอยู่แม้พลเอกประยุทธ์จะออกคำสั่งรวบอำนาจต่างๆ ไว้ที่ตัวเอง ในฐานะประธาน ศบค. แต่ก็ยังมีอำนาจอีกหลายส่วนที่อยู่กับกระทรวงสาธารณสุข และเป็นส่วนสำคัญด้วย อย่างการจัดซื้อจัดจ้างเวชภัณฑ์ต่างๆ ศบค.ไม่ได้เอาอำนาจส่วนนี้ไปด้วย

ศักดิ์สยาม-เฉลิมชัย โคม่า!

-จะอภิปรายเรื่องการจัดซื้อจัดจ้างในส่วนของสาธารณสุขในช่วงโควิดด้วยหรือไม่ เช่น ปมปัญหาเรื่องการจัดซื้อชุดตรวจ  ATK จะโยงไปถึงเครือข่ายอนุทินหรือไม่?

            นี้คือสิ่งที่ฝ่ายค้านจะนำมาอภิปรายให้สังคมเห็นว่าที่วัคซีนไม่มา ระบบสาธารณสุขล้มเหลว ชุดตรวจมาช้าและราคาแพงมันเกิดจากอะไร เป็นเรื่องเหตุสุดวิสัยหรือไม่ หรือเป็นความด้อยประสิทธิภาพของเขา หรือความไม่ชอบมาพากลของคุณ สังคมจะได้รู้

            ส่วนศักดิ์สยาม รมว.คมนาคม จริงๆ เขาก็มีส่วนเกี่ยวข้องกับโควิดอยู่ แล้วเรื่่องการทุจริตในกระทรวงคมนาคมเยอะ แต่ว่าขอยังไม่พูดก่อน แต่ว่าเป็นกรณีทุจริต ไม่ชอบมาพากล เป็นการทุจริตท่ามกลางคนในชาติกำลังลำบาก เป็นเรื่องไม่น่าเกิดขึ้น โดยประเด็นที่จะอภิปรายเขามีทั้งประเด็นใหม่และบางเรื่องก็เป็นประเด็นที่อาจเคยอภิปรายมาตอนอภิปรายไม่ไว้วางใจรอบที่แล้ว แต่มันมีพัฒนาการและมันมีข้อมูลที่ลึกลงไปอีก ส่วนกรณีที่ดินเขากระโดง จ.บุรีรัมย์ ของการรถไฟแห่งประเทศไทยก็อาจมีคนอภิปราย แต่จะไม่ใช่ประเด็นหลัก แต่จริงๆ เรื่องนี้ลองอธิบายต่อสังคมออกมา เพราะดูแล้วประเด็นนี้ชี้แจงไม่ได้  ถ้าเป็นประเทศศิวิไลซ์ผมว่ารัฐบาลอยู่ไม่ได้แล้วแค่เรื่องนี้ สำหรับศักดิ์สยาม รอบนี้ถือว่าหนัก หากไม่หนักจริงฝ่ายค้านไม่เอามาอภิปรายรอบนี้แน่นอน ขณะที่ในส่วนของ เฉลิมชัย-รมว.เกษตรฯ เป็นชื่อที่พรรคร่วมฝ่ายค้านเสนอมา โดยมีประเด็นเกี่ยวกับการทุจริตที่ชัดเจนและมีความผิดพลาดในการบริหารงานที่ทำให้ประเทศเสียหาย ซ้ำเติมโควิดและสภาวะเศรษฐกิจของประเทศ

            สุทิน-ประธานวิปฝ่ายค้าน กล่าวต่อไปว่า สำหรับ สุชาติ ชมกลิ่น รมว.แรงงาน ถือว่าเป็น รมต.ที่มีส่วนในความล้มเหลวเรื่องเศรษฐกิจจากกรณีโควิด เรียกว่าเป็นเครือข่ายกลุ่มบริหารงานเศรษฐกิจโควิดของรัฐบาลที่บริหารงานผิดพลาดในวันนี้ และน่าวิตกมากในวันข้างหน้า ขณะที่ ชัยวุฒิ-รมว.ดีอีเอส จะเป็นรัฐมนตรีที่จะถูกอภิปรายหลายเรื่อง ซึ่งเกี่ยวข้องกับผลประโยชน์ใหญ่หลวงของประเทศ

                -ใช่เรื่องกรณีที่มีการยกเลิกการประมูลวงโคจรดาวเทียม หรือไม่?

            อาจจะมีส่วน ไปหลายเรื่อง แต่มันเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับผลประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชน ถูกดึงไปโดยที่เป็นเรื่องของผลประโยชน์ของประชาชนในเชิงโครงสร้าง

            ส่วนเรื่องเกรงจะมีข้อสอบรั่วก่อนการอภิปรายรัฐมนตรีบางคนหรือไม่นั้นก็เกรงอยู่ แต่ว่าถึงรั่วยังไงก็ตอบไม่ได้ เคยเห็นการสอบช่วงหลังๆ ของการเรียนไหม ครูให้นักเรียนเอาหนังสือเข้าไปเปิดดูตอนสอบเลย แต่บางคนก็ตอบไม่ได้

-ฝ่ายค้านคาดหวังอะไรกับอภิปรายครั้งนี้?

            เป็นทางออกของประเทศ วันนี้ฝ่ายค้านไม่ได้อภิปรายเพื่อต้องการจะล้มรัฐบาล เพราะคำว่าล้มรัฐบาลมันเป็นเรื่องเล็ก เรื่องใหญ่สุดคืออภิปรายเพื่อหาทางออกให้ประเทศ เพื่อผ่าทางตันให้กับประเทศ เพื่อสร้างความหวังให้กับประชาชน เพราะวันนี้ปัญหาของประเทศในเรื่องโควิดและผลกระทบทางเศรษฐกิจ คนก็จะชอบถามว่าจะแก้ยังไง ก็ต้องไปดูที่สาเหตุที่ทำให้เกิดปัญหาตอนนี้ ที่ก็คือการบริหารงานที่ไร้ประสิทธิภาพ ทั้งเรื่องวัคซีน-ระบบสาธารณสุข ถ้ารัฐบาลบริหารงานดีมันก็ไม่เกิดปัญหาแบบตอนนี้

            ทางออกก็คือ ต้องเปลี่ยนผู้นำประเทศ เปลี่ยนรัฐบาล สิ่งนี้คือทางออก การเปลี่ยนรัฐบาลที่เป็นไปได้คือ ทำผ่านกลไกระบบรัฐสภา ให้กลไกรัฐสภาเป็นจุดเริ่มต้น ให้มันจบที่สภา จบได้ก็จบ หากจบไม่ได้มันก็เป็นบันไดเริ่มต้น แล้วก็อาจไปสู่การเปลี่ยนแปลงภายหลัง นี่คือทางออกของประเทศ

ส่วนที่บอกว่าอภิปรายเพื่อเป็นความหวังให้กับประชาชน เพราะวันนี้ประชาชนหวังจะมีการเปลี่ยนแปลง เอาผู้บริหารประเทศชุดใหม่มาบริหาร มันจะดีขึ้น เราก็ทำให้เขาสมหวัง หากเราไม่ทำ เขาก็ไม่มีความหวัง เพราะหากปล่อยไว้แบบนี้นายกฯ ก็อยู่แบบนี้ เพราะเมื่อประชาชนอยากให้รัฐบาลออก ความหวังอะไรที่จะทำให้รัฐบาลออก ประชาชนจะไปม็อบก็ไม่ได้ อาจบาดเจ็บหรือถูกตำรวจจับ ก็มีแต่ในสภาที่จะทำให้เขา เราอภิปรายเพื่อทำให้บ้านเมืองดีขึ้น รัฐบาลอาจไม่รู้ตัวเอง อาจจะหย่อนยาน แต่เมื่อเราอภิปรายก็ทำให้รัฐบาลอาจตื่นตัว ปรับปรุง กระตือรือร้นในการแก้ปัญหา ที่ก็คือต้องคอยลงแส้เรื่อยๆ

-ในส่วนของพรรคร่วมรัฐบาล ฝ่ายค้านคาดหวังไว้แค่ไหน เพราะหัวหน้าพรรคและเลขาธิการพรรคภูมิใจไทยและเลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ก็ถูกอภิปรายไม่ไว้วางใจครั้งนี้ด้วย?

            ก็คิดได้ทั้งสองแบบ ฝ่ายค้านยื่นอภิปรายรัฐมนตรีโดยลงแส้พร้อมกันหมดแบบที่เห็น ทางหนึ่งพรรคร่วมรัฐบาลก็อาจรุมช่วยกัน หรือทางที่สองก็คือ ก็ตัวใครตัวมันไปเลย แล้วผลลงมติไว้วางใจหากรัฐมนตรีแต่ละคนคะแนนออกมาแตกต่างกัน ก็อาจเกิดปัญหาภายในพรรคร่วมรัฐบาลเกี่ยวกับเรื่องเสถียรภาพ

            ผมมองว่าผลการลงมติไว้วางใจนายกฯ และรัฐมนตรีอีกห้าคน คะแนนไว้วางใจจะออกมาแบบแตกต่างกันมาก ดีไม่ดี เสียงนายกฯ อาจได้น้อยกว่าคนอื่น แล้วนายกฯ จะต้องพิจารณาตัวเองไหม ก็รอดูกัน ผมคิดว่าหลังอภิปรายรอบนี้ในทางการเมือง จะเกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองใหญ่กว่าทุกครั้ง ที่่ผ่านมาส่วนใหญ่คือปรับ ครม. แต่การอภิปรายรอบนี้จะมีผลทำให้นายกฯ อยู่ไม่ได้ หรือถึงอยู่ได้ก็จะอยู่แบบขอกันว่าให้นายกฯ อยู่ถึงช่วงนั้นช่วงนี้ ในลักษณะต่อรองกัน จะขอกันว่าขอให้นายกฯ อยู่ต่อได้ถึงวันไหน

หลังจบการอภิปราย เชื่อว่าการเมืองในรัฐบาลจะไปไกลกว่าการปรับ ครม.แน่นอน คือการคุยกันหลังอภิปรายไม่ไว้วางใจคือจบแล้ว ไม่ยอมรับกัน ก็เหลือแค่จะให้เวลาอยู่ได้อีกถึงเมื่อไหร่เท่านั้นเอง ถ้าเจรจากันไม่ได้ก็คือก็คว่ำกันตรงนั้น แต่ถ้าเจรจาได้ก็คือจะทอดเวลาให้กันถึงวันไหน

-แต่แกนนำพรรคร่วมรัฐบาล ทั้งภูมิใจไทย ประชาธิปัตย์ ชาติไทยพัฒนา ต่างบอกทำนองต้องอยู่ด้วยกัน ลงเรือลำเดียวกันแล้ว?

            เขาก็คงพูดโดยมารยาท เพราะยังไม่ถึงจุดที่เห็นจุดที่แย่ที่สุด พรรคร่วมก็ต้องพูดแบบนี้ไว้ก่อน แต่ข้างในเรารู้ว่าการยอมรับมันต่ำลงมาเรื่อยๆ แต่การแสดงออกเขาก็ต้องทำแบบนี้ไปก่อน ก็อย่างนี้ พอถึงจุดหนึ่ง พออภิปรายเสร็จ ตีแผ่เสร็จ ก็จะเหมือนสำนวนประมาณ ไม่พายเรือให้โจรนั่งหรือ สุนัขป่วย แม้แต่เห็บเหาก็ยังต้องเผ่น ฝ่ายค้านถึงคิดว่าการอภิปรายไม่ไว้วางใจครั้งนี้น่าจะเป็นการอภิปรายไม่ไว้วางใจครั้งสุดท้ายของสภาชุดนี้ จะเป็นการอภิปรายก่อนเข้าสู่การเลือกตั้ง

....ส่วนหากนายกฯ จะไม่ลาออก แต่เลือกจะยุบสภา ถามว่าเป็นไปได้ไหม ก็เป็นไปได้ แต่ต้องหลังอภิปรายเสร็จ แต่การจะยุบสภาหลังอภิปรายไม่ไว้วางใจในขณะที่รัฐบาลกระแสนิยมตกต่ำ โดยปกติจะไม่ยุบสภากัน แกนนำพรรครัฐบาลเขาคงไม่ยอม ก็อาจใช้วิธีให้นายกฯ ลาออก เพื่อจะได้ตั้งหลักได้ หรือไม่ก็เอาผู้นำพรรคคนใหม่ของเขาขึ้นมาแทนเพื่อฟื้นศรัทธา ถ้าทำแบบนั้นได้ถึงค่อยให้ยุบสภา เพราะคนที่มีอำนาจยุบสภาอยู่ในมือ เขาก็ต้องคิดว่ายุบสภาแล้วจะได้เปรียบหรือเสียเปรียบทางการเมือง ถ้ายุบในช่วงตัวเองอ่อนแอปกติจะไม่ยุบสภากัน

                -แล้วถ้าพลเอกประยุทธ์อาจคิดว่าตัวเองพอแล้ว และไม่ยอมแน่นอนที่จะมาลาออก อาจเลือกจะยุบสภาแทน?

            ก็มีวิธีคิดแบบนี้เท่านั้น ที่พลเอกประยุทธ์จะยุบสภาคือ คิดว่าตัวเองจะไม่กลับมาการเมืองอีกแล้ว ใครจะเป็นหรือใครจะไปก็แล้วแต่ แต่ตัวเองพอแล้ว แต่หากให้มอง ถ้าพลเอกประยุทธ์จะยุบสภา ก็คิดว่าพวกแกนนำพรรคพลังประชารัฐและพรรคร่วมรัฐบาลคงไม่อยากให้พลเอกประยุทธ์ยุบสภา เขาคงไม่ยอม

-การเมืองหลังจบศึกซักฟอก ทั้งการเมืองในและนอกสภา ถึงฝ่ายค้านอภิปรายไป แต่ถึงตอนลงมติ ส.ส.ฝ่ายรัฐบาลก็ต้องโหวตไว้วางใจอยู่ดี?

            กระแสข้างนอกสภาก็อาจรู้สึกสิ้นหวังที่กลไกสภาไม่สามารถเปลี่ยนรัฐบาลให้เขาได้ คนจะรู้สึกอยู่ในสภาพที่ไร้ความหวังไปปีกว่าหรืออีกร่วมสองปี คนจะไม่ยอม พอไม่ยอม วิกฤตศรัทธาจะเกิดมากๆ แล้วจะเกิดการเรียกร้อง วันนี้ม็อบมันมีหลายม็อบ Mob from Home ที่คือการพิมพ์แป้นหน้าจอแล้วกดไล่รัฐบาล ทุกวันนี้มีทั้ง mob from home-mob from street แต่ Mob from Home อันนี้น่ากลัว

ผมเชื่อว่ากระแสประชาชน แม้ว่าเขาอาจไม่ได้ออกมาร่วมม็อบแบบกลุ่มก้อน แต่ก็จะกดดันผ่านช่องทางอื่นๆ และพรรคร่วมรัฐบาลทุกพรรคก็จะเกิดความคิดว่า อนาคตของพรรคตัวเองจะเป็นอย่างไร เขาจะยอมอุ้มบิ๊กตู่ หรือจะยอมพายเรือให้บิ๊กตู่นั่ง แล้วอนาคตในการเลือกตั้งของพวกพรรคร่วมรัฐบาลต่อไปจะเป็นอย่างไร สดใสหรือจะมืดมน เขาก็ต้องตัดสินใจ เพราะคงไม่มีใครอยากเดินไปสู่ความมืดมน ทุกคนอยากเดินไปสู่แสงสว่าง ผมก็คิดว่าหลังการอภิปรายไม่ไว้วางใจ กระแสสังคมจะลุกขึ้นแรง และจากเรียกร้องให้บิ๊กตู่ลาออก มันหมดแล้ว เขาจะหันมาเรียกร้องให้พรรคร่วมรัฐบาลถอนตัว ถึงตอนนั้นก็อยู่ที่พรรคร่วมรัฐบาลจะยอมตายไปด้วยกันหรือจะเอาตัวรอด คิดว่าหลังจบการอภิปรายไม่ไว้วางใจ นายกฯ จะอยู่ไม่ได้ หรืออาจจะอยู่ได้ถ้าแกดื้อได้ระดับ ก็อาจจะทอดเวลาออกไปได้อีก แต่ผมว่าไม่น่าจะถึงช่วงปีใหม่ มากสุดก็แค่อาจจะข้ามไปต้นปีหน้า แต่แค่ถึงช่วง พ.ย.-ธ.ค. ปลายปีนี้น่าจะลำบากแล้ว ความเป็นไปได้ผมยังเชื่อว่าน่าจะเป็นการลาออกมากกว่ายุบสภา

ดีลลับการเมือง พท.-พปชร.?

-เรื่องเสียงวิพากษ์วิจารณ์ ดีลลับการเมืองระหว่างเพื่อไทยกับพลังประชารัฐเกิดขึ้นมาตลอด โดยเฉพาะช่วงนี้ที่สองพรรคยับมือกันแก้รัฐธรรมนูญและแกนนำพลังประชารัฐบางคนก็ไม่โดนอภิปราย?

            เรื่องดีลพิเศษระหว่างเพื่อไทยกับพลังประชารัฐเห็นพูดทำนองนี้กันมานานแล้ว ผมก็ไม่เคยเห็นมีอะไรเกิดขึ้น ผมดูแล้วมันเป็นไปได้ยาก เพราะธรรมชาติและจุดยืนของพลังประชารัฐกับเพื่อไทยมันต่างกัน มันจึงไม่ง่าย แต่หากถามว่ามันเป็นไปได้ไหม มันก็มีความเป็นไปได้ แต่มันยาก ยากมาก เพราะสองพรรคนี้มันอยู่กันคนละซีก นี่คือประการสำคัญที่ทำให้เรื่องดีลอะไรมันไม่ง่าย

ส่วนที่มีการนำเรื่องที่พลังประชารัฐ กับเพื่อไทยเห็นตรงกันเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ แล้วบอกว่าเพราะมีดีลจะร่วมกันตั้งรัฐบาล จริงๆ มันไม่ใช่ เพราะที่ผ่านมาเพื่อไทยแสดงจุดยืนมาแต่แรกแล้วว่าต้องการให้แก้ไข รธน.เพื่อให้กลับไปใช้บัตรเลือกตั้งสองใบ พรรคร่วมฝ่ายค้านอย่างพรรคก้าวไกลก็เห็นด้วยกับเรามาก่อน แต่ช่วงหลังเขาเปลี่ยนไม่เอาด้วย ส่วนพลังประชารัฐ ก่อนหน้านี้ไม่เอาด้วยเรื่องบัตรสองใบ แต่จู่ๆ พลังประชารัฐจะเอาบัตรสองใบ มาคิดเหมือนเรา เพื่อไทยเราก็งงกันอยู่เหมือนกัน

ทางเราก็มาคิดได้ว่า วันหนึ่งเขา (พลังประชารัฐ) เคยตัวเล็ก เขาก็คิดแบบคนตัวเล็กที่ใส่เสื้อไซส์ S ก็จะเอาบัตรใบเดียว แต่วันหนึ่งเขาเริ่มตัวโตขึ้นมา แล้วก็คิดว่าเลือกตั้งรอบหน้าเขาจะโตขึ้น ก็คิดว่าต้องหาเสื้อไซส์ L มาใส่ เขาก็เลยคิดแบบคนตัวโต มันก็เลยมาเหมือนกับเพื่อไทย ที่เป็นพรรคที่โตใหญ่อยู่แล้ว คนตัวโตเลยคิดจะตัดเสื้อใส่ไซส์เดียวกัน การที่เขาจะเอาบัตรสองใบด้วยมันจึงไม่ใช่เรื่องบังเอิญ แต่เป็นเรื่องพัฒนาการของเขา

ที่บอกสองพรรค เพื่อไทยกับพลังประชารัฐจะไปจับมือกันตั้งรัฐบาล ผมยังไม่เห็นโอกาสว่ามันจะเป็นไปได้เลย เพราะเงื่อนไขต่างๆ เช่น จะต้องเปลี่ยนนายกฯ ใหม่หรือไม่ จะเป็นพลเอกประยุทธ์คนเดิม แบบนี้เราจะไปเป็นรัฐบาลร่วมด้วยกันได้ยังไง หรือจะเปลี่ยนตัว ไม่เอาประยุทธ์แล้ว ถามว่าจะเปลี่ยนกันได้ง่ายๆ หรือ มันก็ไม่ง่าย แล้วไม่ใช่ว่าอยู่ดีๆ ก็ไปคุยกับแกนนำแล้วไปบอกว่าให้เอาประยุทธ์ออกแล้วเราจะเข้าไป แบบนั้นหรือ ผมว่ามันยาก แล้วหากประยุทธ์ออกแล้วใครจะมาเป็นนายกฯ ก็ยังนึกไม่ออกเหมือนกัน เพราะมันต้องได้ตัวนายกฯ มาก่อน ถึงจะได้พรรคร่วมรัฐบาล ก็ยังไม่รู้ใครจะได้เป็นนายกฯ ผมว่าเรื่องนี้คนคิดกันไปไกลเกิน มันเป็นไปได้ยาก

-ถ้ามีการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง พลเอกประยุทธ์ไม่อยู่แล้ว เพื่อไทยสามารถจับมือกับพลังประชารัฐตั้งรัฐบาลร่วมกันได้หรือไม่?

            ถ้าไม่มีพลเอกประยุทธ์แล้วจะมาตั้งรัฐบาลใหม่ ก็ต้องมาดูว่าคนที่จะมาเป็นนายกรัฐมนตรีเขาอยู่ในแนวประชาธิปไตยหรือไม่ หากยังอยู่ในแนวเผด็จการเหมือนเดิม พรรคเพื่อไทยก็ต้องคิดหนัก และต้องดูไปถึงขั้นนโยบายอีกว่าจะยอมให้เราแก้ปัญหาเศรษฐกิจหรือแก้ปัญหาต่างๆ ได้ระดับไหน ซึ่งผมว่าแค่ด่านแรกก็เหนื่อยแล้ว คือแล้วจะเอาใครมาเป็นนายกฯ แทนพลเอกประยุทธ์ สมมุติเป็นคนอื่น เป็นคนกลางที่สังคมยอมรับ แล้วดูว่ามีศักยภาพจริง เพราะเราไม่อยากเข้าไปแล้วล้มเหลว เพราะหากเราคิดจะเป็นรัฐบาลในช่วงเวลาสั้นๆ ก่อนสภาชุดนี้หมดสมัย มันก็ต้องคิดว่าหากเราเข้าไปแล้วสามารถไปแก้วิกฤตได้จริงๆ ถ้าเข้าไปแล้วทำไม่ได้ก็ไม่รู้ว่าจะเข้าไปทำไม ก็รอเลือกตั้งคราวหน้าก็ได้ ผมถึงบอกว่าไม่ง่ายๆ

                -แล้วหากว่าถ้าพลเอกประยุทธ์ไม่อยู่แล้ว และมีการหาคนอื่นมาเป็นนายกฯ แต่สุดท้ายก็ยังไม่ได้ แล้วหากมีความพยายามเอานายกฯ คนนอกเข้ามา เพื่อไทยจะว่าอย่างไร?

            มันก็จำเป็นถ้ามาตามรัฐธรรมนูญ ซึ่งเราคิดว่ามันไม่ดีหรอก แต่ว่า ณ สถานการณ์วิกฤตอย่างนี้ มันไม่มีอะไรดีกว่าการยึดกติกาไว้ก่อน ถ้ามาตามกติกา ก๊อกแรกไม่ได้ มาเป็นก๊อกสอง แต่คนที่จะมาจากก๊อกสองก็ต้องมาดูอีก ว่าวิธีคิด ทิศทาง เขาจะนำประเทศไปทางไหน ถ้าไปในทางเผด็จการ ไปทางที่ตรงข้ามประชาธิปไตย พรรคเพื่อไทยไม่มีทางเอาด้วยอยู่แล้ว.

                                                                                    โดย วรพล กิตติรัตวรางกูร


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"