รัฐบาลเจอของร้อนแก้ รธน.จ่อไปศาล ซักฟอกแผลโควิด-คดี ‘โจ้’ ตอกปฏิรูป ตร.เหลว


เพิ่มเพื่อน    

 

      ผ่านไปแล้วสำหรับกระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญในวาระที่ 2 หลังที่ประชุมรัฐสภาเมื่อวันที่ 26 สิงหาคม ลงมติเห็นด้วยตามที่คณะกรรมาธิการวิสามัญเพื่อพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเสนอ ด้วยคะแนน  440 เสียง ไม่เห็นด้วย 5 เสียง งดออกเสียง 132 เสียง ไม่ลงคะแนน 3  เสียง

ถือว่าการพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญในวาระ 2 เสร็จสิ้นสมบูรณ์ หลังจากนี้ต้องทิ้งระยะเวลาไว้ 15 วัน ก่อนจะกลับมาลงมติกันในวาระ 3

ดูเหมือนการแก้ไขรัฐธรรมนูญจะราบรื่น เมื่อดูจากมติเห็นด้วย 440 เสียง โดยมีพรรคการเมืองใหญ่ 3 พรรค ทั้งฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้านที่แสดงเจตนารมณ์ชัดเจนว่าสนับสนุนเต็มพิกัด ได้แก่  พรรคพลังประชารัฐ, พรรคประชาธิปัตย์ และพรรคเพื่อไทย

แต่ในความเป็นจริงแล้วไม่น่าจะจบง่ายๆ เพราะมีประเด็นคอขาดบาดตายให้ลุ้นอีกเฮือก โดยเฉพาะ การแก้ไขรัฐธรรมนูญเกินหลักการ เนื่องจากร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับพรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งเป็นร่างหลักที่ถูกนำมาพิจารณาได้เสนอให้แก้ไขเพียง 2 มาตราเท่านั้น คือ  มาตรา 83 และมาตรา 91 ที่เกี่ยวกับการกลับไปใช้บัตรเลือกตั้งสองใบ และการแก้ให้มี ส.ส.แบบแบ่งเขต 400 คน และ ส.ส.บัญชีรายชื่อ 100 คน แต่คณะกรรมาธิการได้มีการเสนอแก้ไขเนื้อหาที่คาบเกี่ยวกันอีกหลายมาตรา

ประเด็นนี้พรรคก้าวไกลคัดค้านหลายครั้งระหว่างการพิจารณาในวาระ 2 โดย นายธีรัจชัย พันธุมาศ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล  และรองประธานคณะกรรมาธิการเสียงข้างน้อย ระบุว่าคณะกรรมาธิการเสียงข้างมากปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบตามข้อบังคับการประชุมรัฐสภา  เนื่องจากเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญที่เนื้อหามิชอบ เพราะไม่ใช่มาตราที่เกี่ยวเนื่องและกระบวนการไม่ชอบธรรม เพราะข้อบังคับการประชุมรัฐสภากำหนดให้สมาชิกคือ ส.ส.และ ส.ว.เป็นผู้เสนอคำแปรญัตติเข้ามาเพื่อให้คณะกรรมาธิการพิจารณา แต่คณะกรรมาธิการกลับเป็นผู้เสนอแก้ไขเนื้อหาเสียเอง

แม้แต่ พรรคภูมิใจไทย ซึ่งเป็นพรรคร่วมรัฐบาลยังแสดงความกังวลเช่นเดียวกันว่า การแก้ไขเกินกว่าหลักการที่เสนอสุ่มเสี่ยงจะทำให้กระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนี้มิชอบ จึงขอ สงวนท่าที โดยการประกาศยุทธศาสตร์ 2 งด คือ งดออกเสียงและงดใช้เสียง

ท่ามกลางกระแสข่าวลือหนาหูว่า แกนนำคนสำคัญของพรรคภูมิใจไทยหวาดระแวงกลัวจะเป็นเกมล้มกระดาน ล้างบาง ส.ส.และถูกดำเนินคดีหากลงมติด้วย เหมือนเช่นการแก้ไขรัฐธรรมนูญสมัยรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ที่มีการสลับร่างจนถูกคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) พิจารณามีความผิด

เพราะหากตีความกันตามกฎหมายทุกกระเบียดนิ้ว ความเสี่ยงที่ขัดรัฐธรรมนูญมีมาก ขนาดพรรคเพื่อไทยสลับร่างยังถูกชี้มูลความผิด แต่ครั้งนี้ถึงขั้นแก้ไขเกินหลักการที่ยื่นเอาไว้

แม้คณะกรรมาธิการเสียงข้างมาก ที่นำโดยนายไพบูลย์ นิติตะวัน  ส.ส.บัญชีรายชื่อและรองหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ จะยืนยันว่าไม่ขัดรัฐธรรมนูญ เพราะข้อบังคับการประชุมรัฐสภา ข้อที่ 124 ระบุว่า "การแปรญัตติเพิ่มมาตราขึ้นมาใหม่ หรือตัดทอน หรือแก้ไขมาตราเดิม ต้องไม่ขัดกับหลักการแห่งร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม เว้นแต่การแก้ไขเพิ่มเติมมาตราที่เกี่ยวเนื่องกับหลักการนั้น" ก็ตาม

ตามรูปการณ์แล้ว ก่อนลงมติในวาระ 3 น่าจะมีประเด็นเกี่ยวกับท่าทีของพรรคการเมืองต่างๆ ออกมาแน่นอน โดยเฉพาะการตัดสินใจว่าจะเสี่ยงหรือไม่ หลังมีแนวโน้มสูงว่าจะมีการยื่นเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความว่าขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่

โอกาสจะไปจบที่ "ศาลรัฐธรรมนูญ" มีสูงมาก น่าจะลากยาวกันอีกสักพัก

ขณะที่สัปดาห์หน้า อุณหภูมิการเมืองจะกลับมาร้อนแรงอีกครั้ง  หลังที่ประชุมคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล (วิปรัฐบาล) มีมติกำหนดกรอบระยะเวลาในการอภิปรายไม่ไว้วางใจครั้งนี้เอาไว้ระหว่างวันที่ 31 สิงหาคม ถึงวันที่ 3 กันยายน และลงมติในวันที่ 4  กันยายน

โดยมีการกำหนดเวลาในการอภิปรายทั้งหมด 58 ชั่วโมง 30 นาที  แบ่งเป็นของพรรคร่วมฝ่ายค้าน 40 ชั่วโมง ของฝ่ายรัฐบาลและคณะรัฐมนตรี 18 ชั่วโมง 30 นาที เรียกว่าได้ชมได้ฟังกันยาวๆ

ครั้งนี้มีรัฐมนตรีที่ถูกฝ่ายค้านยื่นญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจจำนวน 6 คน ได้แก่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม, นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.สาธารณสุข, นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม, นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รมว.เกษตรและสหกรณ์, นายสุชาติ ชมกลิ่น รมว.แรงงาน และนายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รมว.ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม

เนื้อหาส่วนใหญ่ในการอภิปรายครั้งนี้ของฝ่ายค้านจะพุ่งเป้าไปที่การบริหารแก้ไขปัญหาโควิด-19 ล้มเหลวและผิดพลาดของรัฐบาล  กับศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการแพร่ระบาดที่มีผู้ติดเชื้อและเสียชีวิตจำนวนมาก การจัดหาเตียงผู้ป่วย การจัดหาวัคซีน ตลอดจนการเยียวยา

สำหรับการซักฟอกครั้งนี้ถือว่าเป็นการอภิปรายนอกฤดูกาล ซึ่งที่ผ่านมาฝ่ายค้านมักไม่นิยมทำกันในช่วงนี้ แต่หนนี้สืบเนื่องจากสถานการณ์ของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ไม่สู้ดี จากกระแสความไม่พอใจของประชาชนในหลายเรื่อง จึงใช้ ยุทธศาสตร์ตีเหล็กตอนร้อน

ส่วนภายนอกรัฐสภา จะยังมีการเคลื่อนไหวของม็อบทะลุฟ้าที่จัดชุมนุมมาต่อเนื่องหลายวัน น่าจะมีการจัดคู่ขนานกันเพื่อล้อไปกับเนื้อหาและอุณหภูมิในรัฐสภาอีกเช่นเคย

สัปดาห์หน้ารัฐบาลอาจต้องเจอศึกหลายด้าน เพราะหลายเรื่องจะมาประจวบเหมาะกันพอดี โดยมีเวทีรัฐสภาเป็นศูนย์กลางดึงดูดความสนใจของสังคม

            เช่นเดียวกับกรณีสะเทือนใจสังคม เหตุการณ์ พ.ต.อ.ธิติสรรค์ อุทธนผล หรือผู้กำกับโจ้ อดีตผู้กำกับการสถานีตำรวจภูธรเมืองนครสวรรค์ กับพวก ใช้ถุงดำคลุมหัวผู้ต้องหาคดียาเสพติดจนถึงแก่ชีวิต  ที่แม้จะเป็นความผิดเฉพาะตัว แต่ก็กระทบมาถึงรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ เข้าเต็มๆ เหมือนกัน

            โดยเฉพาะประเด็นปฏิรูปตำรวจ ที่กำลังถูกพูดถึงและเรียกร้องให้มีการสังคายนาวงการสีกากีครั้งใหญ่ หลังสังคมไม่ไว้ใจการสอบสวนของตำรวจ กลัวจะลงเอยแบบมวยล้มต้มคนดูเหมือนกับหลายคดีในอดีตที่คนรู้สึกแบบนั้น

            กรณีปฏิรูปตำรวจเหมือนกระแทกมาที่อกรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์เข้าอย่างจัง เพราะในรัฐธรรมนูญปี 2560 ได้บัญญัติเกี่ยวกับเรื่องการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมเอาไว้

โดยในมาตรา 258 ของรัฐธรรมนูญ 2560 ที่ว่าด้วยการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมได้ระบุไว้หลายเรื่อง โดยเฉพาะการปรับปรุงระบบการสอบสวนคดีอาญาให้มีการตรวจสอบและถ่วงดุลระหว่างพนักงานสอบสวนกับพนักงานอัยการอย่างเหมาะสม กําหนดระยะเวลาในการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องทุกฝ่ายให้ชัดเจน เพื่อมิให้คดีขาดอายุความ และสร้างความเชื่อมั่นในการปฏิบัติหน้าที่ของพนักงานสอบสวนและพนักงานอัยการในการสอบสวนคดีอาญา

หลังเกิดกระแสร้อน องคาพยพของรัฐบาลพยายามออกมาเด้งรับ  โดยนายวิรัช รัตนเศรษฐ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ ในฐานะประธานกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.)  ตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. ... ​รัฐสภา ออกมาเผยว่าจะเร่งพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ปฏิรูปตำรวจหลังปิดสมัยประชุมนี้ เช่นเดียวกับนายธนกร วังบุญคงชนะ  โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ออกมายืนยันว่านายกรัฐมนตรีสั่งเร่งปฏิรูปตำรวจ

แต่ในทางปฏิบัติแล้ว ดูเหมือนการปฏิรูปตำรวจแทบจะไม่มีความคืบหน้าใดๆ เลย โดยนายวิรัชเองก็ยอมรับว่า การพิจารณาเนื้อหาของคณะกรรมาธิการทำได้เพียง 14 มาตรา จากทั้งหมด 172 มาตราเท่านั้น

อย่างไรก็ดี แม้รัฐบาลจะยืนยันว่ากฎหมายอยู่ในสภาแล้ว แต่ก็ยังถูกตั้งคำถามว่า จะปฏิรูปตำรวจได้จริงหรือไม่ ตั้งแต่เรื่ององค์ประกอบของคณะกรรมาธิการชุดนี้ 46 คน ที่พบว่ามีกรรมาธิการที่เป็นตำรวจถึง  13 คน และนั่นหมายถึงพวกเขาย่อมไม่ยอมให้ใครมาตัดแขนตัดขาง่ายๆ  เนื่องจากเป็นฝ่ายเสียประโยชน์

            หรือกับเรื่องเนื้อหาเองที่ยังไม่รู้ว่าจะยึดเอาร่าง พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติฉบับใด ระหว่างฉบับที่ผ่านคณะกรรมการกฤษฎีกา ชุดของนายมีชัย ฤชุพันธุ์ ที่มีคนสนับสนุนกันจำนวนมาก หรือฉบับของนายมีชัยที่ถูกปรับแก้ไขจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ที่คณะรัฐมนตรีส่งไปให้แก้ไขเอง ซึ่งสาระสำคัญที่เป็นหัวใจแทบไม่ได้มีการแตะต้อง

            รัฐบาลเองก็ถูกตั้งคำถามเรื่องความจริงใจในเรื่องนี้มาตลอด เพราะการปฏิรูปเป็นสิ่งที่ประกาศกันมาตั้งแต่ยังเป็นคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) พล.อ.ประยุทธ์เองก็รับปากหลายครั้ง แต่ผ่านมาแล้วหลายปี อย่าเรียกว่าไม่คืบหน้าเลย เรียกว่าไม่เดินหน้าน่าจะถูกต้องกว่า

            ประเด็นนี้เหมือนพลุไฟ เวลาเกิดเรื่องกันขึ้นมาทีก็พูดถึงที  เหมือนกับคดีนายวรยุทธ อยู่วิทยา ขับรถชนตำรวจเสียชีวิต ที่ต้องตั้งคณะกรรมการชุดของนายวิชา มหาคุณ ขึ้นมาลดกระแสสังคม ให้อำนาจตรวจสอบและเสนอแนะการปฏิรูปตำรวจ แต่พอเสนอแนะไว้ รัฐบาลก็ไม่ได้มีท่าทีใดๆ ให้เกิดมรรคเกิดผลเลย

           เหมือนลูบหน้าปะจมูกขอไปที กรณี "ผู้กำกับโจ้" จึงเป็นการตอกย้ำให้เห็นความไม่จริงใจในการปฏิรูปตำรวจของรัฐบาลอีกครั้ง.

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"