ชะตากรรม'ฉลามหัวค้อน' ก่อนขึ้นบัญชีสัตว์คุ้มครอง


เพิ่มเพื่อน    

 

 

      เสี่ยงสูญพันธุ์ทั่วน่านน้ำไทยจากสถานการณ์คุกคามที่ยังน่าเป็นห่วง โดยเฉพาะชีวิตปลาฉลาม  ไม่ว่าจะเป็นฉลามหัวค้อนสีน้ำเงิน หัวค้อนใหญ่ หัวค้อนเรียบ จนถึงฉลามหัวค้อนยาว แทบไม่ต้องคาดการณ์ว่าจะวิกฤตหนักเพียงใด ฉลามกลุ่มนี้ได้รับผลกระทบอย่างมากจากการประมง อย่างกรณีที่เป็นข่าวในโลกโซเชียลปลายเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา  พบมีลูกปลาฉลามขายอยู่หลายตัวในตลาดใกล้กรุง ราคาเพียงกิโลกรัมละ 100  บาท แต่น่าสลดใจเป็นลูกปลาฉลามหัวค้อน ซึ่งใกล้สูญพันธุ์ อยู่ระหว่างการผลักดันเป็นสัตว์คุ้มครอง

                ล่าสุด คณะกรรมการพัฒนากฎหมายกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมมีมติเห็นชอบในหลักการร่างกฎกระทรวงกำหนดให้สัตว์ป่าบางชนิด เป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง และให้กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช รับข้อคิดเห็นและข้อสังเกตของที่ประชุมไปประกอบการพิจารณา และนำเสนอต่อคณะกรรมการสงวนและคุ้มครองแห่งชาติตามขั้นตอนต่อไป สำหรับการพิจารณาร่างกฎกระทรวงกำหนดให้สัตว์ป่าบางชนิดเป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง เป็นการดำเนินการตามมาตรา 5 และมาตรา 7 ของ พ.ร.บ. สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2562 ที่ได้มีการปรับปรุงจากบัญชีท้ายกฎกระทรวงที่ออกตามความใน พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครอง สัตว์ป่า พ.ศ.2535

             โดยมีการปรับสถานะรายการสัตว์ป่าคุ้มครองเป็นสัตว์ป่าสงวน จำนวน 3 รายการ ได้แก่ ฉลามวาฬ เต่ามะเฟือง และวาฬบรูด้า การเพิ่มรายการสัตว์ป่าคุ้มครอง จำนวน 7 รายการ ได้แก่ ค่างตะนาวศรี งูหางแฮ่มกาญจน์ ปลากระเบนปีศาจหางเคียว ฉลามหัวค้อนยาว ฉลามหัวค้อนสีน้ำเงิน ฉลามหัวค้อนใหญ่ และฉลามหัวค้อนเรียบ

      ชี้ชัดให้เห็นว่า สัตว์ทะเล ซึ่งมีความเปราะบางจากระบบนิเวศและมีจำนวนน้อยอยู่แล้วในธรรมชาติ  ยิ่งประสบปัญหามากขึ้นในสถานการณ์ปัจจุบัน

ฉลามหัวค้อนยาวไม่พบในไทยนานแล้ว หัวค้อนสีน้ำเงิน 15 ปี ผสมพันธุ์ครั้ง

ข้อมูลจากกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) สถานการณ์ประชากรในปัจจุบัน ปลาฉลามทั่วโลกถูกจับได้จากการประมงมากกว่า 100 ล้านตัวหรือเฉลี่ย 190  ตัวต่อนาที ใน จำนวนทั้งหมดนี้มากกว่า 70  ล้านตัว  เป็นฉลามถูกจับตัดเอาครีบไปขาย  ส่งผลกระทบถึงขั้นวิกฤตต่อประชากรปลาฉลาม หลายองค์กรทั่วโลกตระหนักถึงปัญหาการคุกคามประชากรปลาฉลาม ร่วมมือรณรงค์อนุรักษ์ปลาฉลามมากขึ้น       ทั้งนี้ เพื่อรักษาระดับประชากรปลาฉลามให้มีความสมดุลของระบบนิเวศในทะเลและมหาสมุทรทั่วโลก เนื่องจากปลาฉลามมีความสำคัญต่อระบบห่วงโซ่อาหาร และจัดเป็นผู้ล่าหรือผู้บริโภคระดับสูงสุด ซึ่งมีจำนวนน้อยในธรรมชาติ

             ขณะที่ผลจากการจับปลาฉลามเพื่อทำประมงของไทยในแต่ละปี มีค่าน้อยกว่าร้อยละ 1 เมื่อเทียบกับปริมาณการจับฉลามจากการประมงทั่วโลก จากข้อมูลสถิติการประมงแห่งประเทศไทยช่วงปี พ.ศ. 2541-2561  พบว่า ปริมาณการจับปลาฉลามเฉลี่ยของประเทศไทย ร้อยละ 62.5  ได้จากการทำประมงฝั่งอ่าวไทย ที่เหลืออีกร้อยละ 37.5  มาจากประมงฝั่งอันดามัน

         ในรอบ 21 ปีนี้มีค่าเฉลี่ยปริมาณการจับปลาฉลามในทะเลไทยเท่ากับ 5.5 ล้านกิโลกรัม/ปี แต่ที่น่าสังเกตปริมาณการจับปลาฉลามตั้งแต่ปี พ.ศ.2550    จนถึงปัจจุบันมีค่าต่ำกว่าค่าเฉลี่ยดังกล่าว แสดงให้เห็นถึงความเสื่อมโทรมของตัวทรัพยากรของปลากลุ่มนี้ในเขตน่านน้ำไทย

        นายโสภณ ทองดี อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง เปิดเผยว่า ชนิดพันธุ์ของฉลามในน่านน้ำไทยจากการสำรวจปี 2563 พบว่า มีทั้งหมด 87  ชนิด มากกว่าร้อยละ 75  เป็นชนิดพันธุ์ที่หายากหรือชนิดพันธุ์ที่ใกล้สูญพันธุ์   กลุ่มปลาฉลามหัวค้อนเป็นกลุ่มปลาที่ออกลูกเป็นตัว อาศัยในระดับกลางน้ำหรือผิวน้ำ แต่อาจพบลงไป หาอาหารตามแนวหินและแนวปะการัง ลูกฉลามจะอาศัยบริเวณชายฝั่ง สามารถพบฉลามกลุ่มนี้ได้ตั้งแต่ชายฝั่งจนถึงบริเวณไหล่ทวีปที่มีความลึกน้ำพันกว่าเมตร

    “ ทั่วโลกพบจำนวน 9 ชนิด โดยในประเทศไทยพบ 4 ชนิด คือ ปลาฉลามหัวค้อนสีน้ำเงิน ปลาฉลามหัวค้อนใหญ่ ปลาฉลามหัวค้อนเรียบ และปลาฉลามหัวค้อนยาว มีบันทึกการพบเห็นทั้งฝั่งอ่าวไทย และทะเลอันดามัน แต่ปลาฉลามหัวค้อนใหญ่จะพบได้เฉพาะบริเวณฝั่งทะเลอันดามัน และฉลามหัวค้อนยาวมีรายงานว่าไม่พบในเขตทะเลไทยมานานแล้ว ฉลามหัวค้อนบางชนิด เช่น ฉลามหัวค้อนสีน้ำเงิน มีลูกครั้งละ 12- 38 ตัว แต่ใช้เวลาอย่างอีกน้อย 15 ปี จึงจะพร้อมผสมพันธุ์อีกครั้ง สำหรับปลากระเบนปีศาจหางเคียว  พบอาศัยอยู่บริเวณทะเลเปิด ไกลฝั่ง น้ำลึก ว่ายขึ้นมาที่ผิวน้ำได้ไม่บ่อยนัก พบเห็นน้อย ออกลูกเพียงครั้งละ 1 ตัว “ นายโสภณ กล่าว

ครีบฉลามหัวค้อน”ราคาสูง” 4 ชนิดใกล้สูญพันธุ์

 อีกประเด็นสำคัญ อธิบดี ทช. กล่าวว่า พฤติกรรมของปลาฉลามหัวค้อนที่อยู่รวมกันเป็นฝูง ยิ่งทำให้ถูกจับทั้งหมดในคราวเดียว ในขณะที่อัตราการทดแทนในธรรมชาติต่ำ และมีความต้องการทางการค้าสูง โดยครีบใช้ทำหูฉลามตากแห้ง คุณภาพดี เนื้อนำมาบริโภค ตับใช้ทำน้ำมันตับปลาและวิตามินเอ หนังใช้ทำเครื่องหนัง โดยเฉพาะครีบของปลาฉลามหัวค้อนซึ่งมีราคาสูงกว่าปลาฉลามกลุ่มอื่น ในประเทศฮ่องกงตลาดรับซื้อขายใหญ่ของโลก พบครีบที่มาจากปลาฉลามหัวค้อนอย่างน้อยร้อยละ 4-5

       ส่วนปลากระเบนปีศาจหางเคียว ซี่เหงือกของปลาในกลุ่มปลากระเบนปีศาจ มีความต้องการเพื่อการบริโภคในตลาดยาของเอเชียสูงขึ้น เนื้อสดถูกแล่ขายเพื่อบริโภค และใช้สำหรับเป็นเหยื่อทำประมง อาจเป็นทางเลือกสำหรับการส่งออก และเคยพบกระเบนปีศาจติดเครื่องมือประมงอวนลากอวนล้อมโดยบังเอิญ

       จากการติดตามสถานภาพการถูกคุกคามของชนิดพันธุ์ในระดับโลกใน IUCN Red List ล่าสุด ฉลามหัวค้อนสีน้ำเงิน ฉลามหัวค้อนใหญ่ และฉลามหัวค้อนเรียบ ถูกจัดเป็นชนิดพันธุ์ที่ใกล้สูญพันธุ์อย่างยิ่ง ในขณะที่ปลาฉลามหัวค้อนยาว  และปลากระเบนปีศาจหางเคียว  ถูกจัดเป็นชนิดพันธุ์ที่ใกล้สูญพันธุ์

       สำหรับสถานภาพการถูกคุกคามของชนิดพันธุ์ในประเทศไทยใน Thailand Red Data 2017 (2560) พบว่า กลุ่มปลาฉลามหัวค้อนทั้ง 4  ชนิด ถูกจัดเป็นชนิดพันธุ์ที่ใกล้สูญพันธุ์อย่างยิ่ง ส่วนปลากระเบนปีศาจหางเคียวถูกจัดอยู่ในสถานภาพที่ยังไม่ได้รับการประเมิน

    “ พบฉลามหัวค้อนติดเครื่องมือประมงทั้งโดยบังเอิญและตั้งใจ ส่วนใหญ่ลูกฉลามหัวค้อนอาศัยอยู่ใกล้ฝั่งมักติดเครื่องมือประมงชายฝั่ง ส่วนตัวโตเต็มวัยส่วนใหญ่ถูกจับได้โดยเครื่องมืออวนลาก โดยเฉพาะอวนลากแผ่น ตะเฆ่ ประมงอวนลอย ประมงเบ็ดราว บริเวณทะเลลึกไกลฝั่ง บางครั้งพบว่าถูกตกเพื่อการกีฬา “ นายโสภณ กล่าว

ชีวิตฉลาม”หัวค้อน” เมื่อขึ้นบัญชีสัตว์คุ้มครอง

 ใช้มาตรการทางกฎหมายยกฐานะให้เป็นสัตว์คุ้มครอง จะช่วยให้การอนุรักษ์มีความเข้มข้นมากขึ้น นายโสภณ กล่าวว่า จะสามารถรักษาจำนวนประชากรได้ทันท่วงที โดยเฉพาะชนิดที่เป็นเป้าหมายเจาะจงจับเพื่อประโยชน์ทางการค้า ครอบครอง หรือนำมาจัดแสดง เนื่องจากปลาฉลามหัวค้อนและปลากระเบนปีศาจมีการเคลื่อนที่ตลอดเวลา เกิดเป็นช่องว่าง ทำให้พ้นจากการถูกกำหนดฐานความผิดและบทลงโทษตาม พ...อุทยานแห่งชาติฯ เมื่ออยู่นอกพื้นที่การคุ้มครองของอุทยานฯ

 “ เมื่อมีกฎหมายคุ้มครองฉลาม กระเบน ตามรายชนิดจะช่วยให้เจ้าหน้าที่มีเครื่องมือในการปฏิบัติงานได้สะดวกขึ้น แก้ไขปัญหาการสูญพันธุ์ของปลาฉลามหัวค้อนและปลากระเบนปีศาจได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ช่วยรักษาสมดุลระบบนิเวศและห่วงโซ่อาหารทางทะเล เมื่อมีกฎหมายดูแลปลาฉลามและกระเบนจะทำให้เกิดกฏระเบียบต่างๆ ส่งเสริมท่องเที่ยวยั่งยืนมากขึ้น “ อธิบดี ทช. กล่าว

ไม่ใช่แค่กฎหมาย แต่ต้องคุ้มครองทะเล ปชช.-ประมง ต้องช่วยชีวิตฉลาม

แนวทางการอนุรักษ์ปลาฉลามหัวค้อนและปลากระเบนปีศาจหางเคียว ต้องทำควบคู่กันในหลากหลายมิติ  นายโสภณกล่าวประเด็นนี้ว่า นอกจากการผลักดันกฎหมายให้เป็นสัตว์ป่าคุ้มครองแล้ว การประกาศพื้นที่คุ้มครองทางทะเลที่เป็นแหล่งอาศัยและเพาะพันธุ์ รวมถึงการรณรงค์ให้ชาวประมงช่วยชีวิตหรือปล่อยสัตว์เหล่านี้ที่ยังมีชีวิตจากเครื่องมือประมง รวมทั้งรณรงค์ให้ประชาชนร่วมใจไม่ซื้อ ไม่ขาย ไม่บริโภคหูฉลาม และสัตว์ทะเลต่างๆ ที่เป็นสัตว์คุ้มครอง และสนับสนุนการท่องเที่ยวเชิงนิเวศในการเที่ยวชมสัตว์เหล่านี้ ปฏิบัติตามกฎระเบียบอย่างเข้มงวด ทำให้เกิดการสร้างรายได้และอนุรักษ์อย่างยั่งยืน ตลอดจนช่วยรักษาแหล่งอาศัยแ แก้ไขปัญหาการสูญพันธุ์ของฉลามจากน่านน้ำไทยได้

     ในส่วนของกรม อธิบดี ทช. บอกว่า มีแผนการสำรวจ ติดตามและรวบรวมข้อมูลจำนวนประชากร การพบเห็น ถิ่นอาศัย เส้นทางหากิน อพยพย้ายถิ่น กับหน่วยงาน สมาคม หรือ ชมรมที่เกี่ยวข้องทั้งในและต่างประเทศ รวมทั้งข้อมูลการแจ้งพบเห็นสัตว์ทะเลหายากจากสื่อออนไลน์ เพื่อเป็นฐานข้อมูลการแพร่กระจายและแหล่งอาศัยในการประกาศพื้นที่คุ้มครองทางทะเลที่เป็นแหล่งอาศัยและเพาะพันธุ์ รวมทั้งจัดทำสื่อให้ความรู้คุณค่าความสำคัญของฉลามและปลากระเบนในระบบนิเวศ จะทำให้การคุ้มครองเกิดประสิทธิภาพยิ่งขึ้น

      สำหรับการสร้างความร่วมมือในการอนุรักษ์กับภาคส่วนต่างๆ นายโสภณ เน้นย้ำในท้ายว่า ทช.ดำเนินการอบรมสร้างเครือข่ายการช่วยชีวิตสัตว์ทะเลหายากและใกล้สูญพันธุ์ มุ่งเน้นที่กลุ่มชาวประมง ชุมชนชายฝั่ง หน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เครือข่ายอาสาสมัครพิทักษ์ทะเล (อสทล.) อาสาสมัครกลุ่มต่างๆ ตลอดจนประชาชน เป้าหมายให้เข้าใจวิธีการช่วยชีวิตสัตว์ทะเลเหล่านี้อย่างถูกวิธี นอกจากนี้ ยังสร้างเครือข่ายอาสาสมัครพิทักษ์ทะเลที่ครอบคลุมพื้นที่ชายฝั่งทะเลมากกว่าสองหมื่นคนในปัจจุบัน ทำหน้าที่ประสานงาน แจ้งเบาะแสการทำผิดกฎหมายในพื้นที่อาศัยของสัตว์ทะเลหายากและใกล้สูญพันธุ์ ช่วยเหลือเจ้าหน้าที่ช่วยชีวิตสัตว์ทะเลหายากและใกล้สูญพันธุ์ ไปจนถึงรักษาทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง  เพราะหน่วยงานรัฐมีเจ้าหน้าที่จำนวนจำกัด นี่เป็นการเปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วมคุ้มครองปลาฉลามหัวค้อนและปลากระเบนปีศาจหางเคียวได้อย่างทั่วถึงและมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

      ถึงเวลาแก้ปัญหาคุกคามสัตว์ทะเลไทยอย่างจริงจัง  เพื่อสถานภาพของประชากรสัตว์น้ำ ด้วยมาตรการทางกฎหมายควบคู่พลังประชาชน ไม่ว่าจะสัตว์ทะเลชนิดใดล้วนมีความสำคัญเกื้อหนุนให้ระบบนิเวศทางทะเลและชายฝั่งอุดมสมบูรณ์

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"