‘13 ปีสภาองค์กรชุมชน’ เครือข่ายประชาชนทั่วประเทศ ประชุมสภาฯ ระดับชาติ ชูประเด็น“สิทธิพลเมือง-กระจายอำนาจเพื่อสังคมที่เป็นธรรม”


เพิ่มเพื่อน    

การประชุมสภาองค์กรชุมชนระดับชาติเมื่อปี 2563 ที่ผ่านมาที่สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ กรุงเทพฯ

 

          การเมืองในรัฐสภาเพื่อเปิดศึกซักฟอกรัฐบาลกำลังเข้มข้นดุเดือด  ส่วนการเมืองบนท้องถนนก็ร้อนแรงไม่แพ้กัน  ขณะที่เครือข่ายภาคประชาชนทั่วประเทศในนามของ ‘สภาองค์กรชุมชนตำบล’ กำลังเฟ้นประเด็นปัญหาต่างๆ ที่มีผลกระทบต่อประชาชนเพื่อนำมาเสนอในที่ประชุมระดับชาติในวันที่ 10 กันยายนนี้  เช่น โควิด-19  ภัยพิบัติ  ปัญหาที่ดินทำกิน  ที่อยู่อาศัย  กลุ่มชาติพันธุ์  ผลกระทบจากเขตเศรษฐกิจพิเศษ  การผลักดันรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน ฯลฯ 

          ก่อนจะนำประเด็นปัญหาและข้อเสนอจากภาคประชาชน...ไปออกแบบขับเคลื่อนเพื่อให้เกิดการแก้ไขและเปลี่ยนแปลงให้เป็นรูปธรรมและเป็นจริงต่อไป…!!

 

13 ปี...สภาของประชาชน       

          ‘สภาองค์กรชุมชนตำบล’ จัดตั้งขึ้นตาม ‘พระราชบัญญัติสภาองค์กรชุมชน พ.ศ.2551’ ในสมัยรัฐบาลพลเอกสุรยุทธ์  จุลานนท์  โดยมีรัฐมนตรีกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์รักษาการตาม พ.ร.บ. นี้   มีเจตนารมณ์เพื่อส่งเสริมให้ชุมชนมีส่วนร่วมในการพัฒนาประเทศ  ส่งเสริมให้กลุ่มและองค์กรต่างๆ ในตำบล (บางพื้นที่อาจเป็นเทศบาลหรือในกรุงเทพฯ เป็นเขต)  รวมตัวกันจัดตั้งสภาองค์กรชุมชนตำบลขึ้นมา  เพื่อนำปัญหาหรือเสนอแนวทางการพัฒนาในตำบลมาประชุม ปรึกษาหารือ เสนอความเห็น เสนอแนวทางพัฒนาหรือแก้ไขปัญหา และสามารถเสนอแนะต่อองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้

          สุวัฒน์  คงแป้น ที่ปรึกษาสภาองค์กรชุมชน  ซึ่งเป็นผู้ที่มีส่วนในการร่าง พ.ร.บ. และผลักดันให้เกิด ‘สภาองค์กรชุมชนตำบล’   อธิบายเพิ่มเติมว่า  เมื่อที่ประชุมสภาองค์กรชุมชนตำบลได้แนวทางในการแก้ไขปัญหาหรือแนวทางการพัฒนาชุมชนแล้ว  เรื่องใดที่สามารถดำเนินการได้เอง  สภาองค์กรชุมชนฯ และสมาชิกก็สามารถนำไปดำเนินการได้ทันที  แต่หากเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับหน่วยงานต่างๆ  สภาองค์กรชุมชนฯ สามารถนำไปเสนอแนะการแก้ไขปัญหาและแนวทางการพัฒนาต่อองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นหรือหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องได้ 

          โดยสภาองค์กรชุมชนตำบลแต่ละแห่งจะต้องจัดประชุมอย่างน้อยปีละ 4 ครั้ง  และจัดประชุมสภาฯ ระดับจังหวัดอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง  สามารถเสนอแนวทางการพัฒนาจังหวัดต่อผู้ว่าราชการจังหวัดและองค์การบริหารส่วนจังหวัด  เพื่อนําไปประกอบการพิจารณาการจัดทําแผนพัฒนาจังหวัด  รวมทั้งเสนอหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อแก้ไขปัญหาตามความต้องการของประชาชน   เช่น  การจัดทำบริการสาธารณะ  การพัฒนาด้านเศรษฐกิจ  สังคม  คุณภาพชีวิต และสิ่งแวดล้อม

 

สภาองค์กรชุมชนเป็นเวทีที่เปิดโอกาสให้ประชาชนในตำบลแสดงความเห็นและความต้องการ  เป็นรากฐานของประชาธิปไตยทางตรง

 

         “นอกจากนี้จะต้องมีการจัดประชุมสภาองค์กรชุมชนตำบลในระดับชาติปีละ 1 ครั้ง  ที่สำคัญก็คือ  ตาม พ.ร.บ.สภาองค์กรชุมชนฉบับนี้  มาตรา 32  (3)  กำหนดให้ที่ประชุมสภาฯ ระดับชาติ  สรุปปัญหาที่ประชาชนในจังหวัดต่างๆ ประสบ และข้อเสนอแนะแนวทางการแก้ไขเพื่อเสนอต่อคณะรัฐมนตรีพิจารณาสั่งการ  ซึ่งหมายความว่า  ปัญหาของประชาสามารถนำเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีได้โดยตรง  ทำให้แก้ปัญหาได้ตรงจุด  รวดเร็ว  และมีประสิทธิภาพ  ถือเป็นบทบาทที่สำคัญของสภาองค์กรชุมชนฯ”  สุวัฒน์กล่าว

          จนถึงปัจจุบัน พ.ร.บ.สภาองค์กรชุมชน พ.ศ.2551  ย่างเข้าสู่ปีที่ 13   มีการจัดตั้งสภาองค์กรชุมชนตำบลทั่วประเทศแล้ว   7,795 แห่ง  (ร้อยละ 99.62 ของจำนวนตำบล/เทศบาล/เขตทั่วประเทศ 7,825 แห่ง)  โดยแยกเป็น  กรุงเทพ ฯ ปริมณฑลและตะวันออก 881 แห่ง  ภาคกลางและตะวันตก 1,159 แห่ง  ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ  2,908 แห่ง   ภาคใต้  1,176 แห่ง  และภาคเหนือ  1,671 แห่ง   มีสมาชิกสภาองค์กรชุมชนตำบล (ผู้แทนชุมชนและผู้ทรงคุณวุฒิ) รวม  254,944 คน  มีกลุ่มหรือองค์กรชุมชน/เครือข่ายองค์กรชุมชนที่จดแจ้ง  รวม 156,280 องค์กร  (ดูรายละเอียด พ.ร.บ.สภาองค์กรชุมชนฯ และผลการดำเนินงาน 12 ปีสภาองค์กรชุมชน  ได้ที่ web.codi.or.th )

 

รูปธรรมการใช้สภาฯ แก้ปัญหาในท้องถิ่น

          จำนวนสภาองค์กรชุมชนตำบลที่มีการจัดตั้งทั่วประเทศแล้ว  7,795  แห่ง  ในจำนวนนี้มีสภาฯ ที่รวมกลุ่มกันจัดตั้งตั้งแต่ปี  2551  และบางแห่งเพิ่งจัดตั้งได้ไม่นาน   โดยมีสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) หรือ ‘พอช.’  เป็นหน่วยงานที่มีหน้าที่ในการส่งเสริมการจัดตั้งสภาฯ  ส่งเสริมกิจกรรมและการดำเนินงานของสภาฯ  เช่น  การพัฒนาศักยภาพแกนนำสภาฯ  การศึกษาวิจัย  สนับสนุนงบประมาณในการจัดประชุมสภาฯ  ตั้งแต่ระดับตำบล-ระดับชาติ  ฯลฯ

          สภาองค์กรชุมชนตำบลแต่ละแห่งจะมีสมาชิกประมาณ 30-40 คน  มาจากผู้แทนกลุ่มต่างๆ ในตำบล  โดยจะมีการคัดเลือกประธานสภาฯ  รองประธาน   เลขานุการ  ฯลฯ  รวมทั้งคัดเลือกผู้ทรงคุณวุฒิในตำบลให้เป็นที่ปรึกษา  เช่น    ปราชญ์ชาวบ้าน   ครู   พระ   ฯลฯประกอบกับสภาพบริบทของแต่ละตำบล  ทำให้การดำเนินงานของสภาฯ  แต่ละแห่งแตกต่างกันไปตามสภาพของสังคม  พื้นที่  และปัญหาต่างๆ  ที่ตำบลเผชิญอยู่  เช่น

          สภาองค์กรชุมชนตำบลบ้านดง  อ.อุบลรัตน์  จ.ขอนแก่น  ใช้เวทีสภาฯ ขับเคลื่อนและต่อสู้จนสามารถทวงคืนผืนป่าสาธารณะห้วยเม็กที่ประชาชนใช้ประโยชน์ร่วมกัน  เนื้อที่ 31 ไร่  จากบริษัทเครื่องดื่มผสมคาเฟอีนชื่อดังที่งุบงิบทำเรื่องขอเช่าที่ดินสาธารณะโดยไม่ถูกต้อง  โดยบริษัทยอมยกเลิกสัญญาเช่าที่ดินสาธารณะแปลงดังกล่าว  และยุติการสร้างโรงงานจนเป็นข่าวโด่งดังไปทั่วประเทศในช่วงปลายปี 2560

          สภาองค์กรชุมชนตำบลเนินฆ้อ  .แกลง  จ.ระยอง  เดิมชาวบ้านมีปัญหาหนี้สิน  ผลผลิตราคาตกต่ำ  แกนนำในตำบลจึงใช้สภาองค์กรชุมชนตำบลเป็นเวทีกลางสร้างความร่วมมือกับทุกหน่วยงาน  นำไปสู่การวางแผนพัฒนาทั้งตำบล  โดยเฉพาะการพัฒนาเศรษฐกิจชุมชน เช่น  ส่งเสริมเกษตรอินทรีย์  แปรรูปอาหารทะเล-ผลไม้  จัดตั้งตลาดในชุมชน  และเป็นแหล่งเรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียง  ‘มหาวิทยาลัยบ้านนอก’  ก่อนสถานการณ์โควิด-19  มีนักท่องเที่ยวและผู้มาศึกษาดูงานตลอดทั้งปี  ประมาณปีละ 1 แสนคน  ทำรายได้เข้าชุมชนประมาณปีละ 20 ล้านบาท  ทำให้ชาวบ้านมีชีวิตและความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น 

          สภาองค์กรชุมชนตำบลแจงงาม  อ.หนองหญ้าไซ  จ.สุพรรณบุรี  ในช่วงสถานการณ์โควิด-19  เมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา  เริ่มมีผู้ติดเชื้อในตำบล  สภาองค์กรชุมชนฯ จึงใช้เวทีสภาฯ เปิดประชุมเพื่อหาทางป้องกันไม่ให้เชื้อโควิดแพร่กระจาย  โดยเชิญผู้นำในชุมชน  อบต.  หน่วยงานสาธารณสุขในตำบล  ฯลฯ  เข้าร่วม  นำไปสู่การสั่งปิดหมู่บ้านเป็นเวลา 14 วัน  ไม่ให้ผู้ติดเชื้อและครอบครัว  รวมทั้งคนภายนอกเดินทางเข้า-ออกหมู่บ้าน  โดยชุมชนช่วยกันจัดหาอาหาร  ยาสมุนไพร  สิ่งของจำเป็นให้แก่ผู้ติดเชื้อและครอบครัว  59 คน  รวม 120 ครอบครัว  รวมทั้งประสานงานกับ รพ.สต.  อำเภอ  และภาคเอกชนเพื่อให้ความช่วยเหลือจนผู้ติดเชื้อทุกรายหายเป็นปกติ  เชื้อไม่แพร่กระจายไปสู่ชุมชนใกล้เคียง

 

สภาองค์กรชุมชนตำบลแจงงามมีบทบาทในช่วงสถานการณ์โควิด

 

          นอกจากนี้สภาองค์กรชุมชนตำบลยังเป็นกลไกเชื่อมประสานงานพัฒนาในตำบลกับหน่วยงานต่างๆ  เช่น  โครงการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยในชนบทตามโครงการ ‘บ้านพอเพียง’ ของสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ หรือ พอช. เพื่อสนับสนุนการซ่อม-สร้างบ้านให้แก่ประชาชนที่มีฐานะยากจน  สภาพบ้านเรือนทรุดโทรมนั้น  สภาองค์กรชุมชนตำบลจะทำหน้าที่สำรวจความเดือดร้อนของประชาชนในตำบล  เพื่อนำมาจัดทำโครงการแก้ไขปัญหา  มีการจัดตั้งคณะกรรมการขึ้นมาดูแลรับผิดชอบ  เพื่อให้การดำเนินงานมีความโปร่งใส  ประชาชนที่เดือดร้อนได้รับการช่วยเหลือจริง  รวมทั้งสภาองค์กรตำบลบางแห่งยังขยับไปแก้ไขปัญหาที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัยด้วย  

           สุวัฒน์  คงแป้น  ที่ปรึกษาสภาองค์กรชุมชน  บอกว่า รูปธรรมการใช้สภาองค์กรชุมชนตำบลเป็นกลไกขับเคลื่อนเพื่อนำไปสู่การแก้ไขปัญหาของชุมชนตามตัวอย่างดังกล่าว  เป็นการแก้ปัญหาในระดับท้องถิ่น  ไม่ใช่การแก้ปัญหาในระดับโครงสร้าง  โดยเฉพาะปัญหาและผลกระทบที่เกิดจากนโยบายของรัฐ  ดังนั้น พ.ร.บ.สภาองค์กรชุมชน พ.ศ.2551 จึงออกแบบมาเพื่อให้มีการจัดประชุมสภาองค์กรชุมชนตำบลในระดับชาติปีละ 1 ครั้ง  โดยมาตรา 32  (3)  ระบุว่า “กำหนดให้ที่ประชุมสภาฯ ระดับชาติ  สรุปปัญหาที่ประชาชนในจังหวัดต่างๆ ประสบ  และข้อเสนอแนะแนวทางการแก้ไขเพื่อเสนอต่อคณะรัฐมนตรีพิจารณาสั่งการ”

 

เปิดประชุมสภาฯ ระดับชาติ ชู 10 ประเด็นปัญหา

          ‘การจัดประชุมในระดับชาติของสภาองค์กรชุมชนตำบลในปี 2564  กำหนดจัดขึ้นในวันที่ 10 กันยายนนี้  โดยสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ ร่วมกับเครือข่ายสภาองค์กรชุมชนตำบลทั่วประเทศจัดขึ้น  ผ่านระบบ Zoom Meetings  เพื่อปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโควิด  เพราะในแต่ละปีจะมีผู้แทนสภาองค์กรชุมชนฯ และภาคีเครือข่ายเข้าร่วมประชุมประมาณ 200 คน โดยในปีนี้มีการจัดสมัชชาเชิงประเด็นตั้งแต่วันที่ 31 สิงหาคม - 4 กันยายน  ผ่านระบบ Zoom Meetings  เพื่อให้ผู้แทนสภาองค์กรชุมชนตำบลทั่วประเทศได้เสนอประเด็นปัญหาต่างๆ  รวมทั้งข้อเสนอแนะ  แนวทางการแก้ไข  และกลไกในการขับเคลื่อน  เพื่อนำมาสรุปและนำเสนอในวันประชุมระดับชาติวันที่ 10 กันยายน  โดยมีธีมงาน  คือ  13 ปีสภาองค์กรชุมชน  ร่วมส่งเสริมสิทธิพลเมือง  กระจายอำนาจสู่ชุมชนท้องถิ่น  เพื่อสร้างสังคมที่เท่าเทียมและเป็นธรรม”

 

 

การจัดสมัชชาเชิงประเด็น

 

          ส่วนประเด็นปัญหาที่นำเสนอสู่สมัชชาประเด็นในปีนี้  ล้วนแล้วแต่เป็นปัญหาเชิงโครงสร้างหรือเป็นผลกระทบจากนโยบายของรัฐที่ส่งผลต่อประชาชน  แต่ยังไม่ได้รับการแก้ไข  หรือบางกรณีมีความล่าช้า  ไม่ทันต่อสถานการณ์และความเดือดร้อนของประชาชน  เช่น  1.สถานการณ์โควิด-19  2.การจัดการภัยพิบัติ  3.การทบทวน พ.ร.ก.เงินกู้ 5 แสนล้านบาท  4.ปัญหาที่ดินทำกิน  ที่อยู่อาศัย  5.กลุ่มชาติพันธุ์   6.ผลกระทบจากเขตเศรษฐกิจพิเศษ (EEC)  7.ผลักดันโมเดลเศรษฐกิจใหม่ในรูปแบบเศรษฐกิจเกื้อกูล  8.การผลักดันรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน   9.การคัดค้านร่าง พ.ร.บ.ควบคุมภาคประชาสังคม  10.การสร้างความมั่นคงทางอาหาร  ทบทวนข้อตกลงการค้าเสรี (CPTPP)  ฯลฯ

          ชัชวาลย์  ทองดีเลิศ  ในฐานะภาคประชาสังคม  ให้ความเห็นต่อการขับเคลื่อนปัญหาของสภาองค์กรชุมชนเพื่อนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างว่า  ที่ผ่านมาภาคประชาชนถูกกดด้วยอำนาจการรวมศูนย์ตรงกลางที่ค่อนข้างเข้มข้นมาก  เช่น การรวมศูนย์ในการจัดการทรัพยากร  มีการประกาศเขตป่าเหนือพื้นที่ที่ชุมชนอยู่มาก่อน  เป็นการละเมิดสิทธิชุมชนและกลุ่มชาติพันธุ์  ทั้งสิทธิพลเมือง  สิทธิชุมชน   ทำให้ชุมชน  กลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ  อยู่แบบผิดกฎหมาย  เมื่อผิดกฎหมายก็จะถูกจำกัดการพัฒนา  งบประมาณและการพัฒนาของหน่วยงานรัฐไม่สามารถเข้าไปดำเนินการในพื้นที่เหล่านี้ได้ 

          นอกจากนี้ปัญหาเรื่องที่ดินทำกิน  ที่อยู่อาศัย  การจัดการทรัพยากร   ยังเชื่อมโยงกับสถานการณ์โควิด  เพราะเมื่อเกิดปัญหาโควิดทำให้เศรษฐกิจหดตัว   โรงงานปิด  แรงงานถูกเลิกจ้าง  แต่เมื่อแรงงานกลับไปถิ่นฐานในชนบท  กลับถูกล็อกพื้นที่ไม่ให้เข้าถึงที่ดินที่ทำกิน  ที่อยู่อาศัย  เข้าไม่ถึงฐานทรัพยากรที่สำคัญ  ซึ่งเป็นพื้นฐานของชีวิต   ขณะที่บางคนมีที่ดินในครอบครองกว่า 600,000 ไร่   ดังนั้นสิ่งที่สำคัญคือการปฏิรูปการจัดการที่ดินที่ทำกินที่อยู่อาศัยใหม่  โดยการกระจายการถือครองที่ดินอย่างเป็นธรรม

 

จุติ  ไกรฤกษ์  รมว.การพัฒนาสังคมฯ ร่วมงานประชุมสภาฯ ระดับชาติเมื่อปี 2563 ที่สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ

 

          “ผมเชื่อว่าเครือข่ายสภาองค์กรชุมชนมีข้อเสนอที่คมชัดแล้ว  แต่ทำอย่างไร  ?  จะออกแบบการขับเคลื่อนประเด็นปัญหาเพื่อสร้างการมีส่วนร่วมทางสังคมขนาดใหญ่   ให้เป็นวาระร่วมของประชาชน   เป็นประเด็นสาธารณะ  ให้สังคมเข้ามามีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนกับเราด้วย  และสิ่งที่สำคัญก็คือการขับเคลื่อนอย่างต่อเนื่อง  และจะต้องติดตามการแก้ไขปัญหาอย่างจริงจัง”  ชัชวาลย์เสนอความเห็น

          นี่คือย่างก้าวของการประชุมในระดับชาติของสภาองค์กรชุมชนตำบลประจำปี 2564  ที่กำลังจะเกิดขึ้น  เพื่อนำปัญหาและข้อเสนอจากผู้แทนสภาองค์กรชุมชนฯ ทั่วประเทศมาขับเคลื่อน และนำไปสู่การแก้ไขปัญหาอย่างจริงจัง  เป็นสภาของประชาชนอย่างแท้จริง !!

          (ผู้ที่สนใจสามารถติดตามข่าวสาร  เนื้อหาการประชุมได้ทาง face book สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ และเว็บไซต์ www.codi.or.th )

13-ปีสภาองค์กรชุมชน 13-ปีสภาองค์กรชุมชน -ร่วมส่งเสริมสิทธิพลเมือง- กระจายอำนาจสู่ชุมชนท้องถิ่น- เพื่อสร้างสังคมที่เท่าเทียมและเป็นธรรม กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ การจัดประชุมสภาองค์กรชุมชนตำบลในระดับชาติ การซ่อม-สร้างบ้านให้แก่ประชาชน จุติ -ไกรฤกษ์ ชัชวาลย์ -ทองดีเลิศ บ้านพอเพียง พลเอกสุรยุทธ์ -จุลานนท์ พอช. รัฐสภา สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน-(องค์การมหาชน) สภาองค์กรชุมชนตำบล สภาองค์กรชุมชนตำบลบ้านดง สภาองค์กรชุมชนตำบลเนินฆ้อ สภาองค์กรชุมชนตำบลแจงงาม สิทธิพลเมือง-กระจายอำนาจเพื่อสังคมที่เป็นธรรม สุวัฒน์ -คงแป้น เครือข่ายประชาชน โครงการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยในชนบท

เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"