เมื่อ IO ถูก Hijack


เพิ่มเพื่อน    

 คำว่า Hijack ที่ใช้กับการบิน หมายถึงการที่นักบินถูกบังคับให้พาเครื่องบินไปยังเมืองที่ไม่ได้ตั้งใจที่จะไป ทำให้คนที่อยู่บนเครื่องบินไม่ได้ไปยังเมืองเป้าหมายที่ต้องการจะไป นักสื่อสารได้นำเอาคำนี้มาใช้กับการสื่อสาร มีความหมายว่าเมื่อการสื่อสารมีเป้าหมายอย่างหนึ่ง ถูกบิดเบือนโดยฝ่ายตรงกันข้ามให้มีเป้าหมายที่ต่างจากที่ผู้สื่อสารตั้งใจ หรือบางครั้งก็เป็นการบิดเบือนตีความหมายข้อความในการสื่อสาร ต่างไปจากที่ผู้สื่อสารตั้งใจจะสื่อสาร เพื่อที่จะด้อยค่าข้อความที่สื่อสาร หรือบุคคลที่ทำหน้าที่ในการสื่อสาร

ในการอภิปรายไม่ไว้วางใจ เราจะได้เห็นว่ามีการ hijack ความหมายของคำว่า IP (Information Operation) ให้มีความหมายในเชิงลบ เพื่อกล่าวหารัฐบาลว่ารัฐบาลใช้ IO ในความหมายว่ารัฐบาลทำการโฆษณาชวนเชื่อเพื่อครอบงำความคิดของประชาชน รวมทั้งใช้เงินงบประมาณจากภาษีของประชาชน ให้มีการให้ข่าวสารเพื่อชื่นชมรัฐบาลและตัวนายกรัฐมนตรี เหมือนพยายามจะบอกว่ารัฐบาลกำลังใช้ภาษีของประชาชนไม่ถูกต้อง เพราะเป็นการเอาภาษีประชาชนมาทำกิจกรรมโฆษณาชวนเชื่อเพื่อให้ประชาชนชื่นชมรัฐบาล เป็นการกล่าวหาว่าข้อความที่รัฐบาลนำเสนอนั้นเป็นความเท็จเพื่อเป้าหมายในการโฆษณาชวนเชื่อ การพยายามที่สื่อความหมายของ IO ให้เป็นการโฆษณาชวนเชื่อแบบนี้ ถือเป็นการ Hijack ความหมายที่แท้จริงของ IO ที่เป็นปฏิบัติการด้านข้อมูลข่าวสารที่ทำกันทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็นหน่วยงานในภาครัฐหรือภาคเอกชน เพื่อให้ข้อมูลข่าวสารที่ถูกต้องแก่ประชาชน เพื่อความเข้าใจที่ถูกต้อง เพื่อการก่อให้เกิดทัศนคติที่ถูกต้อง และให้ประชาชนมีพฤติกรรมที่ถูกต้อง

IO (information Operation) คือการปฏิบัติการด้านการข่าวที่ประเทศต่างๆ ทั้งภาครัฐและภาคเอกชนเขาทำกันทั้งนั้น เพราะเราเป็นสังคมข่าวสาร (Information Society) รัฐบาลมีหน้าที่ให้ข้อมูลข่าวสารแก่ประชาชน เพื่อให้ประชาชนตามสถานการณ์ของประเทศ ของโลกได้ทัน มีความเข้าใจผลกระทบของสถานการณ์เหล่านั้น ว่ากระทบประเทศอย่างไร กระทบสังคมอย่างไร และกระทบการดำรงชีวิตของประชาชนอย่างไร และมีคำแนะนำให้แก่ประชาชนให้สามารถมีทัศนคติและพฤติกรรมที่เหมาะสม ทั้งทางด้านการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม

ส่วนทางด้านเอกชนนั้น เขาก็ใช้ IO ในการให้ข้อมูลข่าวสารเกี่ยวข้องกับการดำเนินธุรกิจของเขาที่จะต้องทำให้ประชาชนที่เป็นผู้บริโภคได้รู้แนวทางการทำงานขององค์กรได้อย่างถูกต้อง รู้เป้าหมายและพันธกิจขององค์กร ทำให้ผู้บริโภครู้จักผู้บริหารขององค์กรว่ามีภาวะผู้นำ มีวิสัยทัศน์ และใส่ใจใฝ่หานวัตกรรมมาพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้บริโภคอย่างไร รวมทั้งให้ข้อมูลเกี่ยวกับสินค้า เพื่อให้ผู้บริโภครู้จักสินค้าด้วยข้อมูลที่ถูกต้อง ด้วยความหวังว่าผู้บริโภคจะชื่นชมสินค้า

การทำ IO นั้นมีขั้นตอนดังต่อไปนี้ ขั้นตอนแรกก็คือต้องมีการสืบเสาะหาข่าวสารต่างๆ ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับประเทศชาติ องค์กร และหน่วยงานเพื่อให้รู้ว่ามีการพูดเกี่ยวกับประเทศชาติ องค์กร หรือหน่วยงานอย่างไรบ้าง การหาข่าวสารนั้น บางทีก็ใช้คนลงพื้นที่หาข่าว บางทีก็ทำวิจัยแบบสำรวจ ทำการวิจัยแบบสาธารณมติ (Public Polling) แต่สมัยนี้สามารถใช้การติดตาม (monitor) การสนทนาของประชาชนบนพื้นที่ social media ทุก platforms ที่เรียกว่า social listening ก็จะได้ข่าวว่าขณะนี้ประชาชนกำลังพูดถึงหน่วยงานในมิติต่างๆอย่างไรบ้าง

เมื่อรับรู้ข่าวแล้วก็ทำการวิเคราะห์ข้อมูลที่ได้มาที่สมัยนี้เรียกว่า Big Data เพราะข้อมูลที่มาจากหลากหลายช่องทางนั้นมีเยอะมาก (volume) เนื้อหาของข้อมูลก็มีความหลากหลาย (variety) ข้อมูลต่างๆ มีการเปลี่ยนแปลงรวดเร็ว (velocity) และข้อมูลที่ได้มานั้น มีเรื่องจริงเรื่องเท็จปะปนกัน (veracity) การจะใช้ข้อมูลที่ได้มาเป็นพื้นฐานในการวางแผนการสื่อสารจึงต้องอาศัยความสามารถด้านการวิเคราะห์ข้อมูลในระดับผู้เชี่ยวชาญ (Analytics Competency)

การวิเคราะห์มี 4 ขั้นตอน คือ 1) ต้องรู้ว่าสถานการณ์ปัจจุบันเป็นเช่นไร (descriptive analytics) 2) ต้องรู้ว่าสถานการณ์เป็นเช่นนั้นเพราะอะไร (diagnostic analytics) 3) ต้องวิเคราะห์ให้ได้ว่าจากสถานการณ์ในวันนี้ ต่อไปอาจจะเกิดอะไร (predictive analytics) และ 4) ดังนั้นต่อนี้ไป เราควรทำอะไร (prescriptive analytics) เมื่อวิเคราะห์ทั้ง 4 ระดับนี้แล้ว ก็จะสามารถวางแผนทั้งการกระทำและการสื่อสารได้ คือจะต้องทำอะไรให้ทุกอย่างเดินหน้าอย่างราบรื่น เป็นประโยชน์กับประเทศชาติ กับสังคม กับประชาชน และให้ประชาชนได้รับรู้การทำงานของหน่วยงาน เพื่อสร้างความเข้าใจที่ถูกต้อง ทัศนคติที่ถูกต้อง และเสนอแนะการกระทำที่ถูกต้อง ที่จะเป็นประโยชน์กับผู้ปฏิบัติเอง ต่อสังคม และต่อประเทศชาติ

ในการสืบค้นหาข้อมูลนั้น จะทำให้เกิดการวางแนวทางการสื่อสารได้อย่างถูกต้อง เหมาะสม และมีความสัมฤทธิ์ตามที่ต้องการ กล่าวคือ

·     เมื่อเจอสิ่งที่คนอยากรู้ ก็ต้องตอบ อย่าให้ประชาชนอยู่กับความสงสัยที่จะทำให้เขาเชื่อข่าวลือ

·     เมื่อคนแสดงความคิดเห็นชื่นชอบหน่วยงาน ไม่ว่าจะเป็นตัวบุคคลหรือผลงาน ก็ต้องขอบคุณ

·     เมื่อคนเข้าใจผิด เข้าใจบางเรื่องไม่ถูกต้องตามความเป็นจริง ก็ต้องชี้แจงให้เข้าใจได้ถูกต้อง

·     เมื่อมีคนปล่อยข่าวลวง (Fake news) ก็ให้ต้องความจริงแก่ประชาชน ไม่ให้ตกเป็นเหยื่อข่าวลวง

·     เมื่อมีสิ่งที่ประชาชนควรรู้ แต่พวกเขายังไม่รู้ หรือรู้ไม่ถูกต้อง ไม่ครบถ้วน ก็เผยแพร่ให้เขาได้รู้

จากขั้นตอนการทำงานดังที่กล่าวมานี้ จะเห็นได้ว่า IO ก็คือการทำงานด้านข่าวสารที่เป็นสิ่งที่ต้องทำในยุคสังคมข่าวสาร เพื่อให้ประชาชนได้รับรู้ข้อมูลที่ถูกต้องและเป็นจริง และสามารถนำเอาข้อมูลที่ได้รับนั้นไปกำหนดทัศนคติและการกระทำของตนเองได้อย่างถูกต้อง เหมาะสม แต่คำว่า IO ถูกนำมาใช้เหมือนประหนึ่งว่าปฏิบัติการด้านข่าวสารนั้นเป็นสิ่งที่เลวร้าย

      เวลาฝ่ายค้านด่ารัฐบาลด้วยความจริงบ้าง ความเท็จบ้าง เขาบอกว่าเขาให้ข้อมูลประชาชน แต่พอรัฐบาลชี้แจง แก้ไขข่าวลวง แก้ไขข่าวบิดเบือน พวกเขากลับเรียกว่าเป็น IO ในความหมายเชิงลบ เหมือนประหนึ่งเป็นการใช้ข่าวสารครอบงำประชาชน ถ้าใครติดตามพื้นที่ของข่าวสารในเวลานี้ ก็จะเห็นว่าฝ่ายที่อยู่ตรงกันข้ามกับรัฐบาลลุกขึ้นมาทำสงครามข่าวสาร (information warfare) โดยใช้ social media เป็นอาวุธ (weaponization of social media) รุกคืบทำลายภาพลักษณ์ของรัฐบาลและนายกรัฐมนตรีมาเรื่อยๆ แต่จะให้รัฐบาลอยู่เฉยๆ ไม่ให้สู้ มันยุติธรรมเหรอคะ ที่ผ่านมารัฐบาลปล่อยให้ฝ่ายตรงกันข้ามใช้ social media ทำร้ายมามาก โดยไม่สู้ ถึงเวลาแล้วต้องทำ IO ในความหมายที่เป็นการให้ความจริงแก่ประชาชนนะคะ.

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"