วัคซีนส่วนเกิน-วัคซีนหมดอายุ


เพิ่มเพื่อน    

 ขวดวัคซีนของไฟเซอร์-ไบโอเอ็นเทค ระบุวันหมดอายุ (เครดิตภาพ Amanda Borschel-Dan/Times of Israel)

 

 ในขณะที่หลายประเทศในโลกประสบปัญหาขาดแคลนวัคซีนป้องกันโควิด-19 แต่บางประเทศกลับมีปัญหาหนักอกต่างกันออกไป พวกเขามีวัคซีนอยู่มากเกิน และกำลังจะหมดอายุ

                วัคซีนจำนวนประมาณ 26 ล้านโดสในสหรัฐ สำหรับปกป้องชีวิตคนได้ราว 13.1 ล้านคน มีรายงานว่าวัคซีนกองดังกล่าวถูกนับทับไว้โดยไม่ได้ใช้จนหมดอายุเมื่อปลายเดือนกรกฎาคมและต้นเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา

                โรเบิร์ต แอเตอร์ นายพันแห่งกองทัพสหรัฐ หัวหน้าการกระจายและผลักดันการฉีดวัคซีนในรัฐอาร์คันซอส์กล่าวกับ Stat เว็บไซต์ทางด้านสุขภาพว่า “เรากำลังจมลงในกองวัคซีน มันเริ่มเป็นอะไรที่เหลวไหลไร้สาระ”

                ในประเทศอื่นๆ อาทิ แคนาดา, เยอรมนี, อิสราเอล, ลิทัวเนีย, โรมาเนีย และโปแลนด์ ต่างก็มีรายงานการทำลายทิ้งวัคซีนป้องกันโควิด-19 ที่หมดอายุ

                สหราชอาณาจักรก็กำลังประสบปัญหา ปลายเดือนกรกฎาคมวัคซีนโมเดอร์นาจำนวน 170,000 โดสกำลังจะหมดอายุลงใน 2 สัปดาห์หลังจากนั้น ต่อมาระบบสาธารณสุขแห่งชาติ หรือ NHS ก็รายงานว่าวัคซีนของไฟเซอร์และโมเดอร์นาถูกทำลายทิ้งเป็นจำนวนมาก

                ข้อมูลใหม่ที่นิตยสาร BMJ ได้รับจาก Airfinity บริษัทวิเคราะห์ทางด้านวิทยาศาสตร์ แสดงให้เห็นว่าปัญหาที่กำลังเกิดขึ้นไม่ใช่เรื่องเล็กๆ อีกต่อไปแล้ว

                ไม่ต่างจากชาติร่ำรวยส่วนใหญ่ สหราชอาณาจักรได้สั่งซื้อวัคซีนป้องกันโควิด-19 ล่วงหน้าไว้เป็นจำนวนมหาศาล โดยที่จะมีการส่งมอบภายในปีนี้มีรวมกันถึง 467 ล้านโดส เท่ากับว่าชาวอังกฤษ ชาวสกอต ชาวเวลส์ และชาวไอร์แลนด์เหนือที่อายุถึงเกณฑ์ มีวัคซีนให้ฉีดกันเหลือเฟือในปีนี้ ถึงคนละ 7 เข็ม

                แคโรไลน์ เคซี นักวิเคราะห์จาก Airfinity อธิบายว่า หากประชากรของสหราชอาณาจักรอายุ 16 ปีขึ้นไปฉีดวัคซีนได้ 80 เปอร์เซ็นต์ของทั้งหมด อีกทั้งฉีดเข็มกระตุ้นให้กับกลุ่มเปราะบางจนครบ สิ้นปีนี้รัฐบาลจะมีวัคซีนส่วนเกินเหลือ 219 ล้านโดส

                “ถึงแม้รัฐบาลจะบริจาคออกไปให้กับประเทศอื่นตามที่ได้ประกาศไว้ เราก็จะยังมีวัคซีนส่วนเกินเหลืออยู่อีก 189 ล้านโดส และในปีหน้าเราจะมีวัคซีนส่วนเกินเพิ่มเป็น 412 ล้านโดส”

                วัคซีนของไฟเซอร์, โมเดอร์นา และแอสตร้าเซนเนก้า ล้วนได้รับการอนุมัติให้ใช้ในกรณีฉุกเฉินในระยะเวลานับจากวันผลิตเพียง 6 เดือน น้อยกว่าวัคซีนหรือยารักษาโรคทั่วไปที่จะมีอายุระหว่าง 2 ถึง 3 ปี

                สำนักงานกำกับยาและผลิตภัณฑ์สุขภาพของสหราชอาณาจักร (MHRA) ยืนยันว่า ระยะเวลาการกำหนดวันหมดอายุของวัคซีนป้องกันโควิด-19 เหล่านี้ยังคงเหมือนเดิม นั่นคือ ยังจะอยู่บนพื้นฐานข้อมูลที่บริษัทผู้ผลิตยื่นต่อ MHRA

                “ยังไม่มีการขยายอายุการใช้งานวัคซีนป้องกันโควิด-19 การขยายอายุจะต้องมีหลักฐานสนับสนุนจากผลการศึกษาที่น่าเชื่อถือ”

                จีโน มาร์ตินี หัวหน้านักวิทยาศาสตร์จาก Royal Pharmaceutical Society เชื่อว่าผู้ผลิตวัคซีนกำลังศึกษาว่าวัคซีนคงสภาพได้นานเท่าไหร่ ซึ่งอาจจะนานกว่าที่กำหนดไว้ 6 เดือน หรือน่าจะเป็น 2 ปีเหมือนวัคซีนทั่วไป

                “ฝ่ายบริษัทผู้ผลิตและฝ่ายกำกับดูแลน่าจะกำลังพูดคุยกันอยู่ อย่างไรก็ตามการพูดคุยดังกล่าวนี้จะไม่มีผลต่อวัคซีนหลายร้อยล้านโดสที่มีการซื้อขายและแจกจ่ายไปแล้ว”

                ปัญหาเรื่องอายุของวัคซีนนี้จึงเป็นอุปสรรคในการบริจาควัคซีนของชาติร่ำรวยให้กับโครงการโคแวกซ์ ที่กลุ่มชาติรายได้ต่ำและรายได้ปานกลางส่วนใหญ่เข้าร่วม และประชาชนในกลุ่มประเทศเหล่านี้ให้การตอบรับวัคซีนในระดับค่อนข้างสูง

                นอกจากนี้ อะโยอาเด อะลากิจา ประธานร่วมขององค์กรพันธมิตรการจัดส่งวัคซีนแห่งสหภาพแอฟริกา กล่าวกับหนังสือพิมพ์ เดอะเทเลกราฟ ว่า การบริจาควัคซีนที่ใกล้หมดอายุเหมือนเป็นการให้ของเหลือกับผู้ที่ขาดแคลน

                แต่องค์การอนามัยโลกได้เรียกร้องไปยังประเทศที่กำลังจะกำจัดทิ้งวัคซีนใกล้หมดอายุให้เก็บวัคซีนเหล่านั้นไว้ก่อน และเมื่อประเมินประสิทธิภาพแล้วว่าวัคซีนยังคงใช้ได้ก็ขอให้ส่งต่อแก่ประเทศที่กำลังต้องการ

                ในความเป็นจริง ข้อเสนอขององค์การอนามัยโลกถูกเพิกเฉยจากหลายประเทศ และแม้แต่ประเทศที่ขาดแคลนวัคซีนก็ยังกำจัดทิ้งวัคซีนที่ใกล้วันหมดอายุ

                ยกตัวอย่างเมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ประเทศมาลาวีซึ่งมีอัตราการฉีดวัคซีนที่ต่ำมาก ได้ทำการเผาทิ้งวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าเกือบ 2 หมื่นโดส ทั้งที่ระบุวันหมดอายุ 13 เมษายน เนื่องจากว่าผู้ที่จะได้รับวัคซีนก็จะต้องฉีดเข็ม 2 จากวัคซีนล็อตเดียวกัน ซึ่งมีกำหนดฉีดเข็ม 2 หลังวันหมดอายุดังกล่าว

                ซูดานใต้เป็นอีกประเทศที่มีรายงานว่าได้กำจัดทิ้งวัคซีนจำนวน 59,000 โดสด้วยเหตุผลเดียวกัน ด้านแอฟริกาใต้ได้ร้องขอไปทางสถาบันเซรุ่มของอินเดียให้ส่งวัคซีนล็อตใหม่จำนวน 1 ล้านโดสมาเปลี่ยนของเดิมที่มาถึงในต้นเดือนเมษายน แต่ระบุวันหมดอายุไว้ในวันที่ 13 เมษายน

                เหตุการณ์ลักษณะดังกล่าวในทวีปแอฟริกาถือว่าเกิดขึ้นก่อนแล้วในหมู่ประเทศร่ำรวยที่ถือปฏิบัติเคร่งครัดในเรื่องวันหมดอายุยิ่งกว่าด้วยซ้ำไป โดยเฉพาะวัคซีนจากเทคโนโลยี mRNA

                ชาวนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา จำนวน 899 คนได้รับวัคซีนไฟเซอร์เข็มที่ 2 เมื่อเดือนมิถุนายน แต่พบภายหลังว่าได้รับวัคซีนที่หมดอายุแล้ว คนจำนวนเกือบพันจึงถูกเรียกให้กลับไปรับวัคซีนใหม่ เป็นวัคซีนเข็มที่ 3 ในช่วงเวลาแค่เดือนเดียว

                บรูซ วาย. ลี ศาสตราจารย์ด้านนโยบายและการจัดการสุขภาพ City University of New York เขียนลงในนิตยสาร Forbes ว่า สำหรับวัคซีน mRNA แล้ว เมื่อใช้หลังวันหมดอายุก็จะไม่มีอะไรรับประกันได้ว่าตัววัคซีน mRNA และอนุภาคนาโนไขมันที่เกาะกันอยู่ก่อนนำเข้าสู่เซลล์ของร่างกายจะหลุดแยกออกจากกันหรือไม่ แม้จะยังไม่มีหลักฐานบ่งชี้ว่าวัคซีน mRNA และวัคซีนชนิดอื่นๆ จะหมดประสิทธิภาพหลังจากเลยวันหมดอายุที่ระบุไว้

                อาแมนดา ฮาร์วีย์-ดีเฮย์ หัวหน้าคณะทำงานเฉพาะกิจขององค์การแพทย์ไร้พรมแดน (Medicins Sans Frontieres) กล่าวว่า เมื่อมีความเสี่ยงที่วัคซีนจำนวนมากถูกกำจัดทิ้งก็ทำให้รู้สึกเสียดายที่เรามีการศึกษาอายุการใช้งานวัคซีนจากผู้ผลิตที่น้อยมาก อายุการใช้งานที่ค่อนข้างสั้นของวัคซีนเป็นตัวเพิ่มภาระให้กับการฉีดวัคซีนทั่วโลกที่มีปัญหาหนักอยู่แล้ว

                ไม่นานมานี้มีหน่วยงานสาธารณสุขของบางประเทศได้สั่งขยายอายุการใช้งานวัคซีนออกไป ตัวอย่างเช่นที่แคนาดา มีการขยายอายุการใช้งานวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าจำนวนหลักแสนโดสในรัฐออนแทรีโอออกไปอีก 1 เดือน การเปลี่ยนแปลงนี้มาจากข้อมูลที่น่าเชื่อถือว่าวัคซีนไม่มีการเปลี่ยนแปลงสภาพ

                ด้านวัคซีนจอห์นสันแอนด์จอห์นสันซึ่งเป็นวัคซีนชนิดฉีดเข็มเดียว ที่ก่อนหน้านี้กำหนดอายุการใช้งานไว้ 3 เดือน ได้รับการขยายอายุออกไป 6 สัปดาห์โดยสำนักงานอาหารและยาสหรัฐ เมื่อเดือนมิถุนายน และเมื่อปลายเดือนกรกฎาคมก็ขยายให้อีก 6 สัปดาห์ รวมกันเป็น 12 สัปดาห์ หรือประมาณ 3 เดือน เท่ากับมีอายุรวม 6 เดือน พอๆ กับวัคซีนชนิดฉีด 2 เข็ม

                แต่สถานการณ์ในอิสราเอลไม่เป็นเช่นนั้น หนังสือพิมพ์ “ไทม์ออฟอิสราเอล” รายงานว่า ไฟเซอร์ได้ปฏิเสธคำขอของรัฐบาลที่ต้องการให้ขยายวันหมดอายุของวัคซีนล็อตใหญ่จำนวนประมาณ 1 ล้านโดสในวันที่ 30 กรกฎาคมออกไป

                ไฟเซอร์อธิบายว่า ไม่มีข้อมูลเพียงพอที่จะรับประกันประสิทธิภาพและความปลอดภัยหากนำไปใช้หลังวันหมดอายุที่ระบุไว้

                ทั้งนี้ระยะเวลา 6 เดือนของอายุวัคซีนไฟเซอร์นั้นได้นับรวม 31 วัน ที่สามารถเก็บได้ในอุณหภูมิตู้เย็นทั่วไปเอาไว้แล้ว

                อิสราเอลได้ฉีดวัคซีนให้กับประชาชนไปแล้วราว 55 เปอร์เซ็นต์ของทั้งประเทศ แต่ในช่วงหลังความต้องการฉีดหยุดชะงัก อิสราเอลพยายามเจรจากับปาเลสไตน์และสหราชอาณาจักร ขอแลกใช้ล็อตวัคซีนไฟเซอร์เพื่อไม่ต้องทิ้งวัคซีน 1 ล้านโดส แต่ปาเลสไตน์เห็นว่าใกล้วันหมดอายุเกินไป ส่วนการเจรจากับสหราชอาณาจักรล้มเหลวด้วยเหตุผลทางเทคนิค

                โชคยังดี อิสราเอลคุยกับเกาหลีใต้ได้ผล เนื่องจากเกาหลีใต้กำลังประสบปัญหาการแพร่ระบาดอย่างรวดเร็ว โดยรัฐบาลกรุงโซลตกลงจะส่งวัคซีนไฟเซอร์คืนให้กับอิสราเอลในช่วงปลายปี

                ปัญหาของระบบราชการก็สร้างอุปสรรคในการบริจาควัคซีนได้เหมือนกันและไม่น่าเชื่อว่าเกิดขึ้นในสหรัฐ โดยเมื่อเดือนพฤษภาคม มหาวิทยาลัย University of Arizona ต้องการบริจาควัคซีนให้กับประเทศเม็กซิโกที่มีพรมแดนติดกับรัฐแอริโซนา ทว่าถูกปฏิเสธโดยรัฐบาลกลางสหรัฐ

                เว็บไซต์ Stat รายงานว่า รัฐบาลกลางสหรัฐเป็นเจ้าของวัคซีนล็อตดังกล่าว และมีระเบียบที่ทำให้หน่วยงานหรือรัฐบาลระดับมลรัฐไม่สามารถนำไปบริจาคต่อได้

                มีรายงานว่าในบางรัฐ เช่น แคโรไลนามีวัคซีนหมดอายุเมื่อสิ้นเดือนสิงหาคมเกินครึ่งล้านโดส รัฐแอละแบมาต้องทิ้งไปเกือบแสนโดส เช่นเดียวกับที่รัฐอาร์คันซอ

                การแก้ปัญหาวัคซีนใกล้หมดอายุยังไม่หมดแค่นั้น การเร่งบริจาคในนาทีสุดท้ายยังสร้างปัญหาให้กับประเทศที่ได้รับบริจาคด้วย นั่นคือไม่มีเวลาในการเตรียมการ

                แคโรไลน์ เคซี นักวิเคราะห์จาก Airfinity กล่าวว่า ประเทศผู้บริจาคและองค์กรที่เกี่ยวข้องต้องสนับสนุนแผนการต่างๆ ล่วงหน้าเพื่อหลีกเลี่ยงปัญหาที่อาจเกิดขึ้น ประเทศยากจนที่ได้รับวัคซีนจำนวนมากโดยไม่คาดหมายมาก่อน ไม่รู้จะจัดการกับวัคซีนเหล่านั้นให้ทันท่วงทีได้อย่างไร โดยเฉพาะในบางประเทศที่ระบบสาธารณสุขอ่อนแออยู่แล้ว

                โฆษกสำนักงานกำกับยาและผลิตภัณฑ์สุขภาพของสหราชอาณาจักร (MHRA) เปิดเผยว่า จนถึงตอนนี้ยังไม่มีผู้ผลิตวัคซีนป้องกันโควิด-19 รายใดแสดงความต้องการที่จะขยายอายุการใช้งานวัคซีน

                “หากผู้ผลิตวัคซีนที่ได้รับอนุญาตให้ทำการตลาดรายใดต้องการขยายอายุการใช้งานของวัคซีนก็สามารถยื่นข้อมูลสนับสนุนเพื่อให้ MHRA ทำการประเมินและอนุมัติได้ทุกเมื่อ”

                มีเรียม เฮงเกนส์ ผู้ประสานงานระหว่างประเทศ องค์การแพทย์ไร้พรมแดน (Medicins Sans Frontieres) ให้ความเห็นว่า การขยายระยะเวลาใช้งานจะทำให้ปัญหาการกระจายวัคซีนอย่างไม่เป็นธรรมบรรเทาลงได้

                “ผู้ผลิตต้องยื่นข้อมูลผลการศึกษาที่น่าเชื่อถือให้กับองค์กรกำกับดูแล และเมื่อผ่านการอนุมัติแล้วผู้ผลิตก็จะต้องระบุข้อมูลการใช้งานวัคซีนที่ข้างกล่องหรือในเอกสารกำกับยา เราคาดหวังจากผู้ผลิตให้รับผิดชอบในการขยายอายุของวัคซีนให้ถูกต้องอย่างเป็นทางการ”

                คงต้องดูกันต่อไปว่าบริษัทผู้ผลิตต้องการให้วัคซีนของพวกเขามีอายุยาวนานขึ้นหรือไม่ เพราะมันหมายถึงโอกาสโกยกำไรที่อาจลดลง.

-----------------------

อ้างอิง

- bmj.com/content/374/bmj.n2062

- timesofisrael.com/pfizer-said-to-rule-against-extending-expiry-date-for-unused-israeli-vaccines

- npr.org/sections/goatsandsoda/2021/08/10/1025463260/alabama-just-tossed-65-000-vaccines-turns-out-its-not-easy-to-donate-unused-dose

- statnews.com/2021/07/20/states-are-sitting-on-millions-of-surplus-covid-19-vaccine-doses-as-expiration-dates-approach/

 

 

 

 

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"