ภัยโควิด!คุณภาพการศึกษาทรุดหนัก ไทยส่อรั้งท้ายในเอเชียตะวันออก


เพิ่มเพื่อน    

5 ก.ย.64 - รศ. ดร. อนุสรณ์ ธรรมใจ อดีตกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ สภาการศึกษาแห่งชาติ และ อดีตประธานอนุกรรมการจัดทำแผนการศึกษาชาติฯ กล่าวว่า ประเทศจะเผชิญปัญหาวิกฤติทางการศึกษาพร้อมกับวิกฤติเศรษฐกิจ ซึ่งจะส่งผลต่อความสามารถในการแข่งขันลดลง การเติบโตทางเศรษฐกิจลดลง ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและสังคมเพิ่มขึ้น ผลิตภาพแรงงานลดลง และคุณภาพชีวิตลดลงในระยะกลางและระยะยาว ในส่วนของวิกฤติเศรษฐกิจนั้นหากสามารถฉีดวัคซีนได้มากกว่าวันละ 600,000 รายและจำนวนติดเชื้อลดลงต่อเนื่องอย่างในปัจจุบัน และ สามารถเดินหน้าทยอยเปิดประเทศได้ในเดือนตุลาคม ปัญหาวิกฤติเศรษฐกิจจะคลี่คลายในทิศทางที่ดีขึ้นในระดับหนึ่ง ส่วนปัญหาวิกฤติการศึกษานั้นจะแก้ไขยากกว่าและจะมีผลต่อเศรษฐกิจและสังคมยาวนาน ส่งผลต่อผลิตภาพแรงงานอย่างมากและจะทำให้   ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและสังคมรุนแรงขึ้นจากโอกาสในการเข้าถึงคุณภาพการศึกษาแตกต่างกันอย่างมากในช่วงการ ล็อกดาวน์ และ การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด19 

รศ. ดร. อนุสรณ์ กล่าวว่า ประเมินในเบื้องต้นเห็นได้อย่างชัดเจนว่า ในระยะ 4-5 ปีแรกของแผนการศึกษาแห่งชาตินั้น ยุทธศาสตร์ เป้าหมาย แผนการดำเนินการล้วนสะดุดมาอย่างต่อเนื่องทั้งจากความไม่ชัดเจนของนโยบายการศึกษาของรัฐมนตรีแต่ละท่านที่มีการปรับเปลี่ยนบ่อยครั้ง และ สดุดลงอย่างหนักสุดจากวิกฤตการณ์โควิด ตัวชี้วัดต่างๆที่อยู่ในแผนระยะ 5 ปีแรก (พ.ศ. 2560-2565) ของแผนการศึกษาชาติ (พ.ศ. 2560-2569) จึงบรรลุตามเป้าหมายไม่ถึง 40% ไม่ว่าจะเป็นมิติการเข้าถึงโอกาสทางการศึกษาที่มีคุณภาพ (Access) มิติความเท่าเทียมทางการศึกษา (Equity) มิติคุณภาพการศึกษา (Quality) มิติประสิทธิภาพ (Efficiency) มิติการตอบโจทย์บริบทที่เปลี่ยนแปลง (Relevancy)

รศ.ดร.อนุสรณ์ ระบุว่า ในส่วนการปฏิบัติตามยุทธศาสตร์ 10 ข้อ (หากพิจารณาจากแผนเดิม 15 ปี) และ ยุทธศาสตร์ 6 ข้อ (ตามแผนที่มีแก้ไขเพิ่มเติมเป็น 20 ปี) นั้นพบว่า มีเพียงยุทธศาสตร์การจัดการศึกษาเพื่อความมั่นคงของสังคมและประเทศชาติ ยุทธศาสตร์การพัฒนาศักยภาพคนทุกช่วงวัย มีแผนการดำเนินการที่มีความคืบหน้าระดับหนึ่ง ส่วนยุทธศาสตร์อื่นๆ เช่น ยุทธศาสตร์การสร้างโอกาสความเสมอภาคทางการศึกษาก็ดี ยุทธศาสตร์การพัฒนาประสิทธิภาพของระบบบริหารจัดการศึกษาก็ดี ยุทธศาสตร์การจัดการศึกษาเพื่อสร้างเสริมคุณภาพชีวิตและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมก็ดี ยุทธศาสตร์การผลิตและพัฒนากำลงคนการวิจัยและนวัตกรรมเพื่อสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศก็ดี ล้วนไม่มีความคืบหน้าและยังห่างไกลการบรรลุเป้าหมายตามกรอบเวลา และหากนำเอาแผนเดิมก่อนปรับปรุงจาก 20 ปีเป็น 15 ปี ยิ่งเห็นถึงความอ่อนแอลงของระบบการศึกษาไทยอย่างชัดเจนและจะเป็นปัจจัยสำคัญในการถ่วงรั้งให้ประเทศไทยรั้งท้ายที่สุดในเอเชียตะวันออก (ยกเว้น พม่า เขมรและเกาหลีเหนือ) หลังยุคโควิดภายใต้เศรษฐกิจดิจิทัล เศรษฐกิจบนฐานความรู้และการวิจัยนวัตกรรม  

รศ. ดร. อนุสรณ์  ยังกล่าวอีกว่า นอกจากปัญหาวิกฤติคุณภาพการศึกษาแล้ว สิ่งที่น่าเป็นห่วงมากขณะนี้ คือ การปิดตัวลงของสถานศึกษาเอกชนขนาดเล็กและขนาดกลางจากปัญหาสภาพคล่องจำนวนมาก เพราะผู้ปกครองไม่สามารถจ่ายค่าเทอมได้และบางส่วนไม่ยอมจ่ายเนื่องจากไม่ได้มีการจัดการศึกษาตามที่คาดหวัง เด็กๆเกือบทั้งหมดเรียนหนังสืออยู่ที่บ้านเนื่องจากมีการ “ล็อกดาวน์” ยาวนาน มีโรงเรียนและครอบครัวจำนวนมากไม่มีความพร้อมในการจัดการศึกษาทางออนไลน์ การศึกษาทางไกล และ การศึกษาที่เด็กๆต้องถูกกักตัวอยู่ที่บ้าน  และ มีการเลิกจ้างบุคลากรการศึกษาจำนวนมากในโรงเรียนระดับปฐมวัย ประถมและมัธยม ขณะนี้มีการเลิกจ้างไปแล้วประมาณ 20,000 คนคาดว่าถ้าไม่มีเข้ามาแก้ปัญหาจำนวนเลิกจ้างอาจแตะ 35,000 คนได้ในภาคการศึกษาหน้า

รศ.ดร.อนุสร์ ระบุว่า ขณะที่ สถานศึกษาเอกชนที่ยังประคับประคองตัวเองไปได้ก็ใช้วิธีลดเงินเดือนบุคลากรลงมาประมาณ 10-70% ทำให้ครูในระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานประสบปัญหาทางการเงินและมีหนี้ส่วนบุคคลจำนวนมาก ส่วนใหญ่จะเป็นหนี้สหกรณ์ออมทรัพย์  จึงทำให้มีบุคลากรทางการศึกษาจำนวนไม่น้อยขาดขวัญกำลังใจในการปฏิบัติหน้าที่ เมื่อโรงเรียนและบุคลากรทางการศึกษาอ่อนแอลงอย่างมาก ประเทศย่อมอ่อนแอลงและผลกระทบจะยาวนานกว่า วิกฤติเศรษฐกิจหรือวิกฤติการเมืองใดๆ 

รศ ดร. อนุสรณ์ คาดการณ์ว่า หากไม่ได้รับการแก้ไขอย่างตรงจุดและเร่งด่วน จะมีสถานศึกษาระดับการศึกษาพื้นฐาน (ปฐมวัย จนถึงมัธยม) เอกชนปิดกิจการเพิ่มเติมอีกจำนวนมาก “การล็อกดาวน์” “การปิดสถานศึกษา” “การแพร่ระบาดของโควิดในหมู่บุคลากรทางการศึกษา” รัฐมีหน้าที่แก้ไขปัญหาและรัฐบาลต้องจัดการให้ พลเมืองทุกคนให้รับการศึกษาที่มีคุณภาพและมาตรฐาน จากการวิจัยทางด้านเศรษฐศาสตร์การศึกษาบ่งชี้ชัดเจนว่า การลงทุนทางการศึกษาที่คุ้มค่าที่สุดเมื่อพิจารณาจากผลตอบแทนทางเศรษฐกิจและสังคม คือ การลงทุนการศึกษาในช่วงปฐมวัย เด็กประถมจำนวนมากในหลายประเทศรวมทั้งไทยกลับไปอ่านไม่ออกเขียนไม่ได้ ทักษะทางคณิตศาสตร์ ทักษะทางด้านสังคมอ่อนแอลงเพราะหยุดเรียนในชั้นเรียนไปนานจากปัญหาการแพร่ระบาดโควิด ซึ่งจะนำสู่ปัญหาการศึกษาอีกมากที่จะตามมา ความรู้ภาษาไทย ภาษาอังกฤษ วิทยาศาสตร์ สุขอนามัยศึกษา สังคมศาสตร์และคณิตศาสตร์สำหรับทุกระดับในการศึกษาขั้นพื้นฐานอ่อนแอลงหมด ซึ่งโรงเรียนของรัฐและเอกชนต้องใช้เวลาเสริมสร้างทักษะชดเชยที่ขาดไป เด็กนักเรียนจะมีปัญหาทางการศึกษาในการเรียนรู้ขั้นสูงต่อไปในระดับอุดมศึกษา เด็กเหล่านี้จะมีความ “อ่อนแอ” ในวิชาพื้นฐานต่างๆที่ทำให้ไม่สามารถเรียนต่อในขั้นสูงได้เลย และ ประเทศไทยก็จะขาดกำลังทั้งที่มีความรู้พื้นฐานและความรู้ขั้นสูงและการวิจัยด้านต่างๆ  

รศ.ดร.อนุสรณ์ ระบุว่า ทางกระทรวงศึกษาธิการน่าจะต้องจัดตารางการเรียนการสอนใหม่เพื่อให้เด็กสามารถตามบทเรียนที่ขาดพร่องไปจากการเรียนออนไลน์เป็นเวลานานในวิชาที่ต้องใช้ “ทักษะ” เหล่านี้ในภาคปฏิบัติในชั้นเรียน โดยจำเป็นต้องเพิ่มชั่วโมงเรียนภาษาและคณิตศาสตร์ และตัดชั่วโมงเรียนของวิชาที่จำเป็นน้อยหรือสามารถเรียนรู้ในภายหลังได้ออกไปก่อน เพื่อแก้ปัญหาวิกฤติทางการศึกษาดังกล่าว จึงมีข้อเสนอดังต่อไปนี้  ข้อเสนอที่หนึ่ง จัดสรรเงินทุนดอกเบี้ยต่ำ (ดอกเบี้ยไม่ควรเกิน 1%) สำหรับสถานศึกษาขั้นพื้นฐานที่มีปัญหาสภาพคล่องและเตรียมปิดกิจการให้สามารถดำเนินการต่อไปได้ และ ต้องมีการเพิ่มเงินอุดหนุนรายหัวให้นักเรียนเอกชน  ข้อเสนอที่สอง ให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีและสิทธิประโยชน์ในการลงทุนเพื่อให้มีการควบรวมสถานศึกษาให้มีขนาดใหญ่ขึ้น เพื่อสามารถบริหารทรัพยากรทางการศึกษาและการเงินได้มีประสิทธิภาพมากขึ้น และ ทำให้การศึกษามีคุณภาพมากขึ้น 

รศ.ดร.อนุสรณ์ กล่าวว่า ข้อเสนอที่สาม จัดตั้งกองทุนขนาด 2,000 ล้านบาทใหม่หรือใช้กลไกกองทุนทางการศึกษาที่มีอยู่แล้วเพื่อช่วยเหลือบุคลากรทางการศึกษาเพื่อให้ชะลอการเลิกจ้าง หรือกรณีถูกเลิกจ้างให้มีเงินทุนในการประกอบอาชีพอย่างอื่นหากไม่ประสงค์ทำงานในระบบการศึกษาอีกต่อไป และ ให้ใช้ประโยชน์จากกองทุนนี้ในการให้ “ทุนการศึกษา” ให้กับบรรดาครูอาจารย์ระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานในการศึกษาในขั้นสูงขึ้น  ข้อเสนอที่สี่ มีความจำเป็นต้องทบทวนแผนการศึกษาชาติใหม่ โดยนำเอายุทธศาสตร์จากแผนการศึกษาชาติฉบับ 15 ปีที่ถูกตัดทิ้งไปให้นำกลับมาพิจารณาใหม่ ไม่ว่า จะเป็น ยุทธศาสตร์การบริหารจัดการระบบข้อมูลและสารสนเทศเพื่อการศึกษา ยุทธศาสตร์การกระจายอำนาจไปสู่สถานศึกษา ในยุทธศาสตร์มีการเสนอแผนดำเนินการให้ โรงเรียนของรัฐ มีสภาพเป็น “นิติบุคคล” ได้ ยุทธศาสตร์การส่งเสริมการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วนของสังคม ยุทธศาสตร์การปรับระบบและกลไกในการบริหารงานบุคคล มีเสนอให้มี ระบบครูสัญญาจ้าง ที่สามารถจ่ายค่าตอบแทนสูงเพื่อดึงดูดบุคคลากรที่มีความรู้ความสามารถเข้ามาทำงานในระบบการศึกษาขั้นพื้นฐานมากขึ้น 

รศ.ดร.อนุสรณ์ กล่าวว่า ข้อเสนอที่ห้า ใช้งบประมาณที่มีอยู่ในกระทรวงศึกษาธิการ ใน การจัดการศึกษาเพิ่มเติมเพื่อชดเชยการปิดโรงเรียนหรือการเรียนออนไลน์อย่างไม่มีคุณภาพ หลังจากการแพร่ระบาดโควิดมีทิศทางดีขึ้นอย่างชัดเจน ทางกระทรวงศึกษาธิการน่าจะต้องจัดตารางการเรียนการสอนใหม่เพื่อให้เด็กสามารถตามบทเรียนที่พร่องไปจากการเรียนออนไลน์เป็นเวลานานในวิชาที่ต้องใช้ “ทักษะ” และการปฏิบัติจริงในห้องเรียนหรือนอกห้องเรียน โดยจำเป็นต้องเพิ่มชั่วโมงเรียนทางด้านวิทยาศาสตร์ ภาษา คณิตศาสตร์ และการทักษะทางด้านอาชีพ รวมทั้ง วิชาหน้าที่พลเมืองและสังคมศาสตร์  และข้อเสนอที่หก จัดการฉีดวัคซีนคุณภาพสูงให้บุคลากรทางศึกษาให้ได้ 100% และ จัดสรรงบเพื่อให้โรงเรียนทั้งรัฐและเอกชนสามารถจัดการเรียนการสอนในชั้นเรียนให้เป็นไปตามมาตรฐานสาธารณสุข.
 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"