ส.อ.ท.โอดความเชื่อมั่นอุตฯ ดิ่งสุดรอบ 16 เดือน วอนรัฐช่วยพักต้นพักดอกนาน 1 ปี


เพิ่มเพื่อน    

 

8 ก.ย. 2564 นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยผลการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมในเดือนส.ค. 2564 ว่า ความเชื่อมั่นอยู่ที่ระดับ 76.8 ลดลงจากระดับ 78.9 ในเดือนก.ค. 64 ลดลงในทุกภูมิภาคและทุกขนาดอุตสาหกรรม และค่าดัชนีฯ ยังต่ำที่สุดในรอบ 16 เดือน นับตั้งแต่เดือนพ.ค. 2563 ปัจจัยที่ส่งผลกระทบมาจากมาตรการควบคุมโควิด-19 ที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวดเป็น 29 จังหวัด และบังคับใช้มาตรการล็อกดาวน์ตลอดเดือนสิงหาคม ส่งผลให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจในประเทศลดลง  

ขณะที่การแพร่ระบาดในโรงงานอุตสาหกรรมยังไม่คลี่คลายส่งผลกระทบต่อกำลังการผลิตลดลงและการส่งมอบสินค้าล่าช้าโดยเฉพาะอุตสาหกรรมที่เน้นการส่งออก นอกจากนี้ยังกังวลเกี่ยวการฉีดวัคซีนให้กับพนักงานในโรงงานที่ไม่เป็นไปตามเป้าหมาย กำลังซื้อในประเทศที่ยังอ่อนแอ เอสเอ็มอีขาดสภาพคล่อง นอกจากนี้การส่งออกยังเจอปัญหาอัตราค่าระวางเรือระดับสูง ขาดแคลนชิปเซมิคอนดักเตอร์ 

สำหรับดัชนีฯ คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าพบว่า ปรับตัวเพิ่มขึ้นอยู่ที่ระดับ 90.9 จากระดับ 89.3 ในเดือนก.ค. 2564 โดยผู้ประกอบการคาดหวังว่าการผ่อนคลายมาตรการควบคุมโควิด-19 ควบคู่ไปกับการเร่งฉีดวัคซีนให้กับประชาชนครอบคุลมทุกกลุ่ม จะช่วยลดจำนวนผู้ติดเชื้อลงได้ และทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจค่อยๆ ฟื้นตัว ทั้งนี้ ผู้ประกอบการเห็นว่าภาครัฐควรเร่งฟื้นฟูเศรษฐกิจผ่านมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจต่างๆ รวมถึงเร่งขยายการส่งออกอย่างต่อเนื่อง 

อย่างไรก็ตาม ส.อ.ท.ได้ทำการสำรวจถึงข้อเสนอแนะต่อภาครัฐ มีจำนวน 4 ข้อ ได้แก่ 1. ขอให้ภาครัฐสนับสนุนงบประมาณในการจัดตั้งพื้นที่กักตัวและศูนย์พักคอยภายในโรงงาน รวมทั้งช่วยจัดหาและสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการซื้อชุดตรวจเอทีเค ตามมาตรการบับเบิล แอนด์ ซีล 2. ขอให้ภาครัฐเร่งฉีดวัคซีนให้แก่แรงงาน ม.33 ที่สถานประกอบการ เพื่อลดความเสี่ยงจากการแพร่ระบาดของโควิด 3. ขยายมาตรการพักชำระหนี้ทั้งเงินต้นและดอกเบี้ยออกไปอย่างน้อย 6 เดือน ถึง 1 ปี ให้กับสถานประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการควบคุมของภาครัฐ รวมถึงสนับสนุนสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำเพื่อเสริมสภาพคล่องให้เอสเอ็มอี และ 4.ขอให้ภาครัฐเจรจากับประเทศคู่ค้าเพื่อสร้างความเชื่อมั่นเกี่ยวกับความปลอดภัยในสินค้าส่งออกของไทย 

"ล่าสุดจากการที่รัฐบาลเตรียมออกมาตรการฟื้นฟูเศรษฐกิจเดือนต.ค.นี้ก็ขอให้เน้นมาตรการเพิ่มกำลังซื้อให้กับประชาชน แรงงาน และจัดหาวัคซีนให้เพียงพอตามที่ประกาศไว้ และอยากให้ช่วยเหลือเรื่องค่าใช้จ่ายของผู้ประกอบการในการป้องกันโควิดภายในโรงงาน สำหรับการหารือระหว่างคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน หรือกกร. ที่อยู่ระหว่างขอนัดหารือกับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี นั้น ยังอยู่ระหว่างประสานงาน โดยกกร.กำลังจัดทำข้อเสนอให้เหมาะสมกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปหลังจากรัฐคลายล็อกดาวน์ เบื้องต้นคาดว่าจะยังไม่มีการหารือในสัปดาห์หน้า แต่คาดว่าจะได้หารือร่วมกันในเร็วๆนี้"นายสุพันธุ์ กล่าว 

นอกจากนี้เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการสมาชิก ล่าสุด ส.อ.ท.ได้หาแหล่งเงินทุนรูปแบบ ซัพพลาย เชน แฟคตอริ่ง โดยอาศัยเครดิตของกลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่ช่วยเหลือซัพพลายเออร์ของตัวเองผ่านกลไกของธนาคาร 3 แห่ง ประกอบด้วย ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด(มหาชน) และธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย วงเงินสินเชื่อรวม 40,000 ล้านบาท  

ซึ่งกลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่ที่เป็นสมาชิก ส.อ.ท. อาทิ  บริษัทในกลุ่มสิทธิผล บริษัท ซินเน็ค (ประเทศไทย) จำกัด(มหาชน) บริษัท อีโนเวรับเบอร์ (ประเทศไทย) จำกัด(มหาชน) กลุ่มบริษัท พี.เอฟ.พี. บริษัท เอส.พี.เอส. โคออพเพอเรท จำกัด(มหาชน) บริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด(มหาชน) บริษัท นิภาเทคโนโลยี จำกัด(มหาชน) บริษัท ปัญจวัฒนาพลาสติก จำกัด(มหาชน) บริษัท เศรษฐ์ อินเตอร์เทรด จำกัด(มหาชน) รวมไปถึงกลุ่มธุรกิจในอุตสาหกรรมต่างๆ พร้อมช่วยเหลือซัพพลายเออร์โดยเฉพาะเอสเอ็มอีให้มากที่สุด 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"