ผงะโควิดแฝง6-7ล้าน จ่อศูนย์ใหม่แทนศบค.


เพิ่มเพื่อน    

 "บิ๊กตู่" ฟิตเดินสายชมโครงการสู้โควิด 2 วันซ้อน "วิษณุ" แจงเลิก ศบค.ตามหลัก กม.ไม่กระทบงาน สธ. เหตุ พ.ร.บ.โรคติดต่อใหม่ครอบคลุมมากกว่า เผยยอดติดเชื้อรายใหม่ 14,176 ราย เสียชีวิต 228 ราย ผงะ! "หมออุดม" เปิดข้อมูลติดโควิดแฝงในไทยอาจมี 6-7 ล้านคน เฉพาะ กทม. 1.5 ล้านคน รับทำตัวเลขติดเชื้อเป็นศูนย์ในสิ้นปีไม่ได้แน่ ย้ำต้องปรับตัวใช้ชีวิตวิถีใหม่

      เมื่อวันที่ 8 ก.ย. น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี   กล่าวในรายการแจงให้เคลียร์กับทีมโฆษกรัฐบาล ว่าวันที่ 9 ก.ย.นี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม จะลงพื้นที่โรงพยาบาลสนามสำหรับผู้ป่วยโควิด-19 ระดับสีแดง ในโครงการลมหายใจเดียวกัน ของกลุ่มบริษัท ปตท. ที่ตั้งอยู่ด้านหน้าโรงพยาบาลปิยะเวท ที่มีเตียงรองรับผู้ป่วยสีแดง 120 เตียง และมีเตียงรองรับผู้ต้องฟอกไต 20 เตียง ส่วนวันที่ 10 ก.ย. พล.อ.ประยุทธ์จะลงพื้นที่ไปตรวจเยี่ยมผู้ประกันตนและบริษัทเอกชนที่ดำเนินการ factory sandbox ที่บริษัท เอสบี อุตสาหกรรมเครื่องเรือน จำกัด จ.นนทบุรี โดยจะดูมาตรการตรวจรักษาดูแลการควบคุมภายในโรงงานที่ดำเนินการ ภายใต้แนวคิดเศรษฐศาสตร์สาธารณสุขที่จะขับเคลื่อนเศรษฐกิจในช่วงการแพร่ระบาดโควิด-19 โดยจะให้กำลังใจ รับฟังความคิดเห็นการจัดโครงการดังกล่าว
    ขณะที่นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณีมีข่าวเตรียมยุบศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ ศบค. หากมีกฎหมายอื่นมารองรับแทนการใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน 2548 ว่า ไม่ควรใช้คำว่ายุบ และต้องอธิบายว่า ศบค.เป็นหน่วยงานที่ตั้งขึ้นตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉิน และตั้งชื่อเรียกว่า ศบค. แต่ขณะนี้รัฐบาลกำลังขอแก้ไขกฎหมายเพื่อให้มีการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินด้านสาธารณสุขได้ โดยแยกจาก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน 2548 ที่ใช้รวมกับเหตุการณ์ฉุกเฉินหลายเรื่อง เริ่มแรกใช้กับการก่อการร้าย การก่อความไม่สงบ แต่สามารถนำไปใช้ในกรณีเกิดภัยพิบัติโรคระบาดได้ วันนี้อนุโลมไปใช้กับโรคระบาด แต่พอใช้ไปสักพักเห็นว่าไม่ค่อยตรง จึงคิดว่าควรแก้กฎหมายโรคติดต่อเพื่อรองรับเวลามีโรคระบาด เกิดสถานการณ์ฉุกเฉินด้านสาธารณสุข ที่ต้องมีมาตรการต่างจากด้านอื่น อย่าไปคิดว่าเรื่องยุบ ศบค.เป็นเรื่องใหญ่ จะต้องยุบหรือไม่ยุบ เพราะไม่ใช่ว่ายุบไปแล้วจะไม่มีอะไรเกิดขึ้น อาจจะมีและใหญ่กว่า ศบค.ด้วยก็เป็นได้
    "หากประกาศใช้สถานการณ์ฉุกเฉินด้านสาธารณสุข และมีผลบังคับใช้ได้ ก็ไม่ต้องใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน เมื่อไม่ใช้ ศบค.ก็ไม่มีความจำเป็น แต่อาจจะเปิด “ศ” (ศูนย์) ใหม่ขึ้นมาตามกฎหมายสถานการณ์ฉุกเฉินด้านสาธารณสุข โดยสรุป ศบค.เกิดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉิน เมื่อหยุดประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน ศบค.ต้องเลิก ส่วนนายกรัฐมนตรีหรือใครจะนั่งเป็นประธานก็แล้วแต่ ทั้งนี้ ศบค.ที่แปลงสภาพยังทำงานต่อได้ เพราะในบทเฉพาะกาลเขียนว่า ในระหว่างที่ยังไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลงอะไร คำสั่งเก่าก็ยังใช้อยู่ไม่สะดุด ในระหว่างที่รอ พ.ร.บ.โรคติดต่อฉบับใหม่ออกมา" นายวิษณุกล่าว
    ถามถึงความคืบหน้าการแก้ไข พ.ร.บ.โรคติดต่อ จะต้องเร่งดำเนินการเพื่อเสนอสภาประกาศใช้หรือไม่ นายวิษณุกล่าวว่า คณะกรรมการกฤษฎีกากำลังดูอยู่ ถ้าเสนอเข้าสภาจะเสนอเป็นกฎหมายปฏิรูปก็จะทำได้เลย โดยทั้ง 2 สภาพิจารณาพร้อมกัน
    ซักว่าจะทันปิดสมัยประชุมสภาฯ ในวันที่ 19 ก.ย.นี้หรือไม่ นายวิษณุกล่าวว่า วันที่ 1 พ.ย.สภาก็เปิดแล้ว
แก้ กม.โรคติดต่อใกล้เสร็จ
    ส่วนนายนพดล เภรีฤกษ์​ โฆษกสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา กล่าวถึงร่างพ.ร.บ.โรคติดต่อ (ฉบับที่..) พ.ศ..... ว่า​ ร่าง พ.ร.บ.โรคติดต่อ (ฉบับที่..) พ.ศ..... นั้น คณะกรรมการกฤษฎีกาได้พิจารณาเสร็จแล้ว ซึ่งสำนักงานได้ส่งกลับไปยังสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีแล้ว แต่คณะรัฐมนตรีให้มาพิจารณาข้อสังเกตเพิ่มเติม หากเรียบร้อยแล้วจะส่งสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีเพื่อดำเนินการต่อไป
    ด้าน นพ.เฉวตสรร นามวาท ผู้อำนวยการกองควบคุมโรคและภัยสุขภาพในภาวะฉุกเฉิน กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข แถลงสถานการณ์การแพร่ระบาดในประเทศไทยว่า พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ 14,176 ราย เป็นการติดเชื้อในประเทศ 13,654 ราย มาจากระบบเฝ้าระวังและระบบบริการ 11,940 ราย, มาจากการค้นหาเชิงรุก 1,714 ราย และมาจากเรือนจำ 506 ราย เป็นผู้เดินทางมาจากต่างประเทศ 16 ราย ทำให้มียอดผู้ติดเชื้อสะสมยืนยันตั้งแต่ปี 2563 จำนวน  1,322,519 ราย หายป่วยเพิ่มขึ้น 16,769 ราย ทำให้มียอดหายป่วยสะสมตั้งแต่ปี 2563 จำนวน 1,166,364 ราย อยู่ระหว่างรักษา 142,644 ราย อาการหนัก 4,387 ราย ใส่ท่อช่วยหายใจ 960 ราย เสียชีวิตเพิ่มขึ้น 228 ราย เป็นชาย 113 ราย หญิง 115 ราย เป็นผู้เสียชีวิตที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป 165 ราย มีโรคเรื้อรัง 42 ราย เป็นหญิงตั้งครรภ์ 1 ราย ที่ จ.ลพบุรี เป็นเด็กเล็กอายุ 5 เดือน-2 ขวบ จำนวน 3 ราย ที่ จ.สระบุรี และเสียชีวิตที่บ้าน 1 ราย ที่ กทม.โดยพบเชื้อหลังเสียชีวิต โดยพบผู้เสียชีวิตมากสุดอยู่ที่ กทม. 50 ราย ทำให้มียอดผู้เสียชีวิตสะสมตั้งแต่ปี 2563 จำนวน 13,511 ราย
    "แนวโน้มจำนวนผู้ติดเชื้อที่มีอาการหนักระหว่างวันที่ 1-7 ก.ย.ของไทยมีทิศทางลดลง เช่นเดียวกับแนวโน้มผู้เสียชีวิตที่มีทิศทางลดลดด้วยเช่นกัน และหากนำภาพรวมของไทยต่อ 1 ล้านประชากรเปรียบเทียบกับสหรัฐอเมริกา พบว่า อัตราป่วยของไทยน้อยกว่าสหรัฐ 8 เท่า อัตราเสียชีวิตน้อยกว่าสหรัฐถึง 10 เท่า" นพ.เฉวตสรรกล่าว  
    ผอ.กองควบคุมโรคฯ กล่าวว่า สำหรับ 10 จังหวัดที่มีผู้ติดเชื้อสูงสุด ได้แก่ กทม. 3,691 ราย, สมุทรปราการ 955 ราย, ชลบุรี 846 ราย, สมุทรสาคร 641 ราย,  ราชบุรี 528 ราย, ระยอง 473 ราย, พระนครศรีอยุธยา 388 ราย, สงขลา 369 ราย, นนทบุรี 362 ราย, นราธิวาส 332 ราย ซึ่งจะเห็นว่ามีเพียง กทม.จังหวัดเดียวเท่าที่มีผู้ติดเชื้อเกินหลักพัน ขณะที่การระบาดที่เป็นคลัสเตอร์ยังมีคลัสเตอร์ที่เกี่ยวข้องกับโรงงาน สถานประกอบ แคมป์คนงานอยู่ 318 คลัสเตอร์ทั่วประเทศ ตลาด ชุมชน ครอบครัว 131 คลัสเตอร์ ร้านอาหาร สถานบันเทิง 3 คลัสเตอร์ สำนักงาน โรงเรียน สถานศึกษา 12 คลัสเตอร์ รวมทั้งยังพบการระบาดในวงสุรา วงพนัน พิธีกรรมทางศาสนา งานแต่ง งานศพ ตลอดจนในโรงพยาบาล
    ถามถึงข้อสังเกตตัวเลขผู้ติดเชื้อลดลงเป็นเพราะตรวจเชิงรุกน้อยลงหรือไม่ แล้วทำไมจึงไม่นำผลตรวจ ATK มารวมกับ RT-PCR ผอ.กองควบคุมโรคฯ กล่าวว่า เราสนับสนุนเปิดให้เข้าถึงการตรวจหาเชื้ออย่างเต็มที่ แต่ธรรมชาติเมื่อเกิดการระบาดจะเห็นว่าในช่วงกลางเดือน ส.ค.เมื่อมีผู้ป่วยหนึ่งรายจะมีผู้สัมผัสเสี่ยงจำนวนหลายคน ดังนั้นเมื่อผู้ป่วยช่วงนี้ลดลง จำนวนผู้สัมผัสเสี่ยงและไปตรวจที่โรงพยาบาลก็จะลดลงตามด้วย
    "เรายังให้ความสำคัญในการตรวจเชิงรุกอยู่ตลอดเวลา การที่ไม่นำ ATK มารวมยอด เนื่องจากเป็นหลักการพิจารณาทางวิชาการ นิยามของผู้ติดเชื้อที่ปฏิบัติและอิงตามองค์การอนามัยโลก และติดตามตัวเลขทั้งสองส่วนว่ามีแนวโน้มเปลี่ยนแปลงอย่างไร ถึงแม้จะไม่รวมกันก็สามารถเห็นยอดทั้งสองส่วนได้ โดยไม่ได้ปิดบังจึงไม่ต้องกังวลใจ" ผอ.กองควบคุมโรคฯ กล่าว
ติดโควิดแฝงอาจถึง 7 ล้าน
     วันเดียวกัน นพ.อุดม คชินทร ที่ปรึกษาศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. กล่าวในรายการ NBT รวมใจสู้ภัยโควิด-19 @ทำเนียบรัฐบาล ตอนหนึ่งว่า สถานการณ์ขณะนี้ถ้าเราดูจากตัวเลขผู้ติดเชื้อรายใหม่ 1.4- 1.5 หมื่นรายต่อวัน ขณะที่ปี 63 แค่หลักพันก็เต็มที่ แต่ปัจจุบันแนวโน้มสถานการณ์ของโลกและไทยเป็นขาขึ้นใหม่ เหตุผลมาจาก 2 ปัจจัยคือ โควิด-19 สายพันธุ์เดลตากระจายได้รวดเร็วและรุนแรง ตอนนี้เชื้อไปทุกที่ระบาดในคนใกล้ชิดและชุมชน
    นพ.อุดมกล่าวว่า จากการศึกษาของ สธ. พบการระบาดปัจจุบันสอดคล้องกับที่อู่ฮั่นระบาด คนที่ไม่มีอาการและไม่เคยไปตรวจโควิด-19 เมื่อไปตรวจพบว่าเป็นโควิด-19 อีกประมาณ 5-6 เท่าของตัวเลขผู้ติดเชื้อยืนยัน ยกตัวอย่างในปัจจุบันมีผู้ติดเชื้อโควิด-19 ยืนยันใน กทม.ประมาณ 2.5 แสนคน เอา 6 เท่าคูณ หรืออีกราว 1.5 ล้านคน ซึ่งเรียกว่าติดเชื้อแฝง ไม่เคยไปตรวจ ไม่มีอาการ ไม่ใช่แค่วันละ 4-5 พันคน เหมือนตัวเลขที่เห็นในปัจจุบัน ตอนนี้เลขผู้ติดเชื้อยืนยันสะสมทะลุไป 1.2 ล้านคน ถ้าเอา 5-6 เท่าคูณ จะมีคนติดเชื้อประมาณ 6-7 ล้านคนที่แฝงอยู่ และสามารถแพร่เชื้อมาให้เราได้ นี่เป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้มีการติดเชื้อจากคนใกล้ชิด แม้สนิทแค่ไหนก็ไว้ใจไม่ได้
    "การฉีดวัคซีนเป็นวิธีที่ดีที่สุดในการควบคุมการระบาด จึงขอให้ฉีดให้เร็วที่สุดอาการจะไม่รุนแรงและยังเป็นการป้องกันระบบสาธารณสุขไม่ให้รับภาระเกินไป จะมานั่งล็อกดาวน์มันก็ไม่ไหว เศรษฐกิจไม่ไหว ต้องยอมรับ ตัวเลขเศรษฐกิจเดือนหนึ่งเสียหายเป็นแสนล้าน เราต้องมาปรับใจใหม่ จึงเป็นเหตุผลที่ ศบค.ยอมผ่อนปรนทั้งที่ตัวเลขผู้ติดเชื้อยังเป็นหมื่น เป้าหมายของการควบคุมโรคโควิด-19 ต้องเปลี่ยนไปจากเดิมที่ต้องทำให้ตัวเลขเป็นศูนย์ ผมบอกเลยไม่มีทางเป็นศูนย์แน่นอน ภายในเดือน ธ.ค.ไม่มีทางเป็นศูนย์แน่นอน แต่เราจะให้มันน้อยลงปรับตัวอยู่กับมันได้ให้ดำเนินชีวิตได้ในชีวิตวิถีใหม่ ฟื้นฟูเศรษฐกิจให้ได้ นายกฯ ระบุว่าต้องการเปิดประเทศให้ได้ โดยการให้คนไทยออกไปใช้ชีวิตได้ และต่างประเทศมาเที่ยวในบ้านของเราได้ คือเป้าหมายใหม่ของเรา" นพ.อุดมกล่าว        
    ที่ศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินด้านการแพทย์และสาธารณสุข นายสาธิต ปิตุเตชะ รมช.สาธารณสุข เป็นประธานและสักขีพยานในการลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือโครงการพัฒนาและเชื่อมโยงแพลตฟอร์มหมอพร้อม เพื่อประกอบการตรวจสอบเอกสารการเดินทาง
    นายสาธิตกล่าวว่า ข้อตกลงในครั้งนี้ สธ.จะสนับสนุนข้อมูลการฉีดวัคซีนและผลการตรวจทางห้องปฏิบัติการบนแพลตฟอร์มหมอพร้อม เป็น Digital Health Pass ช่วยอำนวยความสะดวกแก่ผู้ประกอบการสายการบินและผู้เดินทางภายในประเทศในการตรวจสอบเอกสาร เพื่อการคมนาคมอย่างปลอดภัย ลดความเสี่ยงของการติดเชื้อและโอกาสการแพร่ระบาดในสังคม เป็นการคมนาคมวิถีใหม่ที่ปลอดภัยจากโรคระบาด.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"