ลุ้นฝนตกทั่วไทย ‘บิ๊กตู่’เชื่อเอาอยู่ ไม่หนักเท่าปี54


เพิ่มเพื่อน    

"บิ๊กตู่" ร่ายยาวแผนเผชิญเหตุรับมือน้ำท่วมอย่างเป็นระบบ ขอ ปชช.มั่นใจฝีมือรัฐบาล ยันปริมาณน้ำทรงตัวไม่น่าห่วงท่วมหนักซ้ำปี 54 "เฉลิมชัย" กำชับปลัด กษ.ระดมกำลังเข้าช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย สสน.จับตาพายุเข้าอีสานปลาย ก.ย.ทำฝนถล่มกรุง-ปริมณฑล
    เมื่อวันที่ 16 กันยายน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก "ประยุทธ์ จันทร์โอชา  Prayut-chan-o-cha" ว่า ได้เตรียมแผนเผชิญเหตุรับมือสถานการณ์น้ำอย่างเป็นระบบ เมื่อวันที่ 15 ก.ย.ได้ลงพื้นที่เขื่อนเจ้าพระยา จังหวัดชัยนาท เพื่อติดตามสถานการณ์น้ำ โดยเฉพาะที่มาจากภาคเหนือ และอาจส่งผลกระทบต่อพื้นที่ภาคกลางของประเทศรวมถึง  กทม. ซึ่งได้รับข้อมูลว่าปัจจัยสำคัญของปริมาณน้ำในช่วงนี้มาจากพายุ  2 ลูกที่เพิ่งผ่านพ้นไป ส่งผลกระทบในบางพื้นที่ แต่ในภาพรวมปริมาณน้ำอยู่ในระดับทรงตัวแล้ว และจากการประเมินของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง  สถานการณ์น้ำในปีนี้ไม่น่าเป็นห่วงเหมือนปี 2554 อย่างไรก็ตามได้สั่งการให้มีการเฝ้าระวังอย่างต่อเนื่องจนหมดหน้าฝน โดยให้หน่วยงานต่างๆ เตรียมพร้อมรับสถานการณ์จุดเสี่ยงต่างๆ อย่างเต็มที่ตามแผนเผชิญเหตุ โดยคำนึงเสมอว่านอกจากระบายน้ำลงทะเลเพื่อป้องกันน้ำท่วมแล้ว ยังต้องคำนวณการเก็บกักน้ำไว้ใช้หน้าแล้งด้วย
    ทั้งนี้ รัฐบาลมีแผนการรับมือสถานการณ์น้ำอย่างเป็นระบบ ในแต่ละลุ่มน้ำแต่ละภูมิภาคในช่วงมรสุมของทุกๆ ปี ตั้งแต่ระบบติดตามระดับน้ำ พร้อมทั้งพยากรณ์ปริมาณน้ำล่วงหน้า ซึ่งจะกำหนดเกณฑ์ปลอดภัย  เกณฑ์ตัดสินใจเพิ่มการระบายน้ำในแต่ละจุดแต่ละพื้นที่ โดยคำนวณผลกระทบล่วงหน้า การเตรียมพื้นที่รองรับน้ำ มีหน่วยงานและผู้รับผิดชอบตามระดับผลกระทบ มีอนุกรรมการและคณะกรรมการกำกับดูแล มีขั้นตอนการปฏิบัติที่ชัดเจน รวมทั้งแผนเผชิญเหตุแยกเป็นพื้นที่และเป็นภาพรวม ระบบและช่องทางสื่อสารแจ้งเตือนภัย และการตระเตรียมพื้นที่อพยพและพื้นที่ปลอดภัย เป็นต้น ที่ผ่านมาหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ตรวจสอบความแข็งแรงโครงสร้างเขื่อนและประตูน้ำ ขุดลอกคูคลองสาขา จัดระเบียบที่อยู่อาศัยชุมชนที่รุกล้ำลำคลองสาธารณะ และกำจัดผักตบชวาอย่างต่อเนื่อง 
    หลักการสำคัญที่รัฐบาลเน้นย้ำมาตลอดคือ การแก้ปัญหาสถานการณ์น้ำอย่างยั่งยืน โดยมีการจัดทำแผนบรรเทาอุทกภัยในลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนล่าง ประกอบด้วย การเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำแม่น้ำเจ้าพระยาและแม่น้ำท่าจีน การปรับปรุงระบบชลประทานเจ้าพระยาทั้งฝั่งตะวันตกและตะวันออก การบริหารจัดการพื้นที่รับน้ำนองและพื้นที่นอกคันกั้นน้ำ และโดยเฉพาะอย่างยิ่งการผลักดันโครงการก่อสร้างคลองระบายน้ำหลากสายใหม่ ทั้งคลองระบายน้ำหลากบางบาล-บางไทร ที่จะแล้วเสร็จในปี 2566 คลองระบายน้ำหลากชัยนาท-ป่าสัก-อ่าวไทย  (เพื่อรองรับน้ำท่วมที่รอบปี 50 ปี) และคลองระบายน้ำควบคู่กับถนนวงแหวนรอบที่ 3 (เพื่อรองรับน้ำท่วมที่รอบปี 100 ปี) ทั้งนี้ เป้าหมายหลักนอกจากเพื่อลดปัญหาน้ำท่วมแล้ว ยังเป็นการสนับสนุนพื้นที่เกษตรกรรมและอุตสาหกรรมของประเทศด้วย
    "ผมขอให้พี่น้องประชาชนมีความมั่นใจการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำแบบบูรณาการที่รัฐบาลได้วางแผนไว้แล้ว และขอความร่วมมือในการอุปโภคบริโภคอย่างสมดุล พื้นที่เพาะปลูกก็จำเป็นต้องปรับเปลี่ยนพฤติกรรมให้สอดคล้องกับทรัพยากรน้ำ และสอดคล้องกับความต้องการของตลาด ตามนโยบายตลาดนำการผลิตด้วย ซึ่งรัฐบาลพร้อมจะเข้าไปส่งเสริมและสนับสนุนการเปลี่ยนแปลงต่างๆ ตั้งแต่ต้นทาง กลางทาง  ปลายทาง เพื่อความยั่งยืนของทรัพยากรน้ำของประเทศครับ"
    ด้านนายทองเปลว กองจันทร์ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์  เปิดเผยว่า จากอิทธิพลร่องมรสุมที่พาดผ่านภาคเหนือและภาคกลางตอนบน เข้าสู่หย่อมความกดอากาศต่ำบริเวณทะเลจีนใต้ ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามันเริ่มมีกำลังแรงขึ้น ทำให้มีฝนตกหนักหลายพื้นที่ในจังหวัดสุโขทัยและจังหวัดใกล้เคียง ทำให้เกิดสถานการณ์น้ำหลากในบางพื้นที่ โดยได้รับรายงานว่าที่อ่างแม่มอก อ.เถิน จ.ลำปาง ซึ่งเป็นอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ ติดกับ อ.ทุ่งเสลี่ยม จ.สุโขทัย มีน้ำล้นอ่าง ล้นสปิลเวย์ กำลังไหลเข้าสุโขทัยในช่วงบ่าย ซึ่งจะมีผลทำให้ อ.ทุ่งเสลี่ยม อ.สวรรคโลก อ.ศรีสำโรง อ.เมืองสุโขทัย อาจจะมีน้ำท่วม ซึ่งนายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รมว.เกษตรและสหกรณ์ ได้มอบหมายให้หน่วยงานในสังกัดเร่งปฏิบัติการร่วมกันอย่างเข้มข้น และนำเครื่องจักรเครื่องมือเข้าช่วยบรรเทาความเดือดร้อนในพื้นที่อย่างเร่งด่วน
    ที่รัฐสภา น.ส.พัชรินทร์ ซำศิริพงษ์ ส.ส.กทม. และโฆษกพรรคพลังประชารัฐ หารือสภาผู้แทนราษฎรผ่านไปยังกรุงเทพมหานคร  (กทม.) ในการเตรียมความพร้อมในหน้าฝนว่า นอกเหนือจากสาเหตุทางกายภาพ เช่นท่อมีขนาดเล็กเกินกว่าที่จะรองรับปริมาณน้ำฝนได้ พบว่าอีกปัญหาหนึ่งคือท่อระบายน้ำอุดตัน ทำให้น้ำไหลระบายได้ช้า ซึ่งท่อในแต่ละจุดนั้นเชื่อมโยงถึงกัน ดังนั้นหากจะให้น้ำระบายได้ดีต้องทำให้ทุกจุดสามารถระบายน้ำได้ ซึ่งบางจุดไม่ได้อยู่ในความรับผิดชอบของ กทม.  จึงอยากขอให้ กทม.บูรณาการการทำงานร่วมกันกับหน่วยงานอื่นในพื้นที่ที่เกี่ยวข้อง เร่งดำเนินการลอกท่อในทุกพื้นที่ทุกจุดเพื่อให้น้ำสามารถไหลระบายได้อย่างมีประสิทธิภาพเต็มที่ รวมทั้งแก้ปัญหาน้ำรอระบายที่เป็นปัญหาสะสมด้วย
    วันเดียวกัน นายเอนก เหล่าธรรมทัศน์ รมว.การอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) กล่าวระหว่างเป็นประธานเปิดการเสวนา เรื่อง “2564 จะมีน้ำท่วมใหญ่หรือไม่ เตรียมพร้อมรับมืออย่างไร"  จัดโดยสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) และหน่วยงานพันธมิตรด้านการบริหารจัดการน้ำของประเทศ ว่าตามที่มีกระแสข่าวปีนี้จะเกิดน้ำท่วมครั้งใหญ่ ดังนั้นการให้ความรู้ความเข้าใจกับประชาชนในเรื่องนี้จึงเป็นหน้าที่ของกองหนุนอย่าง อว.ที่พร้อมนำความรู้ วิชาการต่างๆ สื่อสารไปให้สังคมและชุมชนรับรู้เพื่อลดผลกระทบ โดยสถานการณ์ช่วงนี้ยังต้องเฝ้าระวังฝนตกหนัก แต่โอกาสที่จะเกิดน้ำท่วมแบบปี 2554 มีน้อย เพราะน้ำในเขื่อนยังน้อยเพียง 10,000 ล้านลูกบาศก์เมตรเท่านั้น  และปัจจัยจากน้ำทะเลหนุนปีนี้ก็มีไม่มาก จึงเหลือปัจจัยเดียวที่จะต้องเตรียมรับมือ คือน้ำฝนที่ตกลงมาในพื้นที่ชุมชนเมืองเท่านั้น แต่ที่น่ากังวลคือน้ำแล้ง ที่คาดว่าจะเกิดขึ้นหลังจากนี้แน่นอน จึงต้องเตรียมการบริหารจัดการอย่างเป็นระบบ 
    นายสุทัศน์ วีสกุล ผู้อำนวยการสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (สสน.) กล่าวว่า จากการคาดการณ์ฝนเดือน ก.ย.ถึง ต.ค.นี้ ประเทศไทยตอนบนจะมีปริมาณน้ำฝนมากกว่าค่าปกติ และน่าจะมีพายุอย่างน้อย 1  ลูกเคลื่อนที่เข้ามาทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และอ่อนกำลังในภาคเหนือ พื้นที่ฝนตกส่วนใหญ่จะตกในเขตภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคเหนือตอนล่าง และจะตกบริเวณท้ายเขื่อนมากกว่า ทำให้ไม่มีน้ำไหลลงในเขื่อนมากนัก ซึ่งตอนนี้พบสัญญาณว่าจะมีพายุก่อตัว ที่จะเคลื่อนตัวเข้ามาทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือในช่วงปลายเดือน ก.ย. จะส่งผลให้เกิดฝนตกหนักในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑลด้วย ขณะที่ในเดือน พ.ย.คาดว่าจะมีฝนตกมากกว่าค่าปกติในพื้นที่ภาคใต้ อาจมีลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือกำลังแรงและหย่อมความกดอากาศต่ำเคลื่อนตัวเข้ามายังอ่าวไทยได้ ทำให้ภาคใต้มีฝนตกหนักจนเกิดอุทกภัยได้ จึงควรเตรียมพร้อมรับมือ
    กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) รายงานในช่วงวันที่ 7- 16 ก.ย.ที่ผ่านมาเกิดอุทกภัยใน 28 จังหวัด ได้แก่ เชียงใหม่  แม่ฮ่องสอน แพร่ ลำพูน ลำปาง ตาก พิษณุโลก เพชรบูรณ์ กำแพงเพชร  พิจิตร นครสวรรค์ เลย ชัยภูมิ นครราชสีมา อุบลราชธานี ปราจีนบุรี  สระแก้ว ชลบุรี จันทบุรี ระยอง ตราด ลพบุรี พระนครศรีอยุธยา  นครนายก สมุทรปราการ ระนอง กระบี่ และตรัง รวม 106 อำเภอ 249  ตำบล 847 หมู่บ้าน 2 เขตเทศบาล ประชาชนได้รับผลกระทบ 12,277  ครัวเรือน ผู้เสียชีวิต 1 ราย สถานการณ์คลี่คลายแล้ว 21 จังหวัด.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"