เร่งสยบรอยร้าว พปชร. เตรียมรับศึก ใน-นอกสภา


เพิ่มเพื่อน    

ศึกอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีเป็นรายบุคคล จบลง เสียง ส.ส.ส่วนใหญ่ โหวตไว้วางใจ บิ๊กตู่-พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.สาธารณสุข นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รมว.เกษตรและสหกรณ์ นายสุชาติ ชมกลิ่น รมว.แรงงาน นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รมว.ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม

6 รัฐมนตรีได้รับเสียงไว้วางใจท่วมท้น” ไม่มีใครตกเก้าอี้ แม้เสียงโหวตนายกรัฐมนตรีมาในลำดับรองบ๊วย แต่ก็เอาตัวรอดมาได้ ที่งานนี้เพียงเสียหน้า แต่ไม่เสียตำแหน่ง พล.อ.ประยุทธ์ยังคงเป็นนายกรัฐมนตรีต่อไป ท่ามกลาง ความร้อนแรงในช่วงวันอภิปราย มีกระแสข่าวแพร่สะพัด ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รมช.เกษตรและสหกรณ์ และเลขาธิการพรรคพลังประชารัฐ แท็กทีม ส.ส.ในพรรคพลังประชารัฐ เคลื่อนไหว เดินเกม ขอเสียงจาก ส.ส.พรรคพลังประชารัฐ ให้โหวตไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรี หวังเปลี่ยนม้ากลางศึกไปพร้อมกับการเปิดเกมฮึดสู้ของคน 2 ฝั่ง เกิดมหกรรมแจกกล้วยเกทับบลัฟแหลก

ผลการอภิปรายไม่ไว้วางใจจบลง 2 รัฐมนตรี ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า นางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ รมช.แรงงาน ถูกปลดออกจากตำแหน่ง สังเวยพวกคิดขบถต่อพรรค เรื่องราวที่เกิดขึ้นยังคงเป็นคำถามค้างคาใจน่าคิด ระหว่างการเคลื่อนไหวของ ส.ส.ที่คิดขบถกันอย่างเอิกเกริก บิ๊กป้อม-พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ จะไม่ระแคะระคาย ไม่รับรู้ถึงการเคลื่อนไหวครั้งนี้ ยับยั้งไม่ให้บานปลาย ก่อนเรื่องลุกลามเลยหรือ

จากการเคลื่อนไหวกลุ่มขบถ ก่อให้เกิดกระแสเปลี่ยนแปลงในพลังประชารัฐ พล.อ.ประยุทธ์ ผู้บุญหนักศักดิ์ใหญ่ ถูกยินยอมให้ได้รับการเสนอชื่อเป็นนายกรัฐมนตรี ในพรรคพลังประชารัฐไม่มีความคลุกคลีกับ ส.ส.ในพรรค ผิดกับหัวหน้าพรรคร่วมรัฐบาล พรรคร่วมฝ่ายค้าน ที่ดำรงสถานะทั้ง สมาชิกพรรค ส.ส.พรรค หัวหน้าพรรคการเมือง

จะด้วยท่าทีไม่ค่อยชอบนักการเมือง ส.ส.เป็นทุนเดิมหรือไม่ แต่ในเหตุการณ์นี้ พล.อ.ประยุทธ์คงตระหนักได้ถึงคำว่า ‘นกไม่มีขน คนไม่มีเพื่อน’ เป็นอย่างดี ด้วยระบบการเมือง ที่ให้มือในสภาจาก ส.ส.เป็นตัวชี้ชะตาทางการเมือง จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เกือบที่จะทำให้ตกเก้าอี้ เลยเปลี่ยนท่าทีมากขึ้น ที่เจ้าตัวบอกออกมา จะรับฟัง ส.ส.มากขึ้น

หากไม่มีเหตุการณ์ระทึกขวัญ เขย่าเก้าอี้ ไม่รู้เหมือนกัน พล.อ.ประยุทธ์จะยอมลดตัวมารับฟังคนที่ร่วมโหวตให้เป็นนายกรัฐมนตรีหรือไม่ จากเหตุการณ์ระทึกขวัญครั้งนี้ พล.อ.ประยุทธ์ และในพรรคพลังประชารัฐ เกิดความเปลี่ยนแปลงหลายอย่าง

- พล.อ.ประยุทธ์จะรับฟังปัญหา ส.ส.มากขึ้น

- พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ ยังคงนั่งตำแหน่งตามเดิม ปรับกระบวนยุทธ์ แต่งตั้งบิ๊กน้อย-พล.อ.วิชญ์ เทพหัสดิน ณ อยุธยา เข้ามาเป็นประธานยุทธศาสตร์พรรคพลังประชารัฐ ที่ทำให้ถูกจับตามอง พล.อ.วิชญ์ ผูกพัน สนิทสนม กับ พล.อ.ประวิตรยาวนาน เป็นน้องรัก เป็นมือทำงานที่ได้รับความไว้วางใจ ได้รับการผลักดัน เข้ามาเป็นประธานยุทธศาสตร์พรรค

พล.อ.ประวิตร ร้องขอ ร.อ.ธรรมนัส ทำหน้าที่เลขาธิการพรรคต่อไป และ ร.อ.ธรรมนัสส่งคำหวานในการประชุมพรรค ‘...ท่านประวิตรขอให้อยู่ช่วยกันทำงาน ถ้านายรัก อนุญาตให้ทำงานต่อ ก็จะไม่ออกไปตั้งพรรคการเมืองใหม่ ถ้าท่านประวิตรอยู่ ผมก็ยินดีที่จะอยู่ต่อ ผมเกิดจากพรรคนี้ ก็พร้อมจะอยู่ตรงนี้ ถ้าจะจบชีวิตการเมืองก็ขอให้จบที่พรรคพลังประชารัฐ ยึดที่นี่เป็นที่พึ่งพิง ขอให้พลังประชารัฐเป็นบ้านสุดท้ายของผม’

ยกระดับไปสู่ความเป็นนักการเมืองมืออาชีพมากขึ้น ดำเนินตามรอย 3 ป. หยอดคำหวาน ทั้งที่ในวันที่ถูกปลดพ้นตำแหน่ง วันที่ 9 เดือน 9 ยังแถลงข่าว พูดคุยกับผู้สื่อข่าวนอกรอบ ด้วยคำพูดอันหนักแน่น หล่นวลีเด็ดมากมาย อาทิ

‘ผมต้องการทำงานอื่นที่เข้มแข็งเพื่อประเทศชาติบ้านเมืองจริงๆ ไม่ใช่มารองรับหรือทำอะไรเพื่อคนบางกลุ่ม’

‘เราต้องรับผิดชอบในสิ่งที่ได้กระทำไป หมายความว่า ถ้าเราพูดด้วยเหตุผลแล้วไม่เกิดประโยชน์ วิธีการที่ดีที่สุด คือเราต้องตัดสินใจด้วยตนเอง’

และเมื่อถูกถามว่า จะยังอยู่กับพรรคพลังประชารัฐใช่หรือไม่ ร.อ.ธรรมนัสตอบไว้ว่า ‘เป็นเรื่องที่ต้องคิดต่อไป อาจจะไปอยู่บ้านหลังใหม่ที่มีความสุข เมื่อย้ายมาจากบ้านหลังเดิมที่มีความสุขดีอยู่แล้ว บ้านหลังเดิมคือที่ จ.พะเยา’

เรื่องราวความขัดแย้งในพรรคพลังประชารัฐจะจบลง สงบลง อย่างที่ พล.อ.ประวิตรระบุว่า ‘คุยหมดแล้ว ไม่มีอะไร’ จะเป็นเพียงแค่คลื่นลมสงบเพียงชั่วครู่ ก่อนที่จะก่อให้เกิดพายุใหญ่กระหน่ำซัดเข้ามาให้เป็นที่ตกอกตกใจอะไรกันอีกหรือไม่

ว่ากันว่า เรื่องราวที่เกิดขึ้น มี 2-3 เหตุการณ์ ที่เกี่ยวพัน เชื่อมโยงกันไปสู่ความน่าจะเป็น ทั้งทิศทางการเมือง อนาคตการเมือง พล.อ.ประยุทธ์และรัฐบาล

ผลการโหวตแก้ไขรัฐธรรมนูญผ่านวาระ 3 บัตรเลือกตั้ง 2 ใบ และระบบเลือกตั้ง ส.ส. 400 เขต บัญชีรายชื่อ  100 คน ที่ พล.อ.ประยุทธ์แสดงทีท่า ไม่ต้องการมาตั้งแต่ต้น ทว่า พี่ใหญ่-บิ๊กป้อม อยากให้มีการเปลี่ยนแปลง แม้เสียง ส.ส.และเสียง ส.ว.จะโหวตผ่านไปได้ ยังต้องจับตา ขั้นตอนการร่างกฎหมายลูก สูตรการคิดคำนวณ การได้มาซึ่ง ส.ส.บัญชีรายชื่อ จะออกมาในรูปแบบใด จะยังคง เปอร์เซ็นต์คะแนนขั้นต่ำ 5 เปอร์เซ็นต์ ก่อนนำไปคำนวณส.ส.บัญชีรายชื่ออีกหรือไม่ ตามที่พรรคเพื่อไทยอยากจะให้ย้อนไปคำนวณเหมือนรัฐธรรมนูญ 2540 หรือจะปรับปรุงไปตามข้อเสนอของพรรคก้าวไกล ไม่เอาระบบขั้นต่ำมาคำนวณ หรือว่าพรรคพลังประชารัฐจะอาศัยเสียงส่วนใหญ่“หักดิบออกข้อเสนอที่เรียกเสียงฮือฮา” ด้วยสูตรใหม่ ยังไม่นับรวมข้อเสนอจากพรรคร่วมรัฐบาล ประชาธิปัตย์ ชาติไทย จะพลิกแพลงมาในรูปแบบใด

การร่างกฎหมายลูกที่มีเวลาประมาณ 120 วัน เป็นอะไรที่น่าจับตามอง เวลานี้เริ่มมีกระแสข่าวแพร่สะพัดออกมา หากมีการยุบสภาก่อน โดยที่กฎหมายลูกแก้ไม่แล้วเสร็จ จะหันกลับไปใช้ระบบการเลือกตั้งแบบเดิม ซึ่งก็เข้าตามเกม ของกลุ่มที่ไม่อยากให้มีการเปลี่ยนแปลงระบบการเลือกตั้ง วิธีการคิดคำนวณ ส.ส.แบบใหม่

ขณะเดียวกัน แรงกระเพื่อมจากภายนอก แม้จะไม่สามารถกดดัน นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองได้ จากการชุมนุมของกลุ่มต่างๆ คาร์ม็อบยังคงมีการจัดกิจกรรมอยู่เป็นระยะๆ ของกลุ่ม ‘ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ’ ‘สมบัติ บุญงามอนงค์’ ด้วยสถานการณ์การแพร่ระบาดไวรัสโควิด ที่ยังไม่อาจไว้วางใจได้ ประกอบกับการนำของแกนนำผู้มาชุมนุมที่ถูกตั้งคำถามจากกลุ่มนักศึกษามองด้วยความเคลือบแคลง ต่อจุดประสงค์การเคลื่อนไหว แอบแฝงหวังปมการเมืองเป็นเป้าประสงค์หลักหรือไม่

รวมทั้งข้อเสนอ ข้อเรียกร้องที่ขีดเส้นเอาไว้เพียง ขับไล่รัฐบาลประยุทธ์เท่านั้น ดูจะไม่ได้รับการตอบรับจากกลุ่มคนรุ่นใหม่บางกลุ่ม ที่วางเพดานไกลกว่านั้น

ประกอบกับการชุมนุมในระยะหลัง บางกลุ่มมักจะก่อเหตุความรุนแรง เผาป้อมตำรวจ ทุบ ทำลาย รถขนผู้ต้องหา เหิมเกริม แสดงท่าทีไม่เหมาะสมต่อสถาบันหลักของชาติ เป็นภาวะม็อบคุมม็อบไม่ได้ ทำให้ไม่สามารถดึงพลังแนวร่วมออกมาขับเคลื่อนได้อย่างเต็มที่ ยิ่งทำให้ภาพการชุมนุมติดลบ แม้ม็อบนอกสภาพลังจะลดน้อยลง ไร้พลังกดดัน แต่ก็ยังต้องจับตาดูทุกความเคลื่อนไหว ประมาทไม่ได้เช่นกัน

พลังการเคลื่อนไหวมวลชนด้านนอกสภา การเคลื่อนไหวด้วยปมการเมืองจะไม่อาจกดดันนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงรัฐบาลได้ แต่สำหรับปมที่คาใจคน ทั้งปัญหาการบริหารจัดการแก้ปัญหาโควิด เรื่องวัคซีน ที่ส่งผลกระทบมาถึง ปัญหาทางเศรษฐกิจ ชีวิต ความเป็นอยู่ผู้คน ที่เป็นปัญหา สะสม รอวันปะทุไปพร้อมกับปัญหาปากท้อง ปัญหาราคาพืชผลการเกษตรตกต่ำ ที่หากมีการปลุกพลัง ดึงพลังร่วมออกมาขับเคลื่อนอย่างเป็นรูปธรรมได้ คงจะส่งสะเทือนต่อรัฐบาลไม่น้อย

ปัญหาในสภายังคงคุกรุ่น ที่ในวันนี้ไม่ได้มีเพียงพรรคร่วมฝ่ายค้าน ที่ยังคอยมุ่งมั่นตรวจสอบรัฐบาลประยุทธ์อยู่เป็นประจำ รอในวันเพลี่ยงพล้ำจะคอยกระหน่ำซ้ำเติมทันที ในหลายช่องทาง ในสภาเกมซักฟอกรัฐบาล รัฐมนตรีแบบลงมติ จบลง แต่แว่วเสียงในสมัยประชุมหน้า เตรียมจะยื่นอภิปรายตามรัฐธรรมนูญมาตรา 152 ซักฟอกแบบไม่ลงมติ เปิดสงครามวาทกรรมอีกรอบ

การเก็บตกผลจากการอภิปรายยื่นฟ้องเอาผิดรัฐมนตรี ไปตามหน่วยงานต่างๆ ยื่นต่อกรรมาธิการ ป.ป.ช.สภา เอาผิดผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง การแจกจ่ายเงิน ส.ส. ชักจูงใจให้ลงมติไว้วางใจ ยังไม่นับรวมความพยายามทาบทามมือดีลคนสำคัญในพลังประชารัฐพลิกขั้ว การเสี้ยม แห่งความระหองระแหง พรรคภูมิใจไทย ที่มีต่อ พล.อ.ประยุทธ์ มาตั้งแต่ปมการลงมติ รมว.คมนาคม ที่มีสมาชิกพลังประชารัฐแหกคอก แต่ยังไม่ได้รับการลงโทษ ความไม่พอใจการแก้รัฐธรรมนูญที่ภูมิใจไทยเสียเปรียบ ปัญหาโควิด การจัดการวัคซีน ที่หัวหน้าภูมิใจไทย รมว.สาธารณสุข ตกเป็นเป้าโจมตี

ที่ล้วนเป็นปมแห่งความไม่พอใจ ที่สามารถถูกหยิบยกมาปลุกปั่น บั่นทอน ทำลาย พรรคร่วมรัฐบาลได้ทุกเมื่อ

พรรคพลังประชารัฐ รัฐบาลประยุทธ์ กำลังเผชิญปัญหา รุมเร้า นาทีนี้คงต้องเร่งเคลียร์ สะสางปัญหาพรรคพลังประชารัฐ ลบรอยร้าวเก่าระหว่างนายกฯ กับบรรดา ส.ส. กลุ่มก๊วนต่างๆ ให้แล้วเสร็จโดยเร็ว ไม่สร้างปัญหาใหม่ อันเป็นชนวนให้เกิดน้ำผึ้งหยดเดียว หรือสนิมเกิดแต่เนื้อใน ที่จะยิ่งเปิดช่องโหว่ให้ถูกรุมถล่ม

อันส่งผลถึงเสถียรภาพรัฐบาลให้พังพาบก่อนเวลาอันควร!!


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"