นักอุตุฯวิเคราะห์ไทยเจอ'ภาวะโลกร้อนฝนรวน'


เพิ่มเพื่อน    

 

 

          ฝนตกหนักช่วงนี้ในประเทศไทยเกิดจากพายุ 2 ลูก พายุโซนร้อนกำลังแรง”โกนเซิน” กับพายุไต้ฝุ่น”จันทู” ที่เพิ่งผ่านพ้นไป ส่งผลกระทบในหลายพื้นที่ประสบอุทกภัย เกิดน้ำท่วมฉับพลัน  ล่าสุด กรมอุตุนิยมวิทยาประกาศจับตา "พายุหมุนเขตร้อน"ที่เตรียมพัดถล่มเวียดนาม ซึ่งจะส่งผลให้หลายภาคของไทย มีฝนเพิ่มขึ้นและฝนตกหนักบางแห่ง โดยเฉพาะวันที่ 20-22 ก.ย. ชาวบ้านที่อยู่ในพื้นที่เสี่ยงต้องระวังอันตรายจากน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลาก

            แต่ในภาพรวมรัฐบาล”ลุงตู่”ยืนยันปริมาณน้ำอยู่ในระดับทรงตัวแล้ว จากการประเมินอุทกภัยของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง สถานการณ์น้ำในปีนี้ไม่น่าจะเกิดมหาอุทกภัยเหมือนปี 2554

         อย่างไรก็ตาม นักวิชาการทยอยกันออกมาเตือนฝนเพิ่มขึ้น ให้มีการเฝ้าระวังอย่างต่อเนื่องจนกว่าจะหมดหน้าฝนนี้  พร้อมเรียกร้องให้หน่วยงานต่างๆ เตรียมพร้อมรับสถานการณ์จุดเสี่ยงต่างๆ อย่างเต็มที่ มีแผนเผชิญเหตุที่ใช้ได้จริง  ตลอดจนฉายภาพสถานการณ์น้ำในเขื่อนที่สวนทางกับภาพน้ำท่วม หวังกระตุกให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ชุมชน ท้องถิ่น นอกจากระบายน้ำลงทะเลเพื่อป้องกันน้ำท่วมแล้ว ยังต้องการเก็บกักน้ำไว้ใช้แล้งหน้าด้วย

             เช่นเดียวกับวงเสวนาเรื่อง “2564 จะมีน้ำท่วมใหญ่หรือไม่ เตรียมพร้อมรับมืออย่างไร" จัดโดย สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) และหน่วยงานพันธมิตรด้านการบริหารจัดการน้ำของประเทศเมื่อวันก่อน ตอกย้ำรัฐบาลต้องมีแผนการรับมือสถานการณ์น้ำอย่างเป็นระบบ

            มุมมอง ดร.ชลัมภ์ อุ่นอารีย์ นักอุตุนิยมวิทยาชำนาญการ กรมอุตุนิยมวิทยา   บอกว่า ประเทศไทยอยู่ท่ามกลางปรากฏการณ์ธรรมชาติหลายอย่างที่จะเป็นปัจจัยสำคัญให้เกิดฝนผิดปกติ โดยเฉพาะร่องมรสุมที่ทำให้เกิดฝนบริเวณกว้าง และพายุหมุนเขตร้อนที่มาเติมฝนในบ้านเรา รวมถึงปรากฏการณ์เอลนิโน ซึ่งสภาพอากาศเปลี่ยนแปลงทำให้ร่องมรสุมผิดเพี้ยน มิ.ย.-ส.ค.ปีนี้ไทยเจอฝนทิ้งช่วงรุนแรงและระยะเวลานาน ขณะที่เข้าเดือนกันยายน มีกลุ่มฝนพาดผ่านจำนวนมาก และความกดอากาศสูงกำลังปกติ   ปีที่แล้ว ตั้งแต่ มี.ค.-พ.ย. ฝนตกสลับทิ้งช่วง แต่ปีนี้ฝนหายไป คำถามคือ ปีต่อไปจะเป็นอย่างไร

         นักอุตุนิยมวิทยาบอกด้วยว่า อุณหภูมิผิวน้ำทะเลในมหาสมุทร 2 ฝั่ง เป็นตัวพาเมฆฝนมา ทำให้เกิดฝนมากหรือน้อยในไทย ส่วนสถานการณ์ของปรากฏการณ์ ENSO ในปัจจุบัน กลุ่มเมฆจะเกิดมากขึ้นบริเวณมหาสมุทรแปซิฟิก ซึ่งใกล้ประเทศไทย ถ้ามีกำลังแรงฝนจะเข้าทวีปมากขึ้น ไทยฝนจะมากขึ้น  ซึ่งการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศไม่ได้เปลี่ยนแค่ฝน แต่เปลี่ยนปรากฏการณ์ทางธรรมชาติด้วยมีผลกระทบต่อประเทศไทย ซึ่งจะต้องเตรียมพร้อมรับมือ

          ประเด็นไทยเสี่ยงน้ำท่วมใหญ่เหมือนสิบปีที่แล้วหรือไม่  รศ.ดร.เสรี ศุภราทิตย์ ผู้อำนวยการศูนย์การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศและภัยพิบัติ ม.รังสิต กล่าวว่า  สภาพภูมิอากาศช่วงปลายปี 64 ต่อเนื่องต้นปี 65 ปรากฎการณ์ลานีญาจะเพิ่มขึ้น แม้ระดับไม่แรง แต่มีความชื้นมหาศาล ฝนจะมากขึ้น ต้องเฝ้าระวัง การคาดการณ์สถานการณ์ฝน 6 เดือน พ.ค.-ต.ค. 2564 ภาคตะวันออกจะมีโอกาสเกิดน้ำท่วม ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ การคาดการณ์ปริมาณฝน 4 เดือนข้างหน้า ร่องฝนพาดผ่าน ความกดอากาศต่ำ ความชื้นสูง ก.ย.-ธ.ค.ฝนจะดีมาก แต่ไม่ได้จะเกิดน้ำท่วมทุกพื้นที่ ต้องเฝ้าระวังพื้นที่เปราะบาง

         “ ความเสี่ยงน้ำท่วมใหญ่ภาคกลาง 10-20 % ภาพอีสาน 20-40% แต่ก็ประมาทไม่ได้เหมือนเหตุการณ์ฝนพันปีจีนที่เกิดขึ้น ความเสี่ยงภาคตะวันออก 30-40% ซึ่งเสี่ยงสูงมาก ภาคใต้ 50-60% กรณีหาดใหญ่จะเหมือนปี 2553 มีโอกาส 20-30% แต่ความรุนแรงลดลง เพราะมีโครงการพระราชดำริบรรเทาน้ำท่วม “ รศ.ดร.เสรี เผย

             ส่วนแผนและโครงการในอนาคตลุ่มเจ้าพระยา นักวิชาการด้านภัยพิบัติบอกปัจจุบันมีการจัดทำแผนบรรเทาอุทกภัยในลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนล่าง ประกอบด้วย การเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำแม่น้ำเจ้าพระยาและแม่น้ำท่าจีน การปรับปรุงระบบชลประทานเจ้าพระยาทั้งฝั่งตะวันตกและตะวันออก การบริหารจัดการพื้นที่รับน้ำนองและพื้นที่นอกคันกั้นน้ำ มีการผลักดันโครงการก่อสร้างคลองระบายน้ำหลากสายใหม่ ทั้งคลองระบายน้ำหลากบางบาล-บางไทร ที่จะแล้วเสร็จในปี 2566 คลองระบายน้ำหลากชัยนาท-ป่าสัก-อ่าวไทย  และคลองระบายน้ำควบคู่กับถนนนวงแหวนรอบที่ 3  เป้าหมายหลัก3 โครงการ งบกว่า 3 แสนล้านบาท เพื่อลดปัญหาน้ำท่วม แต่ยังใช้การไม่ได้ถ้าน้ำมาปีนี้  

              “ แม้ความเสี่ยงแค่ 10% ก็ต้องมีแผนรับมือ ถ้าเกิดน้ำท่วมใหญ่หรือฝนพันปีในปีนี้จะเตรียมพร้อมอย่างไร ก่อนเกิดเหตุ ศูนย์บัญชาการส่วนกลาง ต้องประเมินความรุนแรง และมาตรการระดับลุ่มน้ำ ความเสียหาย มีระบบคาดการณ์ เตือนภัย และอพยพ  ขณะเกิดเหตุศูนย์บัญชาการส่วนหน้าต้องประเมินระดับจังหวัด หลังเกิดเหตุน้ำท่วม ท้องถิ่น ชุมชน จะช่วยเหลือ เยียวยาอย่างไร ล่าสุดไอพีซีซีรายงานทั่วโลกต้องเร่งควบคุมอุณหภูมิโลกไม่ให้ขยับเกิน 1.5 องศาเซลเซียส เพราะสภาพภูมิอากาศมั่นคงน้อยลง  ปริมาณน้ำฝนในอนาคตจะพุ่งสูง มีการประเมินระดับน้ำทะเลสูงสุดเฉลี่ยในรอบ 100 ปี  แผนที่แสดงถึงการกระจายพื้นที่น้ำท่วมขยายออกไป  ฉะนั้น มาตรการที่มีรับไม่ไหว ประเทศไทยและกรุงเทพฯ จะปรับตัวอย่างไร   “ รศ.ดร.เสรี ย้ำ

            สถานการณ์น้ำยังต้องเฝ้าระวัง  ดร.สุทัศน์ วีสกุล ผู้อำนวยการสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (สสน.) กล่าวว่า  ช่วงสองสัปดาห์แรกของเดือนก.ย.  มีฝนตกหนักในภาคเหนือตอนล่าง ภาคอีสาน ภาคตะวันออกและภาคใต้ฝั่งตะวันตก เพราะร่องมรสุมพาดผ่านบริเวณภาคเหนือ อีสาน และภาคกลาง  ประกอบกับลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอ่าวไทย อันดามัน และประเทศไทยมีกำลังแรง  ทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลากในหลายภาคของไทย

          ผอ.สสน. กล่าวต่อว่า จากการคาดการณ์ฝนเดือน ก.ย. ถึง ต.ค.นี้ ประเทศไทยตอนบนจะมีปริมาณน้ำฝนมากกว่าค่าปกติ และน่าจะมีพายุอย่างน้อย 1 ลูกเคลื่อนที่เข้ามาทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือและอ่อนกำลังในภาคเหนือ พื้นที่ฝนตกส่วนใหญ่จะตกในเขตภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคเหนือตอนล่าง และจะตกบริเวณท้ายเขื่อนมากกว่า ทำให้ไม่มีน้ำไหลลงในเขื่อนมากนัก

            “  ตอนนี้พบสัญญาณว่า จะมีพายุก่อตัวที่จะเคลื่อนตัวเข้ามาทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือในช่วงปลายเดือน ก.ย.และจะส่งผลให้เกิดฝนตกหนักในเขตกรุงเทพมหานคร และปริมณฑลด้วย อาจจะเกิดน้ำท่วมขังในหลายพื้นที่ ขณะที่เดือน พ.ย. คาดการณ์ว่าจะมีฝนตกมากกว่าค่าเฉลี่ยปกติในพื้นที่ภาคใต้ อาจมีลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือกำลังแรงและหย่อมความกดอากาศต่ำเคลื่อนตัวเข้ามายังอ่าวไทยได้ ทำให้ภาคใต้มีฝนตกหนักจนเกิดอุทกภัยได้ต้องเตรียมพร้อมรับมือ
              ผอ.สสน.กล่าวต่อว่า อย่างไรก็ตาม น้ำใช้การของ 4 เขื่อนหลักลุ่มเจ้าพระยามีน้อยมาก ปัจจุบันมีเพียง 3,100 ล้าน ลบ.ม. เมื่อเปรียบเทียบปริมาณฝนของปี 2554 ปี 2560 และ ปี 2564 พบว่า ปริมาณฝนในปี 2564 นี้ ต่างจาก 2 ปี ดังกล่าวค่อนข้างมากเกือบทั่วทั้งประเทศ ปริมาณฝนเฉลี่ย 945 มิลลิเมตร  เทียบกับปี 54 ที่น้ำท่วมใหญ่ปริมาณฝน 1,854 มิลลิเมตร  โดยเฉพาะลุ่มน้ำเจ้าพระยาที่มีฝนในพื้นที่เหนือเขื่อนน้อยมาก ทำให้น้ำไหลลงเขื่อนขณะนี้น้อยกว่าทั้ง 2 ปีดังกล่าว สำหรับพื้นที่เหนือเขื่อนภูมิพลและเขื่อนสิริกิติ์ยังมีปริมาณฝนตกน้อย รวมกันไม่ถึง 50 มิลลิเมตร ซึ่งเดือนตุลาคมนี้จะสิ้นสุดฤดูฝนของประเทศไทยตอนบนแล้ว ยังต้องการปริมาณน้ำไหลลงเขื่อนอีกมาก

             การเตรียมพร้อมรับมือน้ำท่วมต้องครอบคลุมความเสี่ยงอุทกภัยการเกษตร โดยเฉพาะข้าว พืชอันดับต้นๆ ของไทย  ผศ.ดร.พงษ์ศักดิ์  สุทธินันท์ อาจารย์ภาควิชาวิศวกรรมแหล่งน้ำ คระวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวว่า จากโควิดปี 64  เราไม่สามารถรับความเสียหายมากกว่านี้ได้อีกแล้ว เราต้องจัดการความเสี่ยงเรื่องภัยพิบัติด้านน้ำให้ได้ ตนได้ทุนจัดทำแผนที่ความเสี่ยงอุทกภัยข้าว  ซึ่งนำแผนที่ความเสี่ยงน้ำท่วมเดือน ก.ย.ปีนี้ โดย สสน.กับแผนที่ดาวเทียมเพาะปลูก โดย GISTDA ประเมินมูลค่าความเสี่ยงของข้าวที่ถูกน้ำท่วม 1เมตร  ข้าวที่คาดว่าจะเก็บเกี่ยวหลังเดือนก.ย. เสียหาย 100% จากน้ำท่วม ซึ่งจากแผนที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาจะเสี่ยงมากสุด ถัดมาโขง ชี มูล

            “ ถ้าข้าวถูกน้ำท่วมเสียหายหมดตัวเลขความเสี่ยงอยู่ที่ 12,993 ล้านบาท ถ้า เดือน ต.ค.ลดลงเหลือ 11,000 ล้านบาท หากพ้นเดือน พ.ย. พื้นที่ข้าวจะถูกน้ำท่วมลดลง เหลือความเสี่ยง 2,000 กว่าล้าน  และเดือน ธ.ค. เหลือ 55 ล้านบาท ขณะที่มูลค่าความเสี่ยงข้าวจากการขาดแคลนน้ำ กรณีแล้ง 2564/2565 หากดูสถิติ น้ำในเขื่อนน้อย 3 ปีติดต่อกัน  ต้นปี 2565 ข้าวนาปรังมีความเสี่ยงขาดแคลนน้ำ จากปริมาณน้ำที่น้อย  ซึ่งในข้อเท็จจริงส่วนใหญ่ปลูกนาปรังจริงมากกว่าแผนหน้าแล้ง กรมชลฯ ไม่ส่งน้ำ ก็ยังมีการปลูกข้าวนาปรัง นี่คือ เรื่องน่ากังวล ต้องเตรียมการบริหารจัดการอย่างเป็นระบบ ขณะที่ป้องกันน้ำท่วมก็ต้องเตรียมกักเก็บน้ำไปด้วย การใช้น้ำอย่างมีประสิทธิภาพเป็นเรื่องสำคัญ การบริหารจัดการน้ำที่ดีจะป้องกันน้ำท่วม-น้ำแล้ง ต้องมีการบูรณาการการทำงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างจริงจัง และอยู่บนพื้นฐานงานความรู้ วิชาการและนวัตกรรมที่สอดรับกับสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลง “ ผศ.ดร.พงษ์ศักดิ์ กล่าว


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"