"๓ ป." ไม่ฆ่าน้อง!


เพิ่มเพื่อน    

ข่าว ๓ ป. ขัดแย้ง ช่างหนาหูจริงๆ 
    ว่ากันว่า ไม่มีมูลหมาไม่ขี้ 
    ไม่มีเหตุย่อมไม่มีผล
    วานนี้ (๒๔ กันยายน) มีประชุมสภากลาโหม ๒ ป. "ป้อม-ประยุทธ์" ถูกจับจ้องเป็นพิเศษ 
     แค่ "ป.ประยุทธ์" เข้าประชุม แต่ไม่เห็นแม้เงา "ป.ป้อม" ก็วิจารณ์กันให้แซ่ด! 
    แตกแล้วแน่นอน
    ในที่ประชุม ป.ประยุทธ์ ยืนยันหนักแน่น
    "ผมกับพี่ป้อมไม่มีอะไรกันเลย ยังรักกันเสมอ ยืนยันไม่มีขัดแย้ง"
    แถมหลังประชุม โฆษกกระทรวงกลาโหม สำทับอีกที 
    "...พล.อ.ประยุทธ์ พล.อ.ประวิตร และ พล.อ.อนุพงษ์ ยังเป็นหนึ่งเดียว และเป็นพี่น้องที่เหนียวแน่น และยังมุ่งมั่นทำงานเพื่อประเทศ ประชาชน เป็นหลัก และจรรโลงไว้ซึ่งสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
    "ไม่อยากให้เอาไปเสี้ยมให้เกิดความขัดแย้งกัน ทั้ง ๓ ท่านมีความหนักแน่น 
    และการลงพื้นที่ในช่วงที่ผ่านมาเพื่อไปแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชน พล.อ.ประยุทธ์ ได้แน่นย้ำว่าความขัดแย้งต้องไม่เกิดขึ้น โดยเฉพาะหน่วยงานราชการ 
    ขอให้มั่นใจว่าการทำงานของรัฐบาลยังมีความเหนียวแน่น เพื่อให้กองทัพเกิดความสบายใจกับกระแสข่าวที่เกิดขึ้น ซึ่งนายกฯ เน้นย้ำกับกองทัพว่า ไม่ได้มีปัญหาอะไรกัน"
    ก็ไม่บ่อยครั้งครับที่กระทรวงกลาโหมแถลงข่าวยืนยันอย่างเป็นทางการ ว่าไม่มีความขัดเแย้งกันเองระหว่าง "๓ ป."
    ความขัดแย้งในระดับ ๓ ป. จะมีจริงหรือไม่ ข่าววงใน ใกล้ชิดชนิดแทบจะล้างก้นให้ยืนยันว่า ไม่มี ไม่เคยเห็น ๓ ป.แทงหลังกัน 
    มีแต่ เอะอะ โวยวาย  อั๊ว ลื้อ ตามประสาพี่น้องชายชาติทหาร 
    แต่ที่ขัดแย้งน่ะ...มีจริง 
    เป็นระดับล่างลงมา 
    ลูกน้องมีนาย 
    พี่น้องของนายไม่ใช่นายกู 
    เรื่องมันเป็นแบบนั้น 
    ที่จริงเรื่องนี้ "ธรรมนัส พรหมเผ่า" รู้ดีทุกอย่าง 
    อยู่ที่จะพูดความจริงหรือไม่ 
    การเมืองไทยยังเป็นการเมืองยุคเก่า ฉะนั้น มองไม่ยากหรอกครับ 
    ถ้าเป็นละครก็เล่นบทซ้ำๆ แทบจะเดาได้ล่วงหน้าว่าพระเอก หรือ ผู้ร้าย ใครจะพูดอะไร 
    แต่ทั้งหมดอยู่ที่ความหนักแน่นของ ๓ ป. 
    ลูกน้องเล่นการเมืองแน่ เพราะเขาต้องเล่นไปอีกนาน แต่ ๓ ป. อาจไม่ได้วางแผนให้ตัวเองอยู่ในตำแหน่งยาวนานขนาดนั้น 
    การเมือง ๓ ป. ช่วงนี้ไม่มีอะไรมาก แค่เด็กเล่นขายของ ตั้งตนอยากเป็นเจ้าสัว
    เทียบกับการเมืองสามเส้าในอดีตแล้ว แค่กระผีกยังไม่ได้ 
    ย้อนไปไกลหน่อยครับ หลังการรัฐประหาร ๒๔๙๔ บรรยากาศการเมืองน้องๆ สามก๊ก 
    สามกลุ่มขัดแย้งกันเองภายในคณะรัฐประหาร 
    กลุ่มซอยราชครู มี พล.ต.อ.เผ่า ศรียานนท์ เป็นหัวขบวน
    กลุ่มสี่เสาเทเวศร์ มีจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ นั่งหัวโต๊ะ
    และกลุ่มทหารอาวุโส มีจอมพล ป.พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรี เป็นผู้นำ
    เริ่มที่ "เผ่า ศรียานนท์" ช่วงเวลานั้นก้าวขึ้นมีอำนาจควบคุมกองกำลังตำรวจ ที่มีความสามารถเกือบเทียบเท่ากองทัพบก 
    เพราะตำรวจยุคนั้นมีรถถัง มีกำลังตำรวจมากถึง ๔๒,๘๓๕ นาย 
    หรือตำรวจ ๑ นาย ต่อพลเมือง ๔๐๗ คน ซึ่งเป็นอัตราส่วนที่สูงที่สุดในโลก 
    แต่เดิม "เผ่า ศรียานนท์" ได้รับการฝึกอบรมมาทางทหารบก และเป็นนายทหารคนสนิทของ "จอมพล ป." ต่อมาได้โอนมารับราชการตำรวจหลังการรัฐประหาร พ.ศ.๒๔๙๐ จากสถานการณ์บ้านเมืองที่เกิดความวุ่นวายขึ้นหลายครั้ง โดยเฉพาะความพยายามใช้กำลังล้มล้างรัฐบาลถึง ๓ ครั้ง จึงทำให้กองกำลังตำรวจที่นำโดย "เผ่า ศรียานนท์" ได้เข้าไปมีบทบาทในการปราบปรามฝ่ายกบฏ 
    ประกอบกับการให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่กรมตำรวจจากหน่วยสืบราชการลับของอเมริกาผ่านทางบริษัท ซี ซัพพลาย (SEA Supply) เพื่อต่อต้านคอมมิวนิสต์ ปัจจัยทั้งสองจึงทำให้กรมตำรวจได้ถูกพัฒนาขีดความสามารถทั้งทางด้านอาวุธยุทโธปกรณ์ที่ทันสมัยเทียบเท่ากองทัพ
    สมกับคำขวัญ "ภายใต้ดวงอาทิตย์นี้ ไม่มีสิ่งใดที่ตำรวจไทยทำไม่ได้" 
    "เผ่า ศรียานนท์" เลี้ยงดูบริวารของตนที่รู้จักกันว่า พวก “อัศวิน” เพื่อดำเนินงานตามคำสั่งที่ไม่ผ่านระบบราชการ 
    “อัศวิน” มักจะทำงานสกปรก เพื่อเอาใจนาย และเพื่อได้รับสิ่งตอบแทนในรูปของเงินตรา ยศ และตำแหน่ง วิธีการรุนแรงของตำรวจในยุคนี้จึงเป็นที่หวาดกลัวทั้งในหมู่ประชาชน 
    “กลุ่มซอยราชครู” ประกอบด้วย จอมพลผิน ชุณหะวัณ, พล.ต.อ.เผ่า ศรียานนท์, พล.ต.ประมาณ อดิเรกสาร, พล.ต.ศิริ ศิริโยธิน, พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ เป็นต้น 
    ขณะที่ จอมพล ป.พิบูลสงคราม กลับเข้าดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในสมัยที่ ๒ ช่วง พ.ศ.๒๔๙๑-๒๕๐๐ บารมีแตกต่างจากดำรงตำแหน่งในสมัยแรกอย่างมาก 
    ตัวอย่างที่เห็นได้อย่างชัดเจนก็คือ เหตุการณ์กบฏแมนฮัตตัน ที่คณะรัฐประหารตัดสินใจทิ้งระเบิดเรือศรีอยุธยา โดยไม่สนใจชีวิตของจอมพล ป. ที่ถูกจับเป็นตัวประกันอยู่บนเรือ 
    แปลงความได้ว่า จอมพล ป. ในเวลานั้นมีอิทธิพลในคณะรัฐประหารน้อยลง ถึงแม้จะไม่มีจอมพล ป.พิบูลสงคราม คณะรัฐประหารก็ยังคงอยู่ได้
    แต่การที่คณะรัฐประหารยังคงยอมให้จอมพล ป. เป็นนายกรัฐมนตรีต่อไปก็เพราะ ความที่จอมพล ป. เป็นผู้นำทางทหารที่เคยทำให้สถาบันทหารมีบทบาทสูงเด่นมาแล้ว 
    ขณะเดียวกันจอมพล ป. ยังมีฐานะพิเศษในการเป็นผู้นำของชาติเพียงคนเดียว ที่ยังคงเหลืออยู่ในบรรดาคณะผู้ก่อการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ๒๔๗๕ 
    สำหรับ "จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์" ชีวิตราชการเติบโตอย่างรวดเร็ว ผลงานสร้างชื่อคือการเป็นหัวหน้าปราบกบฏวังหลวง
    กองทัพภายใต้การนำของ "จอมพลสฤษดิ์" ได้รับความช่วยเหลือจากอเมริกา ในการปรับปรุงกองทัพให้เป็นแบบกองทัพอเมริกา 
    ขยายกำลังพลที่มีอยู่ ๔๕,๐๐๐ นายในปี ๒๔๙๔ มาเป็น ๘๐,๐๐๐ นายในปี ๒๔๙๗ 
    ขณะที่ "เผ่า ศรียานนท์" และ "จอมพลสฤษดิ์" กำลังแข่งขันและสร้างฐานอำนาจของตนอย่างมั่นคงอยู่นั้น "จอมพล ป." ตกอยู่ในฐานที่เป็นเสมือนสัญลักษณ์ของอำนาจ ก็พยายามสร้างฐานอำนาจของตนเองเช่นเดียวกัน โดยหันเข้าหาอเมริกา
    โดยการขานรับนโยบายต่อต้านคอมมิวนิสต์
    ปี ๒๔๙๕ รัฐบาลไทยให้ความสนับสนุนอเมริกา ในการเข้าร่วมทำสงครามเกาหลีในนามของสหประชาชาติ ด้วยการเสนอส่งกองทหารและข้าวไปช่วย
    ต่อมาปี ๒๔๙๗ ประเทศไทยเข้าเป็นสมาชิกองค์การ SEATO ซึ่งเป็นแนวปิดล้อมการขยายตัวของคอมมิวนิสต์ในเอเชียอาคเนย์ ทำให้อเมริการู้สึกพึงพอใจรัฐบาลจอมพล ป. ซึ่งเท่ากับเป็นการเพิ่มฐานให้กับจอมพล ป. ให้มั่นคงยิ่งขึ้น
    มีการวิเคราะห์ว่า จอมพล ป. หวังสร้างฐานอำนาจจากประชาชน เพื่อต้านทานอำนาจจากฝ่ายตำรวจและทหาร เช่น การให้เสรีภาพและสนับสนุนการเมืองระบอบประชาธิปไตยภายหลังจากการเดินทางรอบโลกไปอเมริกาและยุโรป 
    การเปิดสัมภาษณ์หนังสือพิมพ์ทุกวันศุกร์ ให้มีการอภิปรายทางการเมืองคล้ายๆ ไฮปาร์ก ทั้งในกรุงเทพฯ และตามต่างจังหวัด ถูกตีความว่า เป็นแผนขั้นต้นที่จะทำลายคู่แข่ง
    ความเสื่อมของการเมืองสามเส้า เป็นผลสำคัญมาจากการเสียสมดุลในการถ่วงดุลอำนาจของจอมพล ป. ภายหลังจากที่อำนาจของรัฐบาลจอมพล ป. ลดลงอย่างรวดเร็ว จากสถานการณ์การคัดค้านการเลือกตั้งสกปรกกึ่งพุทธกาล ของนิสิต นักศึกษา ประชาชน 
    เริ่มแรกอำนาจการปกครองที่เกิดจากสามฐานโดยการรวมอำนาจ ถ่วงดุลกันเองระหว่าง ๓ คน คือ "เผ่า ศรียานนท์" "จอมพลสฤษดิ์"  และ "จอมพล ป."  คาดหมายว่าจะครองอำนาจยาวนาน
    แต่เพราะความเปราะบางที่สร้างขึ้นเอง เมื่อจอมพล ป. อ่อนแอลง ก็ไม่ต่างกระถาง ๓ ขา 
    การรัฐประหารของจอมพลสฤษดิ์ ในปี ๒๕๐๐ นำมาซึ่งการยุติการเมืองในรูปแบบสามเส้า
    จอมพล ป. ต้องหนีออกไปพำนักลี้ภัยที่ประเทศเขมร ต่อมาย้ายไปพำนักที่ประเทศญี่ปุ่นจนถึงแก่อสัญกรรม ส่วน พล.ต.อ.เผ่า ถูกเนรเทศออกนอกประเทศและได้ลี้ภัยการเมืองไปอยู่ที่สวิตเซอร์แลนด์จนถึงแก่อนิจกรรม 
    ทั้งหมดนี้คนละฉากกับ ๓ ป. 
    ทหารยุคหลังไม่ได้เป็นแบบนั้นแล้ว  
    ทำให้นึกถึงวลีอมตะของ "บิ๊กจ๊อด" พล.อ.สุนทร คงสมพงษ์  
    "ไม่ฆ่าน้อง ไม่ฟ้องนาย ไม่ขายเพื่อน".


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"