ลุ้นคลายล็อกชุดใหญ่


เพิ่มเพื่อน    

  นายกฯ นั่งหัวโต๊ะถก ศบค.ชุดใหญ่วันจันทร์นี้​ พิจารณาต่อ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน​ ขยับเวลาเคอร์ฟิว​ ผ่อนคลายกิจการ/กิจกรรมหลายประเภท  โฆษกรัฐบาลปลื้มยอดใช้จ่ายผ่านมาตรการลดค่าครองชีพรัฐทะลุ 7.7 หมื่นล้านบาท ภาคีนักกฎหมายฯ ผนึกผู้ประกอบการร้านอาหารยื่นฟ้องรัฐบาลออกมาตรการทำให้ธุรกิจเสียหาย ซูเปอร์โพลเผย ปชช.เกือบร้อยเปอร์เซ็นต์หนุนปลดล็อก-อัดฉีดเงิน ศก.ฐานราก

    เมื่อวันอาทิตย์ มีรายงานจากทำเนียบรัฐบาลเปิดเผยว่า ในการประชุมคณะกรรมการบริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19)​ หรือ​ ศบค.ชุดใหญ่ ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ในฐานะ ผอ.ศบค. เป็นประธานการประชุมในเวลา 10.30 น. ผ่านระบบการประชุมทางไกล (วิดีโอคอนเฟอเรนซ์) วันที่ 27 ก.ย.นี้ โดยศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินด้านการแพทย์และสาธารณสุขกรณีโรคติดเชื้อโควิด-19 (ศปก.สธ.) จะรายงานสถานการณ์และคาดการณ์แนวโน้มการแพร่ระบาดและผู้ติดเชื้อ และกระทรวงแรงงานรายงานเรื่องการปรับรายละเอียดของโครงการแฟคทอรีแซนด์บ็อกซ์ ระยะที่ 2, นอกจากนี้​ ศบค.จะพิจารณาความเหมาะสมในการขยายเวลาประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในทุกเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักร ครั้งที่ 14 โดยศูนย์ปฏิบัติการศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19​ (ศปก.ศบค.) จะเป็นผู้เสนอ รวมทั้งการปรับมาตรการป้องกันและควบคุมโรคที่เสนอโดย ศปก.สธ. และการปรับมาตรการสำหรับผู้เดินทางเข้าราชอาณาจักร​ โดยปรับลดระยะเวลาในการกักกัน การทำกิจกรรมในสถานที่กักกัน และหลักเกณฑ์ แผนงานและแนวทางการเปิดพื้นที่นำร่องการท่องเที่ยว เสนอโดยกระทรวงสาธารณสุข กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา และการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย รวมถึงแผนการให้บริการวัคซีนโควิด-19 ในเดือนตุลาคม-ธันวาคม 2564 และแผนการบริหารจัดการวัคซีนโควิด-19 ปี 2565
    ด้านนายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า รัฐบาลกำลังแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจควบคู่ไปกับมาตรการเยียวยาและมาตรการพลิกโฉมประเทศ โดย มาตรการบรรเทาค่าใช้จ่ายและเยียวยาต่างๆ นั้นมียอดการใช้จ่ายของแต่ละโครงการ ผู้ใช้สิทธิสะสมรวม 39.01 ล้านคน ยอดใช้จ่ายสะสมรวม 77,755.2 ล้านบาท แบ่งเป็น 1.โครงการคนละครึ่ง เฟส 3 มีผู้ใช้สิทธิสะสม 24.27 ล้านคน ยอดใช้จ่ายสะสม 66,911.6 ล้านบาท 2.โครงการยิ่งใช้ยิ่งได้ มีผู้ใช้สิทธิสะสม 76,219 คน ยอดใช้จ่ายสะสม 2,254 ล้านบาท และยอดใช้จ่ายด้วย e-voucher สะสม 94.5 ล้านบาท 3.โครงการเพิ่มกำลังซื้อให้แก่ผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ มีผู้ใช้สิทธิสะสม 13.53 ล้านคน ยอดใช้จ่ายสะสม 7,937.7 ล้านบาท และ 4.โครงการเพิ่มกำลังซื้อให้แก่ผู้ที่ต้องการความช่วยเหลือเป็นพิเศษ มีผู้ใช้สิทธิสะสม 1.13 ล้านคน ยอดใช้จ่ายสะสม 557.4 ล้านบาท
    “รัฐบาลยังปรับปรุงรายละเอียดโครงการคนละครึ่ง ระยะที่ 3 และโครงการยิ่งใช้ยิ่งได้ เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์การลงทะเบียนของผู้ที่เข้าร่วมโครงการ โดยโครงการคนละครึ่ง ระยะที่ 3 ปรับลดจำนวนกลุ่มเป้าหมายผู้ได้รับสิทธิจากเดิม 31 ล้านสิทธิ เป็น 28 ล้านสิทธิ และโครงการยิ่งใช้ยิ่งได้ปรับลดกลุ่มเป้าหมายผู้ได้รับสิทธิจากเดิม 1.4 ล้านสิทธิ เป็น 1 ล้านสิทธิ และในวันที่ 1 ต.ค. กระทรวงการคลังจะโอน เงินคนละครึ่งรอบที่ 2 จำนวน 1,500 บาท โดยเชื่อมกับระบบฟู้ดเดลิเวอรีตั้งแต่วันที่ 4 ต.ค. ซึ่งขณะนี้มีแกร๊บและไลน์แมนได้รับอนุมัติเข้าร่วมโครงการแล้ว” นายธนกรกล่าว และว่า ขณะนี้สิทธิโครงการคนละครึ่ง ระยะที่ 3 คงเหลือประมาณ 1 ล้านสิทธิ และสิทธิโครงการยิ่งใช้ยิ่งได้เหลือ 5 แสนสิทธิ จึงขอเชิญชวนประชาชนผู้ที่ไม่เคยรับสิทธิลงทะเบียนได้จนกว่าสิทธิจะเต็ม ผ่านทางแอปพลิเคชันเป๋าตัง เว็บไซต์ ww w.คนละครึ่ง.com และ w ww.ยิ่งใช้ยิ่งได้.com
    วันเดียวกัน ภาคีนักกฎหมายสิทธิมนุษยชนร่วมกับศูนย์นิติศาสตร์ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้ส่งเอกสารเผยแพร่แจ้งว่า ผู้ประกอบการร้านอาหารซึ่งเป็นโจทก์ยื่นฟ้องคดีแบบกลุ่มต่อศาลแพ่ง ในวันจันทร์ที่ 27 ก.ย. เวลา 10.00 น. เนื่องจากรัฐบาลไม่สามารถควบคุมสถานการณ์โควิด-19 ได้ และได้มีการออกประกาศ คำสั่ง ข้อกำหนดต่างๆ ส่งผลให้ผู้ประกอบการธุรกิจทุกภาคส่วนได้รับความเสียหายอย่างมาก โดยปราศจากการเยียวยาที่เพียงพอและเหมาะสม ภาคีนักกฎหมายสิทธิมนุษยชนฯ จึงได้จัดตั้งโครงการเฉพาะกิจดังกล่าวขึ้นมาเพื่อช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนจากการบริหารสถานการณ์โค วิด-19 ที่ผิดพลาดของรัฐบาล โดยผู้ประกอบการกลุ่มแรกที่ภาคีฯ ยื่นฟ้องนี้ คือกลุ่มผู้ประกอบการร้านอาหาร
    นายนพดล กรรณิกา ผู้อำนวยการสำนักวิจัยซูเปอร์โพล เสนอผลสำรวจภาคสนามเรื่อง เศรษฐกิจ กับตัวเสี้ยมแตกแยก กรณีศึกษาประชาชนทุกสาขาอาชีพทั่วประเทศ 1,078 ตัวอย่าง ระหว่างวันที่ 22-25 ก.ย. พบว่า ส่วนใหญ่หรือ 96.6% ระบุรัฐบาลควรปลดล็อกระเบียบกฎเกณฑ์และอุปสรรคสกัดกั้น ผู้ประกอบการรายย่อยเข้าถึงแหล่งทุนด้านธุรกิจ และ 95.5% ระบุต้องการให้รัฐบาลอัดฉีดเงินไปที่เศรษฐกิจฐานราก กลุ่มผู้ประกอบการรายย่อยทั่วประเทศ ส่วนใหญ่หรือ 93.9% ระบุ ธุรกิจขนาดกลาง ขนาดย่อม และรายย่อยถ้าฟื้นตัวจะช่วยประชาชนฐานรากส่วนใหญ่ได้ดีกว่า, 91.1% ระบุรัฐบาลจำเป็นต้องกู้เงินเพิ่มมาช่วยเศรษฐกิจ ฐานราก เช่น ธุรกิจ ขนาดกลาง ขนาดย่อมและรายย่อย และ 90.5% ระบุเศรษฐกิจท่องเที่ยวจากมาตรการเปิดประเทศของรัฐบาล เริ่มดีขึ้น, 86.8% ระบุหลังปลดล็อก เริ่มมีรายได้เข้ากระเป๋าเงินเพิ่มขึ้น และ 86% ระบุเศรษฐกิจของประเทศด้านการส่งออกยังคงเติบโต
เมื่อสอบถามถึงความเชื่อมั่นต่อรัฐบาลในการพลิกฟื้นเศรษฐกิจ พบว่า ส่วนใหญ่ หรือ 67.6% เชื่อมั่น ในขณะที่ 32.4% ไม่เชื่อมั่น และเมื่อสอบถามถึงความหวังต่อความสำเร็จของรัฐบาลและภาคประชาชนช่วยกัน ผ่านพ้นวิกฤตชาติทั้งโควิดและเศรษฐกิจของประเทศ พบว่าส่วนใหญ่หรือ 66.8% มีความหวัง ในขณะที่ 33.2% ไม่มี
    ขณะที่สวนดุสิตโพล เผยสำรวจความคิดเห็นของประชาชนต่อกรณีภัยสังคมในยุคโควิด-19 จากการสำรวจกลุ่มตัวอย่าง 1,172 คน ระหว่างวันที่ 19-23 ก.ย. พบว่าเมื่อเปรียบเทียบก่อนมีโควิด-19 กับในยุคโควิด-19 ประชาชนคิดว่าความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินแย่ลง 72.78% ค่อนข้างวิตกกังวล 54.46% ภัยสังคมที่ประชาชนคิดว่าน่าเป็นห่วงมากที่สุด คือ ภัยจากออนไลน์ 68.66% โดยมองว่าปัญหาภัยสังคมที่มีเพิ่มมากขึ้น เพราะปัญหาความยากจน ว่างงาน ชีวิตความเป็นอยู่ลำบาก  89.31% เคยมีประสบการณ์ประสบกับปัญหาภัยสังคม 34.17% จากภัยสังคมในปัจจุบันทำ ให้ความรู้สึกไว้เนื้อเชื่อใจผู้อื่นลดลง 65.90% ควรเร่งแก้ปัญหาเศรษฐกิจและความยากจน 85.82% ปัญหาภัยสังคมในปัจจุบันมีผู้ได้รับความเดือดร้อนเป็นจำนวนมาก ส่งผลให้ประชาชนรู้สึกวิตกกังวลและไว้เนื้อเชื่อใจผู้อื่นลดลง ถึงแม้เดิมคนไทยจะมีลักษณะนิสัยมีน้ำใจช่วยเหลือผู้อื่นก็ตาม รัฐบาลจึงควรเร่งแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ ซึ่งนับว่าเป็นสาเหตุหลักที่ก่อให้เกิดปัญหาต่างๆ ตามมา รวมไปถึงประสานความร่วมมือกับหน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องเร่งแก้ปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนโดยเร็ว ไม่เช่นนั้นจะกลายเป็นว่าประชาชนต้องอยู่ในสังคมที่มีภัยรุมเร้ารอบด้าน.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"