ธปท.รับวิกฤตโควิด-19 หนักหน่วงรุนแรง


เพิ่มเพื่อน    


28 ก.ย. 2564 นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) เปิดเผยในการประชุมสามัญประจำปี 2564 ของสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ถึงมาตรการช่วยเหลือและการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจไทยยุคโควิด ว่า ยอมรับว่าวิกฤตโควิด-19 เป็นวิกฤตที่หนัก ส่งผลกระทบในวงกว้างและแรงทั้งต่อภาคธุรกิจและภาคครัวเรือน โดยตัวเลขอัตราการขยายตัวของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ(จีดีพี) ติดลบมากที่สุดในรอบ 22 ปี แต่ตัวเลขจีดีพีก็อาจยังไม่สะท้อนผลกระทบทั้งหมดที่เกิดขึ้น

“ต้องยอมรับว่าโควิดเป็นปัญหาที่รุนแรงและสะสมนาน มาตรการช่วยเหลือต่าง ๆ ที่ออกมาก่อนกน้านี้ก็พูดได้เลยว่าไม่พอ ขณะที่การปล่อยสินเชื่อและช่วยเหลือลูกหนี้โดยกลไกปกติของธนาคารพาณิชย์ แม้จะทำได้ดี แต่ก็ยังไม่ทั่วถึงเท่าที่ควร ซึ่งจุดที่ระบบธนาคารพาณิชย์ยังทำหน้าที่ได้ไม่ดีเท่าที่ควร คือ การช่วยเหลือเอสเอ็มอี แต่ ธปท. ไม่ได้นิ่งนอนใจ และพร้อมจะออกหรือปรับมาตรการเพิ่มเติมตามความจำเป็น เพื่อให้สินเชื่อไปถึงกลุ่มเสี่ยงมากยิ่งขึ้น และลดโอกาสที่กลุ่มนี้จะเข้าไม่ถึงสินเชื่อ และช่วยเหลือเพิ่มเติมนอกเหนือไปจากการขยายเวลาชำระหนี้ รวมทั้งต้องเร่งช่วยลูกหนี้ให้ได้จำนวนมากและเร็ว เพื่อให้คนไทยทุกคนเมื่อจบวิกฤติแล้วจะเจ็บตัวน้อยที่สุด”นายเศรษฐพุฒิ กล่าว

โดยปัจจุบันไทยก็เป็นประเทศที่พึ่งพาระบบธนาคารพาณิชย์ค่อนข้างสูง เห็นได้จากตัวเลขสินเชื่อระบบธนาคารพาณิชย์ อยู่ที่ 14 ล้านล้านบาท เทียบกับสินเชื่อที่มาจากสถาบันการเงินเฉพาะกิจที่ 5 ล้านล้านบาท คิดเป็นเพียงประมาณ 1 ใน 3 ของระบบธนาคารพาณิชย์ แม้ช่วงหลังภาคเอกชนจะระดมทุนผ่านการออกตราสารหนี้เพิ่มขึ้น แต่ยอดคงค้างตราสารหนี้ภาคเอกชนอยู่ที่เพียง 3 ล้านล้านบาท สะท้อนว่าเครื่องยนต์สำคัญที่จะหล่อเลี้ยงระบบเศรษฐกิจและระบบการเงิน คือธนาคารพาณิชย์ ซึ่งในภาวะที่มีความเสี่ยงสูงและเศรษฐกิจที่หดตัวนี้ โอกาสที่ธนาคารพาณิชย์จะหุบร่ม หรือไม่ปล่อยสินเชื่อจะมีสูง

ดังนั้น ธปท. จะติดตามดูแลการช่วยเหลือลูกหนี้ของธนาคารพาณิชย์อย่างใกล้ชิด ทั้งการดูแลภาระหนี้เดิม การออกมาตรการแก้หนี้ระยะยาวเพื่อให้ธนาคารพาณิชย์ช่วยเหลือลูกหนี้ด้วยการปรับโครงสร้างหนี้ระยะยาวให้เหมาะกับปัญหา การออกแบบมาตรการปรับกฎเกณฑ์ต่างๆ ที่เอื้อหรือสนับสนุนให้สถาบันการเงินสามารถจัดสรรทรัพยากรไปช่วยเหลือลูกหนี้ได้มากขึ้น และยังมีฐานะแข็งแกร่ง เพื่อไม่ให้ปัญหาลุกลามและแรงไปกว่าเดิม ทำให้ระบบธนาคารพาณิชย์ทำงานได้ต่อเนื่อง ใกล้เคียงกับภาวะปกติ

อย่างไรก็ตาม ก่อนที่เศรษฐกิจจะกลับไปเข้มแข็งได้ จะต้องก้าวผ่านวิกฤตโควิด และปูรากฐานให้ภาคอุตสาหกรรมในยุคหลังโควิดเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง ซึ่งขอบคุณภาครัฐ ที่ล่าสุดได้ขยายเพดานหนี้สาธารณะให้สูงขึ้นเป็น 70% แสดงให้เห็นถึงความตั้งใจที่จะดูแลสถานการณ์ให้ได้มากขึ้นและต่อเนื่อง แต่ก็ต้องใส่ใจกับการใช้งบประมาณที่เพิ่มขึ้น ให้มีประสิทธิภาพและโปร่งใส

ด้านนายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธาน ส.อ.ท. กล่าวว่าส.อ.ท.มีภารกิจช่วยเหลือสมาชิกภายใต้สถานการณ์วิกฤตโควิด-19 ให้บริการ 360 องศา แก่สมาชิกครอบคลุมทุกมิติ เน้นการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาเพิ่มมูลค่าให้กับธุรกิจ ภายใต้แนวคิดว่าถึงเวลาต้องกล้าเปลี่ยน เปลี่ยนกลยุทธ์ให้ตอบโจทย์ตลาด เปลี่ยนรูปแบบสู่ดิจิตอลมากขึ้น ยุคใหม่ต้องคิดให้ต่าง ด้วยการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมมาเป็นตัวช่วย

โดยด้านการตลาดวางกลยุทธ์ 3 แนวทาง คือ การเข้าสู่ระบบออนไลน์(Go Online) การก้าวออกไปเชื่อมโยงทั่วโลก(Go Global) และการเข้าถึงโครงการภาครัฐ(Go Government) สนับสนุนทั้งองค์ความรู้ ช่องทาง เครื่องมือ และเงินทุน โดยชูโครงการเมด อิน ไทยแลนด์(Made in Thailand) เพื่อเพิ่มโอกาสเข้าสู่การจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ ซึ่ง ส.อ.ท.เตรียมจัดงานมหกรรมสินค้าแสดงศักยภาพอุตสาหกรรมไทย FTI Expo ผลักดันสินค้าเมด อิน ไทยแลนด์ รองรับเปิดประเทศ

ด้านการเงิน ส.อ.ท.ยังคงส่งเสริมสมาชิกให้เข้าถึงแหล่งเงินทุนในรูปแบบต่างๆ มากขึ้น เน้น 2 แนวทางคือการผลักดันสินเชื่อรูปแบบซัพพลาย เช่น สินเชื่อหมุนเวียนธุรกิจหรือสินเชื่อหมุนเวียนคู่ค้า(Supply Chain Financing) และการระดมทุนในตลาดทุนสำหรับธุรกิจและเอสเอ็มอี การส่งเสริมสมาชิกให้สามารถนำนวัตกรรมมาเพิ่มมูลค่าให้กับธุรกิจได้อย่างเป็นรูปธรรม, การสร้างทักษะใหม่และการยกระดับทักษะการทำงานของบุคลากรภาคอุตสาหกรรม เพื่อเป็นฐานข้อมูลในการสรรหาบุคลากรให้ตรงอุตสาหกรรม ซึ่งปัจจุบันมีมากถึง 80 หลักสูตรเฉพาะทาง รวมถึงการยกระดับธุรกิจด้วยดิจิตอล แพลตฟอร์ม


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"