ปั้นอนุบาลสามนิ้ว


เพิ่มเพื่อน    

เรียกเสียงฮือฮาได้พอสมควรทีเดียว
    หลังจากลุ้นมาหลายวัน ตัวเลขผู้ติดเชื้อโควิด-๑๙ ต่ำกว่าหลักหมื่นเป็นวันแรกนับตั้งแต่กลางเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา 
    ๙,๔๘๙ ราย ของวานนี้ (๒๘ กันยายน) ก็อาจจะแกว่ง ขึ้น-ลงอยู่ที่หลักหมื่นต้นๆ เก้าพันปลายๆ อีกสักพัก ก่อนจะค่อยๆ ลดลงอีก 
    นี่คือตัวเลขในวันที่ประเทศไทยคลายล็อกดาวน์ 
    วานซืนคนไทยฉีดวัคซีนสะสมไปแล้วกว่า ๕๐ ล้านโดส มาวานนี้ ขยับขึ้นไปร่วม ๕๒ ล้านโดส นับเป็นอัตราเร่งที่เร็วมาก 
    ครับ...โควิดขาลงยังต้องติดตามกันต่อไป 
    วันนี้ตั้งใจจะคุยเรื่อง หนังสือปั้นอนุบาลสามนิ้ว เพราะดูเป็นข่าวใหญ่โต ดร.คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการสั่งให้ตรวจสอบ 
    ประเด็นคือ มีการผลิตหนังสือนิทานสำหรับเด็ก คล้ายตำราเรียน นำออกมาจัดจำหน่ายให้กับเด็กที่มีอายุตั้งแต่ ๕ ขวบขึ้นไป 
    ก็น่าจะเป็นชั้นอนุบาล 
    หนังสือที่ว่านี้ กระทรวงศึกษาธิการยืนยันว่ามีเนื้อหาเข้าข่ายบิดเบือน ปลุกปั่น สร้างความเกลียดชัง และครอบงำความคิดเด็ก 
    โดยเฉพาะกับเด็กที่ยังไม่สามารถแยกแยะข้อเท็จจริงต่างๆ ได้ อันจะก่อให้เกิดผลกระทบตามมาในหลายๆ ด้าน 
    จริงหรือไม่ ลองไปดูเนื้อหากัน 
    ต้นเรื่องอยู่ในเพจเฟซบุ๊กชื่อว่า "วาดหวังหนังสือ" 
    เป็นที่ชุมนุมของขบวนการสามนิ้ว กลุ่มหัวเอียงซ้าย กลุ่มรักทักษิณ คละเคล้ากันไป
    การเตรียมทำหนังสือน่าจะเริ่มมาพักใหญ่แล้ว และเริ่มขายกันจริงๆ จังๆ น่าจะต้นเดือนสิงหาคม 
    ๑๗ กันยายน มีการแนะนำหนังสืออย่างเป็นทางการในเพจ "วาดหวังหนังสือ" ระบุว่าครั้งแรกในไทย นิทานแนวใหม่ เด็กอ่านได้ ผู้ใหญ่อ่านดี หนังสือที่ชวนให้คิดคำนึงถึงสิทธิเสรีภาพ รู้รับทราบความเป็นไป และใฝ่ฝันถึงสิ่งที่ดีกว่า
    เหมาะกับวัย ๕ ขวบ-๑๑๒ ปี 
    ภาพสวยงาม เปี่ยมความหมาย
    พิมพ์ด้วยกระดาษอาร์ตการ์ดอย่างดี
    ๒๔ หน้า, ขนาด ๑๙x๒๓ ซม.
    ศิลปกรรม รูปเล่ม : เกี่ยวก้อยสตูดิโอ
    ๘ เล่ม ๗๐๐ บาท 
    ชุดต้นกล้า ๔ เล่ม 
    ๑.เป็ดน้อย
    ภาพ : สะอาด, เรื่อง : สองขา
    ๒.สิบราษฎร
    โดย : The Art District’86
    ๓.แค็ก! แค็ก! มังกรไฟ
    ภาพ : Viwenny, เรื่อง : หนูหริ่ง 
    ๔.ตัวไหนไม่มีหัว
    ภาพ : พรพิมล วงศ์ศิริทรัพย์, เรื่อง : สองขา
    ชุดฟ้าใหม่ ๔ เล่ม 
    ๑.เสียงร้องของผองนก
    ภาพ : ทวีวัฒน์ โพธิรัชต์, เรื่อง : สองขา
    ๒.เด็กๆ มีความฝัน
    ภาพ : Mimininii, เรื่อง : สองขา
    ๓.จ จิตร ชีวิตอัจฉริยะไทยผู้ใฝ่เรียนรู้ จิตร ภูมิศักดิ์
    ภาพ : faan.peeti, เรื่อง : สองขา
    ๔.แม่หมิมไปไหน?    
    ภาพ : เพชรลัดดา แก้วจีน
    เรื่อง : อินทิรา เจริญปุระ
    เล่มที่วิจารณ์กันมากคือ แม่หมิมไปไหน?    
    เนื้อหา ใช้แม้วเล่าเรื่อง พูดถึงการชุมนุมของสามนิ้ว มีรูปวาด เพนกวิน รุ้ง อานนท์ ฯลฯ 
    และ ทราย เจริญปุระ มีสถานะเป็นแม่ยกม็อบสามนิ้่ว 
    คำถามคือ นี่คือสิ่งที่ควรนำไปใส่ในสมองเด็กหรือไม่? 
    ฟังดูเหมือนจะยุยงส่งเสริมกันเยอะ 
    ขนาด "อังคณา นีละไพจิตร" ดีกรีอดีตกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ยังร้อนรนแสดงท่าทีผ่านเฟซบุ๊ก
    “...อันที่จริง นิทานเด็ก ชุดวาดหวัง เป็นเพียงการเล่าเรื่องที่เกิดขึ้นในสังคมให้เด็กเล็กสามารถเข้าใจได้ง่าย ผ่านภาพการ์ตูน 
    ไม่ใช่การปลุกระดมให้เด็กฟันน้ำนมลุกขึ้นมาต่อต้านรัฐ-รัฐบาล โดยเฉพาะรัฐมนตรีช่วยศึกษาจึงควรเปิดใจกว้างยอมรับความคิดเห็นที่แตกต่าง ไม่ใช่พยายามจำกัดการรับรู้ หรือปิดบังความจริงที่เกิดขึ้นในสังคม 
    การพยายามนิยามคนดีในสายตารัฐ โดยผลักคนเห็นต่างให้เป็นคนไม่ดีที่ต้องกำจัดให้หมดไป ถือเป็นเผด็จการทางความคิดที่ไม่ควรเกิดขึ้นในยุคที่การศึกษาเรียนรู้ไร้พรมแดนและไม่มีขีดจำกัดดังเช่นทุกวันนี้ … เหมือนที่หลายคนในโซเชียลวิจารณ์เรื่องนี้ว่า  #จะเสือกอะไร…” 
    ทาง "วาดหวังหนังสือ" ก็ออกตัวเรื่องนี้ครับ
    "...ครั้งหนึ่ง เคยมีคนบอกเราว่า
    หนังสือเด็กไม่ควรยุ่งเรื่องการเมือง
    หนังสือเด็กควรเล่าแต่เรื่องสวยงาม จรรโลงใจ 
    เพราะเด็กยังไร้เดียงสา 
    อย่าเอาความคิดการเมืองไปครอบเด็ก
    เราฟังๆ ดูตอนนั้นก็เชื่อครึ่งไม่เชื่อครึ่ง
    เอ... ทำไมถึงห้ามพูดเรื่องการเมืองกับเด็ก?
    ห้ามเด็กอ่านหรือเขียน หรือแสดงความเห็นเรื่องการเมือง 
    และยิ่งไปกว่านั้น เราจะกีดกันเด็กไม่ให้รู้ข่าวสารเรื่องการเมืองได้จริงๆ หรือ? ในเมื่อการเมืองส่งผลต่อชีวิตปัจจุบันของทุกๆ คน ไม่เว้นแม้แต่เด็กๆ ทั้งเรื่องการศึกษา สิ่งแวดล้อม ความปลอดภัย ความมั่นคงทางชีวิตและทรัพย์สินของครอบครัวของเด็กๆ ก็ล้วนเกี่ยวข้อง และได้รับผลกระทบจากการเมืองทั้งนั้น..."
    ครับ...ผู้ใหญ่ก็คงต้องมาคุยกันว่าเอาการเมืองไปใส่ในสมองเด็กอนุบาล เป็นการละเมิดเด็กหรือไม่ 
    อย่าลืมนะครับผู้ใหญ่เองยังมีความเห็นทางการเมืองไม่เหมือนกัน 
    และขณะนี้ผู้ใหญ่ แตกเป็นขั้วเป็นสี เข้าใจการเมืองคนละแบบ
    ครั้งหนึ่งในการชุมนุมของ กปปส. ปรากฏภาพเด็กอยู่ในพื้นที่ชุมนุม โดยผู้ปกครองพาไป สื่อหลักของประเทศไทยที่สนับสนุนระบอบทักษิณ พากันโต้แย้งว่าเป็นเรื่องไม่เหมาะไม่ควร 
    มีการสัมภาษณ์ แพทย์จากสถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี (รพ.เด็ก) กรมการแพทย์ เนื้อหาตามนี้
    "...การนำเด็กไปเข้าร่วมชุมนุมเป็นการนำเด็กเข้าไปอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่มีบรรยากาศของการใช้เสียง วาจา สีหน้าที่สื่อถึงความเกลียดชัง เด็กต่ำกว่า ๗ ขวบ ยังไม่สามารถเข้าใจเหตุผลได้ดี แม้แต่เด็กอายุ ๑๒-๑๓ ปี ก็ยังขาดประสบการณ์ในการวิเคราะห์คัดกรอง 
    ดังนั้นเด็กมีสิทธิ์รับ "สาร" ของการจงเกลียดจงชัง การจ้องทำลายล้าง ฯลฯ และ "สาร" นั้นย่อมมีผลต่อวิธีคิด บุคลิกภาพของเด็กต่อไป จึงขอวิงวอนไม่พาเด็กเข้าร่วมหรือไปอยู่ในสถานที่ใกล้การชุมนุมทางการเมืองเด็ดขาด...."
    เท่านั้นไม่พอ มูลนิธิศูนย์พิทักษ์สิทธิเด็ก สำทับว่า "...การนำเด็กเข้าร่วมชุมนุมทำให้พวกเขาไม่ได้ใช้ชีวิตอย่างปกติตามช่วงวัย โดยเฉพาะเด็กอายุต่ำกว่า ๘ ขวบ ไม่ควรเข้าไปชุมนุมเด็ดขาด เพราะเมื่อพ่อแม่เข้าร่วมชุมนุม สติสัมปชัญญะจะอยู่ที่เวที โอกาสที่เด็กจะรอดหูรอดตานั้นสูงมาก เสี่ยงต่อการพลัดหลง 
    นอกจากนี้ยังจะทำให้เด็กซึมซับความรุนแรงจากเนื้อหาการปราศรัย และไม่ควรนำเด็กมาใช้เป็นเครื่องมือต่อรองทางการเมือง สิ่งที่เกิดขึ้นในขณะนี้เป็นเรื่องที่ผู้ใหญ่ควรพูดคุยกันมากกว่า..."
    วันนี้แทนที่จะพาเด็กไปร่วมชุมนุม มีวิธีที่ง่ายกว่านั้นเยอะครับ ทำเป็นหนังสือภาพให้เด็กอนุบาลได้ดูได้อ่านกันถึงบ้านเลย 
    ในขณะที่ผู้ใหญ่ทั้ง ๒ ฝ่าย ถกเถียงเรื่องการเมืองที่เห็นไม่ตรงกัน ผู้ใหญ่อีกฝ่ายทุบโต๊ะว่าเด็กๆ ตัวเล็กๆ เช็ดขี้เองยังไม่ได้ กินข้าวยังต้องป้อน จะต้องมีสิทธิ์รับรู้เรื่องการเมืองด้วยเพื่ออนาคตของเขาด้วย 
    ครับ...จบสั้นๆ...ระยำ.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"