กำนัน-ผู้ใหญ่บ้าน ทำหนังสือถึงนายกฯ ค้านโครงการผันน้ำยวม จี้เพิกถอนอีไอเอ


เพิ่มเพื่อน    

กำนัน-ผู้ใหญ่บ้านทั้งตำบลนาคอเรือ ทำหนังสือถึงนายกฯ ค้านโครงการผันน้ำยวม ระบุกังวลใจ 5 ข้อ เครือข่ายภาคประชาชน-สิ่งแวดล้อมแม่ฮ่องสอนแนะยกเลิก EIA ฉบับร้านลาบ วิจารณ์แซดประชาชนเข้าถึงข้อมูลยากหลัง สผ.แจ้งต้องจ่ายค่าถ่ายเอกสาร-รับรองสำเนานับหมื่นบาท

28 ก.ย.64 - นายวันไชย ศรีนวน ผู้ใหญ่บ้าน บ้านแม่งูด อ.ฮอด จ.เชียงใหม่ เปิดเผยว่า ขณะนี้กำนัน-ผู้ใหญ่บ้านทั้งหมดของตำบลนาคอเรือ 9 คนและผู้ใหญ่บ้านตำบลฮอด 1 คน ได้ร่วมกันลงนามส่งหนังสือถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และนายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และพล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เพื่อแสดงความกังวลใจและต่อผลกระทบจากโครงการเพิ่มน้ำต้นทุนเขื่อนภูมิพล

ทั้งนี้ในจดหมายถึงนายกฯ ระบุว่า ตามที่กรมชลประทานมีโครงการเพิ่มปริมาณน้ำภูมิพล แนวผันน้ำยวม และรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ของโครงการฯ  ได้ผ่านการพิจารณาจากคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติแล้ว และเตรียมนำเสนอต่อคณะรัฐมนตรีต่อไปนั้น พวกตนในฐานะกำนัน-ผู้ใหญ่บ้านในพื้นที่ รู้สึกมีความกังวลต่อผลกระทบของโครงการ ดังนี้ 1. กระบวนการจัดทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม ขาดการมีส่วนร่วมอย่างแท้จริง ประชาชนในพื้นที่ยังไม่ได้รับข้อมูลอย่างชัดเจนและความเห็นต่างๆ ของประชาชนไม่ได้รับการพิจารณาในรายงาน EIA

2. ปัจจุบันชาวบ้านส่วนใหญ่ยังไม่ได้รับรู้ถึงผลดีหรือผลเสียของโครงการอย่างแท้จริง เนื่องจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไม่เคยมาให้ข้อมูลแก่ประชาชนในพื้นที่ แม้จะมีการจัดเวทีรับฟังความคิดเห็น แต่ก็จำกัดเฉพาะคนบางกลุ่ม แต่ประชาชนที่ได้รับผลกระทบ ผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสียโดยตรงกลับถูกกีดกันอยู่วงนอก

เนื้อหาในจดหมายระบุต่อว่า 3. ชาวบ้านจำนวนมากของ อ.ฮอด ผ่านประสบการณ์ที่เจ็บปวด จากการถูกเวนคืนที่ดินเมื่อครั้งก่อสร้างเขื่อนภูมิพลมาแล้ว จวบจนปัจจุบันแม้เวลาผ่านไปแล้วกว่า 50 ปี การชดเชยและเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบก็ยังไม่แล้วเสร็จ ดังนั้นหากมีการดำเนินโครงการผันน้ำยวมมาอีก จะทำให้พื้นที่ทำกินและที่อยู่อาศัยของประชาชนต้องได้รับผลกระทบอีก เท่ากับเป็นการซ้ำเติมชาวบ้านเป็นครั้งที่สอง

4. ชาวบ้านจำนวนมากในพื้นที่ต่างได้พึ่งพาอาศัยทรัพยากรธรรมชาติ การที่มีโครงการขนาดใหญ่ เจาะอุโมงค์ทะลุภูเขาและผืนป่า จะเป็นการเปลี่ยนแปลงสภาพป่าที่ชาวบ้านใช้ทำมาหากิน เลี้ยงสัตว์และการเกษตร ซึ่งขณะนี้ประชาชนก็ได้รับความเดือดร้อนจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 อยู่แล้ว ยังมีผืนป่าเป็นฐานทรัพยากรในการเลี้ยงชีพ  

5. ชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบส่วนใหญ่เป็นชาวไทยเชื้อสายกะเหรี่ยง มีวิถีวัฒนธรรมที่ผูกพันกับธรรมชาติ และยังมีความเชื่อเกี่ยวกับการห้ามผันน้ำข้ามลุ่ม ซึ่งเป็นข้อห้ามเด็ดขาด ที่บรรพบุรุษสั่งสอนกันมา เพราะอาจทำให้เกิดอาเพศ 

“ด้วยเหตุผลความกังวลเหล่านี้พวกเราจึงขอเสนอให้มีการชะลอโครงการออกไปเพื่อให้มีการศึกษา อย่างรอบคอบ และฟังเสียงของประชาชนอย่างแท้จริง” หนังสือระบุ

ด้านจังหวัดแม่ฮ่องสอน ระหว่างวันที่ 27-28 กันยายน ที่บ้านเคียงดอย รีสอร์ท องค์การบริหารส่วนจังหวัด(อบจ.) และเครือข่ายภาคประชาชนได้ร่วมกันจัดได้มีการจัดเวทีสมัชชา “สานพลังพลเมือง สร้างแม่ฮ่องสอนสู่เมืองพิเศษทางธรรมชาติและวัฒนธรรม” ภายหลังเสร็จสิ้น เครือข่ายทรัพยากรลุ่มน้ำจังหวัดแม่ฮ่องสอน สมาคมฟื้นฟูและพัฒนาลุ่มน้ำสาละวิน เครือข่ายเสริมสร้างความเข้มแข็งชุมชนจังหวัดแม่ฮ่องสอน สภาพลเมืองจังหวัดแม่ฮ่องสอน ได้ออกแถลงการณ์เรื่อง คัดค้านโครงการผันน้ำยวมลงเขื่อนภูมิพล

แถลงการณ์ระบุว่า ตามที่กรมชลประทานได้เร่งผลักดันโครงการเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนให้แก่เขื่อนภูมิพล หรือโครงการผันน้ำยวมลงเขื่อนภูมิพล ซึ่งเป็นโครงการชุดที่ประกอบด้วยเขื่อนกั้นแม่น้ำยวม อาคารสูบน้ำ อุโมงค์ผันน้ำ และสายส่งไฟฟ้า มูลค่า 71,000 ล้านบาท โดยมีโฆษณาชวนเชื่อให้กับชาวนาภาคกลางว่า จะสามารถช่วยบรรเทาปัญหาน้ำแล้งของชาวนาภาคกลางกว่า 1.6 ล้านไร่นั้น เมื่อช่วงต้นเดือนกันยายน รายงาน EIA ของโครงการนี้ ได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติแล้ว และเตรียมนำเสนอต่อคณะรัฐมนตรีนั้น เครือข่ายภาคประชาชนจังหวัดแม่ฮ่องสอน ขอแถลงคัดค้านการเดินหน้าผลักดันโครงการนี้

แถลงการณ์ระบุเหตุผลของการคัดค้านโครงการว่า 1. การจัดทำ EIAขาดการมีส่วนร่วมของประชาชนที่จะได้รับผลกระทบ รวมทั้งประชาชนในพื้นที่ยังไม่ได้รับข้อมูลอย่างรอบด้าน เนื่องจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไม่เคยมาให้ข้อมูลแก่ประชาชนในพื้นที่ แม้จะเคยมีการจัดเวทีรับฟังความคิดเห็น แต่ก็จำกัดเฉพาะคนบางกลุ่ม และจัดในตัวเมืองที่อยู่ห่างไกลออกไป ทำให้ชาวบ้านไม่มีโอกาสเข้าร่วม 2.โครงการนี้จะส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศน์ธรรมชาติ ซึ่งชาวบ้านในพื้นที่ใกล้เคียงโครงการ พึ่งพาอาศัยทรัพยากรธรรมชาติสำหรับดำรงชีพ การที่มีโครงการขนาดใหญ่ ที่จะมีผลเป็นการเปลี่ยนแปลงสภาพธรรมชาติที่ชาวบ้านใช้ทำมาหากิน จะส่งผลกระทบต่อการดำรงชีวิตปกติของประชาชนในพื้นที่อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

3. พื้นที่ภาคกลางของประเทศไทยไม่ได้มีปัญหาขาดแคลนน้ำ แต่มีปัญหาการบริหารจัดการน้ำ กล่าวคือ ปริมาณน้ำท่าในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา มีมากถึง 26,288.42 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) ในขณะที่ประมาณความต้องการใช้น้ำของทั้งลุ่มน้ำเจ้าพระยามีเพียง 11,377.34 ล้าน ลบ.ม. หรือเพียงร้อยละ 43.28 ของปริมาณน้ำท่าที่มีอยู่ในพื้นที่เท่านั้น แต่มีปัญหาว่าระบบการจัดเก็บน้ำ สามารถจัดเก็บได้เพียง 8,761.5 ล้าน ลบ.ม.หรือเพียงร้อยละ 33.33 ทำให้ยังขาดแคลนน้ำอีกประมาณ 2,800 ล้านลบ.ม. ดังนั้น โจทย์คือจะบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ ที่มีปริมาณมหาศาลให้เพียงพอต่อความต้องการทั้งปีได้อย่างไร ไม่ใช่จะหาน้ำที่อื่นมาเติมได้อย่างไร 

4.โครงการนี้ อาจจะนำไปสู่การแย่งชิงน้ำจากคนชายขอบไปให้แก่นายทุน ทำให้คนต้นน้ำถูกจำกัดสิทธิในการใช้น้ำ และชาวนาภาคกลางไม่มีสิทธิได้ใช้น้ำที่ผันได้จากโครงการนี้ ตามที่อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า กรมชลประทานเตรียมโครงการพัฒนาแหล่งน้ำและการจัดการทรัพยากรน้ำรองรับเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ระยะเวลา 10 ปี (ปี 2564-2574) โดยโครงการผันน้ำยวมลงเขื่อนภูมิพล ก็เป็นหนึ่งในในการพัฒนาโครงข่ายน้ำที่จะนำไปช่วยพื้นที่อีอีซี

ทั้งนี้ในแถลงการณ์ได้ระบุข้อเรียกร้องประกอบด้วย 1. เพิกถอน EIA ฉบับที่ผ่านความเห็นชอบของคณะกรรมการสิ่งแวดล้อม และยุติการผลักดันโครงการเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนให้แก่เขื่อนภูมิพล 2. ดำเนินการแก้ไขปัญหาน้ำในพื้นที่ภาคกลาง โดยการออกแบบการแก้ไขปัญหาน้ำทั้งระบบซึ่งต้องเริ่มต้นจากการมีความรู้ความเข้าใจต่อระบบนิเวศน์ และจะต้องมองให้เห็นความเชื่อมโยงของปัญหาแต่ละอย่าง เพื่อวางแผนจัดทำโครงการบริหารจัดการน้ำปริมาณมหาศาลที่มีอยู่ในพื้นที่ก่อน เพื่อจัดเก็บไว้ใช้ในฤดูแล้ง โดยใช้ความรู้ทางเทคโนโลยีและวิศวกรรม ลงทุนสร้างระบบจัดเก็บและควบคุมน้ำที่มีประสิทธิภาพ สอดคล้องกับศักยภาพของพื้นที่และไม่สร้างความเสียหายต่อระบบนิเวศน์ 

วันเดียวกันได้มีการจัดเสวนาออนไลน์เรื่อง “การเข้า (ไม่) ถึงข้อมูลข่าวสารสาธารณะ สิทธิทางสิ่งแวดล้อมที่ประชาชนต้องจ่ายเงินซื้อ” ซึ่งก่อนหน้านี้ได้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์กรณีที่เครือข่ายชาวบ้านในจังหวัดแม่ฮ่องสอนและเครือข่ายภาคอีสานทำหนังสือขอ EIA จากสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) แต่ได้รับแจ้งว่าต้องจ่ายค่าถ่ายเอกสารและรับรองสำเนานับหมื่นบาท

นายสะท้าน ชีวะวิชัยพงศ์ เครือข่ายประชาชนลุ่มน้ำยวม เงา เมย สาละวิน กล่าวว่าโครงการผันน้ำยวมสู่เขื่อนภูมิพลเป็นโครงการขนาดใหญ่ และชุมชนได้ติดตามการดำเนินโครงการตั้งแต่ต้น โดยพื้นที่ลุ่มน้ำยวม เป็นป่าต้นน้ำ ชาวบ้านในชุมชนมีความพยายามที่จะอนุรักษ์พื้นที่ไว้ เนื่องจากเป็นพื้นที่ป่ารอยต่อเชื่อมพื้นที่ 3 จังหวัด โดยผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นจากโครงการผันน้ำยวม เนื่องจากการก่อสร้างปากอุโมงค์และสถานีสูบน้ำเป็นบริเวณที่ชุมชนอยู่อาศัย ที่ผ่านมาชาวบ้านไม่ได้รับทราบข้อมูลมาก่อนเลย มาทราบตอนที่มีการจัดทำรายงาน EIA ชาวบ้านไม่ได้เข้าใจการทำ EIA เนื่องจากชาวบ้านส่วนใหญ่เป็นชาติพันธุ์

นายศิริศักดิ์ สะดวก เครือข่ายประชาชนลุ่มน้ำโขง-อีสาน กล่าวว่ามีข้อสังเกตถึงโครงการบริหารจัดการน้ำโขง เลย ชี มูล โดยแรงโน้มถ่วง ว่าเป็นโครงการขนาดใหญ่และใช้งบประมาณสูงมาก ไม่ต่างจากโครงการผันน้ำยวม โดยโครงการผันน้ำโขง เลย ชี มูล เดิมเคยมีอยู่แล้ว และเกิดผลกระทบกับระบบนิเวศและสังคม เมื่อเกิดผลกระทบชาวบ้านก็ต้องออกมาเรียกร้องให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องศึกษา

“กระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชนที่อาจจะได้รับผลกระทบไม่เคยได้รับข้อมูลมาก่อน หน่วยงานรัฐเองไม่ได้เปิดเผยข้อมูลที่เป็นความจริง เช่น การจัดเวทีรับฟังความคิดเห็น ก่อนที่จะมีการจัดเวทีก็มีเอกสารให้เฉพาะกลุ่มที่มีความเห็นสนับสนุนโครงการฯ และไม่ได้มีรายละเอียดผลกระทบที่จะเกิดขึ้นต่อระบบนิเวศเท่าที่ควร พวกเราจึงได้ปรึกษาหารือกัน นำมาสู่การขอสำเนา EIA จาก สผ.ซึ่งได้รับแจ้งค่าใช้จ่ายในการขอข้อมูล มีคำถามว่า สิทธิการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารของประชาชนมีความยากขนาดนี้ ทั้งที่ประชาชนจะเป็นผู้ได้รับผลกระทบจากการดำเนินโครงการ กลายเป็นว่าประชาชนจะต้องมาเสียค่าใช้จ่ายในการเข้าถึงข้อมูล นับหมื่นบาท”นายศิริศักดิ์ กล่าว

ขณะที่นางสาว ส.รัตนมณี พลกล้า ทนายความจากศุนย์ข้อมูลชุมชน กล่าวว่า กรณีการขอ EIA ผันน้ำยวม คำว่าถมดำ เป็นคำของหน่วยงาน ไม่ใช่ภาษาของเรา  และรายงานที่ได้มานั้นส่วนใหญ่นั้นคาดดำจำนวนมาก กรณีการคาดดำชื่อและใบหน้าของคนในภาพ ปกติการเข้าถึงรายละเอียดของ EIA เป็นภาษาเชิงเทคนิค ซึ่งยากอยู่แล้ว และหากมีการเข้าถึงช้าจะทำให้ระยะเวลาในการตรวจสอบของประชาชนยิ่งน้อยลงไปอีก 

“ชาวบ้านแม่ฮ่องสอนได้ทำหนังสือถึงกรมชลประทาน เพื่อขอ EIA แต่จนถึงตอนนี้ก็ยังไม่ได้รับการตอบกลับ ทั้งๆที่เป็นหน้าที่ของเจ้าของโครงการจะต้องเผยแพร่ กรณีค่าภาษีมูลค่าเพิ่มจากการถ่ายเอกสาร ซึ่งไม่ใช่เรื่องการค้า แต่คิดภาษีจากประชาชนได้อย่างไร ปัญหาการเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร คือ ภาษา เทคโนโลยี ระยะทาง และค่าใช้จ่ายในการเข้าถึงข้อมูลของรัฐ เมื่อมีการวินิจฉัยแล้วว่า เป็นข้อมูลของรัฐ ไม่ควรคิดค่าใช้จ่าย” นางสาว ส. กล่าว


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"