ครม.เคาะซื้อแอสตร้า สู้ไวรัสปีหน้า60ล.โดส


เพิ่มเพื่อน    

ครม.เห็นชอบจัดซื้อวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าจากสเปนเพิ่มเติม 165,000 โดส รวมส่งมอบ 614,500 โดส คาดถึงไทยต้นเดือน ต.ค.นี้ พร้อมเห็นชอบแผนจัดซื้อวัคซีนจากบริษัทแอสตร้าเซนเนก้าสำหรับ ปี 65 จำนวน 60 ล้านโดส รับมือไวรัสระลอกใหม่กลายพันธุ์ รัฐบาลเปิด 4 แนวทางจัดหาวัคซีนโควิดของไทยตามแผนกว่า 126 ล้านโดสในปลายปีนี้ สธ.ล็อกเป้าเปิด  10 จังหวัด 1 พ.ย.ฉีดวัคซีนครอบคลุม 50%
    ที่ทำเนียบรัฐบาล เมื่อวันที่ 28 กันยายน นายธนกร  วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงผลการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า ที่ประชุม ครม.มีมติเห็นชอบให้กรมควบคุมโรคดำเนินการจัดซื้อวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 แอสตร้าเซนเนก้า จากราชอาณาจักรสเปน เพิ่มเติม จำนวน 165,000 โดส จากเดิมที่ ครม.ได้มีมติเห็นชอบเมื่อวันที่ 14 ก.ย.64 ให้กรมควบคุมโรคจัดซื้อวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าจากราชอาณาจักรสเปน  จำนวน 449,500 โดส รวมทั้งสิ้นจำนวน 614,500 โดส โดย ครม.เห็นชอบให้กรมควบคุมโรค เป็นผู้ดำเนินการจัดซื้อวัคซีนของแอสตร้าเซนเนก้าจากราชอาณาจักรสเปนเพิ่มเติม และอนุมัติให้ รมว.สาธารณสุขเป็นผู้มีอำนาจลงนามใน Schedule II to  Tripartite Agreement: Form of  Doses Offer Notice  
    "สเปนจะกำหนดส่งมอบวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าทั้ง  2 ชุดภายในต้นเดือน ต.ค.64 โดยการจัดซื้อวัคซีนป้องกันโควิด-19 จากสเปนเพิ่มเติม เป็นความก้าวหน้าในการเจรจาจัดซื้อวัคซีนจากประเทศในสหภาพยุโรป ทั้งนี้ ประเทศไทยยังได้มีการเจรจาจัดซื้อ/รับบริจาควัคซีนอื่นๆ  เพิ่มเติมอีกด้วย เพื่อให้เป็นไปตามแผนการจัดหาวัคซีนของประเทศไทยเดือน ต.ค.-ธ.ค.64" นายธนกรกล่าว 
    โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีกล่าวอีกว่า ที่ประชุม ครม.เห็นชอบให้กรมควบคุมโรคเป็นผู้ดำเนินการจัดซื้อวัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 สำหรับปี 2565 จากบริษัทแอสตร้าเซนเนก้า และเห็นชอบการลงนามในสัญญาซื้อระหว่างกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข และบริษัทแอสตร้าเซนเนก้า และอนุมัติให้อธิบดีกรมควบคุมโรคเป็นผู้มีอำนาจลงนามในสัญญาดังกล่าว ภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ระลอกใหม่ที่มีการกลายพันธุ์ของเชื้อไวรัส ทำให้มีผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นในแต่ละวันเป็นจำนวนมาก จึงถือเป็นวาระสำคัญของชาติที่ทุกฝ่ายต้องร่วมกันดำเนินการแก้ไขปัญหาอย่างเร่งด่วน รวมทั้งความจำเป็นในการเร่งจัดหาวัคซีนเพิ่มเติมสำหรับปี 2565 โดยมีแผนการส่งมอบวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าในปี 2565 ภายในไตรมาสแรกจำนวน 15 ล้านโดส ไตรมาสที่สองจำนวน  30 ล้านโดส และไตรมาสที่สามจำนวน 15 ล้านโดส 
    ด้านนางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า รัฐบาลมั่นใจจะสามารถจัดหาวัคซีนโควิด-19 ครบตามแผนกว่า 126 ล้านโดสในปลายปีนี้ โดยจัดหาวัคซีนโควิด-19 ภายใต้ 4 แนวทาง  ดังนี้ 1.แผนการจัดซื้อจากผู้ผลิตวัคซีนโควิด-19 โดยตรงกับผู้ผลิต/บริษัท ให้มีความหลากหลายยี่ห้อและเทคโนโลยี อาทิ แอสตร้าเซนเนก้า, ไฟเซอร์ และซิโนแวค  2.การจัดซื้อจากประเทศที่มีวัคซีนโควิด-19 เช่น เจรจาจัดซื้อวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าจากสเปน 449,500 โดส โดยรัฐบาลสเปนถือเป็นประเทศแรกในยุโรปที่ขายวัคซีนให้แก่ประเทศไทย และอยู่ระหว่างประสานงานกับอีกหลายประเทศ 3.การแลกเปลี่ยนวัคซีน (Vaccine  Swap) เช่น รัฐบาลภูฏานได้แลกเปลี่ยนวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าล่วงหน้า 105,000 โดสกับรัฐบาลไทย โดยส่งมอบให้ไทยแล้วเมื่อวันที่ 20 สิงหาคม 2564 และการแลกเปลี่ยนวัคซีนระหว่างไทยกับสิงคโปร์ 122,400 โดส บนหลักการว่าไทยจะส่งมอบวัคซีนคืนแก่สิงคโปร์ในภายหลัง 4.การบริจาค ไทยได้รับวัคซีนซิโนแวคจากจีน 1 ล้านโดส สหราชอาณาจักรมอบวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า 415,000 โดส ญี่ปุ่นมอบวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าจำนวน 1.66 ล้านโดส สหรัฐอเมริกาได้มอบวัคซีนไฟเซอร์กว่า 1.5 ล้านโดส รวมถึงอยู่ระหว่างการหารือของคณะกรรมการร่วมไทย-สหรัฐอเมริกาอีก 1 ล้านโดส
    นางสาวรัชดากล่าวว่า ไทยจะบรรลุเป้าหมายการฉีดวัคซีนครอบคลุมกลุ่มเป้าหมายไม่ต่ำกว่าร้อยละ 70 คิดเป็นประชากร 50 ล้านคนภายในสิ้นปีนี้ ครอบคลุมเด็กอายุ 12 ปีขึ้นไป ผู้ที่เคยติดเชื้อโควิด-19 การฉีดเข็มกระตุ้น (booster) แก่ผู้ที่ได้รับการฉีดวัคซีนชนิดเชื้อตายครบ 2 เข็มทุกราย นอกจากนี้กระทรวงสาธารณสุข ยังได้วางแผนการฉีดวัคซีนโควิด-19 สำหรับชาวต่างชาติและแรงงานต่างด้าวซึ่งจะเริ่มในเดือน ต.ค.นี้ด้วย
    วันเดียวกัน ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ  ศบค.รายงานว่า ยอดผู้ได้รับวัคซีนของประเทศไทยเมื่อวันที่ 27 ก.ย.มีการฉีดวัคซีนเพิ่มเติม 734,597 โดส  รวมยอดฉีดวัคซีนสะสมตั้งแต่วันที่ 28 ก.พ.ทั้งสิ้น  51,398,473 โดส 
    นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข  (สธ.) กล่าวถึงการเตรียมเปิดเมืองรับการท่องเที่ยวในระยะแรกพื้นที่สีฟ้า 10 จังหวัดว่า สธ.ได้ประสานกับกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาเพื่อให้เกิดการท่องเที่ยวในพื้นที่สีฟ้าตามนโยบายรัฐบาลในช่วงวันที่ 1-30  พฤศจิกายน 2564 เตรียมการกำหนดลักษณะพื้นที่ความพร้อมด้านสถานการณ์ คือต้องมีความครอบคลุมวัคซีนระดับจังหวัดร้อยละ 50 กลุ่มเป้าหมาย 608 ผู้สูงอายุ, ผู้มีโรคประจำตัว 7 กลุ่มโรค และหญิงตั้งครรภ์ให้ได้อย่างน้อยร้อยละ 80 มีศักยภาพรองรับผู้ป่วยอย่างเพียงพอ อัตราครองเตียงของผู้ป่วยไม่เกินร้อยละ 80 มีการเฝ้าระวังกลุ่มเสี่ยงอย่างต่อเนื่อง มีผู้ติดเชื้อไม่เกิน 5-10  รายต่อแสนประชากรต่อวัน โดยใช้ค่าเฉลี่ยรายสัปดาห์  ส่วนความพร้อมด้านบริหารจัดการมีการร่วมมือทั้งจากภาครัฐ เอกชน และประชาชน มีแผนบริหารจัดการทรัพยากร มีทีมสอบสวนควบคุมโรครองรับกรณีเกิดการระบาด มีระบบกำกับติดตามและเชื่อมโยงกับศูนย์บัญชาการจังหวัด และมีการประเมินทุกสัปดาห์ก่อนที่จะดำเนินการได้
    “แต่ละจังหวัดจะมีการกำหนดพื้นที่เฉพาะ พื้นที่นี้จะต้องมีความครอบคลุมวัคซีนร้อยละ 70 กลุ่ม 608 ได้ ร้อยละ 80 ส่วนพื้นที่ที่จะมีการเปิดให้ทำกิจกรรม/กิจการที่รองรับนักท่องเที่ยว จะต้องมีวัคซีนครอบคลุมอย่างน้อย ร้อยละ 80 มีการเฝ้าระวังต่อเนื่องให้ไม่พบผู้ติดเชื้อในกิจการ/กิจกรรมในช่วง 14 วันที่ผ่านมา โดยพื้นที่ที่กำหนดเป็นโควิดฟรีโซน (Covid Free Zone)  เช่น จ.ชลบุรี ต้องฉีดวัคซีนครอบคลุมจังหวัดร้อยละ 50  เมืองพัทยาก็ต้องร้อยละ 70 และถ้าเป็นพัทยาใต้ที่จะให้ทำกิจการ/กิจกรรมต้องได้ร้อยละ 80 เป็นพื้นที่สีฟ้า รวมถึงดำเนินการทำบับเบิลแอนด์ซีล เป็นซีลรูต เช่นลงเครื่องบินที่สนามบินอู่ตะเภาหรือสุวรรณภูมิแล้วไม่แวะที่ไหน” 
    นพ.เกียรติภูมิกล่าวถึงการฉีดวัคซีนในพื้นที่ที่จะเป็นสีฟ้าแต่วัคซีนยังไม่ถึงเป้าว่า สถานการณ์วัคซีนของประเทศไทยดีขึ้นตามลำดับ ซึ่งเมื่อวันที่ 24 ก.ย.64  วันมหิดล มีการรณรงค์ฉีดวัคซีนได้ 1 ล้านโดส เป็นการทดสอบระบบว่ามีศักยภาพทำได้หรือไม่ ซึ่งแสดงให้เห็นว่าศักยภาพทำได้คิดเป็นร้อยละ 70-80 ของศักยภาพเท่านั้น ถ้ามีการเร่งก็จะฉีดได้มากกว่านี้ ซึ่งในเดือน ต.ค.-ธ.ค.นี้จะมีวัคซีนเข้ามาค่อนข้างมาก เฉพาะที่รัฐจัดหาเดือน ต.ค. 24 ล้านโดส เดือน พ.ย. 23 ล้านโดส และเดือน ธ.ค. 24 ล้านโดส จะต้องฉีดกันเกือบวันละ 1  ล้านโดส และเมื่อรวมกับวัคซีนทางเลือกซิโนฟาร์มอีกที่เข้ามาในปีนี้รวม 50 ล้านโดส และวัคซีนโมเดอร์นาอีก 2  ล้านโดส ปีนี้ก็จะมีวัคซีนเข้ามาราว 178 ล้านโดส ก็ต้องฉีดผ่านสถานพยาบาลในสังกัด สธ. ซึ่งในส่วนของภูมิภาคจะมีความคล่องตัวในการฉีด อย่างเช่นหากมี 1.5 ล้านโดส ก็อาจจะฉีดเขตสุขภาพละ 1 แสนกว่าโดสต่อวัน และมีการขยายฐานฉีดวัคซีนในโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพประจำตำบล (รพ.สต.) เพื่อฉีดเชิงรุกในชุมชนมากขึ้น. 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"