ประณามตร.จับผู้ถูกกล่าวหาโดยมิชอบเสนอให้อัยการเห็นชอบออกหมายเรียก-หมายจับ


เพิ่มเพื่อน    

            

21มิ.ย.61- เครือข่ายประชาชนปฏิรูปตำรวจ (คป.ตร.) Police  Watch ออกแถลงการณ์ประณามการจับกุมนายสุกิจ พูนศรีเกษม ประกอบวิชาชีพเป็นทนายความ ที่อยู่ระหว่างการพาลูกความไปแจ้งความที่สถานีตำรวจแห่งหนึ่ง ว่า เป็นการปฏิบัติต่อผู้ถูกกล่าวหาคดีอาญาโดยมิชอบ พร้อมกับเรียกร้องให้นายกรัฐมนตรี กำชับและควบคุมการปฏิบัติของตำรวจ มิให้เลือกปฏิบัติต่อประชาชนในการออกหมายเรียกผู้ต้องหาและเสนอศาลออกหมายจับโดยไม่มีความจำเป็นและไม่มีมาตรฐานเดียวกัน และให้เร่งปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมด้วยการให้พนักงานอัยการตรวจพยานหลักฐานให้ความเห็นชอบการออกหมายเรียกและเสนอศาลออกหมายจับของตำรวจทุกคดี

พร้อมกับยกตัวอย่างว่าหลายคดีที่ผู้ถูกกล่าวหาไม่มีพฤติการณ์หลบหนีแต่ตำรวจเสนออกหมายจับโดยอ้างเพียงว่าสามารถทำได้เป็นคดีที่มีโทษจำคุกเกินสามปี ซึ่งเป็นการปฏิบัติที่ขัดรัฐธรรมนูญและป.วิอาญา และละเมิดศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ แต่กลับเลือกปฏิบัติในคดีที่โทษจำคุกสูงเกินสามปีกับตำรวจบางนายโดยไม่มีการเสนอศาลออกหมายจับแม้กระทั่งออกหมายเรียกเป็นผู้ต้องหา

-----

แถลงการณ์เครือข่ายประชาชนปฏิรูปตำรวจ (คป.ตร.) Police  Watch
    ฉบับที่ 11/ 2561
 
เรื่อง  ประณามการกระทำของตำรวจที่ปฏิบัติต่อผู้ถูกกล่าวหาคดีอาญาโดยมิชอบ  และขอให้นายกรัฐมนตรีเร่งปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมด้วยการให้พนักงานอัยการตรวจพยานหลักฐานให้ความเห็นชอบการออกหมายเรียกและเสนอศาลออกหมายจับ
 
เนื่องจากได้เกิดเหตุการณ์การดำเนินคดีอาญาที่นำไปสู่การเสนอศาลออกหมายจับบุคคลหลายกรณี ที่ส่งผลกระทบต่อสิทธิเสรีภาพของประชาชนตามที่รัฐธรรมนูญบัญญัติไว้ในมาตรา 28 อยู่เสมอๆ   ไม่ว่าจะเป็นการออกหมายจับครูจอมทรัพย์ แสนเมืองโคตร และครูปรีชา ใคร่ครวญ ในกรณีการสอบสวนคดีหวย 30 ล้าน โดยกล่าวหาว่าแจ้งความเท็จ การจับกุมตัวนายยุทธิยง ลิ้มเลิศวาที พิธีกรช่องนิวส์วัน ข้อหาหมิ่นประมาทและนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ฯ  โดยอ้างว่าไม่มีที่อยู่เป็นหลักแหล่ง มีพฤติการณ์หลบหนี

การออกหมายจับและใช้กำลังตำรวจล้อมบ้านจับตัว พ.ต.ท.สันธนะ  ประยูรรัตน์  โดยกล่าวหาว่าร่วมกันกรรโชกทรัพย์  การออกหมายจับและจับตัวอดีตพระพุทธะอิสระ โดยตำรวจพังกุฏิเข้าไปจับขณะนอนหลับ รวมทั้งพระเถระชั้นผู้ใหญ่หลายรูปในช่วงที่ผ่านมา และกรณีล่าสุดคือการออกหมายจับ แล้วจับกุมนายสุกิจ พูนศรีเกษม ทนายความ โดยการใช้กำลังบังคับกดคอลงกับพื้นบนสถานีตำรวจ ขณะพาผู้เสียหายไปใช้สิทธิตามกฎหมายในการแจ้งความร้องทุกข์
 
ทั้งนี้ ไม่ว่าการกระทำของผู้ถูกกล่าวหาแต่ละคดีจะเป็นความผิดตามกฎหมายหรือไม่   แต่ข้อเท็จจริงก็เป็นที่ทราบกันดีว่า  บุคคลเหล่านี้ไม่ได้มีพฤติการณ์หลบหนี  ทุกคนยังใช้ชีวิตประจำวันตามปกติ  ซ้ำส่วนใหญ่ยังพร้อมจะเข้าพบพนักงานสอบสวนเพื่อรับทราบข้อหาเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมให้รัฐพิสูจน์ความบริสุทธิ์ของตนอีกด้วย  แต่ตำรวจกลับไม่ยอมรับรู้ถึงการพร้อมเข้ารับทราบข้อกล่าวหาดังกล่าว  และได้เสนอศาลออกหมายจับ  โดยอ้างเพียงว่าสามารถกระทำได้  เนื่องจากเป็นคดีที่มีโทษจำคุกเกินสามปีตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา  66 (1) ไม่จำเป็นต้องออกหมายเรียกก่อนแต่อย่างใด
 
ในขณะเดียวกันหลายคดีที่มีโทษจำคุกสูงเกินสามปี แต่ตำรวจก็ไม่ได้เสนอศาลออกหมายจับ เช่น คดีผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดกาญจนบุรีปฏิบัติหน้าที่มิชอบ มีโทษจำคุกถึงสิบปี  คดีอดีตผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดเลย ฉ้อโกงประชาชน (ตำรวจ 192 นาย) และอีกหลายคดีที่ตำรวจไม่ได้เสนอศาลออกหมายจับ หรือแม้กระทั่งออกหมายเรียกเป็นผู้ต้องหา  แต่กลับใช้วิธีแจ้งให้มารับทราบข้อหาและไม่ต้องมีการประกันตัวเหมือนประชาชนทั่วไป

บทบัญญัติมาตรา 66 (1) นี้ได้กลายเป็นจุดอ่อนให้ตำรวจสามารถเลือกปฏิบัติต่อประชาชนอย่างไม่เป็นธรรม โดยใช้เป็นเหตุในการเสนอศาลออกหมายจับผู้ถูกกล่าวหาทุกคนได้ง่าย  แม้กระทั่งบางคดีบุคคลนั้นไม่ได้เกี่ยวข้องกับการกระทำผิดเลย  และไม่มีโอกาสรู้ด้วยซ้ำว่าได้มีใครไปกล่าวหาตนในเรื่องอะไรที่ใด ศาลได้ออกหมายจับตนแต่เมื่อใด
   
เมื่อศาลออกหมายจับแล้ว  ตำรวจก็สามารถนำไปใช้จับผู้ถูกกล่าวหาด้วยวิธีการต่างๆ บางกรณีก็เป็นการแกล้งให้บุคคลเดือดร้อนได้รับความเสียหาย ไม่ว่าจะเป็นการบุกเข้าไปจับในบ้านพักอาศัยโดยแจ้งให้สื่อไปทำข่าว  การจับในสาธารณสถาน หรือสถานศึกษาต่อหน้านักเรียน เช่น กรณี ครูปรีชา ใคร่ครวญ หรือแม้กระทั่งสัญจรอยู่ตามทางสาธารณะยามวิกาล ควบคุมตัวไปยังสถานีตำรวจที่เสนอศาลออกหมาย ซึ่งอาจเป็นต่างจังหวัดที่ต้องใช้เวลาเดินทางหลายชั่วโมง  สร้างความเดือดร้อนหวาดกลัวให้เกิดกับประชาชนทั้งคนไทยและชาวต่างชาติอย่างยิ่ง  

 การกระทำดังกล่าว ไม่ว่าในที่สุดผู้ถูกออกหมายจับจะเป็นผู้กระทำผิดจริงหรือไม่  แต่ไม่ได้เป็นไปตามตัวบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ มาตรา  29 วรรคสอง ที่บัญญัติว่า  “ให้สันนิษฐานว่า  ผู้ต้องหาหรือจำเลยไม่มีความผิด  และก่อนมีคำพิพากษาอันถึงที่สุดว่าบุคคลใดกระทำความผิด  จะปฏิบัติต่อบุคคลนั้นเสมือนเป็นผู้กระทำความผิดมิได้”

นอกจากนั้น  ในการจับ  ตำรวจก็มักไม่ได้ปฏิบัติตามที่กฎหมายบัญญัติไว้ในมาตรา 83 ในเรื่องการแจ้งสิทธิ์แก่ผู้ถูกกล่าวหาในการแจ้งให้ญาติพี่น้องทราบถึงการถูกจับทันทีอย่างเคร่งครัด  โดยเฉพาะอย่างยิ่ง  วิธีการควบคุมตัวที่รัฐธรรมนูญ มาตรา 29 วรรคสาม และ  ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 86  บัญญัติว่า “ให้กระทำเท่าที่จำเป็นเพื่อป้องกันมิให้มีการหลบหนีเท่านั้น”

แต่หลายกรณีกลับมีการใช้กำลังบังคับ และใช้เครื่องพันธนาการ ทั้งที่ผู้ถูกจับไม่ได้มีพฤติการณ์หลบหนีแต่อย่างใด  ก่อให้เกิดความเสียหาย ละเมิดศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ และไม่เป็นธรรมต่อประชาชนอย่างยิ่ง อีกทั้งยังทำให้นานาชาติมองว่า ไทยเป็นประเทศที่ล้าหลัง เพราะกระบวนการยุติธรรมทางอาญาไม่มีความเป็นมาตรฐานสากล

จึงขอเรียกร้องมายัง พล.อ.ประยุทธ์  จันทร์โอชา  นายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้บังคับบัญชาสูงสุดผู้รับผิดชอบสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ดังนี้

  1. สั่งกำชับและควบคุมการปฏิบัติของตำรวจ มิให้เลือกปฏิบัติต่อประชาชนในการออกหมายเรียกผู้ต้องหาและเสนอศาลออกหมายจับโดยไม่มีความจำเป็นและไม่มีมาตรฐานเดียวกัน  รวมทั้งวิธีการจับในลักษณะที่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อสิทธิเสรีภาพและชื่อเสียงของบุคคลโดยมิชอบด้วยกฎหมาย

   2.เร่งปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมอาญาของประเทศให้มีมาตรฐานสากล ด้วยการให้พนักงานอัยการตรวจสอบพยานหลักฐานให้ความเห็นชอบการออกหมายเรียกผู้ต้องหา และเสนอศาลออกหมายจับของตำรวจทุกคดี เช่นเดียวกับการปฏิบัติในนานาอารยประเทศทั่วโลกด้วย

เครือข่ายประชาชนปฏิรูปตำรวจ (คป.ตร.) Police  Watch
 21 มิถุนายน 2561


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"