นายกฯ ร่ายยาววันแรกคลายล็อกหลายกิจการ ขอยังเข้มงวดมาตรการ พร้อมพลิกโฉมประเทศไทย


เพิ่มเพื่อน    

1 ต.ค. 64 - พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม โพสต์เฟซบุ๊ก“ประยุทธ์ จันทร์โอชา Prayut-Chan-o-cha” ระบุว่า พี่น้องประชาชนที่รักทุกท่าน วันนี้ (1 ต.ค) ถือเป็นวันเริ่มต้นมาตรการใหม่ของ ศบค. ที่มีการอนุญาตให้เปิดหลายกิจการและสถานที่ ไม่ว่าจะเป็นสถานรับเลี้ยงเด็ก พิพิธภัณฑ์ ห้องสมุด โรงภาพยนตร์ โรงละคร มหรสพ สปา ร้านนวดแผนไทย ร้านเสริมสวย คลินิกเสริมความงาม ฟิตเนส โรงเรียนและสถาบันกวดวิชา และอื่นๆ รวมถึงการอนุญาตให้มีการแสดงดนตรีในร้านอาหาร การจัดแสดงพื้นบ้านต่างๆ และมีการเลื่อนช่วงเวลาเคอร์ฟิวไปถึง4 ทุ่ม ทำให้ธุรกิจและผู้ประกอบการสามารถเปิดกิจการได้นานขึ้น มีโอกาสสร้างรายได้เพิ่มขึ้น พี่น้องหลายอาชีพที่ต้องหยุดงานไปได้กลับมาทำงานอีกครั้ง โดยเป็นการอนุญาตตามมาตรการควบคุมโรคที่ต้องเข้มงวดและเคร่งครัดตามที่กำหนดไว้ ซึ่งผมเชื่อเป็นอย่างยิ่งว่า ทั้งผู้ประกอบการพนักงาน เจ้าหน้าที่ และพี่น้องทุกคนจะให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี เนื่องจากทราบดีว่าหากเราไม่ช่วยกัน ยอดผู้ติดเชื้อก็อาจจะกลับมาสูงขึ้นอีกครั้ง และจำเป็นต้องกลับไปปิดสถานที่อีก ซึ่งไม่มีใครต้องการให้เกิดการล็อกดาวน์อีกครั้งอย่างแน่นอน

ผมยังคงเชื่อว่า หากเราสามารถดำเนินการตามแผนที่ได้วางไว้ เข้มงวดกับมาตรการควบคุมโรค สถานการณ์การต่อสู้กับโควิดของไทย จะดีขึ้นเรื่อยๆ และเราจะไม่ต้องย้อนกลับไปสู่การล็อกดาวน์ที่น่าเจ็บปวดอีก ในขณะนี้เรายังรักษายอดผู้ติดเชื้อและผู้เสียชีวิตในระดับทรงตัวแบบค่อยๆลดลง ทำให้อัตราครองเตียงในโรงพยาบาลลดลงอย่างเห็นได้ชัด โรงพยาบาลสนามหลายแห่ง รวมทั้งโรงพยาบาลบุษราคัม สามารถปิดตัวลงได้เนื่องจากไม่มีผู้ป่วยใหม่ ช่วยบรรเทาภาระให้แก่แพทย์-พยาบาล การหาเตียงให้ผู้ป่วยในทุกระดับอาการจึงไม่เป็นปัญหาอีกต่อไป โรงพยาบาลต่างๆไม่ต้องปิดรับผู้ป่วยโรคอื่นๆ หรือเรียกได้ว่า ระบบสาธารณสุขของไทย ผ่านพ้นช่วงวิกฤตและกลับคืนสู่สภาพปกติแล้ว ซึ่งแสดงถึงความแข็งแกร่งของระบบสาธารณสุขไทย และความสามารถของบุคลากรการแพทย์ไทยที่ไม่แพ้ชาติใดในโลกเลย

ปัจจัยหนึ่งที่สำคัญอย่างยิ่งที่ทำให้เราผ่านวิกฤตกับโควิดในระลอกนี้มาได้ ก็คือการฉีดวัคซีน ซึ่งตั้งแต่เดือนกันยายนเป็นต้นมา การดำเนินการฉีดวัคซีนโควิด-19 ตามวาระแห่งชาตินั้น เราทำได้ดีขึ้นอย่างมากจากปริมาณวัคซีนที่ได้เพิ่มขึ้น ทำให้เราสามารถระดมฉีดวัคซีนได้วันละหลายแสนโดส โดยในวันที่ 24 ก.ย. ที่ผ่านมา สามารถฉีดวัคซีนได้ถึงมากกว่า 1 ล้านโดส และรัฐบาลยังไม่หยุดในการจัดหาวัคซีนเพิ่มเติมจากทั่วโลก จนในขณะนี้ ยอดเป้าหมายวัคซีนของเราจนถึงสิ้นปีนี้เพิ่มจาก 100 ล้านโดสที่เป็นเป้าหมายเดิม ไปสู่ 178.2 ล้านโดสแล้ว และในปีหน้า เราก็จะได้วัคซีนโควิด-19 ที่ผลิตโดยองค์กรของไทยเองอีกหลายชนิด จึงเชื่อได้ว่า วันนี้เราสามารถผ่านพ้นอีกวิกฤตหนึ่ง คือวิกฤตการขาดแคลนวัคซีนโควิด-19 ที่เราเคยเผชิญมา และจะไม่ย้อนกลับไปสู่ปัญหาเดิมอีกแล้ว การพยายามจัดหาวัคซีนอย่างเต็มที่ในทุกๆทางของรัฐบาลในช่วงเวลาที่ผ่านมา ทำให้เรามีวัคซีนอย่างเพียงพอและหลากหลายประเภท มีทางเลือกในการกำหนดนโยบายใช้วัคซีนแต่ละประเภทสร้างภูมิคุ้มกันให้กับกลุ่มประชาชนที่เหมาะสม เพื่อการเปิดเมือง เปิดประเทศที่มั่นคงและปลอดภัย ผมต้องขอขอบคุณ “ทีมประเทศไทย” ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องกับการเจรจาจัดหาวัคซีน รวมทั้งนักวิจัยและพัฒนาวัคซีนโควิด-19 สายพันธุ์ไทย ที่เราคนไทยทุกคนต้องขอแสดงความชื่นชมเป็นอย่างยิ่ง

​เมื่อสถานการณ์การต่อสู้กับโรคร้ายเริ่มคลี่คลายลง ก็เป็นช่วงเวลาแห่งภารกิจที่สำคัญต่อชีวิตพี่น้องประชาชนไม่แพ้กัน นั่นคือการฟื้นฟูเศรษฐกิจ ปากท้องของคนทำมาหากิน ซึ่งผมและรัฐบาลมีความเป็นห่วงกังวลอยู่ตลอดเวลา และคอยคิดหาทางแก้ไขในการประชุมทุกครั้ง

เมื่อวานนี้ (30 ก.ย.) ที่ประชุมศูนย์บริหารสถานการณ์เศรษฐกิจ (ศบศ.) ผมได้เร่งรัดให้มีการดำเนินการโครงการทางเศรษฐกิจที่รัฐบาลได้ให้นโยบายไว้ ไม่ว่าจะเป็นการเยียวยานายจ้างและผู้ประกันตน ม.33, 39, 40 ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด โดยกระทรวงแรงงาน ซึ่งมีผู้ประกันตนได้รับการเยียวยาไปแล้วกว่า 12 ล้านคนจากกิจการมากกว่า 11 ล้านแห่ง และมีนายจ้างมากกว่า 1.5 แสนกิจการที่ได้รับการช่วยเหลือ รวมแล้วมีเงินอัดฉีดเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจถึงมากกว่า 9 หมื่นล้านบาท นอกจากนั้นยังมีมาตรการช่วยเหลือฟื้นฟูภาคธุรกิจด้านการเงิน โดยธนาคารแห่งประเทศไทยซึ่งมียอดสินเชื่อฟื้นฟูที่อนุมัติแล้ว มากกว่า 1 แสนล้านบาท มีกิจการที่ได้รับความช่วยเหลือมากกว่า3 หมื่นราย ซึ่งกระจายตัวไปสู่ SME ที่เป็นกระดูกสันหลังของการจ้างงานในประเทศได้อย่างทั่วถึงและเป็นกิจการในต่างจังหวัดมากถึง 68% รวมทั้งโครงการพักทรัพย์ พักหนี้ ที่ช่วยเหลือลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบ มียอดอนุมัติเข้าร่วมโครงการแล้วถึงมากกว่า 1.5 หมื่นล้านบาท นอกจากนั้นยังมีการพิจารณามาตรการใหม่เพิ่มเติม คือการรักษาระดับการจ้างงานในธุรกิจ SME (Job Retention & SME Boost Up) โดยรัฐจะจ่ายเงินอุดหนุนเพื่อส่งเสริมและรักษาการจ้างงานผ่านนายจ้างทุกเดือน

ในการฟื้นฟูเศรษฐกิจนั้น อีกหนึ่งภาคอุตสาหกรรมสำคัญ ที่เป็นแหล่งรายได้หลักของประเทศ และได้รับผลกระทบอย่างหนักในช่วงที่ผ่านมา นั่นคือภาคการท่องเที่ยว ทำให้ผมต้องคิดหาวิธีการที่จะรักษาสมดุลระหว่างการควบคุมโรคและการเปิดรับนักท่องเที่ยว สร้างรายได้ให้แก่พี่น้องประชาชนอีกครั้ง จึงได้เกิดโครงการ “ภูเก็ต แซนด์บอกซ์” เป็นโมเดลพื้นที่ทดลองตั้งแต่เดือน ก.ค. ที่ผ่านมา ซึ่งความสำเร็จของภูเก็ต แซนด์บอกซ์ ทำให้เราสามารถขยายโครงการไปยังพื้นที่ท่องเที่ยวอื่นๆ ซึ่งเรียกว่า Phuket Extension (ภูเก็ต + สุราษฎร์ธานี กระบี่ พังงา และ 7 เกาะท่องเที่ยว) และตามมาด้วยโครงการ Samui Plus ที่เกาะสมุย ซึ่งนับตั้งแต่ 1 ก.ค. - 27 ก.ย.64 (รวม 89 วัน) โครงการ Phuket Sandbox และ Samui Plus สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจกว่า 2,330 ล้านบาท โดยPhuket Sandbox ได้รับนักท่องเที่ยวทั้งหมด 37,576 คน เกิดค่าใช้จ่ายเฉลี่ย 5,500 บาทต่อวัน และวันพักเฉลี่ย 11 วัน (หรือประมาณ 61,000 บาทต่อคนต่อทริป) คิดเป็นการสร้างรายได้รวมมากกว่า2,254 ล้านบาท ปัจจุบันมียอดการจองที่พักทั้งสิ้น (ก.ค. 64 - ก.พ. 65) รวม 695,418 วัน ส่วน Phuket Extension ที่ผ่านมามีนักท่องเที่ยว 384 คน วันพักเฉลี่ย 5.2 วัน ก่อให้เกิดรายได้มากกว่า 12 ล้านบาท ในขณะที่ Samui Plus นั้น มีนักท่องเที่ยว 878 คน ค่าใช้จ่ายเฉลี่ยประมาณ 6,000 บาทต่อวันและวันพักเฉลี่ย 12.6 วัน ก่อให้เกิดรายได้ มากกว่า 66 ล้านบาท ซึ่งผมเห็นว่าเป็นความสำเร็จเบื้องต้นที่งดงาม และไม่ได้ก่อให้เกิดผลกระทบต่อการแพร่ระบาดโรคจนไม่สามารถควบคุมได้

จากความสำเร็จนี้ รัฐบาลจึงเดินหน้าต่อไปในการขยายผล ตามแนวทาง “พลิกโฉมประเทศไทย” โดยจะทำการ “พลิกโฉมภูเก็ต” ให้เป็นจุดหมายระดับโลก (World-Class Destination) ที่เน้นนักท่องเที่ยวคุณภาพและการท่องเที่ยวที่ยั่งยืน รวมถึงผู้ที่มา “ทำงานด้วย เที่ยวไปด้วย” (Workation) ตั้งแต่ไตรมาส 4 ปี 2564 – ไตรมาส 1 ปี 2565 โดยคาดว่าจะมีชาวต่างประเทศ ทั้งนักท่องเที่ยวและเข้ามาทำงาน เฉลี่ยไม่น้อยกว่า 5,000 คนต่อวัน (รวม 1 ล้านคน) และจะสร้างรายได้ไม่น้อยกว่า 60,000 ล้านบาท ซึ่งมีความเป็นไปได้สูงที่จะมีเที่ยวบินเช่าเหมาลำจากทวีปยุโรป (รัสเซียอังกฤษ กลุ่มประเทศนอร์ดิก เยอรมนี เป็นต้น) กว่า 500,000 คน ช่วงฤดูหนาวนี้ (ต.ค. 64 - มี.ค. 65) โดยจะมีการลงทุนเพิ่มเพื่อพัฒนาระบบการลงทะเบียนต่างๆ แบบออนไลน์ สำหรับอำนวยความสะดวกแก่นักท่องเที่ยวต่างประเทศ เช่น ใบรับรองการฉีดวัคซีน ใบรับรองสุขภาพ ผลตรวจโควิดเป็นต้น ซึ่งผมและรัฐบาลจะเร่งดำเนินการผลักดันนโยบายนี้ให้สำเร็จโดยเร็ว เพื่อเตรียมพร้อมรับนักท่องเที่ยวในหลายประเทศที่ฉีดวัคซีนแล้วและพร้อมเดินทางท่องเที่ยวในช่วงวันหยุดเทศกาลฤดูหนาวนี้ หลังจากที่ต้องผ่านการล็อกดาวน์มาเช่นกันในช่วงที่ผ่านมา รวมถึงการเตรียมความพร้อมในการเปิดเมืองอื่นๆนอกจากภูเก็ตในระยะต่อไปด้วย ซึ่งในตอนนี้ เป็นที่น่าภูมิใจว่าหลายจังหวัดและพื้นที่ของไทย เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่ติดอันดับระดับโลก ไม่ว่าจะเป็นกรุงเทพ ที่ได้รับการจัดอันดับว่าเป็นเมือง Workation อันดับหนึ่งของโลก รวมถึงภูเก็ต สมุย เชียงใหม่ กระบี่ และอีกหลายแห่ง

ดังนั้นพวกเราเอง ทั้งผู้ประกอบการ ภาคบริการ จังหวัด และพี่น้องประชาชน ต้องช่วยกันคิดว่า จะทำอย่างไร จะให้ชาวต่างชาติที่เลือกเดินทางมาประเทศไทยหลังล็อกดาวน์นี้ ได้สัมผัสกับความเป็นไทย ยิ้มสยาม ความจริงใจ การต้อนรับที่อบอุ่น และน้ำใจคนไทยในฐานะ “เจ้าบ้าน” รวมทั้งความรู้สึกปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน ตลอดระยะเวลาที่พักผ่อน หรือทำงานอยู่ในประเทศไทยซึ่งเราชาวไทยทุกคนจะต้องช่วยกัน สร้างบรรยากาศความประทับใจให้เกิดขึ้น ช่วยให้ชาวต่างชาติที่มีคุณภาพเหล่านี้คิดถึง และอยากกลับมาบ้านเราอีกบ่อยๆ ใช้เวลาอยู่นานๆ และบอกต่อกันไปถึงความน่าเที่ยว น่าทำงาน และ “น่าอยู่” ของประเทศไทย ให้เกิด “World-Class Destination” เพิ่มขึ้นในทุกๆแห่งที่พวกเขาได้ไปสัมผัสนะครับ

 

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"