เครือข่ายคนจนเมืองจัดกิจกรรม ‘วันที่อยู่อาศัยโลก 2564’ เจรจาคมนาคมขอใช้ที่ดิน รฟท.รองรับชุมชนโดนไล่รื้อ ด้าน พอช.ตั้งเป้าแก้ปัญหาที่อยู่อาศัยปีหน้า 3 หมื่นครัวเรือน


เพิ่มเพื่อน    

ผู้แทน UN ประจำประเทศไทย (ซ้าย) รับมอบหนังสือแถลงการณ์จากผู้แทนเครือข่ายสลัม 4 ภาค (ขวา)

 

          ถนนราชดำเนินนอกสลัม 4 ภาคและเครือข่ายคนจนเมืองจัดกิจกรรม วันที่อยู่อาศัยโลก 2564’  เจรจาแก้ปัญหาที่ดินชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากโครงการพัฒนาที่ดินและเส้นทางรถไฟในกรุงเทพฯ    ขณะที่มีชุมชนทั่วประเทศใน 36 จังหวัดเกือบ 40,000 ครัวเรือนได้รับผลกระทบจากโครงการ รฟท. เตรียมขอเช่าที่ดินสร้างที่อยู่อาศัยใหม่  เผยสถานการณ์โควิดส่งผลกระทบด้านเศรษฐกิจทำให้กลุ่มผู้เช่าบ้านต้องกลายเป็นคนไร้บ้านหน้าใหม่  ด้าน พอช.ตั้งเป้าแก้ปัญหาที่อยู่อาศัยปีหน้า 30,000 ครัวเรือน

          องค์การที่อยู่อาศัยแห่งสหประชาชาติ (UN – HABITAT)   กำหนดให้วันจันทร์แรกของเดือนตุลาคมของทุกปี เป็น วันที่อยู่อาศัยโลก หรือ ‘World Habitat Day’  เริ่มตั้งแต่ปี 2528  โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ประเทศต่าง ๆ ในโลกให้ความสำคัญกับสถานการณ์การอยู่อาศัยและการตั้งถิ่นฐานของมนุษย์  ตลอดจนตระหนักถึงสิทธิพื้นฐานของการมีที่อยู่อาศัยที่เหมาะสมของประชากรทุกคนบนโลก

 

 

          ปีนี้วันที่อยู่อาศัยโลกตรงกับวันจันทร์ที่ 4 ตุลาคม  ในประเทศไทย  เครือข่ายสลัม 4 ภาค  ร่วมกับภาคีเครือข่าย  เช่น  ศูนย์รวมพัฒนาชุมชน  กลุ่มพัฒนาชุมชนใต้สะพาน  เครือข่ายชุมชนริมทางรถไฟสายใต้-ตะวันตก  มูลนิธิพัฒนาที่อยู่อาศัย (มพศ.) สหพันธ์พัฒนาองค์กรชุมชนคนจนเมืองแห่งชาติ (สอช.) จัดกิจกรรมรณรงค์เนื่องในวันที่อยู่อาศัยโลกที่บริเวณหน้ากระทรวงคมนาคม  ถนนราชดำเนินนอก  เพื่อติดตามการแก้ไขปัญหาที่ดินของการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) รองรับชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากการพัฒนาที่ดินและเส้นทางรถไฟ  โดยมีประชาชนจากเครือข่ายต่างๆ เข้าร่วมประมาณ 1,500 คน  และมีผู้แทน UN  ประจำประเทศไทยมารับมอบหนังสือแถลงการณ์การแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยคนจนจากตัวแทนเครือข่าย

 

สลัม 4 ภาคเจรจาใช้ที่ดิน รฟท.รองรับชุมชนในกรุงเทพฯ 

          โดยในวันนี้ (4 ตุลาคม)  ตัวแทนเครือข่ายสลัม 4 ภาคได้เข้าร่วมประชุมกับผู้แทนกระทรวงคมนาคม  โดยมีนายวิรัช พิมพะนิตย์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม  เป็นผู้แทน  เพื่อเจรจาตามข้อสั่งการของนายศักดิ์สยาม  ชิดชอบ  รมว.คมนาคมที่ให้ รฟท. แบ่งปันที่ดิน  รฟท. ย่าน กม. 11 เขตจตุจักร  ซึ่ง รฟท.มีแผนพัฒนาเป็นย่านธุรกิจการค้า  เนื้อที่ประมาณ 325 ไร่  และที่ดินบริเวณนิคมรถไฟมักกะสัน  เขตราชเทวี  เนื้อที่ประมาณ 497 ไร่  ซึ่ง รฟท.ให้บริษัทเอกชนสัมปทานพื้นที่จัดทำโครงการพัฒนารองรับโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา)

 

การจัดกิจกรรมรณรงค์หน้ากระทรวงคมนาคม  ถนนราชดำเนินนอก

 

          รายงานข่าวจากที่ประชุมแจ้งผลการประชุมดังนี้  1.กรณีที่ดินแปลงซอยหมอเหล็ง  พื้นที่แปลง 1  2 และ 3 รวมเนื้อที่ 7 ไร่   รฟท.จะใช้เป็นพื้นที่เพื่อแก้ไขปัญหาชุมชนซอยหมอเหล็งและชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากโครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าเชื่อม   3 สนามบิน (ชุมชนบุญร่มไทร  ชุมชนแดงบุหงา  ชุมชนหลังกรมทางหลวง   ชุมชนหลังโรงพยาบาลเดชา ชุมชนหลังอาร์ซีเอ

          ส่วนรูปแบบที่อาศัยเป็นรูปแบบอาคารสูง  ขนาดพื้นที่ห้อง 30-40 ตารางเมตร  ส่วนจะสูงกี่ชั้นให้คำนึงถึงความเพียงพอในการใช้ที่ดินเพื่อรองรับชุมชน   และความสามารถในการผ่อนชำระรายเดือนและค่าใช้จ่ายส่วนกลางรายเดือน  และให้มีพื้นที่ส่วนกลางสำหรับเป็นพื้นที่ใช้สอย  เช่น  ร้านค้าชุมชน และอื่นๆ   ส่วนพื้นที่แปลงที่ 4 จำนวน 8 ไร่   การรถไฟฯ จะร่วมกับชุมชนเพื่อปรับผังชุมชนให้เช่าเป็นที่อยู่อาศัยในระยะต่อไป

          2 . กรณีชุมชนในย่าน กม.1 1 เขตจตุจักรและบางซื่อ (ชุมชนพัฒนา กม. 11  ชุมชนริมคลอง กม. 11  และชุมชนบางซื่อ) ในเบื้องต้น   รฟท.จะจัดที่ดินรองรับเนื้อที่ 5 ไร่  บริเวณ กม. 11 และบางซื่อ   รูปแบบที่อาศัยเป็นรูปแบบอาคารสูง  ส่วนความสูงกี่ชั้นให้คำนึงถึงความเพียงพอในการใช้ที่ดินเพื่อรองรับและความสามารถของชุมชนในการผ่อนชำระรายเดือนและค่าใช้จ่ายส่วนกลาง   และให้มีพื้นที่ส่วนกลางสำหรับเป็นพื้นที่ใช้สอย   เช่น   ร้านค้าชุมชน  และอื่นๆ

          3. กรณีชุมชนในย่านมักกะสัน  ชุมชนริมทางรถไฟมักกะสัน  ชุมชนนิคมมักกะสัน  ชุมชนหลังวัดมักกะสัน  ชุมชนโรงเจมักกะสัน   ขอกลับไปหารือกับอนุกรรมการแก้ไขปัญหาที่ดินที่เกี่ยวข้องกับกระทรวงคมนาคม เพื่อหาที่ดินแปลง รองรับได้

          4. กรณีชุมชนหลังอาร์ซีเอ  ชุมชน กม. 1 1  ชุมชนบุญร่มไทร   ชุมชนแดงบุหงา และชุมชนหลังกรมทางหลวงที่ถูกหมายศาล และอยู่ระหว่างดำเนินการขอเช่าที่ดิน   ขอให้ชุมชนเสนอรายชื่อผู้ที่ถูกหมายศาล  และมีความประสงค์ที่จะเข้าโครงการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัย  เพื่อ รฟท.จะไปแถลงต่อศาลว่าผู้ที่ถูกฟ้องร้องได้เข้าร่วมโครงการ  และขอชะลอการดำเนินคดี

 

 

ที่ดิน รฟท.จะแล่นไปทางไหน ?

          ปัจจุบันการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) กำลังเดินหน้าพัฒนาโครงข่ายทางรถไฟทั่วประเทศ  เช่น  โครงการรถไฟรางคู่  รถไฟความเร็วสูง  และรถไฟความเร็วสูงเชื่อม สนามบิน คือ ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา  ฯลฯ  โดยเฉพาะรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบินทำให้เกิดผลกระทบต่อชาวชุมชนริมทางรถไฟในกรุงเทพฯ ที่จะต้องรื้อย้ายบ้านเรือนออกจากแนวรถไฟ   กระทรวงคมนาคมจึงได้จัดตั้งคณะอนุกรรมการขึ้นมาเพื่อแก้ไขปัญหาร่วมกันตั้งแต่ช่วงปลายปี 2563  

          จากการสำรวจข้อมูลชุมชนที่จะได้รับผลกระทบจากแผนการพัฒนาโครงข่ายทางรถไฟของ รฟทโดยเครือข่ายสลัม 4 ภาค  สหพันธ์พัฒนาองค์กรชุมชนคนจนเมืองแห่งชาติ (สอช.) และสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) เบื้องต้นพบว่า  มีชุมชนผู้ที่มีรายได้น้อยที่ตั้งอยู่ริมทางรถไฟและที่ดินที่ รฟท.จะนำมาพัฒนาทั่วประเทศรวม 36 จังหวัด  จำนวน 397 ชุมชน  รวม 39,848 หลังคาเรือน  โดยชุมชนเหล่านี้ส่วนใหญ่เป็นชุมชนที่ไม่ได้ทำสัญญาเช่าที่ดินกับ รฟทจึงมีแผนจะขอเช่าหรือแบ่งปันที่ดินจาก รฟท.เพื่อนำมาพัฒนาที่อยู่อาศัยตามโครงการบ้านมั่นคงของสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ

          ส่วนเส้นทางรถไฟที่อยู่ในระหว่างการก่อสร้างหรือมีแผนจะพัฒนา  สายใต้  เช่น  นครปฐม  ราชบุรี  เพชรบุรี  ประจวบคีรีขันธ์  ตรัง  สงขลา  ฯลฯ  สายเหนือ  นครสวรรค์  อุตรดิตถ์  พิษณุโลก  แพร่  เชียงราย  ฯลฯ  สายอีสาน  เช่น  สระบุรี  นครราชสีมา  ขอนแก่น  หนองคาย  ฯลฯ  สายตะวันออก เช่น  ฉะเชิงเทรา  ชลบุรี  ระยอง  ฯลฯ 

          ทั้งนี้ในช่วง 1-3 ปีที่ผ่านมา  มีชุมชนริมทางรถไฟหลายสิบชุมชนที่ถูกฟ้องร้องขับไล่ออกจากที่ดิน รฟทส่วนใหญ่เป็นชุมชนที่ไม่ได้ทำสัญญาเช่าที่ดินกับ รฟทเช่น  ชุมชนริมทางรถไฟ อ.ห้วยยอด  และ อ.เมือง จ.ตรัง  ชุมชนหินเหล็กไฟ  อ.หัวหิน  จ.ประจวบคีรีขันธ์   ชุมชนพัฒนา กม.11   ชุมชนริมคลอง กม. 11 เขตจตุจักร  ชุมชนริมทางรถไฟย่านราชเทวี  กรุงเทพฯ

 

 

          เชาว์  เกิดอารีย์  ผู้ประสานงานเครือข่ายชุมชนคนเมืองผู้ได้รับผลกระทบจากรถไฟ (ชมฟ.) บอกว่า  ผลกระทบจากโครงการพัฒนาที่ดินของการรถไฟฯ ในกรุงเทพฯ  ทำให้ชาวชุมชนต่างๆ เหล่านี้รวมตัวกันเป็น เครือข่ายชุมชนคนเมืองผู้ได้รับผลกระทบจากรถไฟ หรือ ชมฟ. ในปี 2563  เพื่อหาทางออกร่วมกับการรถไฟฯ 

          โดยกระทรวงคมนาคมได้แต่งตั้งคณะอนุกรรมการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยในที่ดิน รฟท.ขึ้นมา  มีตัวแทนชาวบ้าน  สลัม 4 ภาค  สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ และการรถไฟฯ  ร่วมเป็นคณะกรรมการ  มีการประชุมร่วมกันเพื่อหาทางออกหลายครั้ง  ล่าสุดนายศักดิ์สยาม  ชิดชอบ  รมว.คมนาคม  มีคำสั่งให้ รฟท.แบ่งปันที่ดินย่าน กม. 11 เขตจตุจักร  และที่ดินนิคมรถไฟมักกะสัน   เขตราชเวที  เพื่อให้ชาวชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากโครงการรถไฟเชื่อม 3 สนามบินเช่าเพื่อสร้างที่อยู่อาศัย 

          “ชาวชุมชนที่อาศัยอยู่ในที่ดินของการรถไฟฯ ส่วนใหญ่เป็นคนหาเช้ากินค่ำ  ทำงานรับจ้างอยู่ในเมือง เช่น เป็นแม่บ้านทำความสะอาด เป็น รปภขับมอเตอร์ไซค์รับจ้าง  หรือขายอาหารเล็กๆ น้อยๆ  เมื่อการรถไฟฯ จะเอาที่ดินคืน  พวกเราก็ไม่ได้ต่อต้าน  แต่มีข้อเสนอคือ  ขอเช่าที่ดินรถไฟฯ อย่างถูกต้อง  เพื่อก่อสร้างบ้านใหม่ให้เป็นระเบียบ  ไม่เป็นชุมชนแออัดเหมือนทุกวันนี้  โดยจะขอเช่าอยู่ในที่ดินเดิม  หรือไม่ไกลจากที่เดิมเกิน 5 กิโลเมตรเพื่อทำมาหากินอยู่ในเมืองได้ เชาว์บอก

          เขาบอกด้วยว่า  ที่ดินบริเวณนิคมรถไฟมักกะสัน  เนื้อที่ทั้งหมดประมาณ 497 ไร่  บริษัทซีพีได้สัมปทานจาก รฟท. เพื่อทำโครงการธุรกิจเนื้อที่ 150 ไร่  เชื่อมกับโครงการรถไฟความเร็วสูง 3 สนามบิน (ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา) นั้น  ยังมีเนื้อที่เหลืออีกหลายร้อยไร่  เครือข่ายชุมชนคนเมืองฯ จึงขอแบ่งปันที่ดินแปลงนี้จำนวน 5 %  หรือประมาณ 28 ไร่  และที่ดินย่าน กม. 11 ย่านจตุจักรและบางซื่อ  ขอแบ่งปัน 13 ไร่  เพื่อนำมาสร้างที่อยู่อาศัยรองรับชาวชุมชนริมทางรถไฟในกรุงเทพฯ ที่ได้รับผลกระทบ   ดังนั้นเมื่อผลการเจรจาขอเช่าที่ดินจาก รฟท.ยังไม่ได้ข้อยุติทั้งหมด  เครือข่ายชุมชนคนเมืองผู้ได้รับผลกระทบจากรถไฟก็จะต้องเจรจาเพื่อเรียกร้องสิทธิในการอยู่อาศัยต่อไป

 

เผยผลสำรวจกลุ่มเช่าห้องพักได้รับผลกระทบจากโควิด - 19 กลายเป็นคนไร้บ้าน

          อย่างไรก็ตาม  นอกจากข้อเรียกร้องการแก้ไขปัญหาที่ดิน รฟท.ดังกล่าวแล้ว  สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา  ทำให้มีคนตกงาน  มีรายได้ลดน้อยลง  ส่งผลถึงความมั่นคงด้านที่อยู่อาศัย   โดยเฉพาะกลุ่มคนที่อาศัยอยู่ในห้องเช่าและบ้านเช่าราคาถูก  ทำให้บางส่วนต้องหลุดออกจากห้องเช่าและมาอาศัยอยู่ในพื้นที่สาธารณะ

          เฟสบุคส์เครือข่ายสลัม 4 ภาค  ระบุว่า  มูลนิธิพัฒนาที่อยู่อาศัย  สมาคมคนไร้บ้าน  กลุ่มเพื่อนคนไร้บ้าน  เครือข่ายสลัม 4 ภาค และทีมอาสาสมัครคนไร้บ้าน  ได้ร่วมกันสำรวจข้อมูลกลุ่มผู้ที่หลุดจากห้องเช่า และกลุ่มผู้ที่ยังอยู่ในห้องเช่าราคาถูกที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิดในเขตเมือง  9 จังหวัด  คือ  กรุงเทพฯ  นนทบุรี  ปทุมธานี  กาญจนบุรี    ชลบุรี  ระยอง  จันทบุรี   เชียงใหม่  และขอนแก่น  รวม 216  กรณีตัวอย่าง   

 

 

          จาการสำรวจพบว่า   คนส่วนใหญ่ที่พักอาศัยในห้องเช่า หรือบ้านเช่าราคาถูก  เป็นคนจากต่างจังหวัด  ต่างอำเภอ  ถึงร้อยละ 46 ลักษณะการพักอาศัยร้อยละ 66 เป็นลักษณะครอบครัว  ขนาดห้องเช่าส่วนใหญ่ 3.5 x 4 เมตร  ก่อสร้างด้วยปูน  ไม่มีการตบแต่ง หรือมีสิ่งอำนวยความสะดวกใด ๆ  ราคาค่าเช่าห้องอยู่ระหว่าง 1,000 – 2,000 บาทต่อเดือน  และระยะทางจากที่พักอาศัยถึงสถานที่ทำงาน  อยู่ในระยะ 1- 5 กิโลเมตร  มากถึงร้อยละ 79  และส่วนใหญ่ร้อยละ 43 ระบุว่า ไม่มีค่าใช้จ่ายในการเดินทาง  จึงประเมินได้ว่า ผู้เช่าห้องส่วนใหญ่ต้องการเช่าห้องในเมือง  ใกล้แหล่งงาน  ถึงแม้สภาพห้องเช่าจะไม่กว้างขวางสะดวกสบายก็ตาม

          “ที่สำคัญคือ  ร้อยละ 64 ประสบปัญหารายได้ลดลงจากการจ้างงานที่ลดลง   และร้อยละ 10 ต้องตกงาน  จึงส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตความเป็นอยู่ของผู้เช่าห้อง  ไม่สามารถจ่ายค่าเช่าห้องได้อย่างปกติมากกว่าร้อยละ 60  และต้องออกมารับอาหาร  หรือของบริจาคอื่น ๆ จากเอกชน   เพื่อแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่าย  และมากไปกว่านั้น  พบว่า  ผู้เช่าห้องร้อยละ 15  ต้องออกจากห้องเช่ามาใช้ชีวิตในที่สาธารณะ  เป็นคนไร้บ้านหน้าใหม่  ซึ่งหากไม่มีนโยบายหรือมาตรการในการช่วยเหลือสนับสนุน  คนกลุ่มนี้อาจต้องกลายเป็นคนไร้บ้านถาวร  หรือแม้แต่ผู้ที่ยังสามารถอยู่ในห้องเช่าได้ก็ต้องอยู่ในสภาวะที่เสี่ยงต่อการหลุดออกมาจากห้องเช่าได้ตลอดเวลา  เฟสบุคส์สลัม 4 ภาคระบุ

          เนื่องในวันที่อยู่อาศัยโลกปีนี้  มูลนิธิพัฒนาที่อยู่อาศัย สมาคมคนไร้บ้าน กลุ่มเพื่อนคนไร้บ้าน และเครือข่ายสลัม 4 ภาค ซึ่งเป็นองค์กรภาคประชาชาชนที่ทำงานกับกลุ่มเปราะบางต่างๆ มาอย่างต่อเนื่อง จึงมีข้อเรียกร้องไปยังรัฐบาลเพื่อให้มีมาตรการในการสนับสนุนช่วยเหลือกลุ่มผู้เช่าห้องเช่าราคาถูก  เพื่อให้เข้าถึงสิทธิพื้นฐาน  มาตรการความปลอดภัยจากโรคระบาดโควิด-19  และการสนับสนุนด้านอื่น ๆ เพื่อให้ดำรงชีวิตในสถานการณ์วิกฤตได้ โดยมีข้อเสนอดังนี้

          มาตราการเฉพาะหน้า  1. กรณีผู้ที่ต้องออกจากห้องเช่า  จากผลกระทบของภาวะวิกฤตโควิด รัฐต้องจัดหาที่อยู่อาศัยรองรับชั่วคราวระยะสั้น 3-6 เดือนในเมือง ใกล้แหล่งประกอบอาชีพ  2.จัดให้มีหน่วยงานมาส่งเสริมและพัฒนาอาชีพสำหรับคนตกงาน  ทั้งผู้ที่หลุดออกมาจากห้องเช่าและผู้ที่ยังอยู่ในห้องเช่า แต่อยู่ในสภาวะที่ยากลำบาก

          3.ให้มีจุดประสานงานในพื้นที่เพื่อให้ผู้เดือดร้อนสามารถประสานขอความช่วยเหลือได้โดยสะดวก  เช่น  การหาที่พักอาศัย  อาชีพ  สิทธิที่จะได้รับการช่วยเหลือเยียวยาอื่น ๆ อุปกรณ์ป้องกันโควิด  การเข้าถึงการฉีดวัคซีน ฯลฯ  4.ต้องผ่อนปรน และลดเงื่อนไขในการเข้าถึงเงินสงเคราะห์ผู้มีรายได้น้อยของกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เพื่อให้ผู้เดือดร้อนสามารถเข้าถึงการช่วยเหลือได้ทันที

          มาตรการระยะยาว 1.ต้องผ่อนคลายมาตรการควบคุมโรคระบาด และมีมาตรการกระตุ้นให้เกิดการจ้างงาน และฟื้นฟูเศรษฐกิจฐานรากให้ผู้คนอยู่ร่วมกับโควิดได้  2.หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งในระดับชาติและระดับท้องถิ่นต้องพัฒนานโยบายการจัดที่พักอาศัยสำหรับเช่าราคาถูกในเมืองที่สอดคล้องกับวิถีชีวิตของกลุ่มคนจนเมืองที่เป็นแรงงานผู้เกื้อหนุนหล่อเลี้ยงคนเมือง ให้มีโอกาสเข้าถึงสวัสดิการด้านที่อยู่อาศัยราคาถูกจากรัฐ

 

พอช.ตั้งเป้าแก้ปัญหาที่อยู่อาศัยปี 2565 รวม 30,000 ครัวเรือน

          ด้านกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.)  โดยสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) หรือ พอช.’  ซึ่งมีภารกิจสำคัญประการหนึ่ง   คือ  การพัฒนาที่อยู่อาศัยชุมชนผู้มีรายได้น้อยในเมืองและชนบททั่วประเทศ  มีแผนแม่บทการพัฒนาที่อยู่อาศัยระยะ 20 ปี (..2560-2579)  เพื่อสนับสนุนการพัฒนาที่อยู่อาศัย 1.โครงการบ้านมั่นเมืองและชนบท  2.บ้านพอเพียงชนบท (ซ่อมสร้างบ้านเรือนที่ทรุดโทรม ฐานะยากจน) 3.การพัฒนาที่อยู่อาศัยชุมชนริมคลองลาดพร้าวและเปรมประชากร  4.ที่พักอาศัยชั่วคราว (ไฟไหม้  ภัยพิบัติ  ไลรื้อ) 5.กลุ่มคนไร้บ้าน  ฯลฯ  รวม 1,053,702  ครัวเรือน

 

โครงการบ้านมั่นคงชุมชนจะร่วมกันบริหารโครงการ  มีส่วนร่วมในการออกแบบบ้านให้ตรงกับความต้องการ

 

          นางสาวศิริมา  ซื้อหา  สำนักบ้านมั่นคงและที่ดิน  พอชกล่าวว่า  ในปี 2564  พอช.มีเป้าหมายโครงการบ้านมั่นคง  เพื่อสนับสนุนการแก้ไขปัญหาชุมชนแออัด  ชุมชนบุกรุก  ทั้งในเมืองและชนบทให้มีที่อยู่อาศัยมั่นคง  มีเป้าหมาย  6,200 ครัวเรือน  ปัจจุบัน (ตุลาคม 2564)  อนุมัติโครงการแล้ว 8,485 ครัวเรือน  วงเงิน 430 ล้านบาทเศษ  โครงการบ้านพอเพียงชนบท  มีเป้าหมาย 15,000 ครัวเรือน   อนุมัติแล้ว  15,876 ครัวเรือน  วงเงิน 303 ล้านบาทเศษ 

          “นอกจากนี้ในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19  พอช.ได้สนับสนุนการแก้ไขปัญหาชุมชนทั้งในเมืองและชนบททั่วประเทศที่ได้รับผลกระทบจากโควิด  โดยชุมชนจัดทำโครงการต่างๆ  เช่น  รณรงค์ป้องกันการติดเชื้อโควิด  แจกจ่ายอุปกรณ์ป้องกัน  จัดทำศูนย์พักคอยดูแลผู้ติดเชื้อโควิดในชุมชน   จัดทำครัว  แจกอาหาร  และสิ่งของจำเป็นแก่ผู้ได้รับผลกระทบ  ส่งเสริมการสร้างแหล่งอาหาร  ปลูกผัก  เพราะเห็ด  เลี้ยงสัตว์  รวมงบประมาณทั้งหมด 62 ล้านบาท  ขณะนี้ดำเนินการแล้วประมาณ 74  เครือข่าย/เมือง  กว่า 800 ชุมชน  รวมครัวเรือนที่ได้รับการช่วยเหลือกว่า 200,000 ครัวเรือน นางสาวศิริมากล่าว

          ส่วนสถานการณ์น้ำท่วมในขณะนี้  นางสาวศิริมากล่าวว่า  พอช.ได้อนุมัติปรับงบช่วยเหลือชุมชนจากสถานการณ์โควิด  เพื่อนำมาสนับสนุนการแก้ไขผลกระทบจากเหตุการณ์น้ำท่วมในภาคเหนือ  อีสาน  ภาคกลางและตะวันตก   จำนวน 12 ล้านบาท   โดยจัดตั้งศูนย์ช่วยเหลือ  แจกถุงยังชีพ  ทำครัวกลาง  ฯลฯ  แจกอาหาร   ส่วนในปีงบประมาณ 2565  รัฐบาลได้อนุมัติงบสนับสนุน พอช.เพื่อแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยชุมชนผู้มีรายได้น้อยตามโครงการต่างๆ   ประมาณ  30,000 ครัวเรือน  รวมงบ  943 ล้านบาทเศษ


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"