'ตุลา' ฝีมืออเมริกา


เพิ่มเพื่อน    

วันนี้ ๖ ตุลาคม
    ๔๕ ปีที่แล้วคือวันมหาวิปโยคของชาติไทย 
    ท่วงทำนองของเหตุการณ์ ๖ ตุลาคม ๒๕๑๙ ในไม่กี่ปีมานี้แปร่งไปพอควร โดยเฉพาะปีนี้ ถูกนำมาเป็นเงื่อนไขโจมตีสถาบันพระมหากษัตริย์เป็นหลัก 
    โดยเฉพาะ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร 
    เรื่องราว ๔๕ ปีที่แล้วถูกเขียนเป็นตำรามากมายหลายเล่ม  
    บางเล่มถูกนำมาตีความใหม่โดยความคิดของนักวิชาการรุ่นใหม่ ที่เกิดไม่ทันเหตุการณ์ ๖ ตุลา มีการเปลี่ยนมุมมองของเรื่องราว 
    จากขวา ก็ขวาอนุรักษนิยมมากขึ้น 
    ซ้าย ก็ซ้ายตกขอบกว่าเดิม 
    โดยภาพรวมคือมุมมองเชิงแยกส่วนโดยตั้งธงไว้แต่แรก ไม่ได้มองถึงภาพรวมของเหตุการณ์ที่มีพัฒนาการแต่ละช่วงเวลา ก่อนนำไปสู่เหตุการณ์วิปโยค 
    แต่ทั้งหมดคือบาดแผลของประเทศไทย ที่ถูกทิ้งไว้ให้คนรุ่นหลัง ได้ถอดบทเรียน ซึ่งมีหลายบทเรียน แต่บางบทเรียนไม่มีใครอยากจะถอดสักเท่าไหร่ 
    เช่น หากพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย ประสบชัยชนะในวันนั้น วันนี้สิทธิเสรีภาพและประชาธิปไตยของคนไทยจะเป็นแบบเวียดนาม จีน คิวบา หรือไม่ 
    ได้ครึ่งสิทธิเสรีภาพที่มีอยู่ในปัจจุบันหรือไม่ 
    ขณะเดียวกันการไม่มีสถาบันพระมหากษัตริย์ ประเทศมีนักการเมืองเป็นประมุข จะดีหรือแย่กว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน 
    การรำลึกเหตุการณ์เดือนตุลา ในยุคที่ประชาชนไม่ได้แบ่งสีเสื้อ นักการเมืองไม่ได้แบ่งขั้ว คือการรำลึกการต่อสู้ในอดีตของคนไทยทั้งชาติ     
    เมื่อบ้านเมืองพัฒนาความขัดแย้ง วันนี้มีแต่คำว่า "การล้มล้าง" การรำลึกเหตุการณ์เดือนตุลา เริ่มจะกลายเป็นการรำลึกของคนเฉพาะกลุ่ม  
    ทั้งที่ประวัติศาสตร์ไม่เคยเปลี่ยน 
    แต่มีคนเข้าไปแบ่งแยกคนจากประวัติศาสตร์  
    วันนี้จึงมีการสรุปแบบสั้นๆ ในโลกโซเชียลของคนรุ่นใหม่ ว่าทุกอย่างเป็นเพราะสถาบันพระมหากษัตริย์ 
    ครับ...ฐานข้อมูลการเมืองการปกครองสถาบันพระปกเกล้า เล่าเรื่องราวบางตอนของเหตุการณ์ ที่มิได้รับรู้กันแพร่หลายนัก นั่นคือ บทบาทของอเมริกา 
    "...การเคลื่อนไหวสนับสนุนการต่อสู้ของกรรมกรชาวนา และคนยากจน การมุ่งที่จะเรียกร้องเอกราชสมบูรณ์โดยคัดค้านการคงอยู่ของทหารและฐานทัพอเมริกาในประเทศไทย
    การขยายตัวของอุดมการณ์สังคมนิยมและการเกิดของพรรคการเมืองแนวทางสังคมนิยมที่ต่อสู้ทางรัฐสภา ที่เสนอคำขวัญให้ประชาชนเป็นใหญ่ในแผ่นดิน 
    ตลอดจนถึงการเกิดกระแสวิพากษ์สังคมและวัฒนธรรมในด้านต่างๆ ที่ดำเนินการโดยขบวนการนักศึกษาเป็นแกนกลางได้ก่อให้เกิดความวิตกอย่างมาก ในหมู่ผู้มีอำนาจและกลุ่มอนุรักษนิยม ที่มีความหวาดกลัวว่าผลประโยชน์ของตนจะต้องถูกกระทบกระเทือน 
    และยิ่งเกิดการปฏิวัติไปสู่สังคมนิยมในประเทศกัมพูชา และเวียดนาม เมื่อเดือนเมษายน พ.ศ. ๒๕๑๘ และการปฏิวัติในลาวเมื่อเดือนธันวาคมปีเดียวกัน อันนำมาสู่การยกเลิกสถาบันกษัตริย์ในลาว ยิ่งก่อให้เกิดความวิตกอย่างยิ่งว่า จะเกิดการเปลี่ยนแปลงในทำนองเดียวกันในประเทศไทย 
    การเคลื่อนไหวของขบวนการนักศึกษา ได้สั่นคลอนผลประโยชน์ของสหรัฐอเมริกาในประเทศไทยเช่นกัน     โดยเฉพาะกรณีการคัดค้านการตั้งฐานทัพในประเทศไทย การต่อต้านการครอบงำทางเศรษฐกิจและการขูดรีดทรัพยากรของสหรัฐ 
    รวมทั้งการเปิดโปงโทษกรรมของอเมริกาในส่วนอื่นๆ  ของโลก 
    ด้วยเหตุนี้จึงสร้างความไม่พอใจให้กับสหรัฐอเมริกาอย่างมาก 
    ความจริงแล้วตั้งแต่หลัง พ.ศ. ๒๔๙๓ หลังการรัฐประหารของจอมพล ป. พิบูลสงคราม ประเทศไทยและสหรัฐก็มีความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดกันมาก 
    สหรัฐได้เริ่มนำเอาระบบอุปถัมภ์เข้ามาใช้ในประเทศไทย  โดยการให้ความช่วยเหลือและค้ำจุนอำนาจของผู้มีอำนาจในประเทศไทย 
    เช่น การที่องค์การสืบราชการลับ ซีไอเอ. สนับสนุน พล.ต.อ.เผ่า ศรียานนท์ และกระทรวงกลาโหมอเมริกาสนับสนุนจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เป็นต้น 
    ในสมัยจอมพลถนอม กิตติขจร และจอมพลประภาส  จารุเสถียร สหรัฐก็ได้ใช้ระบบดังกล่าวค้ำจุนอำนาจเผด็จการของรัฐบาลนั้นไว้เช่นกัน 
    กลายเป็นความสัมพันธ์อันลึกซึ้งระหว่างผู้นำทางการทหารของไทยกับสหรัฐตลอดมา
    หลัง 14 ตุลาคม องค์การของอเมริกาเช่น ซีไอเอ. ยังคงมีบทบาทในประเทศไทยอย่างมาก 
    จากการที่พลเอกสายหยุด เกิดผล ผู้อำนวยการ กอ.รมน. เคยให้สัมภาษณ์เมื่อ พ.ศ. ๒๕๑๗ ยอมรับว่า ซีไอเอ. ยังมีความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดกับกองกำลังตำรวจตระเวนชายแดน 
    และพลโทวิฑูรย์ ยะสวัสดิ์ รองอธิบดีกรมตำรวจก็ให้สัมภาษณ์ว่า ซีไอเอ. กำลังให้ความช่วยเหลือประเทศไทยอย่างจริงจัง 
    และตัวเขาเองยังได้รับรายงานจาก ซีไอเอ. อย่างสม่ำเสมอ 
    แต่ได้กล่าวแก้ต่างว่า ซีไอเอ. เป็นหน่วยงานประชาธิปไตย 
    และเกลียดเผด็จการ 
    เป็นที่เปิดเผยรู้กันทั่วไปว่า ซีไอเอ. เป็นผู้จ่ายเงินสนับสนุนพลโทวิฑูรย์ ยะสวัสดิ์ เป็นหัวหน้าหน่วยเสือพรานซึ่งไปรบในลาวในระยะก่อนหน้านี้
    นอกจากนี้ สหรัฐอเมริกายังเป็นผู้สนับสนุนอย่างแข็งขันต่อ กอ.รมน.ของไทย และรวมทั้งเงินทุนในการก่อตั้งนวพลด้วย
    ในวันที่ ๑๗ สิงหาคม พ.ศ.๒๕๑๘ นายจอห์น รัสกิน ได้เขียนบทความลงในหนังสือพิมพ์สตาร์ทรีบูน ในเมืองมีนิอาโปลิส ในสหรัฐว่า ซีไอเอ.ได้ให้การช่วยเหลือด้านการเงินแก่  'นวพล' และ 'กระทิงแดง' ถึง ๑๒.๕ ล้านเหรียญสหรัฐ 
    และสำหรับการช่วยเหลืออย่างเป็นทางการ รัฐบาลสหรัฐก็ยังให้เงินให้เปล่ากับรัฐบาลไทยถึง ๕๖๖ ล้านบาท
    ดังนั้น แม้ว่ากรณี ๖ ตุลาคมจะไม่ปรากฏหลักฐานว่า องค์กรหรือหน่วยงานใดของสหรัฐอเมริกาจะเกี่ยวข้องโดยตรงกับการสังหารโหด 
    ส่วนการเกี่ยวข้องทางอ้อมหรือท่าทีอย่างลับๆ ของสหรัฐอเมริกาต่อกรณี ๖ ตุลานั้นยังต้องศึกษาต่อไป...
    ปัจจุบันก็มิได้ศึกษาบทบาทอเมริกาในเหตุการณ์เดือนตุลากันมากนัก 
    แต่หลังจากผ่านพ้นเหตุการณ์ ๑๔ ตุลา ๒๕๑๖ ขบวนการนักศึกษา มุ่งไปที่ประเด็นคัดค้านและต่อต้านลัทธิจักรวรรดินิยมของสหรัฐอเมริกา เพื่อจะให้ถอนทหารและฐานทัพอเมริกาออกจากประเทศไทย
    เรียกร้องให้รัฐบาลไทยดำเนินนโยบายเป็นอิสระทางด้านการต่างประเทศ แทนที่จะใช้นโยบายตามหลังอเมริกาแต่เพียงอย่างเดียว รวมทั้งขอให้เลิกสิทธิพิเศษต่างๆ แก่ฝ่ายอเมริกา 
    และดูเหมือนว่าฝ่ายรัฐบาลสหรัฐเองก็จะตระหนักเช่นกันว่าสถานการณ์ในไทย อาจไม่เหมือนเดิมในยุคเผด็จการทหาร 
    ดังนั้นในเดือนพฤศจิกายน ๒๕๑๖ จึงได้ส่งนายวิลเลียม  อาร์. คินเนอร์ (William R. Kinner) มาเป็นเอกอัครราชทูตประจำประเทศไทยคนใหม่ 
    ขณะที่กลุ่มนักศึกษาได้ออกแถลงการณ์ในวันที่ ๒๐  พฤศจิกายน มีใจความตอนหนึ่งว่า    
    ...ฉะนั้น ในโอกาสที่นายวิลเลียม อาร์. คินเนอร์ เอกอัครราชทูตอเมริกันคนใหม่ประจำประเทศไทย เดินทางมารับตำแหน่งนี้ เราจึงขอวิงวอนให้ พ่อแม่ พี่น้อง ประชาชนชาวไทย ได้ให้ความสนใจต่อการมาของบุคคลผู้นี้ให้จงดี เพราะประวัติของบุคคลผู้นี้ มีข้อน่าสังเกตหลายประการคือ
    เคยรับราชการในกองทัพบกอเมริกันเป็นเวลานาน (จาก  ๒๔๘๓-๒๕๐๔)
    เคยเป็นผู้อำนวยการสถาบันวิจัยนโยบายต่างประเทศของ PU ซึ่งเป็นหน่วยงานของ CIA โดยตรง
    เคยเขียนหนังสือร่วมกับกลุ่มที่วางแผนยุทธศาสตร์การปฏิบัติการรบในเอเชียอาคเนย์ ซึ่งทำงานรับใช้กลุ่มนายทุนวอลสตรีท ซึ่งเป็นนักค้าสงคราม..."
    ครับ...นี่คืออีกมุมหนึ่งของเหตุการณ์เดือนตุลาคม 
    หนึ่งในบาดแผลที่อเมริกาสร้างไว้กับคนไทย และคนรุ่นใหม่ควรศึกษาหาความรู้เพิ่มเติม
    ก่อนจะเข้าใจประวัติศาสตร์ผิดเพี้ยนแบบกู่ไม่กลับ.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"