ยํ้าครม.ลงพื้นที่ ช่วยปชช.น้ำท่วม รับมือพายุลูกใหม่


เพิ่มเพื่อน    

 "บิ๊กตู่" กำชับ ครม.ลงพื้นที่ช่วยบ้านน้ำท่วม 7 ต.ค. ล่องใต้ดูแผนบริหารจัดการน้ำนครศรีธรรมราช สั่งเร่งสำรวจความเสียหายจากพายุ "เตี้ยนหมู่" พร้อมเตรียมรับมือพายุลูกใหม่ ด้าน "บิ๊กป้อม” ยันลงพื้นที่ช่วย ปชช.ไม่ใช่การหาเสียง "วราวุธ" เผยฝั่งตะวันตก-เจ้าพระยา ตะวันออก-ป่าสักยังหนัก "พรรคกล้า" ลงพื้นที่นครฯ ดักหน้า "บิ๊กตู่" ขอเร่งรัดสร้างคลองระบายน้ำตามพระราชดำริ ขณะที่ “กอนช.” เตือน “กทม.-ปทุมฯ-นนท์” น้ำเจ้าพระยาเพิ่ม 30-50 ซม.     
    ที่ทำเนียบรัฐบาล วันที่ 5 ตุลาคม  นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่าก่อนการประชุม ครม. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา  นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม ได้ขอบคุณรองนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี และ ส.ส.ทุกคน ในการลงพื้นที่ช่วยเหลือประชาชนที่ประสบภัยน้ำท่วม ขณะนี้รัฐบาลเร่งระบายน้ำจากภาคเหนือ ภาคกลาง ออกไปทางฝั่งตะวันตกและตะวันออก รวมทั้งระบายน้ำออกไปยังทุ่งรับน้ำต่างๆ ตามพื้นที่ลุ่มต่ำ และสั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องติดตามสถานการณ์น้ำอยู่ตลอดเวลา ทั้งนี้ พล.อ.ประยุทธ์เตรียมลงพื้นที่จ.นครศรีธรรมราช ในวันที่ 7 ต.ค.นี้ ร่วมกับ รมว.ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เพื่อติดตามความพร้อมและแผนการรับมือบริหารจัดการน้ำการระบายน้ำหากมรสุมเคลื่อนจากภาคกลางลงไปยังภาคใต้ นอกจากนี้จะตรวจเยี่ยมศูนย์ดิจิทัล ต.มะม่วงสองต้น ซึ่งเป็นชุมชนที่ใช้เทคโนโลยีสื่อดิจิทัลอินเทอร์เน็ตเรียนรู้และต่อยอดมูลค่าผลผลิตของชุมชนด้วย
    รายงานข่าวจากทำเนียบรัฐบาลแจ้งว่า ในที่ประชุม ครม. พล.อ.ประยุทธ์ได้กำชับรองนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี ให้ช่วยกันลงพื้นที่ทั้งต่างจังหวัด กทม.และปริมณฑล ซึ่งในส่วนของ กทม.และปริมณฑลนั้น พล.อ.ประยุทธ์ได้ขอร้องรองนายกฯ ให้ช่วยไปแทน ส่วนจังหวัดที่ไกลออกไปนายกฯ จะลงพื้นที่เอง เนื่องจากเดินทางได้สะดวกกว่าคนอื่นๆ อย่างเช่น ในวันที่ 7 ต.ค.นี้ จะไป จ.นครศรีธรรมราช ส่วนวันที่ 8 ต.ค. พล.อ.ประวิตร  จะไป จ.สระแก้ว ไม่ได้ชนกัน นอกจากนี้ นายกฯ ยังได้กำชับทุกหน่วยงานช่วยกันเร่งระบายน้ำท่วมที่เป็นปัญหาอยู่ในหลายจังหวัดขณะนี้ รวมถึงให้เตรียมรับมือพายุลูกใหม่ที่กำลังจะเข้ามา 
    น.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า จากอิทธิพลพายุโซนร้อนเตี้ยนหมู่ ส่งผลให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลากเข้าท่วมในพื้น 32 จังหวัด รวม 205 อำเภอ 1,100 ตำบล 7,489 หมู่บ้าน 1 เขตเทศบาล ประชาชนได้รับผลกระทบ 2.86 แสนครัวเรือน ปัจจุบันสถานการณ์น้ำท่วมคลี่คลายแล้วใน 14 จังหวัด อย่างไรก็ดี ยังคงมีน้ำท่วมในพื้นที่ 18 จังหวัด รวม 80 อำเภอ 447 ตำบล 2,385 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 1.04 แสนครัวเรือน ได้แก่ จังหวัดสุโขทัย พิษณุโลก เพชรบูรณ์ พิจิตร ขอนแก่น ชัยภูมิ นครราชสีมา อุบลราชธานี นครสวรรค์ อุทัยธานี ชัยนาท ลพบุรี สระบุรี สุพรรณบุรี สิงห์บุรี อ่างทอง พระนครศรีอยุธยา และปทุมธานี นายกรัฐมนตรีได้สั่งการส่วนราชการในพื้นที่ที่รับผิดชอบ เร่งเข้าไปสำรวจตรวจสอบความเสียหายในพื้นที่หลังสถานการณ์กลับสู่ปกติ เพื่อเร่งฟื้นฟู รวมถึงให้สอบถามความต้องการ ความเป็นอยู่ และการประกอบอาชีพ เพื่อเร่งให้ความช่วยเหลือเยียวยาต่อไป 
    พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงสถานการณ์น้ำที่จะมีพายุเข้าระหว่างวันที่ 8-10 ต.ค.นี้ ว่าเราระมัดระวังอยู่ตลอดเวลาอยู่แล้ว ขณะนี้อธิบดีกรมชลประทานและสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เตรียมการอยู่ตลอด 24 ชั่วโมง และในวันที่ 7 ต.ค.นี้ ปริมาณน้ำในแม่น้ำในเจ้าพระยาจะสูงขึ้น 50 เซนติเมตร สำหรับพายุที่มีการแจ้งเตือนว่าจะเข้ามาทางด้านเหนือ ซึ่งเป็นผลดีกับเราที่จะเข้ามาทางด้านเขื่อนภูมิพล จ.ตาก และเขื่อนสิริกิติ์ จ.อุตรดิตถ์ จะได้รับน้ำเก็บไว้ ขณะที่ภาคกลางจะได้รับอิทธิพลแค่ห่างๆ ไม่เท่าไหร่ ทั้งนี้เราแจ้งเตือนประชาชนอยู่ตลอดเวลาอยู่แล้ว ส่วนมาตรการเยียวยาประชาชนเตรียมการณ์ไว้แล้ว โดยจะเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบทั้งหมดจากน้ำท่วม
    เมื่อถามถึงการลงพื้นที่ จ.สระแก้ว ในวันศุกร์ที่ 8 ต.ค.นี้ พล.อ.ประวิตรกล่าวว่า การลงพื้นที่ไปทำหลายเรื่อง ไปดูเรื่องน้ำ ดูเรื่องการศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการ และดูเรื่องเกี่ยวกับที่ดิน การลงพื้นที่ไม่ได้ไปหาเสียง แต่ไปช่วยประชาชน ส่วนการลงพื้นที่ของ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า ส.ส.พะเยา และเลขาธิการพรรคพลังประชารัฐ ที่ลงไปช่วยประชาชนนั้น เป็นเรื่องของพรรค
     ด้าน ร.อ.ธรรมนัส ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กพร้อมภาพแจกถุงยังชีพให้ผู้ประสบภัยในเขตเทศบาลตำบลหัวเวียง อ.เสนา จ.พระนครศรีอยุธยา วันที่ 4 ต.ค.ที่ผ่านมาว่า “ผมมาครั้งนี้ไม่ได้มาเพื่อหาเสียง แต่ผมมาเพราะอยากที่จะเข้าใจปัญหาจริงๆ จากปากของพี่น้องประชาชน และนำภาพความเดือดร้อนและปัญหานี้ส่งไปถึงผู้ที่เกี่ยวข้องเพื่อแก้ไขความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชนต่อไปครับ”
    นายวราวุธ ศิลปอาชา รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวถึงสถานการณ์อุทกภัยในหลายพื้นที่ว่า ภาพรวมทางฝั่งตะวันตกของลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา ขณะนี้กรมชลประทานได้เพิ่มปริมาณน้ำที่ผันจากเหนือเขื่อนเจ้าพระยา มาทางประตูน้ำพลเทพ เข้ามาในแม่น้ำท่าจีนเพิ่มมากขึ้น ขณะเดียวกันก็ชะลอปริมาณน้ำทุ่งที่จะไหลมาจากแม่น้ำท่าจีน จึงทำให้ปริมาณน้ำที่ไหลในแม่น้ำท่าจีนอยู่ในปริมาณเท่าเดิมอยู่ เนื่องจากน้ำในฝั่งตะวันตกมีปริมาณมาก ซึ่งขณะนี้ได้รับการสนับสนุนจากกองทัพเรือ และประสานงานกับกรมชลประทาน ในการนำเครื่องผลักดันน้ำไปติดตามจุดต่างๆ เพื่อผลักดันน้ำจากแม่น้ำท่าจีนไปสู่อ่าวไทยโดยเร็ว ส่วนฝั่งตะวันตกมีจุดด้อยคือการเดินตัวของน้ำนั้นช้า จากฝั่งตะวันออกคือลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา สถานการณ์ของฝั่งตะวันออกก็หนักไม่แพ้กัน เนื่องจากการระบายน้ำจากเขื่อนป่าสักที่มีความจุเกิน 100 ล้านลูกบาศก์เมตร จึงทำให้สถานการณ์ที่ จ.พระนครศรีอยุธยาและอ่างทองหนักหนาขึ้น ทางกระทรวงทรัพยากรฯ พยายามประสานงานกับจังหวัดต่างๆ หากมีส่วนใด หน่วยงานของกระทรวง สามารถเข้าไปแก้ปัญหาได้เราก็จะเร่งดำเนินการ
    นายอรรถวิชช์ สุวรรณภักดี เลขาธิการพรรคกล้า ลงพื้นที่ จ.นครศรีธรรมราช ติดตามสถานการณ์น้ำในพื้นที่ว่า ได้พูดคุยกับนายปริญญา สัคคะนายก สำนักงานชลประทานที่ 15 (SWOC15) ถึงการเตรียมความพร้อมพื้นที่ ซึ่ง จ.นครศรีธรรมราชฝั่งตะวันตก มีอ่างเก็บน้ำคลองกระทูน, อ่างเก็บน้ำคลองดินแดง ใน อ.พิปูน รองรับไว้ แต่ฝั่งตะวันออกที่ติดอ่าวไทยไม่มีอ่างเก็บน้ำ จึงมีการสร้างคลองระบายน้ำสายที่ 3 ซึ่งเป็นโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ เชื่อมต่อคลองวังวัว เพื่อระบายน้ำอ้อมเมืองนครศรีธรรมราชออกอ่าวไทย เป็นโครงการที่สร้างมาตั้งแต่ปี 2531 แต่จนถึงปัจจุบันยังไม่แล้วเสร็จ จึงขอฝากถึงท่านนายกฯ ที่จะมาตรวจราชการวันที่ 7 ต.ค.นี้ ขอให้เร่งรัดโครงการจัดการน้ำ ตามพระราชดำริของในหลวงรัชกาลที่ 9 โดยเฉพาะการก่อสร้างคลองระบายน้ำสายที่ 3 หากคลองเส้นนี้สำเร็จ จะทำให้การระบายน้ำของนครศรีธรรมราชเพิ่มขึ้น 4 เท่าตัว นี่คือพระวิสัยทัศน์ของในหลวงรัชกาลที่ 9 ที่มีมาตั้งแต่ปี 2531
    กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ หรือ กอนช. ออกประกาศฉบับที่ 19 เรื่อง “เฝ้าระวังสถานการณ์น้ำแม่น้ำเจ้าพระยา” ระบุว่า เนื่องจากคาดว่าในวันที่ 5 ต.ค. ปริมาณน้ำที่ไหลหลากรวมกัน ผ่านอำเภอบางไทร จ.พระนครศรีอยุธยา จะอยู่ในเกณฑ์สูงสุดคือ 3,050-3,150 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที และไหลออกอ่าวไทยวันที่ 7-10 ตุลาคม ประกอบกับในช่วงเวลาดังกล่าวเกิดสภาวะน้ำทะเลหนุนสูง คาดว่าจะส่งผลให้ระดับน้ำแม่น้ำเจ้าพระยาเพิ่มสูงขึ้นจากเดิม 30-50 เซนติเมตร พื้นที่เฝ้าระวังประกอบด้วย 1.จังหวัดปทุมธานี และนนทบุรี บริเวณพื้นที่ลุ่มต่ำนอกแนวคันกั้นน้ำริมฝั่งเจ้าพระยา และ 2.กรุงเทพมหานคร บริเวณพื้นที่ริมสองฝั่งเจ้าพระยา ระดับน้ำที่เพิ่มขึ้นจะไม่ล้นคันป้องกันน้ำของกรุงเทพฯ ยกเว้นบริเวณที่ไม่มีระบบคันป้องกันน้ำ
    ด้าน พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เผยว่า ขอให้ชุมชนนอกคันกั้นน้ำแม่น้ำเจ้าพระยา 11 ชุมชน 239 ครัวเรือนในพื้นที่ 7 เขตติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด พร้อมสั่งเจ้าหน้าที่ตรวจสอบความแข็งแรงและจุดรั่วซึมของแนวป้องกันน้ำท่วม ตั้งแต่สะพานพระราม 7 จนถึงบางนา ความยาว 78.93 กิโลเมตร พร้อมเรียงกระสอบทรายเป็นเขื่อนชั่วคราวในบริเวณที่ไม่มีแนวป้องกันน้ำถาวร หรือแนวฟันหลอ รวมถึงบริเวณแนวป้องกันที่มีระดับต่ำตามจุดต่างๆ 14 จุด ระยะทาง 2,512 เมตร.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"