ฎีกายืนไม่รับฟ้อง'บิ๊กตู่-คสช.'ข้อหากบฏยึดอำนาจ22พ.ค.57


เพิ่มเพื่อน    

 

22 มิ.ย.61- เมื่อเวลา 9.30น.ที่ห้องพิจารณา 907 ศาลอาญา ถ.รัชดาภิเษก ศาลอ่านคำพิพากษาศาลฎีกาคดีหมายเลขดำ อ.1805/2558 ที่นายพันธ์ศักดิ์ ศรีเทพ, นายสิรวิชญ์ เสรีธิวัฒน์, นายอานนท์ นําภา กับพวกซึ่งเป็นนักเคลื่อนไหวทางการเมือง กลุ่มพลเมืองโต้กลับ รวม 15 คน เป็นโจทก์ ยื่นฟ้อง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา อายุ 64 ปี นายกรัฐมนตรีไทย คนที่ 29 และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.), พล.ร.อ.ณรงค์ พิพัฒนาศัย อายุ 64 ปี อดีตรองนายกรัฐมนตรีรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ และรองหัวหน้า คสช., พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง อายุ 64 ปี รองนายกฯ รมว.ยุติธรรม และรองหัวหน้า คสช., พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว อายุ 64 ปี รมว.แรงงานและรองหัวหน้า คสช. และ พล.อ.อ.ธนะศักดิ์ ปฏิมาประกร อายุ 64 ปี อดีตรองนายกฯ และรองหัวหน้า คสช. ในความผิดต่อความมั่นคงต่อรัฐ ฐานร่วมกันกบฏ ล้มล้างหรือเปลี่ยนแปลงรัฐธรรมนูญ หรือล้มล้างอำนาจนิติบัญญัติ บริหาร และตุลาการ หรือแบ่งแยกราชอาณาจักรโดยใช้กำลังประทุษร้าย และสะสมกำลังพลหรืออาวุธ ตระเตรียมการอื่นใด หรือสมคบเป็นกบฏ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 113 และ 114

โดยคดีนี้โจทก์ยื่นฟ้องเมื่อวันที่ 22 พ.ค. 2558 บรรยายพฤติการณ์สรุปว่า เมื่อระหว่างวันที่ 20-24 พ.ค. 2557 จำเลยทั้งห้าร่วมกันใช้กำลังขู่เข็ญประทุษร้ายและล้มล้างเปลี่ยนแปลงรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 ให้สิ้นสุดลง ล้มล้างอำนาจนิติบัญญัติ บริหาร และตุลาการ อันเป็นความผิดฐานกบฏ และพวกจำเลยยังได้ออกคำสั่งในนาม คสช.หลายฉบับ อันเป็นการละเมิดสิทธิ์และเสรีภาพของประชาชนและสื่อมวลชน ทำให้โจทก์ทั้ง 15 คนได้รับความเสียหาย

ขณะที่ศาลอาญาได้พิจารณาคำฟ้องประกอบข้อกฎหมาย ในชั้นตรวจรับคำฟ้องแล้วเห็นว่า รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.2557 ลงวันที่ 22 ก.ค. 2557 บัญญัติยกเว้นความผิดและความรับผิดการกระทำทั้งหลายในการยึดอำนาจและการควบคุมอำนาจปกครองแผ่นดินของ คสช.ไว้ จึงพ้นจากความรับผิดโดยสิ้นเชิง ศาลอาญาซึ่งเป็นศาลชั้นต้น จึงมีคำสั่งเมื่อวันที่ 29 พ.ค. 2558 ไม่รับฟ้องคดีดังกล่าว

จากนั้นโจทก์ยื่นอุทธรณ์ว่า ที่ศาลชั้นต้นยกฟ้องโจทก์โดยไม่ไต่สวนมูลฟ้องเป็นการไม่ชอบด้วยกฎหมาย และที่ คสช. บัญญัติมาตรา 47, 48 ในรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว พ.ศ.2557 เพื่อนิรโทษกรรมให้กับการทำรัฐประหารและการกระทำในรูปแบบต่างๆ นั้น เป็นการผิดระบอบประชาธิปไตยและละเมิดกฎหมายแผ่นดิน ซึ่งบทบัญญัติดังกล่าวไม่มีสภาพเป็นกฎหมาย เนื่องจากกฎหมายจะต้องมีสภาพเป็นข้อความคิดที่เชื่อมโยงและใช้ความยุติธรรม หรือเกิดขึ้นโดยปราศจากความยุติธรรมทางจิตวิญญาณ ความปรารถนาของสังคม จึงไม่สามารถอ้างมาตรา 47, 48 ของรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวเพื่อเป็นเหตุยกเว้นความผิด จึงชอบที่ศาลชั้นต้นชอบจะรับคำฟ้องของโจทก์ไว้ไต่สวนมูลฟ้อง ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 162

โดยมีการอ่านคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์เมื่อวันที่ 18 ก.พ. 2559 ซึ่งศาลอุทธรณ์เห็นว่า ในคดีอาญาที่ประชาชนเป็นโจทก์ ศาลต้องไต่สวนมูลฟ้องเพื่อวินิจฉัยคดีก่อน ซึ่งวัตถุประสงค์ของการไต่สวนมูลฟ้องให้ศาลได้ไต่สวนพยานหลักฐานของโจทก์ในเบื้องต้นว่า โจทก์มีพยานหลักฐานเพียงพอที่จะพิสูจน์ความผิดของจำเลยในชั้นพิจารณา แต่อย่างไรก็ตามในชั้นตรวจรับคำฟ้อง ศาลชั้นต้นเห็นว่าการกระทำของจำเลยไม่เป็นความผิด และคดีขาดอายุความจึงเห็นควรตามกฎหมายที่จำเลยไม่ต้องรับโทษจึงชอบที่จะมีคำพิพากษายกฟ้องโจทก์ได้โดยไม่ต้องไต่สวนมูลฟ้อง และตามรัฐธรรมนูญชั่วคราว มาตรา 48 ที่บัญญัติว่า การกระทำทั้งหลายเนื่องในการยึดอำนาจการปกครองเมื่อวันที่ 22 พ.ค. 2557 ของ คสช.รวมทั้งบุคคลที่เกี่ยวข้อง การกระทำต่างๆ จะไม่มีผลบังคับทางรัฐธรรมนูญ นิติบัญญัติ บริหาร และตุลาการ ดังนั้นแม้จำเลยทั้งห้าจะกระทำตามโจทก์บรรยายฟ้อง ย่อมทำให้จำเลยทั้งห้ากับพวกพ้นจากความผิดโดยสิ้นเชิง ตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญดังกล่าว ดังนั้นที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่าคดีไม่มีมูลที่ศาลจะรับไว้พิจารณา โดยไม่รับคำฟ้องของโจทก์ไว้ไต่สวนมูลฟ้องนั้นชอบด้วยกฎหมายแล้ว อุทธรณ์โจทก์ฟังไม่ขึ้น พิพากษายกฟ้องเช่นกัน

จากนั้นโจทก์ได้ยื่นฎีกาอีก ขอให้ศาลฎีกาพิจารณาคำฟ้องและสั่งรับคดีไว้ไต่สวนมูลฟ้องโจทก์ต่อไป ซึ่งศาลฎีกาตรวจสำนวนประชุมปรึกษาหารือกันแล้ว ที่จำเลยฎีกาว่ามาตรา 47, 48 ของรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว พ.ศ.2557 บัญญัติเพื่อนิรโทษกรรม คสช. เป็นการออกกฎหมายรับรองการกระทำความผิด มีสภาพเป็นกฎเกณฑ์ที่ขัดต่อเสียงแห่งมโนธรรมและหลักการพื้นฐานแห่งความยุติธรรมของมนุษยชาติอย่างชัดแจ้งนั้น ศาลเห็นว่า สภาพของรัฐใดรัฐหนึ่งประกอบด้วยดินแดนที่แน่นอน ประชาชน รัฐบาล และอำนาจอธิปไตย กฎหมายต้องใช้บังคับได้ แม้จะอ้างว่ารัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวไม่ชอบ แต่ต้องตีความกฎหมายให้เกิดผลบังคับใช้ได้ ให้คงอยู่เป็นรัฐ มิฉะนั้นบ้านเมืองเสียหาย การยึดอำนาจในขณะนั้น คสช.ใช้อำนาจเป็นรัฏฐาธิปัตย์ แม้ว่าการได้มาซึ่งอำนาจจะไม่เป็นไปตามวิถีทางประชาธิปไตย ก็เป็นกรณีว่ากล่าวกันในด้านอื่น คสช.มีอำนาจในเชิงข้อเท็จจริง ดังนั้นรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวจึงมีสภาพเป็นกฎหมาย ตามที่มาตรา 48 ได้บัญญัติไว้ และต่อมารัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 มาตรา 279 ก็ได้รับรอง การกระทำของจำเลยทั้งห้าจึงพ้นผิดโดยสิ้นเชิง

ส่วนที่โจทก์ฎีกาว่าการยกฟ้องโดยไม่มีการไต่สวนมูลฟ้องเพื่อวินิจฉัยมูลคดีก่อนประทับฟ้อง เป็นการข้ามขั้นตอนนั้น ศาลเห็นว่า การยกฟ้องไม่จำเป็นต้องไต่สวนเพื่อรับไว้พิจารณาเสมอไป ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา เมื่อเห็นว่าจำเลยพ้นความรับผิด ศาลยกฟ้องได้เลยโดยไม่จำเป็นต้องไต่สวน ที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นชอบแล้ว พิพากษายืนยกฟ้อง

สำหรับโจทก์ทั้งหมด 15 คนที่ยื่นฟ้องคดีนี้ ประกอบด้วยนายพันธ์ศักดิ์ ศรีเทพ, นายวรรณเกียรติ ชูสุวรรณ, นายสิรวิชญ์ เสรีธิวัฒน์, น.ส.ศรีไพร นนทรี, นายบารมี ชัยรัตน์, นายณัทพัช อัคฮาด, นายสิรภพ กรณ์อรุษ, นายสรรเสริญ ศรีอุ่นเรือน, น.ส.ชลธิชา แจ้งเร็ว, นายนัชชชา กองอุดม, นายอภิวัฒน์ สุนทรารักษ์, นายพายุ บุญโสภณ, นายจตุภัทร์ บุญภัทรรักษา, นายกฤต แสงสุรินทร์ และนายอานนท์ นำภา

ภายหลังฟังคำพิพากษา นายอานนท์ นำภา ทนายความกลุ่มพลเมืองโต้กลับ กล่าวว่า ศาลมีคำสั่งให้ยกฟ้อง เนื่องจากเห็นว่า คสช. ที่ทำรัฐประหารในช่วงนั้นสามารถมาบริหารประเทศได้ ซึ่งเราก็เคารพคำพิพากษาของศาล โดยเห็นว่ากระบวนการยุติธรรมไทยอยู่ในเงื่อนไขแบบเดิมที่เราต้องต่อสู้ทางการเมืองต่อไป อย่างน้อยเราก็ได้ใช้สิทธิในการฟ้องว่าการทำรัฐประหารเป็นการกระทำผิด โดยนัยยะของคำพิพากษาศาลเห็นว่ากระทำผิด แต่หลุดพ้นจากความผิดตามรัฐธรรมนูญที่ออกโดยคณะรัฐประหาร การที่เราพยายามพิสูจน์ว่าการรัฐประหารที่ผ่านมา 4 ปีแล้ว ได้ก่อให้เกิดความเสียหายต่อบ้านเมืองอย่างไร คิดว่าเราก็ได้ประจักษ์แล้ว ถือว่าเป็นความสำเร็จร่วมกัน

" ขณะเดียวกันก็เป็นความพ่ายแพ้ร่วมกันที่นำผู้กระทำความผิดในการรัฐประหารมาลงโทษไม่ได้ เราก็กังวลว่าในอนาคตหากสังคมและกระบวนการยุติธรรมยังเอื้อที่จะก่อให้เกิดรัฐประหารก็จะเป็นปมเงื่อนที่ประเทศไทยจะไม่สามารถเดินไปข้างหน้าได้ ทั้งนี้ สำหรับในหลายประเทศที่มีการเอาผิดการรัฐประหารมาลงโทษได้นั้น ก็ต่อเมื่อประเทศและสังคมตระหนักร่วมกันว่าการรัฐประหารเป็นภัยต่อสังคม ซึ่งเรารอได้ไม่ว่าจะ 10 หรือ 20 ปี เพื่อที่จะเห็นการนำผู้กระทำความผิดต่อบ้านต่อเมืองมาลงโทษ"

ผู้สื่อข่าวถามว่าหลังจากนี้จะดำเนินการทางการเมืองอย่างไรต่อไป นายอานนท์ กล่าวว่า เบื้องต้นกลุ่มเราซึ่งส่วนหนึ่งก็เป็นกลุ่มคนอยากเลือกตั้ง ที่จะเคลื่อนไหวให้มีการเลือกตั้งและสนับสนุนนักการเมืองที่เป็นฝ่ายประชาธิปไตยเข้าไปยกเลิกผลพวงของการรัฐประหาร

เมื่อถามว่าคำพิพากษาของศาลในลักษณะนี้จะทำให้ยังมีโอกาสที่จะเกิดรัฐประหารในอนาคตต่อไปหรือไม่ นายอานนท์ กล่าวว่า จะทำให้เหล่านายทหารรู้สึกย่ามใจว่าทำรัฐประหารไปก็จะไม่ผิด ซึ่งในวันข้างหน้าเราก็จะได้เรียนรู้ร่วมกัน  ในวันนี้เราอาจจะไม่ชนะ แต่วันข้างหน้าสังคมไทยจะต้องชนะรัฐประหาร ซึ่งลำพังกฎหมายไม่สามารถเอาผิดรัฐประหารได้อยู่แล้ว นอกจากว่าผู้คนในสังคมนั้นจะต้องตื่นตัวและตระหนักอย่างมากจึงจะสามารถเอาผิดรัฐประหารได้ ตอนนี้สังคมไทยยังไม่ถึงขั้นนั้น แต่ผมคิดว่าเรากำลังขับเคลื่อนไปสู่จุดนั้นร่วมกัน ทุกฝ่ายคงเห็นแล้วว่าการรัฐประหารไม่ได้นำพาประเทศสู่ความเจริญรุ่งเรืองตามที่คาดหวัง

 

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"