บิ๊กตู่ปลื้ม!จ่อลงเมืองอุบล


เพิ่มเพื่อน    

"บิ๊กตู่" ขอทุกคนเชื่อมั่น-ศรัทธาในชาติจะช่วยพลิกวิกฤต บอกมีความสุขลงพื้นที่เมืองคอน แย้มคิวไป จ.อุบลฯ อีก 15 ต.ค.นี้ "ธนกร" ย้ำนายกฯเน้นบริหารจัดการน้ำแบบบูรณาการ วางแผนระบายน้ำเข้าทุ่งเก็บน้ำไว้ใช้ช่วงหน้าแล้ง "บิ๊กป้อม" ลุยสระแก้วแก้น้ำท่วม-น้ำแล้ง "ส.ส.พปชร." แห่รับอื้อ  "อนุพงษ์" ตรวจน้ำท่วมขอนแก่น สั่งปรับระบายน้ำเขื่อนอุบลรัตน์เหลือ 15 ล้านลบ.ม. "ผบ.ทร." สั่งกรมอู่ฯ ต่อเรือผลักดันน้ำเพิ่ม
    เมื่อวันที่ 8 ต.ค. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม โพสต์เฟซบุ๊ก “ประยุทธ์ จันทร์โอชา Prayut-chan-o-cha” ระบุว่า เมื่อวันที่ 7 ต.ค.64 เป็นอีกวันที่ผมมีความสุขและได้แนวคิดใหม่ๆ มากมายจากการล่องใต้สู่ดินแดนด้ามขวานทองของไทย เพื่อพบปะเยี่ยมเยียนพี่น้องประชาชนที่จังหวัดนครศรีธรรมราช หรือเมืองคอน ซึ่งเป็นดินแดนที่งดงามด้วยความหลากหลาย เป็นสังคมพหุวัฒนธรรม และร่ำรวยด้วยทรัพยากรธรรมชาติ อันเป็นต้นทุนสำคัญสำหรับการท่องเที่ยวทางธรรมชาติ การท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ วัฒนธรรม ประเพณี และวิถีชีวิตชุมชน แต่ในอดีตมักจะประสบกับอุทกภัยอยู่บ่อยครั้ง ประกอบกับสถานการณ์น้ำท่วมในจังหวัดทางตอนเหนือที่เกิดขึ้น ทำให้ผมและรัฐบาลมีความห่วงใยพี่น้องชาวใต้ จึงต้องได้มีคำสั่งเร่งรัดการเตรียมการป้องกันน้ำท่วมทางภาคใต้ในปีนี้ตั้งแต่ก่อนเกิดเหตุ และอยากที่จะมาติดตามความคืบหน้าของการดำเนินการด้วยตนเอง
    ช่วงท้าย พล.อ.ประยุทธ์ระบุว่า จากความโดดเด่นของชุมชนทั่วทุกแห่งในประเทศที่รัฐบาลมุ่งมั่นที่จะส่งเสริมสนับสนุน ต่อยอดศักยภาพให้เกิดความน่าสนใจ แข่งขันได้ น่าดึงดูดใจ เตรียมพร้อมสำหรับการเปิดเมือง เปิดประเทศ เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจหลังวิกฤตโควิด ขอเพียงเราทุกคนเชื่อมั่นและศรัทธาในชาติของตนเองว่ามีดีไม่เป็นสองรองใครในโลก ผมเชื่อเป็นอย่างยิ่งว่า พลังแห่งความรักความสามัคคีของคนในชาติ  ผสานกับต้นทุนของมรดกทางวัฒนธรรมที่เรามี จะสามารถพลิกวิกฤตที่เกิดขึ้น พลิกโฉมประเทศไปสู่ประเทศที่มีรายได้สูงได้ในเวลาไม่นานเกินรอ
    มีรายงานว่า ในสัปดาห์หน้าได้มีการเตรียมการไว้เบื้องต้น พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม จะลงพื้นที่ จ.อุบลราชธานี ในวันที่ 15 ต.ค. เพื่อติดตามสถานการณ์ลุ่มแม่น้ำชี แม่น้ำมูล และแม่น้ำโขง หลังจากเมื่อวันที่ 7 ต.ค. พล.อ.ประยุทธ์ลงพื้นที่ จ.นครศรีธรรมราช ติดตามสถานการณ์และแผนบริหารจัดการน้ำ รวมถึงการช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัย
    นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า นายกรัฐมนตรีได้ลงพื้นที่ต่อเนื่องเพื่อติดตามสถานการณ์น้ำท่วมหลายพื้นที่ตั้งแต่ชัยนาท ชลบุรี เพชรบุรี สุโขทัย ชัยภูมิ นนทบุรี และล่าสุดที่ จ.นครศรีธรรมราช โดยเน้นการบริหารปริมาณมวลน้ำหลาก ทั้งในลุ่มเจ้าพระยา ลุ่มน้ำมูล-ชี เก็บกักในพื้นที่ลุ่มต่ำ พื้นที่แก้มลิงต่างๆ เพื่อไม่ให้น้ำที่มีอยู่เสียเปล่า และเป็นการใช้ทรัพยากรน้ำให้เกิดประโยชน์สูงสุด  
    นายธนกรกล่าวว่า กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) บูรณาการกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กรมชลประทานและกรมส่งเสริมการเกษตร เร่งบริหารจัดการพื้นที่น้ำท่วมบริเวณพื้นที่สองฝั่งของแม่น้ำเจ้าพระยา โดยปรับลดการระบายน้ำจากเขื่อนสิริกิติ์ และให้มีการติดตั้งเครื่องสูบน้ำเพื่อเร่งระบายน้ำลงสู่ทุ่งรับน้ำภายใน 2 วัน เพื่อให้สถานการณ์กลับคืนสู่ภาวะปกติโดยเร็ว รวมทั้งมีแผนจะลดน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณท้ายเขื่อนลงให้อยู่ในอัตราประมาณ 1,000 ลบ.ม./วินาที ภายใน 1 พ.ย.นี้ หากไม่มีฝนตกเพิ่ม  
บริหารน้ำแบบบูรณาการ
    นอกจากนี้ ได้มีการใช้ประตูระบายน้ำคลองลัดโพธิ์ และติดตั้งเครื่องผลักดันน้ำในการเร่งระบายน้ำออกสู่อ่าวไทยโดยบริหารจัดการน้ำให้สอดคล้องกับระดับน้ำทะเลหนุน พร้อมได้กำหนดแผนการระบายน้ำออกจากทุ่งตั้งแต่ 1 พ.ย.64 ให้เหลือน้อยกว่า 20% ภายใน 1 เดือน โดยปัจจุบันการเก็บน้ำในพื้นที่ลุ่มต่ำทุ่งบางระกำได้เก็บกักน้ำเต็มความจุแล้วจำนวน 400 ล้าน ลบ.ม. ขณะที่ 10 ทุ่งเจ้าพระยาตอนล่าง รับน้ำแล้วรวม 1,137 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 87% ของความจุ โดยมีทุ่งที่ยังรับน้ำน้อยกว่า 50% จำนวน 2 แห่ง ได้แก่ ทุ่งเชียงราก คิดเป็น 26% และทุ่งเจ้าเจ็ด 39%
    โฆษกประจำสำนักนายกฯ กล่าวว่า สทนช.ประเมินว่าสิ้นสุดฤดูฝน ณ 1 พ.ย.64 ทั้งประเทศไทยมีปริมาตรน้ำ 55,900 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 68% ของความจุ ขณะที่น้ำใช้การได้จะอยู่ที่ 27,909 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 58% ของน้ำใช้การ ซึ่งจากมาตรการเร่งเก็บกักน้ำและบริหารจัดการน้ำในเขื่อนตลอดช่วงฤดูฝนที่ผ่านมา ทำให้เบาใจในระดับหนึ่งว่าในปีนี้ทุกภาคมีปริมาณน้ำเก็บกักมากกว่าปี 2563 รวมทั้งน้ำที่อยู่ในทุ่งยังสามารถช่วยเกษตรกรทำการเกษตรช่วงแล้ง ทำให้พื้นที่การเกษตรอาจจะเพิ่มขึ้นกว่าปีที่ผ่านมา 
    "พล.อ.ประยุทธ์ได้แสดงความเป็นห่วงและกังวล รวมทั้งขอให้ดูแลเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบกรณีจากการผันน้ำด้วย ซึ่งกระทรวงเกษตรและสหกรณ์มีหลักเกณฑ์ให้ความช่วยเหลือด้านการเกษตรผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน 2564 อยู่แล้ว ขณะเดียวกันก็ฝากถึงพี่น้องประชาชนที่อยู่ในบริเวณพื้นที่เสี่ยงและที่อยู่นอกคันกั้นน้ำให้หมั่นสังเกตระดับน้ำและความผิดปกติจากแหล่งน้ำที่อยู่ใกล้ๆ เช่น แม่น้ำ คลอง ขอย้ำว่าต้องปฏิบัติคำแนะนำของราชการ เคลื่อนย้ายสิ่งของขึ้นที่สูง ตัดกระแสไฟฟ้า ป้องกันกระแสไฟฟ้ารั่ว เตรียมพร้อมอพยพคนและสัตว์เลี้ยงและเคลื่อนย้ายยานพาหนะไปอยู่ในพื้นที่ปลอดภัยและคอยติดตามข่าวสารและการประชาสัมพันธ์จากหน่วยงานรัฐที่ดูแล ซึ่งรัฐบาลกำลังบูรณาการและประสานงานทุกภาคส่วนเพื่อเร่งจัดการปัญหา หากมีความจำเป็น ก็จะพิจารณามาตรการช่วยเหลือ เยียวยาเพื่อเกษตรกรและประชาชนที่ได้รับผลกระทบเพิ่มเติมด้วย" โฆษกประจำสำนักนายกฯ กล่าว
    วันเดียวกัน พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้อำนวยการกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) และหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ลงพื้นที่ตรวจสถานการณ์น้ำและการบริหารจัดการน้ำจังหวัดสระแก้ว โดยมี น.ส.ตรีนุช เทียนทอง รมว.ศึกษาธิการ และนายปริญญา โพธิสัตย์ ผู้ว่าฯ สระแก้ว พร้อมข้าราชการ รวมถึง ส.ส.สระแก้ว พปชร., น.ส.ปารีณา ไกรคุปต์ อดีต ส.ส.ราชบุรี และ ส.ส.พื้นที่ใกล้เคียง คอยให้การต้อนรับ
     ทั้งนี้ แกนนำและคณะกรรมการบริหาร พปชร.ที่ร่วมลงพื้นที่ อาทิ พล.อ.วิชญ์ เทพหัสดิน ณ อยุธยา ประธาน กก.ยุทธศาสตร์พรรค พปชร., ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า เลขาธิการพรรค, นางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ เหรัญญิก, นายสุชาติ ชมกลิ่น รมว.แรงงาน, พล.อ.ชัยชาญ ช้างมงคล รมช.กลาโหม และนายอธิรัฐ รัตนเศรษฐ รมช.คมนาคม ร่วมคณะมาด้วย
    พล.อ.ประวิตรเดินทางไปเยี่ยมจุดก่อสร้างโครงการประตูน้ำพร้อมสถานีสูบน้ำห้วยพรมโหด พร้อมพนังป้องกันน้ำท่วม ในเขตเทศบาลเมืองอรัญญประเทศ และรับฟังแผนการบริหารจัดการน้ำท่วมในพื้นที่เทศบาลเมืองอรัญญประเทศและตลาดโรงเกลือ รวมถึงแนวทางการพัฒนาแหล่งน้ำเพื่อการแก้ไขปัญหา และพบปะพูดคุยกับผู้นำชุมชน
ทร.ต่อเรือผลักดันน้ำเพิ่ม
     พล.อ.คงชีพ ตันตระวาณิชย์ โฆษกกระทรวงกลาโหม กล่าวว่า  พล.อ.ประวิตรได้ย้ำทุกหน่วยงานร่วมเฝ้าระวังพื้นที่เสี่ยงน้ำหลากและเตรียมแผนเผชิญเหตุให้พร้อมตลอดช่วงฤดูฝนที่เหลือ และให้พยายามผันน้ำเลี่ยงเมือง ขณะเดียวกันต้องเปิดพื้นที่เก็บน้ำไว้ใช้ในฤดูแล้งที่จะถึงในคราวเดียวกัน โดยกำชับให้ สทนช.เร่งบูรณาการแผนงานร่วมกับกรมชลประธานและกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช ให้ความสำคัญกับโครงการบรรเทาอุทกภัยและภัยแล้ง 
    ด้าน พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย พร้อมคณะ ลงพื้นที่ประตูระบายน้ำ D8 บ.พระคือ ต.พระลับ อ.เมืองฯ จ.ขอนแก่น ติดตามสถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่ จ.ขอนแก่น หลังพบมวลน้ำจากแม่น้ำชีได้ไหลจาก จ.ชัยภูมิ เข้าสู่ จ.ขอนแก่น เป็นที่เรียบร้อยแล้วตั้งแต่เมื่อคืนวันที่ 7 ต.ค.ที่ผ่านมา ส่งผลให้ระดับน้ำเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในเขต อ.เมืองขอนแก่น 
    พล.อ.อนุพงษ์กล่าวว่า คณะกรรมการบริหารจัดการน้ำได้เสนอขอปรับการระบายน้ำของเขื่อนอุบลรัตน์ ซึ่งได้มีการปรับลดระดับลงเหลือวันละ 15 ล้าน ลบ.ม.ต่อวัน เพื่อไม่ให้มวลน้ำจากเขื่อนอุบลรัตน์ ที่มากับลำน้ำพองได้ไหลมาบรรจบกับน้ำจากแม่น้ำชีในระยะนี้ เพื่อให้น้ำจากแม่น้ำชีได้ไหลไปตามเส้นทางน้ำไหลให้หมดเสียก่อน 
    "ทางจังหวัดมั่นใจว่าหากการบริหารจัดการน้ำยงคงเป็นไปในลักษณะเช่นนี้ ไม่เกิน 10 วัน ระดับน้ำในแม่น้ำชีจะลดระดับลง และจะคงเหลือน้ำค้างทุ่งในบางจุดเท่านั้น" รมว.มหาดไทยกล่าว
    ขณะที่ พล.ร.ท.ปกครอง มนธาตุผลิน เจ้ากรมกิจการพลเรือนทหารเรือ ในฐานะโฆษกกองทัพเรือ กล่าวว่า ปัจจุบัน ทร.มีเรือผลักดันน้ำประจำการ 100 ลำ และได้ส่งไปที่ จ.สุพรรณบุรี 20 ลำ, สมุทรปราการ 26 ลำ และทางผู้ว่าฯกทม.ประสานขอมา 12 ลำ โดย พล.ร.อ.สมประสงค์ นิลสมัย ผบ.ทร. ได้สั่งการให้ต่อเรือผลักดันน้ำเพิ่มเติม เนื่องจากอนาคตอาจจะต้องใช้เรือจำนวนมาก จึงให้ทางกรมอู่ทหารเรือไปพิจารณาความต้องการว่าจะต่อเพิ่มจำนวนเท่าไหร่ตอนนี้ยังไม่มีการระบุจำนวน
    "หากสถานการณ์น้ำวิกฤตขึ้น อาจจะต้องมีการใช้เรือระบายพลขนาดเล็ก เช่น เรือหลวงริ้นที่เคยผลักดันน้ำในปี 2554 เข้าช่วยเหลือผลักดันน้ำเพิ่มเติม จากการประเมินสถานการณ์ร่วมกับ ปภ. และกรมอุตุฯ ยังไม่น่าเป็นห่วง แต่ยังคงต้องติดตามดูพายุไลออนร็อกที่อยู่นิ่ง ยังไม่มีการเคลื่อนตัว แต่ภาพรวมเชื่อว่าปริมาณน้ำจะไม่มากเท่าปี 2554" โฆษก ทร.กล่าว.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"