3 กระทรวงนัดถกทำแผนยกระดับราคาสินค้าเกษตรแบบครบวงจร 


เพิ่มเพื่อน    

 “พาณิชย์”นัดหารือ 3 กระทรวงหลัก “พาณิชย์-เกษตร-มหาดไทย” วันที่ 28 มิ.ย.นี้ ร่วมกันจัดทำแผนรักษาเสถียรภาพราคาสินค้าเกษตรแบบครบวงจร เพื่อช่วยป้องกันปัญหาราคาตกต่ำให้กับเกษตรกร เล็งวางแผนเพาะปลูก พื้นที่ปลูก ดันตั้งโรงงานแปรรูปในพื้นที่ เชื่อมโยงตลาด และผลักดันสร้างมูลค่าเพิ่ม หลังพบเกษตรกรมักจะแห่ปลูก หากเห็นว่าปัจจุบันราคาดี แต่พอผลผลิตออก เจ๊งกันยับ

นายบุณยฤทธิ์ กัลยาณมิตร อธิบดีกรมการค้าภายใน เปิดเผยว่า วันที่ 28 มิ.ย.2561 กระทรวงพาณิชย์จะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุม 3 หน่วยงาน คือ กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และกระทรวงมหาดไทย เพื่อร่วมกันจัดทำแผนรักษาเสถียรภาพราคาสินค้าเกษตรแบบครบวงจร เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรไม่ให้ประสบปัญหาราคาตกต่ำ จนสร้างความเดือดร้อนให้กับเกษตรกร ตามข้อสั่งการของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่ได้มอบหมายให้ดำเนินการ

 สำหรับแนวทางการหารือ จะเน้นการร่วมมือกันทำงาน โดยจะมีการกำหนดพื้นที่การเพาะปลูกสินค้าเกษตร , การสนับสนุนโรงงานแปรรูปในแต่ละพื้นที่ , การร่วมมือกับเอกชนในการเชื่อมโยงตลาดสินค้า และการเพิ่มมูลค่าสินค้าเกษตร เป็นต้น

“ปัญหาราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ ส่วนหนึ่งมาจากการที่เกษตรกรแห่กันปลูก เพราะเห็นว่าปัจจุบันราคาดี แต่พอผ่านไป 2-3 ปี ผลผลิตเริ่มออกสู่ตลาด ก็ทำให้ผลผลิตล้น และทำให้ราคาตกต่ำ เป็นแบบนี้มาตลอด ทั้ง 3 กระทรวงฯ ต้องมาร่วมมือกันทำงาน เพื่อแก้ปัญหาแบบครบวงจร ตั้งแต่การวางแผนการเพาะปลูก พื้นที่เพาะปลูก การผลิต และการทำตลาด และต้องทำทุกสินค้า ทั้งข้าว มันสำปะหลัง ข้าวโพด สับปะรด กระเทียม และสินค้าเกษตรตัวอื่นๆ”

นายบุณยฤทธิ์กล่าวว่า แนวทางการทำงานหลังจากนี้ จะเป็นการวางแผนล่วงหน้า กระทรวงพาณิชย์ต้องเตรียมการในด้านการตลาด โดยจะเข้าไปดูว่าสินค้าเกษตรกรปลูก มีตลาดรองรับหรือไม่ อย่างเช่นสับปะรด ที่ปัจจุบันมีปัญหาด้านราคาตกต่ำ เพราะผลผลิต 90% ต้องพึ่งพาโรงงานแปรรูปเพื่อส่งออก ทำให้เกษตรกรที่ไม่ได้ทำสัญญากับโรงงานมีปัญหาในการจำหน่าย ก็ต้องไปบอกกับเกษตรกรก่อนที่จะเพาะปลูกว่าต้องมีโรงงานที่รองรับผลผลิต ไม่เช่นนั้น ปลูกไปก็จะมีปัญหา ซึ่งตรงนี้ จะช่วยเข้าไปดู เข้าไปช่วยประสานให้ และผลักดันให้มีการทำสัญญากันล่วงหน้า

นอกจากนี้ จะผลักดันให้เกิดโรงงานแปรรูป ซึ่งไม่เพียงแต่สับปะรด แต่จะพิจารณาถึงสินค้าเกษตรตัวอื่นๆ ด้วย เพราะบางพื้นที่มีการเพาะปลูกมาก แต่ไม่มีโรงงานรองรับ ทำให้เกษตรกรที่เพาะปลูก เมื่อได้ผลผลิตก็ต้องขนไปส่งยังโรงงานในพื้นที่ห่างไกล และยังพบปัญหาในหลายพื้นที่ เกษตรกรปลูกโดยไม่มีเอกสารสิทธิ์ ทำให้ช่วยเหลือได้ลำบาก ซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ต้องช่วยกันแก้ไข

สำหรับสินค้าข้าว จะมีการส่งเสริมให้เกษตรกรมีการสร้างยุ้งฉาง เพื่อใช้ในการเก็บข้าว เพื่อชะลอการจำหน่ายในช่วงที่ราคาไม่ดี เพราะตั้งแต่มีโครงการรับจำนำ เกษตรกรไม่ได้ใช้ยุ้งฉางเลย หรือมีก็เก่า จึงต้องผลักดันให้มีการสร้างใหม่ ซึ่งจะทำให้เกษตรกรมีทางเลือกในการขายข้าวเพิ่มขึ้น เพราะรัฐบาลมีนโยบายในการให้สินเชื่อเพื่อชะลอการขายข้าวอยู่แล้ว ส่วนกรณีที่มีกระแสข่าวว่าผู้ส่งออกหยุดรับซื้อ จนทำให้ราคาข้าวปรับตัวลงมานั้น กรมฯ ได้เข้าไปตรวจสอบสต๊อกข้าวของผู้ส่งออกแล้ว เพราะต้องมีการเก็บสต๊อกไว้ตามที่กฎหมายกำหนด 500-1,000 ตัน และตรวจสต๊อกโรงสีด้วย

สำหรับสถานการณ์การผลิตข้าวปี 2561/2562 รอบที่ 1 เป้าหมายพื้นที่เพาะปลูกอยู่ที่ 58.21 ล้านไร่ เพิ่มขึ้นจากปีผ่านมามีพื้นที่ 53.48 ล้านไร่ หรือเพิ่มขึ้น 8.84% ซึ่งผลผลิตจะเริ่มออกสู่ตลาดตั้งแต่เดือนก.ย.2561 เป็นต้นไป ส่วนรอบ 2 เป้าหมายพื้นที่เพาะปลูก 12.21 ล้านไร่ ลดลงจากปีที่ผ่านมา มีพื้นที่ 12.87 ล้านไร่ หรือลดลง 5.13%


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"