ต้องเปลี่ยนแปลงระบบสหกรณ์ทันที: จากแชร์ลูกโซ่และเครดิตยูเนียนคลองจั่นสู่การประกันภัยทุจริต(1)    


เพิ่มเพื่อน    

เมื่อสามปีที่ผ่านมาเป็นปีที่มีการฟ้องร้องกันในศาลมากที่สุด ที่โด่งดังที่สุดคือการทุจริตแชร์ลอตเตอรี่ 14 สหกรณ์ สหกรณ์เครดิตยูเนียนคลองจั่น จำกัด  สหกรณ์ออมทรัพย์ครูขอนแก่น จำกัด สหกรณ์ออมทรัพย์ครูยโสธร จำกัด สหกรณ์ออมทรัพย์ครูสุรินทร์ สหกรณ์ออมทรัพย์ครูอุบลราชธานี จำกัด สหกรณ์ออมทรัพย์ครูลำปาง จำกัด สหกรณ์ออมทรัพย์ครูมหาสารคาม จำกัด สหกรณ์ออมทรัพย์ครูกาฬสินธุ์ จำกัด สหกรณ์ออมทรัพย์ครูนครราชสีมา จำกัด สหกรณ์ออมทรัพย์สโมสรรถไฟ จำกัด สหกรณ์ออมทรัพย์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สหกรณ์ออมทรัพย์เคหสถานนพเกล้าร่วมใจ จำกัด ชุมนุมสหกรณ์ธนกิจไทย จำกัด และสหกรณ์ออมทรัพย์ครูนนทบุรี จำกัด (4 แห่งจุฬาฯ-นพเกล้าร่วมใจ-ธนกิจไทย-นนทบุรี เข้าข่ายทุจริตลักษณะไซฟอนเงินออกจากระบบ โดยนำที่ดินมาจำนองค้ำประกันในราคาสูงเกินจริง) ฯลฯ และตั้งแต่ปี 2558 เป็นต้นมา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์สั่งยุบไปแล้วกว่า 1 พันแห่ง 
ทั้งหมดนี้มีการร้องเรียนเรื่องทุจริตไปที่นายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นายทะเบียนสหกรณ์ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ กองปราบปราม สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และมากที่สุดร้องไปที่รองนายทะเบียนสหกรณ์หรือสหกรณ์จังหวัด ในที่สุดคณะรัฐมนตรีได้ประชุมในวันที่ 28 เมษายน 2563 เห็นว่า ปัจจุบันการดำเนินกิจการสหกรณ์หลายแห่งประสบปัญหาทั้งในด้านการบริหารจัดการ ด้านการเงินหรือขาดสภาพคล่อง รวมทั้งปัญหาความโปร่งใสในการดำเนินงานของผู้บริหารสหกรณ์ด้วย ซึ่งอาจส่งผลให้เกิดความเสียหายต่อสมาชิกสหกรณ์และประชาชนที่เกี่ยวข้องในวงกว้าง ดังนั้นคณะรัฐมนตรีจึงมีมติมอบหมายให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (กรมส่งเสริมสหกรณ์) ติดตามและตรวจสอบการดำเนินกิจการต่างๆ อย่างใกล้ชิดและต่อเนื่อง รวมทั้งให้จัดทำรายงานความคืบหน้าในการดำเนินการแก้ไขปัญหาของสหกรณ์เสนอต่อนายกรัฐมนตรีทุกๆ 1 เดือน โดยเริ่มตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2563 เป็นต้นไป (หนังสือสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีที่ นร 0505/13582 ลงวันที่ 30 เมษายน 2563) 
    ปัญหาใหญ่ในสหกรณ์ออมทรัพย์เกิดการทุจริตมักจะมาจากมูลเหตุ (1) ปล่อยเงินกู้เกินวงเงินกฎหมายที่กำหนด โดยไปแตกแยกการกู้ยืมออกเป็นสิบๆ อย่าง เช่น ในกฎหมายกำหนดให้กู้ได้ 3 ประเภท กู้กรณีฉุกเฉิน กู้สามัญ และกู้พิเศษ สหกรณ์ก็ไปแตกเป็น "เงินกู้สามัญเป็นสิบๆ ประเภท” แล้วออกระเบียบมาควบคุมแต่ละประเภท เกินวงเงินกำหนดสูงสุด 3 ล้านบาทต่อรายแน่แท้ และส่งเงินงวดชำระหนี้เกิน 120 งวดอีกเป็น 150-200 งวดก็มี จนนายทะเบียนสหกรณ์ต้องมีหนังสือถึงผู้ว่าราชการจังหวัด (ที่ กษ 1108/10467 ลงวันที่ 30 กันยายน 2547) และล่าสุดอธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์มีหนังสือ (ที่ กษ 1115/2422 ลงวันที่ 16 เมษายน 2564) ความโดยสรุปว่า หากคณะกรรมการดำเนินการฝ่าฝืนตามมาตรา 22 (1) ให้นายทะเบียนสหกรณ์ผู้ออกคำสั่งดำเนินการแจ้งความร้องทุกข์ตามมาตรา 132 (ไม่ปฏิบัติตามที่นายทะเบียนสหกรณ์สั่งการต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี...) พร้อมเสนอให้ผู้ตรวจราชการกรมฯ สั่งการตามมาตรา 22 (4) (สั่งให้กรรมการพ้นตำแหน่งทั้งคณะหรือรายบุคคล) แห่งกฎหมายสหกรณ์ต่อไป ประเด็นนี้ได้ความว่า ยอดรวมเงินกู้ทุกสัญญาต้องจำกัดอยู่ในวงเงินของสหกรณ์ประเภทนั้นๆ เป็นอย่างใหญ่มาก สำหรับมูลเหตุของการเป็นหนี้ท่วมประมาณการว่ารายละ 3-10 ล้านบาท ชาตินี้ก็ใช้ไม่หมดแน่นอน เราจึงเห็นภาพและข่าวครูฆ่าตัวตายจำนวนมาก 
    (2) เมื่อครูต้องการเงินกู้ไม่มีขีดจำกัด จึงทำให้กรรมการดำเนินการ 15 คน (ตามกฎหมาย) ต้องกู้เงินจากธนาคารต่างๆ เป็นจำนวนมาก และกรรมการฯ ต่างกำหนดนโยบายว่าจะให้กู้โดยง่าย วงเงินจำนวนมากจริงๆ (ธนาคารอยู่ได้อย่างมั่นคงเพราะสหกรณ์ออมทรัพย์ไปกู้เงินพร้อมจ่ายคืนดอกเบี้ย ไม่มีหนี้เน่า หรือเอ็นพีแอล) เพื่อไปสนับสนุนตามข้อ (1) ให้เงินกู้จนเป็นผลล้นเกิน จนทำให้สมาชิกต้องถูกฟ้องล้มละลาย และกลายเป็นคน “ไม่มี ไม่หนี ไม่จ่าย” 
    (3) เรื่องใหญ่มากคลื่นลูกแรกเกิดในปี 2554 มูลค่าความเสียหายกว่า 7 พันล้านบาท เมื่อกลุ่มสหกรณ์ออมทรัพย์ 13 แห่ง (อีกแห่งหนึ่งคือ สหกรณ์ออมทรัพย์ครูขอนแก่น จำกัด ตอนต่อมาปรากฏกว่าเงินหายไป 431 ล้านบาท โดยจำเลยที่ถูกฟ้องคือนายเอกราช ช่างเหลา ผู้จัดการสหกรณ์ฯ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดขอนแก่น พรรคพลังประชารัฐ กับพวก ที่ถูกอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษถอนเรื่องขอนแก่น พร้อมสั่งย้ายพนักงานสอบสวนไปประจำนครราชสีมา เรื่องก็เลยเงียบไปชั่วคราว และอธิบดีคนนั้นก็ถูกจำคุกหลายคดี) คณะกรรมการฯ อยากร่ำรวยก็หาทางเอาเงินอันเป็นของสมาชิกทุกคนไปร่วมลงทุนในสัญญาซื้อขายสลากกินแบ่งรัฐบาล นายทะเบียนสหกรณ์ชาญฉลาดมากรับจำทะเบียนแก้ไขเพิ่มเติมข้อบังคับสหกรณ์ออมทรัพย์ครูชัยภูมิ จำกัด ในข้อ 2 วัตถุประสงค์ (20) “จัดหาฉลากกินแบ่งรัฐบาลเพื่อจำหน่ายให้แก่สมาชิกเพื่อเป็นสวัสดิการ” เมื่อวันที่ 7 กันยายน 2553 แล้วนายทะเบียนสหกรณ์ฉลาดมากคนนี้ก็ให้เพิกถอนการรับจำทะเบียนฯ ในวันที่ 8 สิงหาคม 2554 เป็นต้น (เราผู้เขียนเห็นว่า นายทะเบียนสหกรณ์น่าจะผิดมาตรา 157 ของประมวลกฎหมายอาญาด้วย แต่หาคนฟ้องมีไม่) นายศรีสุข รุ่งวิสัย ผู้จัดการบริษัทฯ ทำสัญญาซื้อขายสลากกินแบ่งรัฐบาล (อดีตสมาชิกวุฒิสภาจากการสรรหาของไทย ศาลสั่งล้มละลาย และ ปปง.อายัดทรัพย์ 300 ล้านบาท เคยรายงาน ป.ป.ช.ว่ามีทรัพย์สินกว่า 2.1 พันล้านบาท ปัจจุบันเสียชีวิตแล้ว) และจบเมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2561
    เมื่อศาลได้อ่านคำพิพากษาคดีหมายเลขแดงที่ อ.862/2561 ให้จำเลยทั้งหลายถูกจำคุกในคดีฉ้อโกงประชาชน ความผิดต่อพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินแก่จำเลยทั้งหลายในสหกรณ์ออมทรัพย์ครูเลย จำกัด สหกรณ์ออมทรัพย์ครูกรมสามัญศึกษาจังหวัดเลย จำกัด สหกรณ์การเกษตรวังสะพุง จำกัด สหกรณ์ออมทรัพย์ครูชัยภูมิ จำกัด สหกรณ์ออมทรัพย์ครูปทุมธานี จำกัด สหกรณ์ออมทรัพย์ครูราชบุรี จำกัด สหกรณ์ออมทรัพย์ครูยโสธร จำกัด สหกรณ์ออมทรัพย์ครูร้อยเอ็ด จำกัด สหกรณ์ออมทรัพย์สาธารณสุขสงขลา จำกัด สหกรณ์ออมทรัพย์ครูนนทบุรี จำกัด สหกรณ์ออมทรัพย์ครูสกลนคร จำกัด สหกรณ์ออมทรัพย์ครูเชียงราย จำกัด สหกรณ์ออมทรัพย์ครูกาฬสินธุ์ จำกัด (เอกสารประวัติศาสตร์คำพิพากษาหนา 294 หน้า) และตัวการใหญ่ (นายก๊ก ดอนสำราญ กับพวกรวม 2 คน คนที่ 3 คือนายศรีสุข รุ่งวิสัย เสียชีวิตแล้ว) กำลังถูกพนักงานอัยการฟ้องตามคดีอาญาหมายเลขคดีดำที่ อ.75/2563 ขอให้สมาชิกสหกรณ์จำนวนกว่า 11 ล้านคนในสหกรณ์ออมทรัพย์เกือบ 7 พันแห่งจากทั่วประเทศ จงติดตามความมีกิเลสหนาของพวกกรรมการฯ และความน่าจะบกพร่องของบรรดานายทะเบียนสหกรณ์ต่อไป 
    (4) คลื่นลูกที่สองมูลค่าความเสียหายกว่า 2.2 หมื่นล้านบาท เมื่อปี 2556 ดีเอสไอรับทำคดีพิเศษที่ 146/2556 เมื่อสหกรณ์เครดิตยูเนียนคลองจั่น จำกัด เริ่มวิบัติลุกลามครั้งใหญ่ทั่วประเทศ (ซึ่งมีสมาชิกกว่า 5 หมื่นคน ส่วนใหญ่เป็นสมาชิกสมทบเพื่อฝากเงินกินดอกเบี้ยซึ่งสูงกว่าระบบธนาคารทั่วไป)  จากสินทรัพย์เหลือราว 4 พันล้านบาท และหนี้สินราว 1.7 หมื่นล้านบาท) โดยข้อมูลร้องเรียน คสช.ระบุว่า ให้รัฐจัดตั้งกองทุนเยียวยาสมาชิกที่ออมกับสหกรณ์ในรูปมูลค่าหุ้น 4,700 ล้านบาท และสมาชิกบุคคลที่ฝากเงิน (เห็นดอกเบี้ยดี ให้ร้อยละ 5.5 เปอร์เซ็นต์ต่อปี) รวมแล้ว 6 พันล้านบาท โดยส่วนหนึ่งระดมเงินจากสหกรณ์ 8 พันแห่งจากทั่วประเทศ สหกรณ์เหม็นเน่าสุดอื้อฉาวแห่งนี้ทำให้เห็นว่าประธานกรรมการฯ และกรรมการฯ ที่ผลัดเปลี่ยนแย่งชิงอำนาจ เจ้าลัทธิจานบินและเจ้าของเครือข่ายโทรศัพท์ศิษย์ลัทธิจานบิน และความบกพร่องของกรมส่งเสริมสหกรณ์นายทะเบียนสหกรณ์ (ข้อมูลสำนักข่าวอิศราอ้างจาก ป.ป.ช.ระบุว่า นายทะเบียนสหกรณ์รับรู้เรื่องนี้มาตั้งแต่ปี 2546 ก่อนเกิดวิบัติเป็นสิบปี แสดงว่านายทะเบียนสหกรณ์อาจเข้าข่ายปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ตามมาตรา 157 ของประมวลกฎหมายอาญา) อธิบดีกรมตรวจบัญชีสหกรณ์ก็ทำการตรวจครั้งใหญ่พบว่า สหกรณ์แห่งนี้ “พบความผิดปกติในงบการเงิน” มา 5 ปีแล้ว พร้อมทั้งออกหนังสือเตือนไปทั้งกรมส่งเสริมสหกรณ์และสหกรณ์ฯ คลองจั่นทุกปี แต่ทั้งกรมส่งเสริมสหกรณ์และสหกรณ์ฯ คลองจั่นก็ไม่มีการแก้ไข และไม่สามารถเปิดเผยข้อมูลให้สาธารณะทราบได้” (ThaiPublica 16 พฤษภาคม 2013)
    ด้วยเหตุนี้เองเราผู้เขียนอาจคาดคะเนว่า อธิบดีกรมตรวจบัญชีสหกรณ์ ผู้ถูกฟ้องที่ 2 พ้นผิด เนื่องจากแม้ว่าผู้ถูกฟ้องที่ 1 จะมีคำสั่งแต่งตั้งให้เป็นรองนายทะเบียนสหกรณ์และผู้สอบบัญชีสหกรณ์ แต่เนื่องจากเป็นการปฏิบัติหน้าที่ช่วยเหลือสนับสนุนงานของนายทะเบียนสหกรณ์ ตามที่นายทะเบียนสหกรณ์มอบหมายไม่ได้มีอำนาจหน้าที่ในฐานะนายทะเบียนสหกรณ์โดยตรง ดังนั้นผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 จึงไม่ต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่ผู้ฟ้องคดีทั้งสอง เนื่องจากความเสียหายมาจาก 2 ส่วน ได้แก่ การกระทำการทุจริตของคณะกรรมการฯ กับพวกที่ได้ร่วมกันทุจริตหรือประพฤติมิชอบที่ได้สร้างความเสียหายให้แก่สหกรณ์ และสมาชิกถือว่าเป็นสาเหตุเบื้องต้นที่ได้สร้างความเสียหายให้แก่ผู้ฟ้องคดีทั้งสอง และสาเหตุที่สองคือการละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติหรือการปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวล่าช้าเกินสมควร...ดังนั้นเมื่อคำนึงถึงพฤติการณ์และความร้ายแรงแห่งคดีตามความในมาตรา 434 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งพาณิชย์และพาณิชย์ (อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์น้อยกว่านายศุภชัย ศรีศุภอักษร ประธานฯ กับพวก (ยังมีคดีจะตามมาอีก 27 คดี) และการทำหน้าที่ของที่ประชุมใหญ่สหกรณ์ไม่ได้ใช้อำนาจของตนอย่างแท้จริง อันก่อให้เกิดความเสียหายเช่นเดียวกันและมากกว่านายทะเบียนสหกรณ์) อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ผู้ถูกฟ้องที่ 1 มีความบกพร่องต่อหน้าที่ ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวล่าช้าเกินสมควรเป็นเวลาต่อเนื่องยาวนานกว่า 10 ปี (จึง) ให้รับผิดตามจำนวนที่น้อยลง 
โดยให้ผู้ถูกฟ้องที่ 1 ชำระค่าสินไหมทดแทนทั้งสองรวม 7 แสนบาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ส่วนคำฟ้องที่ผู้ถูกฟ้องที่ 2 อธิบดีกรมตรวจบัญชีสหกรณ์ให้ยก (คดีหมายเลขแดงที่ 1539/2559) มูลเหตุของคดีแชร์ลอตเตอรี่และการทุจริตขนานใหญ่ของสหกรณ์เครดิตยูเนียนคลองจั่น จำกัด ส่งผลให้อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์แต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้าราชการที่เกี่ยวข้อง และยกร่างกฎหมายสหกรณ์เพื่อแก้ไขเพิ่มเติม (ThaiPublica 7 มิถุนายน 2018) และคดีที่น่าสนใจเป็นพิเศษกรณีของชัยภูมิ นายสานิตย์ พลศรี ประธานสหกรณ์ออมทรัพย์ครูชัยภูมิชุดที่ 54 ได้ฟ้องนายทะเบียนกับพวกที่สั่งให้พ้นจากตำแหน่งกรรมการตามคำสั่งนายทะเบียนที่ 317/2555 ต่อมาได้ฟ้องศาลปกครองนครราชสีมาและศาลปกครองสูงสุดได้มีคำพิพากษาให้ผู้ถูกฟ้องคดี (นายสมชาย ชาญณรงค์กุล อธิบดีฯ และนายทะเบียนสหกรณ์ทั้ง 6 คน) แพ้ผู้ฟ้องคดีคดี (นายสานิตย์กับพวกรวม 6 คน) เพราะเหตุว่า “คำสั่งดังกล่าวได้ก่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้ฟ้องคดีทั้ง 6 โดยไม่จำเป็นและเกินสมควรกรณีการใช้ดุลพินิจในการออกคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย” ต่อมาปี 2563 ศาลปกครองสูงสุดได้มีคำพิพากษาตามคดีหมายเลขแดงที่ อ.286-287/2563 ได้มีคำพิพากษายืน 
จากนั้นก็ได้ดำเนินการติดตามตรวจสอบต่อ ป.ป.ช. ตามหนังสือของนายสานิตย์ ลงวันที่ 19 กรกฎาคม 2564 ต่อบรรดานายทะเบียนสหกรณ์คือ ดำเนินคดีแก่บุคคลทั้ง 6 คนคือ อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ (นายสมชาย ชาญณรงค์กุล) ในฐานะนายทะเบียนสหกรณ์ รองอธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ (นายโอภาส กลั่นบุศย์) นายสุกรี พันละบุตร (ผู้ตรวจราชการกรมฯ) นายสุพจน์ วัฒนวิเชียร สหกรณ์จังหวัดชัยภูมิ (รองนายทะเบียนสหกรณ์) นายบุญเสริม ไกรสินธุ์ สหกรณ์จังหวัดชัยภูมิ นายวรรณศักดิ์ ไม้จัตุรัส รักษาราชการแทนสหกรณ์จังหวัดชัยภูมิ และนางวราลักษณ์ กุลบวรรัตน์ ผู้อำนวยการกลุ่มจัดตั้งและส่งเสริมสหกรณ์ สำนักงานสหกรณ์จังหวัดชัยภูมิต่อไป ซึ่ง ป.ป.ช.ตอนนี้เข้าใจว่าคงชี้มูลความผิดแล้วเร็วๆ นี้จะแจ้งให้ทราบต่อไป และ 
(5) การกำหนดให้มีการประชุมใหญ่สามัญประจำปี โดยใช้ “ผู้แทนสมาชิก” (เขากำหนดมาจากการเลือกตั้ง แต่ในความจริงไม่ได้เลือกตั้ง เกือบทั้งหมดจึงเป็นคนของคณะกรรมการฯ เป็นส่วนใหญ่) เข้าประชุมใหญ่แทนสมาชิกทั้งมวล ที่น่าสนใจเกิดขึ้นกับสหกรณ์ออมทรัพย์ครูขอนแก่น จำกัด ในปี 2563 ที่ในประชุมใหญ่สามัญประจำปี 2563 ผู้แทนสมาชิก 390 คนได้ลงมติให้โบนัสกรรมการและเจ้าหน้าที่ 20.5 ล้านบาท (เข้าใจว่าสูงในลำดับต้นๆ ของประเทศ) และผู้แทนสมาชิก 390 คนที่ลงมติก็ได้เงินโบนัสด้วย (จดหมายเปิดผนึก ข้อเท็จจริงเรื่องเงินโบนัส โดยนายอนุศาสตร์ สอนศิลพงศ์ ประธานกรรมการฯ ลงวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2563) และผู้แทนสมาชิกก็ทำการเลือกตั้งประธานกรรมการด้วย (น่าจะเป็นข้อสงสัยให้สมาชิกกว่า 1.8 หมื่นคนพากันสงสัยเป็นการซื้อเสียงเลือกตั้งหรือไม่) เป็นประเด็นเรื่องการซื้อเสียงเริ่มชัดเจนมากขึ้น เหตุเกิดในปี 2564 มีการจัดการเลือกตั้งประธานกรรมการฯ ในการประชุมใหญ่สามัญประจำปีเมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2564 โดยมีจ่ายค่าประชุมให้ผู้เข้าประชุมคนละ 7,500 บาท (ผู้แทนสมาชิกลงมติจ่ายโบนัส 15 ล้านบาท) และนำเงินสหกรณ์เหล่านี้มาจ่ายให้กับผู้เข้าประชุมไม่ทราบว่าเป็นค่าเดินทางหรือค่าเบี้ยเลี้ยงอะไร มีระเบียบเบิกจ่ายได้ถูกต้องหรือไม่ ชมรมพิทักษ์สิทธิสมาชิกสหกรณ์กาฬสินธุ์ จำกัด เห็นว่าเป็นเรื่องน่าอับอายและไม่ถูกต้อง (เรื่องยาวมาก โปรดอ่านในกูเกิล #สหกรณ์ออมทรัพย์ครูกาฬสินธุ์ฟ้องศาลล้มเลือกประธานเผยซื้อเสียงหัวละ 7,500 บาท) จึงได้ส่งเรื่องนี้ไปยังสหกรณ์จังหวัดในฐานะรองนายทะเบียนสหกรณ์ เมื่อเห็นว่าล่าช้าเกินไปจึงทำการฟ้องศาลและออกคลิปโด่งดังไปทั่ว ในคลิปนี้เราจะเห็นตัวผู้แทนสมาชิกรับเงินที่อ้างว่าซื้อเสียงจำนวนดังกล่าว 
เรื่องปมเงื่อนการซื้อเสียงนี้ เห็นมีตัวอย่างเดียวคือนายสานิตย์ พลศรี ประธานสหกรณ์ออมทรัพย์ครูชัยภูมิ จำกัด ได้ตัดสินใจจะลดซื้อเสียงขายเสียงให้น้อยลง จึงตัดสินใจแก้ไขข้อบังคับสหกรณ์ฯ ปี 2551 ในข้อ 28 การจัดสรรกำไรสุทธิ...(3) เป็นโบนัสแก่กรรมการดำเนินการและเจ้าหน้าที่สหกรณ์ไม่เกินร้อยละ 10 ของกำไรสุทธิ แต่ต้องได้ไม่เกินอัตรา ดังต่อไปนี้ ประธานกรรมการ 50,000 บาท รองประธาน เหรัญญิก เลขานุการ คนละ 45,000 บาท กรรมการคนละ 40,000 บาท เหตุผลที่ได้รับการยืนยันคือคะแนนเสียงที่สมาชิกโหวตลงคะแนนเป็นเอกฉันท์เลย (ดูเอกสารประกอบ) ดังนั้นที่ผู้แทนสมาชิกโหวตให้โบนัส 20.5 ล้านบาท (ขอนแก่น) และ 15 ล้านบาท (กาฬสินธุ์) จึงไม่อาจจ่ายให้ผู้แทนสมาชิกที่เข้าประชุมได้ (จ่ายให้กรรมการและเจ้าหน้าที่เท่านั้น) ไม่เชื่อก็ให้สหกรณ์จังหวัดไปตรวจสอบดูยังสหกรณ์ต่างๆ ได้
มาถึงเรื่องสำคัญที่สุดจะเป็นวิบัติการณ์ครั้งใหญ่ เราผู้เขียนในฐานะเคยดำรงตำแหน่งประธานสหกรณ์ออมทรัพย์ครูนครราชสีมา จำกัด ใหญ่เป็นอันดับต้นๆ ของประเทศมาก่อน ถือเป็นเรื่องใหญ่ที่สุดว่าด้วย “หลักประกันเงินกู้” ด้วยให้สมาชิกสหกรณ์ทำประกันภัยกับบริษัทมหาชนทั้งบริษัทประกันชีวิตและหรือบริษัทประกันวินาศภัย คาดว่ามูลค่าความเสียหายกว่า 2 แสนล้านบาท (ถ้านายทะเบียนสหกรณ์ยังบกพร่องละเลยต่อหน้าที่หรือปฏิบัติหน้าที่ล่าช้าเกินสมควร) จะรับผิดอย่างไรบ้าง ให้ดูหนังสือนายทะเบียนสหกรณ์ที่ กษ 1101/830 ลงวันที่ 23 มกราคม 2545 เรื่องห้ามสหกรณ์ดำเนินการธุรกิจประกันชีวิต ประกาศนายทะเบียนสหกรณ์ เรื่องการกระทำการหรืองดเว้นกระทำการจนทำให้สหกรณ์เสื่อมเสียผลประโยชน์ของสหกรณ์หรือของสมาชิก ลงวันที่ 27 พฤศจิกายน 2558 กระนั้นสหกรณ์ออมทรัพย์ต่างๆ ก็ไม่สนใจ ต่างกระทำกันเป็นล่ำเป็นสันถ้วนหน้า กรมส่งเสริมสหกรณ์ก็มีหนังสือที่ กษ 1115/1212 ลงวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2563 สหกรณ์ต่างๆ ก็ยังคงเดินหน้ากระทำต่อไปทั้งเปิดเผย บางแห่งแอบมอบให้เจ้าหน้าที่ฝ่ายจ่ายเงินกู้จัดการแทนตน จนกระทั่งกรมส่งเสริมสหกรณ์มีหนังสือที่ กษ 1115/5623 ลงวันที่ 29 มิถุนายน 2563 ถึงสหกรณ์ทุกจังหวัดทุกจังหวัด ความว่า สหกรณ์ที่ฝ่าฝืนกำหนดหลักประกันเงินกู้ที่จัดต่อกฎหมายให้สหกรณ์จังหวัดสั่งเพิกถอนมติที่ประชุมใหญ่หรือมติคณะกรรมการดำเนินการ แล้วสั่งการให้แก้ไขข้อบกพร่อง แล้วรายงานให้กรมฯ ทราบภายในวันที่ 31 กรกฎาคม 2563 และล่าสุดยังมีหนังสือที่ กษ 1115/3259 ลงวันที่ 27 พฤษภาคม 2564 ให้ผู้ตรวจราชการกรมฯ รายงานความก้าวหน้าในการแก้ปัญหาเสนออธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ภายในวันที่ 5 ของทุกเดือน แล้วจะนำส่งให้รัฐมนตรีและนายกรัฐมนตรีทราบต่อไป  
เราผู้เขียนเห็นว่า เรื่องหลักประกันเงินกู้ที่ครูกู้เงินจนล้นเกินจำนวนมหาศาลจนเชื่อว่าชาตินี้ก็ชำระหนี้ไม่หมด ทั้งเงินที่คณะกรรมการดำเนินการฯ พากันเล่นกันในบริษัท ประกันภัย (มหาชน) และสมาคมฌาปนกิจสงเคราะห์ฯ อีกจำนวนร่วมพันแห่ง และแทบทุกแห่งน่าจะฝ่าฝืนกฎหมายพระราชบัญญัติประกันชีวิต พ.ศ.2535 พระราชบัญญัติประกันวินาศภัย พ.ศ.2535 และพระราชบัญญัติการฌาปนกิจสงเคราะห์ พ.ศ.2545 และกฎหมายลูกเสียทั้งสิ้น ดังตัวอย่างมีให้เห็นแล้ว นางนวรัตน์ ชูทุ่งยอ สมาชิกสหกรณ์ออมทรัพย์ครูขอนแก่น จำกัด ไปร้องทุกข์กล่าวโทษต่อคณะกรรมการดำเนินการฯ 14 คน กระทำผิดมาตรา 18 (ไม่มี “ใบอนุญาตเป็นนายหน้าประกันชีวิต”) แห่งพระราชบัญญัติประกันชีวิต พ.ศ.2535 ปรากฏว่าคืบหน้าไปมากพนักงานสอบสวนจะเตรียมส่งสำนวนให้อัยการฟ้องร้องต่อไป
โปรดระวัง!!! คลื่นสึนามิเงินมหาประลัยลูกที่สามจะตามมาเร็วๆ นี้ เริ่มจากการทุจริตแชร์ลอตเตอรี่ สหกรณ์เครดิตยูเนียนคลองจั่น จำกัด แล้วก็ถึงวิบัติจากการทำสมาคมฌาปนกิจสงเคราะห์ราวดอกเห็ด และการประกันภัยจะเป็นภัยร้ายของสังคม
    (มีต่อตอนจบ)

 สมเกียรติ พงษ์ไพบูลย์


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"