'กปปส.'ขึ้นศาลสู้คดีกบฏ ลั่นต่อต้านรัฐบาลทรราช


เพิ่มเพื่อน    

    "สุเทพ" นำแกนนำ กปปส. 25 คนขึ้นศาล ปฏิเสธทุกข้อหา ยันใช้สิทธิ์พิทักษ์รัฐธรรมนูญ ต่อต้านรัฐบาลทรราช พร้อมขอให้ส่งศาล รธน.วินิจฉัย ศาลรวม 3 สำนวนเป็นคดีเดียว สืบพยานนัดแรก 14 พ.ค. "พุทธะอิสระ" โอดคนล้นคุก นอนเบียด 30-50 คนต่อห้อง 
    ที่ห้องพิจารณา 814 ศาลอาญา ถ.รัชดาภิเษก เมื่อวันที่ 25 มิถุนายน เวลา 09.00 น. ศาลนัดตรวจพยานหลักฐานคดีการชุมนุมของคณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงปฏิรูปประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์แบบอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (กปปส.) ข้อหาร่วมกันเป็นกบฏและข้อหาอื่น พร้อมกันรวม 3 สำนวน ประกอบด้วย คดีหมายเลขดำ อ.247/2561 ที่พนักงานอัยการสำนักงานคดีพิเศษ 4 ยื่นฟ้องนายสุเทพ เทือกสุบรรณ อายุ 69 ปี ประธานมูลนิธิมวลมหาประชาชนเพื่อการปฏิรูปประเทศไทย (มปท.) และอดีตเลขาธิการ กปปส. กับแกนนำ กปปส.เวทีจุดต่างๆ รวม 9 คน 
    คดีหมายเลขดำ อ.832/2561 ที่ยื่นฟ้องนางอัญชะลี ไพรีรัก อายุ 52 ปี อดีตพิธีกรเวทีชุมนุม กปปส., อดีตพระพุทธะอิสระ อายุ 58 ปี เจ้าอาวาสวัดอ้อน้อย จ.นครปฐม และอดีตแกนนำ กปปส.เวทีแจ้งวัฒนะ กับแนวร่วม กปปส. รวม 14 คน และคดีหมายเลขดำ อ.1185/2561 ที่ยื่นฟ้อง ร.ต.แซมดิน เลิศบุศย์ อายุ 60 ปี ผู้ประสานงานกองทัพธรรม และนายมั่นแม่น กะการดี อายุ 38 ปี แนวร่วมกองทัพธรรม โดยทั้ง 3 สำนวนได้ยื่นฟ้องเมื่อต้นปี 2561
    อัยการฟ้องจำเลยในความผิดฐานร่วมกันกบฏ, สนับสนุนกบฏ, ร่วมกันก่อการร้าย (ฟ้องเฉพาะนายสุเทพ กับนายชุมพล จุลใส 48 ปี แกนนำ กปปส.เวทีแยกราชประสงค์), ขัดขวางการเลือกตั้งฯ และข้อหาอื่นรวม 8-9 ข้อหา ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 113, 116, 117, 135/1, 209 , 210, 215, 216, 362, 364, 365, พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.และการได้มาซึ่ง ส.ว. พ.ศ.2550 มาตรา 76, 152 ประกอบมาตรา 83, 86, 91 จากการร่วมชุมนุมกันของ กปปส. ที่มีนายสุเทพเป็นผู้นำการชุมนุมเพื่อขับไล่รัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เมื่อระหว่างวันที่ 23 พ.ย.2556-1 พ.ค. 2557 ซึ่งมีการพาผู้ชุมนุมบุกรุกปิดสถานที่ราชการหลายแห่ง รวมทั้งขัดขวางการเลือกตั้ง ซึ่งท้ายคำฟ้องอัยการโจทก์ยังได้ขอให้ศาลมีคำสั่งเพิกถอนสิทธิ์เลือกตั้งของจำเลยด้วยมีกำหนด 5 ปี
    วันนี้ อัยการโจทก์, นายสุเทพ พร้อมแกนนำและแนวร่วม กปปส.ที่ถูกฟ้องเป็นจำเลย ซึ่งได้รับการประกันตัวเดินทางมาศาลพร้อมทนายความ ส่วนอดีตพระพุทธะอิสระ ซึ่งถูกคุมขังระหว่างการฝากขังในคดีปลอมพระปรมาภิไธย และคดีทำร้ายเจ้าหน้าที่ ถูกเบิกตัวจากเรือนจำมาศาล โดยสวมชุดเรือนจำนั่งรถเข็นเข้ามาในห้องพิจารณาด้วยสีหน้ายิ้มแย้มเมื่อแกนนำและแนวร่วม กปปส.ลุกขึ้นยืนทักทายให้ความเคารพ
    ศาลอ่านคำฟ้องของอัยการให้จำเลยทั้งหมดฟัง สรุปได้ว่า จำเลยกับพวกได้ปราศรัยชักชวนกันขับไล่รัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ไม่ใช่ความมุ่งหมายตามรัฐธรรมนูญ เพื่อไม่ให้รัฐบาลบริหารราชการแผ่นดินได้ จัดหาชายฉกรรจ์เป็นกองกำลังไล่ล่าจับตัว น.ส.ยิ่งลักษณ์และรัฐมนตรี ชักชวนหน่วยงานราชการและเอกชนหยุดงาน ไม่จ่ายภาษี มีการชุมนุมปิดถนน ปิดกรุงเทพฯ ตัดน้ำตัดไฟหน่วยงานราชการ บุกรุกสถานที่ราชการ มุ่งหมายให้รัฐบาลหยุดปฏิบัติหน้าที่ มีกองกำลังใช้อาวุธ ก่อการร้ายโดยเข้าควบคุมระบบสื่อสารโทรคมนาคมที่ทีโอที เมื่อมีการประกาศการเลือกตั้ง พวกจำเลยได้ดำเนินการไม่ให้มีการสมัครรับเลือกตั้ง ไม่ให้ผู้ใช้สิทธิเลือกตั้งเข้าใช้สิทธิโดยปิดกั้นหน่วยเลือกตั้ง ปราศรัยว่า กปปส.จะใช้อำนาจรัฏฐาธิปัตย์แต่งตั้งนายกฯ และคณะรัฐมนตรีขึ้นเอง เป็นการเปลี่ยนแปลงล้มล้างรัฐธรรมนูญ ทำให้เกิดความปั่นป่วนกระด้างกระเดื่อง
    หลังอ่านคำฟ้องแล้ว จำเลยทั้งหมดให้การปฏิเสธทุกข้อกล่าวหา โดยนายสุเทพ จำเลยที่ 1 แถลงต่อศาลประกอบการปฏิเสธระบุว่า การชุมนุมเป็นการใช้สิทธิพิทักษ์รัฐธรรมนูญ รัฐบาลในขณะนั้นเป็นปฏิปักษ์กับรัฐธรรมนูญ ใช้อำนาจฉ้อฉลปล้นประเทศ พวกตนจึงใช้สิทธิพลเมืองในการต่อต้านรัฐบาลที่เป็นทรราช หากปล่อยไว้จะเกิดความเสียหายไม่สิ้นสุด และขอให้ส่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยต่อไป 
    นอกจากนี้ จำเลยรายอื่นๆ เช่น นายแก้วสรร อติโพธิ, นายสาธิต เซกัล, นายสุวิทย์ ทองประเสริฐ หรืออดีตพระพุทธะอิสระ, ร.ต.แซมดิน เลิศบุศย์ และ พล.อ.ท.วัชระ ฤทธาคนี ได้ขึ้นแถลงต่อศาลทำนองสนับสนุนยืนยันว่าการที่จำเลยชุมนุมเป็นสิทธิตามรัฐธรรมนูญ เป็นไปโดยสงบ ปราศจากอาวุธ ได้รับความคุ้มครอง ไม่ได้ขวางการเลือกตั้ง ขอให้ศาลอาญาส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยประเด็นการชุมนุมด้วย ทั้งยังตั้งคำถามต่อการนิยามข้อหากบฏของอัยการว่าต้องมีพฤติการณ์อย่างไร และต้องการให้อธิบายพฤติการณ์ของจำเลยให้ชัดรายคน ไม่ควรเหมารวม
    ทั้งนี้ นายสุเทพยังได้ถามอัยการเพื่อให้ยืนยันต่อศาลว่า ผู้ต้องหาคดีกบฏ กปปส.ที่เหลืออีก 28 คน จะสามารถฟ้องได้หมดเมื่อไหร่ โดยพนักงานอัยการได้ชี้แจงว่า จากที่คุยกับทนายความจำเลย มีบางรายยังอยู่ระหว่างการพิจารณาขอเงินประกันตัวจากกองทุนยุติธรรมที่รออนุมัติอยู่ และผู้บังคับบัญชาอนุญาตให้เลื่อน จึงยังไม่สามารถตอบได้ว่าจะฟ้องได้หมดเมื่อไหร่
    อดีตพระพุทธะอิสระได้แถลงต่อศาลด้วยทำนองว่า ประเทศไทยเอาคนไปติดคุกเยอะแยะได้อะไร ทุกวันนี้คนล้นคุก เป็นภาระรัฐบาลเลี้ยงดู อย่างห้องควบคุมที่ตนอยู่ไม่ได้กว้าง บางวันก็นอน 30-50 คนสาธารณูปโภคไม่ได้ดีนัก เราไม่ได้เป็นคนทำร้ายชาติ แต่พอคนโกงหมื่นล้าน ศาลลงโทษติดคุก 1-2 ปี อัยการก็ไม่ตามอุทธรณ์ อย่างคดีเล็กน้อยบางครั้ง คนไม่มีเงินประกันไม่มีเงินสู้คดีก็สารภาพเพื่อจะได้ลดโทษ พอออกจากคุกไปก็ไม่ได้โอกาส พุทธะอิสระไม่ได้กลัวติดคุกเพราะติดแล้ว แต่สงสารคนที่ยังไม่ได้ติดคุก
    อย่างไรก็ตาม อัยการโจทก์ขอเลื่อนนัดตรวจหลักฐานออกไปก่อน เนื่องจากคณะทำงานเพิ่งเข้ารับหน้าที่ใหม่ และรอการรวมพิจารณาคดี จำเลยยื่นคัดค้าน ศาลพิจารณาแล้วเคยอนุญาตให้มีการเลื่อนนัดตรวจหลักฐานแล้วครั้งหนึ่ง คดีเกี่ยวข้องกับความมั่นคง ไม่ใช่การตรวจพยานเอกสารอย่างเดียวต้องสืบพยานบุคคลด้วย จึงไม่อนุญาตให้เลื่อนคดีอีก ส่วนที่อัยการโจทก์ขอรวมสำนวนคดีทั้งสามเข้าเป็นคดีเดียวกัน เพราะใช้พยานหลักฐานชุดเดียวกัน แต่จำเลยยื่นคัดค้าน โดยมีเหตุผล เช่น ขอแยกพิจารณาสำนวน 9 คนแรกก่อนเพื่อพิสูจน์ว่ากระทำผิดหรือไม่ เป็นต้น ศาลพิเคราะห์แล้วเห็นว่าพยานหลักฐานเป็นชุดเดียวกัน จึงให้รวมคดี 
    โดยจำเลยในคดีหมายเลขดำ อ.247/2561 เป็นจำเลยที่ 1-9, คดีหมายเลขดำ อ.832/2561 เป็นจำเลยที่ 10-23 และคดีหมายเลขดำ อ.1185/2561 เป็นจำเลยที่ 24-25 เข้าด้วยกัน จำเลยทั้งหมดให้การปฏิเสธ อัยการโจทก์แถลงขอนำพยานบุคคลเข้าสืบ 891 ปาก จำเลยขอนำพยานบุคคลเข้าสืบ 100 ปาก ศาลพิจารณาแล้วอนุญาตให้อัยการโจทก์นำพยานเข้าสืบจำนวน 80 ปาก ใช้เวลา 30 นัด และพยานจำเลยจำนวน 100 ปาก ใช้เวลา 30 นัด คู่ความตกลงแล้ว ให้กำหนดวันนัดสืบพยานโจทก์นัดแรกในวันที่ 14 พ.ค.2562 เวลา 09.00 น.
    ภายหลังนายสุเทพให้สัมภาษณ์ว่า จำเลยทุกคนให้การปฏิเสธ พร้อมแถลงต่อศาลว่า ไม่ได้กระทำความผิดตามข้อกล่าวหาที่อัยการสั่งฟ้อง แต่จำเลยกระทำการดังกล่าวเพื่อพิทักษ์ปกป้องรัฐธรรมนูญในขณะนั้น เนื่องจากรัฐบาลมีลักษณะเป็นปฏิปักษ์ต่อรัฐธรรมนูญ นอกจากนี้จำเลยได้ยื่นคำร้องต่อศาลเพื่อขอให้ศาลอาญาส่งคำร้องไปให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยในประเด็นที่ว่า ในขณะที่เราถูกฟ้องว่ากระทำผิดเป็นช่วงเวลาที่ศาลรัฐธรรมนูญเคยวินิจฉัยไว้แล้วว่า ประชาชนต่อสู้โดยสงบและสันติ ตามกรอบของรัฐธรรมนูญที่คุ้มครองเอาไว้ 
     "เราต้องพิสูจน์ว่ามวลมหาประชาชนมีสิทธิลุกขึ้นต่อสู้พิทักษ์รัฐธรรมนูญ เพราะระบอบทักษิณเป็นปฏิปักษ์ต่อรัฐธรรมนูญ ใช้อำนาจโดยมิชอบ ทุจริต ไม่ฟังเสียงประชาชน ไม่ใช่เจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ ทำให้เสียหายต่อชาติบ้านเมือง จึงเป็นสิทธิพลเมืองพิทักษ์รัฐธรรมนูญ การต่อสู้ในกระบวนการยุติธรรมวันนี้พิสูจน์ว่าประชาชนมีสิทธิลุกขึ้นต่อสู้ต้านทรราช ไม่ว่าจะยาวนานแค่ไหนต้องอดทน ผมขอบคุณทุกกำลังใจ" อดีตเลขาธิการ กปปส.ระบุ
    ส่วนกรณีนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ออกมาเคลื่อนไหวในขณะนี้นั้น นายสุเทพกล่าวว่า เป็นหน้าที่ของฝ่ายอื่น ไม่ใช่หน้าที่ตน พวกตนสู้ต่อต้านระบอบทักษิณมาแล้ว ไม่มีเจตนาจองล้างจองผลาญ หากอนาคตมีใครมาทำอย่างระบอบทักษิณ เราจะต่อต้านอีก ไม่ยอมให้ทรราชมาทำความเสียหาย.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"