จับตา'อสส.'ใช้ดุลยพินิจ สั่งถอนคดีไม่มีประโยชน์


เพิ่มเพื่อน    

    อัยการสูงสุดแจงระเบียบใหม่การสั่งคดีอาญาที่ไม่เป็นประโยชน์และกระทบมั่นคง เพิ่มเหตุผลนายกฯ-หน่วยงานอื่น พร้อมให้อำนาจ อสส. หากเห็นเองใช้ดุลยพินิจสั่งไม่ฟ้องได้ ด้านทนายเสื้อแดงจับตา อสส.จะเป็นอิสระจริงหรือไม่ ยกคดีคนอยากเลือกตั้งชุมนุมแยกปทุมวันรอสั่งคดี "ไพบูลย์” เชื่อเป็นไปในทางที่ดี แนะ อสส.ถอนฟ้อง ปชช.บางรายคดีปิดสนามบินที่ไม่เกี่ยวข้องแต่ถูกเหมาเข่ง
    มีการชี้แจงจากสำนักงานอัยการสูงสุด (อสส.) กรณีการประกาศใช้ระเบียบสำนักงานอัยการสูงสุด ว่าด้วยการสั่งคดีอาญาที่จะไม่เป็นประโยชน์แก่สาธารณชน หรือจะมีผลกระทบต่อความปลอดภัยหรือความมั่นคงของชาติ หรือต่อผลประโยชน์อันสำคัญของประเทศ (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2561 โดยนายโกศลวัฒน์ อินทุจันทร์ยง รองโฆษก อสส. กล่าวว่า ระเบียบที่ประกาศใช้เป็นการแก้ไขเพิ่มเติมระเบียบฯ ฉบับเดิมซึ่งประกาศใช้เมื่อปี พ.ศ.2554 โดยเป็นการเพิ่มปัจจัยที่นำมาในการพิจารณาสั่งไม่ฟ้องคดีที่จะไม่เป็นประโยชน์แก่สาธารณชน หรือจะมีผลกระทบต่อความปลอดภัยหรือความมั่นคงของชาติ หรือต่อผลประโยชน์อันสำคัญของประเทศ 
    "โดยเพิ่มเติมในเรื่องเหตุผลตามความเห็นของนายกรัฐมนตรีหรือหน่วยงานอื่นถึงผลกระทบต่อความมั่นคงปลอดภัยของพระมหากษัตริย์ พระราชินี    รัชทายาท หรือผู้สําเร็จราชการแทนพระองค์ และเพิ่มเติมในประเด็นอำนาจในการสั่งไม่ฟ้องคดีที่ไม่เป็นประโยชน์ฯ ซึ่งเดิมต้องเป็นการเสนอเรื่องขึ้นมาจากพนักงานอัยการที่พิจารณาคดีตามลำดับชั้นเท่านั้น แต่ส่วนระเบียบฯ ที่แก้ไขนี้ หากอัยการสูงสุดเห็นเอง เช่น ได้รับเรื่องจากส่วนราชการหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และเห็นว่าเป็นประเด็นตามข้อ 9 อัยการสูงสุดมีอำนาจที่จะสั่งไม่ฟ้องหรือถอนฟ้องคดีนั้นได้โดยตรง"
    รองโฆษก อสส.ยกคดีตัวอย่าง เช่น ชายพรากหญิงซึ่งเป็นเพื่อนและรักใคร่กันขณะเกิดเหตุอายุไม่เกิน 18 ปี แม่ฝ่ายหญิงแจ้งความร้องทุกข์พนักงานสอบสวนก็สอบสวนตามปกติ และเสนอความเห็นควรสั่งฟ้อง แต่ผู้ต้องหาหลบหนี ส่งสำนวนมายังพนักงานอัยการ ก็มีการสั่งให้ออกหมายจับตัวมาดำเนินคดีต่อไป แต่ข้อเท็จจริงภายหลังจากนั้นได้ความว่าชายหญิงได้แต่งงานกันและอยู่กินกันฉันสามีภริยาจนมีบุตรด้วยกัน มีภาพถ่ายงานแต่งงานและหลักฐานการมีบุตรมาแสดง ต่อมาฝ่ายชายจะไปทำงานต่างประเทศ แต่ถูกจับที่สนามบินเนื่องจากมีหมายจับที่เคยสั่งจับไว้ และส่งสำนวนมายังพนักงานอัยการ กรณีอย่างนี้เคยมีพนักงานอัยการเสนอความเห็นสั่งไม่ฟ้องผู้ชาย เพราะเห็นว่าไม่เป็นประโยชน์แก่สาธารณชน ถ้าฟ้องไปกลับจะเกิดปัญหา เพราะลูกต้องห่างพ่อ ภรรยาต้องห่างสามี ครอบครัวก็ขาดเสาหลักที่จะทำมาหาเลี้ยงครอบครัว 
    "การดำเนินการสั่งคดีตามระเบียบฯ นี้ถือว่าเป็นเรื่องดุลพินิจของพนักงานอัยการที่จะเสนอสั่งไม่ฟ้อง แม้ว่าผู้กระทำความผิดจะกระทำความผิดจริงตามที่กล่าวหาก็ตาม แต่โดยประการสำคัญ ก็จะเป็นดุลยพินิจที่อัยการสูงสุดจะพิจารณาสั่งการ ระเบียบนี้จึงเป็นระเบียบที่จะช่วยแก้ปัญหากระบวนการยุติธรรมอีกทางหนึ่ง" 
    นายโกศลวัฒน์กล่าวด้วยว่า แม้อัยการจะมีอำนาจสั่งไม่ฟ้องหรือถอนฟ้อง แต่ทางเลือกที่ดีที่สุดคือทุกคนไม่ควรไปสุ่มเสี่ยงกระทำการที่ผิดกฎหมาย เพื่อไม่ต้องนำความทุกข์ที่ร้ายแรงมาสู่ตนเองและครอบครัว จะดีที่สุดเป็นการตัดไฟเสียแต่ต้นลม อย่าล่วงเลยมาถึงชั้นให้อัยการสูงสุดต้องสั่งไม่ฟ้องคดี เนื่องจากเป็นคดีไม่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะเลย ขอให้ประชาชนปฏิบัติตามกฎหมาย เพื่อความสงบเรียบร้อยของสังคมจะดีกว่า  เช่น กรณีพนักงานห้างขายปลีกขนาดใหญ่ขโมยซาลาเปาที่ห้างสั่งให้ทิ้งมาให้ลูกกินเพื่อบรรเทาความหิวโหย แม้ว่าอัยการสูงสุดจะเคยสั่งไม่ฟ้องจนเป็นคดีประวัติศาสตร์ไปแล้ว แต่ในยุค 4.0 เป็นยุคของข้อมูลข่าวสาร ที่ประชาชนจะหาข้อมูลข่าวสารได้โดยง่าย สามารถจะรู้ได้ทันทีว่ายังมีหน่วยงานของรัฐ ของเอกชน ที่ให้ความช่วยเหลือผู้มีปัญหา ผู้ยากไร้ ผู้ด้อยโอกาส อยู่ที่ไหน จึงเป็นทางเลือกได้อย่างดีที่ไม่ควรกระทำการผิดกฎหมาย 
    ด้านนายวิญญัติ ชาติมนตรี เลขาธิการสมาพันธ์นักกฎหมายเพื่อสิทธิเสรีภาพ (สกสส.) และทนายความด้านสิทธิมนุษยชน กล่าวถึงระเบียบดังกล่าวว่า โดยสรุปมีสิ่งใหม่ที่ให้อำนาจพนักงานอัยการซึ่งมีอยู่แล้วตามระเบียบเดิม พ.ศ.2554 และให้ อสส.ที่เห็นเองหรือมีความเห็นจากการเสนอเรื่องจากหัวหน้าพนักงานอัยการ ตามปัจจัยสำคัญที่ต้องคำนึงถึง 6 ข้อ เดิมมีเพียง 5 ข้อ จะเห็นว่าการแก้ไขระเบียบนี้มีทั้งในแง่ดีและในแง่ไม่ดีก็ได้ ขึ้นอยู่กับการใช้อำนาจของอัยการสูงสุดโดยตรงเพียงผู้เดียวเท่านั้น 
    "สิ่งที่นักกฎหมายและสังคมจะต้องจับตาและต้องตรวจสอบการใช้ดุลพินิจนี้ต่อไปว่าอัยการสูงสุดมีความเป็นอิสระที่แท้จริงด้วยหรือไม่ เพราะหากคดีอาญาใดที่มีการสอบสวนมาแล้วรูปคดีมีนัยที่เกี่ยวข้องกับคดีทางการเมืองของกลุ่มเคลื่อนไหวทางการเมือง หรือการใช้อำนาจทางการทหารหรือหน่วยงานฝ่ายบริหาร ระเบียบนี้ก็อาจกลายเป็นเครื่องมือหนึ่งที่ใช้ไปในทางที่สนองต่อนโยบายหรือไปในทางใดทางหนึ่งก็ได้ จึงถือเป็นเรื่องที่สาธารณชนจะต้องช่วยกันตรวจสอบความเห็นของอัยการสูงสุดด้วย เนื่องจากผลของการใช้อำนาจตามระเบียบนี้ย่อมส่งผลทางคดีอาญาที่จะสั่งไม่ฟ้องหรือถอนฟ้องเป็นที่สิ้นสุดที่อัยการสูงสุด"
    นายวิญญัติกล่าวว่า ขอยกกรณีตัวอย่างคดีที่ประชาชนที่แสดงออกซึ่งสิทธิเสรีภาพที่อยากให้การเลือกตั้งเกิดขึ้น ในส่วนการพิจารณาสั่งฟ้องคดีของอัยการศาลแขวงปทุมวัน ที่มีผู้ต้องหาทั้งหมด 24 คน  ถูกแจ้งข้อหาฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 3/2558 ข้อ 12 เรื่องชุมนุมเกิน 5 คนในรัศมี 150 เมตรจากเขตพระราชฐาน ตาม พ.ร.บ.การชุมนุมฯ ปรากฏว่าพนักงานอัยการเจ้าของสำนวนเห็นว่าคดีมีมูล การกระทำของผู้ชุมนุมเป็นการฝ่าฝืนคำสั่ง คสช. แต่เห็นว่าจะไม่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ จึงมีความเห็นสั่งไม่ฟ้องเสนอต่อผู้บังคับบัญชาไปยัง อสส. ตามระเบียบสำนักงาน อสส.ว่าด้วยการสั่งไม่ฟ้องคดีที่ไม่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ พ.ศ.2554 อันเป็นขั้นตอนและเหตุปัจจัยตามระเบียบเดิม  
    “แต่เมื่อระเบียบใหม่นี้ใช้บังคับในส่วนที่เป็นคุณ ก็ย่อมใช้บังคับได้ ปัจจุบันจึงยังรอความเห็นจากอัยการสูงสุดเป็นผู้สั่งคดีคนสุดท้ายตามขั้นตอน ดังนั้นเมื่อความผิดคดีนี้เป็นประเภทคดีที่ไม่เป็นประโยชน์สาธารณะ  หากอัยการสูงสุดเห็นแย้งพนักงานอัยการศาลแขวงปทุมวัน คือมีความเห็นสั่งฟ้องผู้ต้องหาทั้งหมด ย่อมจะเป็นคำตอบแรกที่เป็นรูปธรรมว่าระเบียบนี้จะเป็นประโยชน์ต่อชาติจริงหรือไม่” นายวิญญัติกล่าว
    ส่วนนายไพบูลย์ นิติตะวัน ว่าที่หัวหน้าพรรคประชาชนปฏิรูปและแนวร่วม กปปส. กล่าวว่า น่าจะเป็นไปในทางที่ดีขึ้น ต้องดูว่าอัยการสูงสุดจะใช้หรือไม่ เพราะตัวระเบียบมีมานานแล้ว แต่ไม่ได้ใช้ ที่มีการปรับปรุงน่าจะเน้นเกี่ยวกับประเด็นคนต่างด้าวหรือต่างประเทศ ส่วนตัวเห็นว่าประชาชนธรรมดาที่ติดคดีอาญากรณีพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยชุมนุมปิดสนามบิน น่าจะใช้ระเบียบนี้ เพราะไม่เป็นประโยชน์อะไรแก่สาธารณะ โดยให้ใช้กับประชาชนที่เป็นจำเลยบางรายที่ไม่เกี่ยวข้อง คดีมีการฟ้องจำเลยไปทั้งหมดกว่า 90 คน ผ่านมา 5 ปี สืบพยานไปได้แค่ครึ่งปากยังไม่เสร็จ พอมีจำเลยป่วยรายหนึ่งก็เลื่อนจนคดีเดินไม่ได้ จึงเสนอให้อัยการสูงสุดใช้กับคดีนี้ในการถอนฟ้องประชาชนบางรายที่ถูกเหมารวมมาเป็นผู้ก่อการร้ายก็จะเกิดประโยชน์
    “คดีนี้เริ่มตั้งแต่ปี 2556 ถึงปีนี้ 2561 ผ่านมา 5 ปีแล้วที่ฟ้องศาล เพิ่งสืบพยานฝ่ายโจทก์ไปได้แค่ครึ่งปาก  มีพยานฝ่ายโจทก์ตั้ง 200 กว่าคน และพยานฝ่ายจำเลยอีก ถ้าดำเนินคดีต่อไป 20 ปี จะจบหรือเปล่า มีปัญหาเกี่ยวกับประชาชนที่ถูกฟ้องเหมาเข่ง ไปร้องเพลงตีฉิ่งอยู่หน้าสนามบินประมาณมากกว่า 60 คน ก็โดนฟ้องเป็นผู้ก่อการร้าย เสียสิทธิต่างๆ เป็นจำเลยในศาลอาญา เมื่อออกระเบียบปรับใหม่ ควรไปใช้กับจำเลยเหล่านี้ที่ถูกเหมาเข่งฟ้องไป ควรจะไปถอนฟ้องเพื่อช่วยเหลือประชาชนเขา เขาเดือดร้อนมาก” นายไพบูลย์กล่าว.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"