ประวิตรโดดป้องสามมิตร เดินสายดูดไม่ผิดกฎหมาย


เพิ่มเพื่อน    

  นายกฯ ปัดห้ามขายนิตยสารไทม์ นสพ.ไทยยังไม่เคยห้าม จะไปห้ามต่างชาติได้อย่างไร "ป้อม" อุ้มกลุ่มสามมิตรเดินสายดูดไม่ผิด กม. อ้างไม่ได้หาเสียงทำตัวให้ปั่นป่วนวุ่นวาย "เพื่อแม้ว" ท้าพลังดูดเอาไปให้หมดทีเดียว ยังมั่นใจเลือกตั้งรอบหน้าชนะที่หนึ่ง โวยให้ทำไพรมารีโหวตแต่ไม่ปลดล็อกเหมือนกินข้าวแต่ยังไม่อ้าปาก "ชทพ." เสนอ 3 ทางเลือกทำไพรมารีฯ  

    เมื่อวันศุกร์ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ให้สัมภาษณ์กรณีเสียงวิจารณ์ห้ามขายนิตยสารไทม์ ที่นายกฯ ให้สัมภาษณ์พิเศษขึ้นปกด้วยว่า ยืนยันว่าไม่เป็นความจริง ตนจะไปห้ามเขาได้อย่างไร เคยห้ามใครได้หรือไม่ ไม่ว่าจะหนังสือพิมพ์ไทยก็ไม่เคยห้าม   แล้วจะไปห้ามหนังสือพิมพ์ต่างชาติได้อย่างไร อยากจะขายก็ขายไป เรื่องนี้เป็นธุรกิจของเขา เราคนไทยก็รู้กันอยู่แล้วว่าตนทำอะไรอยู่ และทำงานเพื่อใคร ซึ่งตนไม่ได้ให้ความสำคัญกับเรื่องเหล่านี้มากนัก 
    "ในเรื่องดังกล่าวมีบันทึกการให้สัมภาษณ์ไว้อยู่แล้ว ผมจะให้มีการเผยแพร่ว่าทางนิตยสารไทม์ได้ถามอะไร ผมได้ตอบอย่างไร เมื่อสัมภาษณ์แล้วทางนิตยสารไทม์ได้นำไปเรียบเรียงอีกครั้ง ก็เป็นเรื่องของมุมมองของกองบรรณาธิการไทม์ เราไม่สามารถไปห้ามเขาได้ เหมือนกับที่ผมไม่สามารถไปต่อว่าสื่อไทยได้เช่นกัน เพราะเป็นเรื่องของสื่อ แค่อยากให้ระมัดระวัง ก็แค่นั้นเอง เนื่องจากปัจจุบันไทยมีโอกาสมากมายในเวทีโลก ดังนั้นความสงบเรียบร้อยจึงเป็นสิ่งสำคัญในการที่จะนำไปสู่การเลือกตั้งที่จะทำให้ทุกอย่างดีขึ้น" พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว
    พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม กล่าวถึงกรณีพรรคเพื่อไทยตั้งข้อสังเกตว่าการที่นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ แกนนำกลุ่มสามมิตร เดินสายดูดพรรคการเมืองเพื่อสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ ถือเป็นการเคลื่อนไหวทางการเมืองหรือไม่ว่า เขาไม่ได้ไปหาเสียงอะไร และขณะนี้พรรคการเมืองยังไม่มีการเปิดตัว
    "เขาไม่ได้คุยกันเรื่องต่อต้านอะไร ไม่ได้รวมตัวกันเพื่อปั่นป่วนทำให้เกิดความวุ่นวายในรัฐบาล ซึ่งการพูดคุยดังกล่าวเป็นเรื่องของบุคคล ไม่ใช่เรื่องการทำงานทางการเมือง" รองนายกฯ กล่าวถึงการรวมตัวกันเกิน 5 คน เพื่อพูดคุยประเด็นการเมืองถือว่าผิดหรือไม่     
    เมื่อถามว่า การเชิญบุคคลพูดคุย แต่ไม่เคลื่อนไหวทางการเมือง สามารถทำได้หรือไม่ พล.อ.ประวิตรกล่าวว่า หากทำกิจกรรมเพื่อปั่นป่วนไม่สามารถทำได้ ถามอีกว่าหากพรรคเพื่อไทยนัดพูดคุยโดยไม่มีการปั่นป่วนสามารถทำได้ พล.อ.ประวิตรกล่าวว่า “ก็อย่าด่ารัฐบาล หากทำอะไรไม่นำไปสู่ความขัดแย้งได้ทั้งนั้น เมื่อถามต่อว่า แล้วตอนนี้ตัวท่านมีพรรคหรือไม่ พล.อ.ประวิตร กล่าวสวนกลับว่า “ไม่มี พักผ่อน”
    ด้านนายวรวัจน์ เอื้ออภิญญกุล อดีต ส.ส.แพร่ พรรคเพื่อไทย ให้สัมภาษณ์ถึงความเคลื่อนไหวของกลุ่มสามมิตร ที่เปิดเผยรายชื่อผู้ที่จะลงสนามเลือกตั้งในนามพรรคพลังประชารัฐว่า หากกลุ่มนี้ยังรวบรวม ส.ส.ไม่ได้ การเลือกตั้งก็จะยังไม่เกิด อยากให้เปิดตัวเสียที จะได้รีบเลือกตั้ง ยอมรับว่าเรื่องนี้มีผลกระทบกับพรรคเพื่อไทย แต่ไม่มาก อดีต ส.ส.ที่ออกไปมีปัญหาเรื่องพื้นที่ทับซ้อนหรือประชาชนไม่นิยมชมชอบแล้ว คนที่เป็นตัวแทนของประชาชนจริงๆ ยังคงอยู่กับพรรค อยากจะเคลื่อนไหวอะไรก็เคลื่อนไหวไป จะดูดอะไรก็ดูดให้เต็มที่ แต่ต้องสู้กันตรงไปตรงมา อย่าใช้เล่ห์กล อย่าใช้อำนาจรัฐบีบบังคับหรือใช้กฎหมายกลั่นแกล้ง เพราะมันสกปรกเกินไป
     "ส่วนกรณีที่ คสช.ไม่ดำเนินการกับกลุ่มดังกล่าวนั้น จะทำให้ประชาชนเห็นชัดเจนขึ้นว่าเรื่องนี้เป็นอย่างไร  เชื่อว่าเมื่อมีการเลือกตั้งประชาชนก็ยังไม่เลือกทหาร ส่วนที่ คสช.จะมีการหารือกับกลุ่มการเมืองอีกครั้งในเดือน ก.ย. ต้องดูว่าใครเป็นคนเชิญ ถ้า กกต.เชิญ ทางพรรคยินดีเข้าร่วม แต่ถ้าเป็นรัฐบาลหรือ คสช.เชิญ เราก็ไม่ไป เพราะไม่ใช่หน้าที่ของรัฐบาลและ คสช." นายวรวัจน์กล่าว
    นายอำนวย คลังผา อดีต ส.ส.ลพบุรี พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า ไม่กังวลว่าการเคลื่อนไหวของกลุ่มสามมิตรจะส่งผลกระทบกับพรรคเพื่อไทย มั่นใจว่าถึงเวลาเลือกตั้งเมื่อไหร่ พรรคเพื่อไทยจะมี ส.ส.อันดับหนึ่งแน่นอน
    นายนพดล ปัทมะ อดีตสมาชิกพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า พรรคเพื่อไทยมีความพร้อมและมีความสามารถในการให้สมาชิกพรรคเข้ามามีส่วนร่วมในการคัดสรรผู้สมัครรับเลือกตั้งเบื้องต้น หรือทำไพรมารีฯ เนื่องจากพรรคเห็นว่าการมีส่วนร่วมของสมาชิกจะช่วยทำให้พรรคการเมืองเข้มแข็ง และเป็นผลดีต่อกระบวนการพัฒนาประชาธิปไตย อย่างไรก็ตาม พรรคการเมืองต่างๆ ต้องใช้เวลาในการหาสมาชิกเพื่อให้มีจำนวนมากพอในแต่ละเขตเลือกตั้ง ดังนั้นการปลดล็อกให้พรรคการเมืองทำกิจกรรมต่างๆ และหาสมาชิก จึงมีเหตุผลและความจำเป็น ซึ่งไม่ใช่การคลายล็อก ต้องการให้ทำไพรมารีฯ และให้ประชาชนมีส่วนร่วมทำนโยบาย แต่ยังไม่ปลดล็อก อุปมาเหมือนจะกินข้าว แต่ยังไม่อ้าปาก หวังว่ารัฐบาลคงคิดได้ว่าควรทำอะไรที่ส่วนรวมได้รับประโยชน์
    นายนิกร จำนง ผอ.พรรคชาติไทยพัฒนา กล่าวถึงการปรับแก้การทำไพรมารีโหวตว่า สมาชิก 3,000 คนที่กลับมายืนยันความเป็นสมาชิกพรรค ชทพ.กับโครงสร้างเดิมที่มีถือว่าเพียงพอที่จะทำไพรมารีโหวตได้ แต่เป็นห่วงว่าพรรคเล็กและพรรคที่จดจัดตั้งใหม่จะลำบากจากเงื่อนเวลาค่าใช้จ่ายในการดำเนินการ รวมไปถึงเรื่องการแบ่งเขตเลือกตั้งทั้ง 350 เขต ซึ่งถือว่าสำคัญมาก เพราะจะต้องใช้ตัวแทนประจำจังหวัด ซึ่งมาจากสมาชิกพรรคที่มีภูมิลำเนาในเขตเลือกตั้งในจังหวัด 100 คนขึ้นไปเข้ามาเป็นองค์ประกอบในการคัดเลือกตัวผู้สมัคร
     นายนิกรเสนอให้ปรับแก้บทหลักโดยให้พรรคสามารถแต่งตั้งตัวแทนประจำจังหวัด จากสมาชิกพรรคในจังหวัด 100 คนขึ้นไปได้ เพราะถ้าคลายในส่วนนี้ จะไม่ได้ต้องเจอกับปัญหา และจะสะดวกและง่ายขึ้นกว่าเดิม ทั้งนี้คิดว่าจะยกเลิกเลยไม่ได้ เพราะสุ่มเสี่ยงที่จะขัดรัฐธรรมนูญ แต่สามารถคลายออกได้ โดยรัฐบาลอาจจะทำเป็น 3 ทางเลือกให้พรรคเลือก 1.ทำไพรมารีโหวตเต็มรูปแบบ 2.ทำไพรมารีเป็นรายภาค และ 3.ให้ที่ประชุมใหญ่เป็นผู้ดำเนินการคัดเลือกผู้สมัคร โดยให้ถือเป็นเรื่องภายใน พรรคไหนสะดวกแบบไหนให้ทำแบบนั้น โดยที่ทั้ง 3 วิธีนี้ยังถือเป็นการดำเนินการตามรัฐธรรมนูญมาตรา 45 ที่กำหนดให้สมาชิกมีส่วนร่วมอย่างกว้างขวาง
    นายจุติ ไกรฤกษ์ เลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงกรณีนายพิชัย นริพทะพันธุ์ แกนนำพรรคเพื่อไทย ระบุว่าพรรค ปชป.จับมือ คสช.ล้มพรรคเพื่อไทย ว่า คำพูดดังกล่าวถือเป็นการกล่าวหากัน และยืนยันว่าพรรคประชาธิปัตย์ไม่จำเป็นต้องทำเช่นนี้ อยากให้ไตร่ตรองดูให้ดีว่าใครที่เป็นคนล้มพรรคเพื่อไทย กลุ่มสามมิตรที่เป็นอดีต ส.ส.พรรคเพื่อไทยออกมาประกาศสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ ขณะที่คดียุบพรรคเกิดจากกรรมการบริหารพรรคเอง จึงไม่ควรมายัดเยียดข้อกล่าวหานี้ให้พรรคประชาธิปัตย์ และการที่ออกมาพูดเรื่องนี้ น่าจะเป็นการสร้างผลงานทางการเมืองเพื่อให้นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ ได้เห็นเท่านั้น
     นายประสาร มฤคพิทักษ์ สมาชิกก่อตั้งพรรครวมพลังประชาชาติไทย กล่าวถึงข้อเสนอของพรรคการเมืองที่ให้ใช้มาตรา 44 งดเว้นการทำไพรมารีโหวตว่า เป็นเรื่องน่าเสียดายอย่างยิ่งหากการเลือกตั้งครั้งนี้ประชาชนจะเสียโอกาสในการร่วมสร้างประชาธิปไตยภายในพรรค ซึ่งเป็นปฐมบทเบื้องแรกของการปฏิรูปพรรคการเมืองที่เป็นรูปธรรมในการสรรค์สร้างประชาธิปไตยภายในพรรค จะทำให้ผู้นำพรรคได้ออกจากพื้นที่สะดวกได้สบายดี    ไปสู่พื้นที่แห่งประชาธิปไตยภายในพรรค เป็นการให้อำนาจประชาชนหรือสมาชิกพรรคได้ร่วมกันกำหนดอนาคตของพรรคด้วนน้ำมือตนเอง ทำให้พรรคมีอิสรภาพจากเถ้าแก่ หรือชนชั้นนำภายในพรรค ลดอำนาจผู้นำพรรค แต่ไปเพิ่มอำนาจและบทบาทประชาชนที่เป็นสมาชิกพรรค สำหรับพรรครวมพลังประชาชาติไทย เราเคารพประชาชน จึงขอต้อนรับและพร้อมที่จะทำไพรมารีโหวตด้วยความเต็มใจ.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"