หลักนิติศาสตร์หรือหลักรัฐศาสตร์


เพิ่มเพื่อน    

    เวลาที่มีคดีใหญ่ๆ ที่คนทำความผิดเป็นคนที่มีผู้คนนับถือศรัทธาเป็นจำนวนมาก เราก็จะเห็นความยืดเยื้อของการจัดการเป็นที่รำคาญใจของคนที่อยากเห็นกระบวนการยุติธรรมได้ทำงานอย่างมีพลังเพื่อความถูกต้อง แต่เราก็มักจะได้ยินคำอธิบายว่าเรื่องดังกล่าวเป็นเรื่องละเอียดอ่อน คนที่ทำความผิดนั้นมีคนเคารพนับถือและศรัทธาอยู่เป็นจำนวนมาก ถ้าหากทำอะไรรุนแรงเกินไปอาจจะทำให้เกิดปัญหาใหม่ที่ยิ่งใหญ่และรุนแรงมากกว่าปัญหาที่คนคนนั้นกระทำผิด 
    สำหรับคำว่าหลักนิติศาสตร์และรัฐศาสตร์ที่อาจจะมีความขัดแย้งกันนั้น เท่าที่เข้าใจก็คือ ถ้าหากมีการชี้ความผิดตามตัวบทกฎหมายที่เขียนไว้อย่างเคร่งครัด โดยไม่ได้คำนึงว่าคนที่ทำผิดนั้นเป็นใคร มีคนเคารพนับถือศรัทธามากเพียงใด และเมื่อจัดการกับจำเลยผู้ทำผิดแล้วจะเกิดผลอย่างไรไม่ต้องนำมาคำนึง เพราะผิดก็คือผิด คนที่เคารพนับถือจะต้องเคารพกฎหมาย และจะต้องเคารพการตัดสินของศาล ไม่ควรจะออกมากระทำการใดๆ ที่แสดงว่าไม่เคารพศาล
    สำหรับคำว่าหลักรัฐศาสตร์นั้นหมายความว่า ในการตัดสินคดีที่เกี่ยวข้องกับคนที่มีผู้คนเคารพนับถือและศรัทธาเป็นจำนวนมากนั้น อย่าคิดแต่เพียงตัวบทกฎหมายเท่านั้น ต้องพิจารณาด้วยว่า ถ้าหากมีการตัดสินให้จำเลยคนดังกล่าวผิดแล้วจะเกิดอะไรขึ้น คนที่เคารพนับถือศรัทธาจำเลยจะมีการรวมตัวกันต่อต้านหรือไม่ จะทำให้บ้านเมืองวุ่นวายหรือไม่ จะก่อให้เกิดปัญหาบางอย่างที่ยิ่งใหญ่กว่าการกระทำผิดของจำเลยหรือไม่ เมื่อคิดเช่นนี้แล้ว การตัดสินจะต้องทำด้วยความระมัดระวัง อย่าเคร่งครัดตามตัวบทกฎหมายมากนัก
    คนที่เรียนนิติศาสตร์มาและทำหน้าที่อยู่ในกระบวนการยุติธรรมย่อมต้องการตัดสินคดีทุกคดีตามตัวบทกฎหมาย ไม่ว่าจำเลยนั้นจะเป็นใครก็ตาม จะมีสาวกที่เคารพนับถือมากน้อยเพียงใดก็ตาม แต่หากจะต้องเจอกระแสกดดันทางสังคมให้พิจารณาตามหลักรัฐศาสตร์ พวกท่านทั้งหลายก็คงจะไม่สบายใจนัก เพราะอาจจะขัดหลักธรรมาภิบาลที่มีอยู่ในใจของท่าน อาจจะขัดหลักจรรยาบรรณของวิชาชีพที่ท่านยึดถือ ดังนั้นเมื่อมีกระแสกดดันมาจากคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งให้คำนึงถึงหลักรัฐศาสตร์ในการตัดสินคดีแล้ว นอกจากจะทำให้พวกท่านทั้งหลายไม่สบายใจแล้ว คนที่ไม่เข้าใจหลักรัฐศาสตร์และยึดมั่นในหลักนิติศาสตร์ก็อาจจะตำหนิท่านทั้งหลายเหล่านั้นว่าทำไมตัดสินคดีล่าช้า ทำไมยังไม่จัดการกับจำเลยที่มีความผิดเห็นๆ เป็นความจริงเชิงประจักษ์
    ปรากฏการณ์ดังกล่าวนี้สาธารณชนทั้งหลายจะต้องเข้าใจและทำใจ คนที่เป็นผู้บริหารบ้านเมืองย่อมต้องการให้บ้านเมืองสงบสุข ประชาชนทุกฝ่ายอยู่ร่วมกันได้โดยปราศจากความขัดแย้ง แม้ไม่ถึงกับจะต้องรักกัน แต่อย่างน้อยก็อย่าเกลียดกันจนลุกขึ้นมาด่าทอต่อว่ากันจนเสียบรรยากาศของความปรองดอง ดังนั้นเวลาเกิดคดีกับคนใหญ่คนโต ท่านก็ต้องพิจารณาผลที่ตามมาของการจัดการอย่างใดอย่างหนึ่งกับจำเลยคนสำคัญที่มีคนเคารพนับถือและศรัทธาเป็นจำนวนมาก ท่านไม่อยากให้บ้านเมืองมีปัญหา ดังนั้นคดีหลายคดีที่มีคนสำคัญที่ประชาชนนิยมจึงเป็นเรื่องที่จัดการยาก ตัดสินล่าช้า ประชาชนที่ต้องการเห็นกระบวนการยุติธรรมทำงานก็จะบ่นก่นด่า ยิ่งถ้าตัดสินไม่ผิด หรือตัดสินผิดแต่โทษน้อยและให้รอลงอาญา ประชาชนจำนวนหนึ่ง แม้จะเคารพการตัดสินของศาลก็จะผิดหวัง (หรือรู้สึกไม่สะใจที่คนทำผิดขนาดนั้นได้รับโทษแต่เพียงเท่านี้) มิหนำซ้ำหลายๆ กรณีจำเลยไม่ได้ติดคุก แต่รอลงอาญา ก็จะรู้สึกผิดหวัง แต่หากตัดสินให้ผิดและโทษรุนแรง ก็ไม่อาจจะคาดเดาได้ว่าคนที่เคารพนับถือจำเลยจะลุกขึ้นมาก่อหวอดทำอะไรบ้างที่จะเป็นการสร้างความวุ่นวายให้กับประเทศชาติ เมื่อคิดตามนี้แล้วก็น่าเห็นใจท่านทั้งหลายที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการบริหารบ้านเมืองและกระบวนการยุติธรรม ทำอะไรลงไปก็จะกลายเป็นเรื่องได้อย่างก็เสียอย่าง ซึ่งเป็นเรื่องที่ตัดสินใจยากว่าอยากได้อะไร และอยากเสียอะไร ในบริบทที่คนไทยขัดแย้งกัน และเล่นกีฬาสีกันอยู่ในขณะนี้ ผลคดีที่ออกมาทางใดทางหนึ่ง เป็นเรื่องยากที่จะคาดเดาว่าจะเกิดอะไรขึ้นในภายหลัง
    นอกเหนือจากเรื่องหลักนิติศาสตร์และรัฐศาสตร์ที่สร้างความปวดเศียรเวียนเกล้าสำหรับผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องแล้ว ในบริบททางการเมืองที่กำลังเป็นอยู่ในขณะนี้ยังมีวัฒนธรรมทางการเมืองของประเทศไทยอีกประการหนึ่ง คือ ข้าราชการที่มีหน้าที่ในการตรวจสอบคนที่ทำผิด จะมีความรู้สึก “เกรงและกลัว” คนที่เป็นตัวปัญหา “เกรง” ก็คือเกรงใจ เพราะเป็นผู้ใหญ่ เพราะเป็นคนเคยรู้จัก หรือเพราะเคยอุปถัมภ์กันมา ดังนั้นจึงไม่อยากเดินเรื่องที่เป็นจุดเริ่มต้นของกระบวนการยุติธรรม ที่เราเรียกกันว่า “เกียร์ว่าง” ส่วน “กลัว” ก็คือกลัวอำนาจ กลัวบารมี กลัวการกระทำของคนที่เป็นตัวปัญหา กลัวว่าเขาจะมาทำอะไร กลัวว่าเขาจะกลับมามีอำนาจแล้วตัวเองจะเดือดร้อน ดังนั้นจึงใส่ “เกียร์ว่าง” เหมือนกัน ถ้าหากสามารถโยนเรื่องไปที่หน่วยงานอื่นได้ก็จะโยนไป โยกโย้กันไปมาว่าหน้าที่ในการดำเนินการเป็นหน้าที่ของใคร จึงไม่มีการเริ่มต้นกระบวนการที่ควรจะเริ่ม หลายเรื่องจึงคั่งค้างและเป็นที่ไม่พอใจของวิญญูชนทั้งหลายที่ปรารถนาจะเห็นคนทำผิดถูกลงโทษ ไม่ใช่เพื่อความสะใจ แต่เพื่อดำรงความศักดิ์สิทธิ์ของกฎหมายและสัจธรรม คนทำผิดต้องถูกลงโทษ ไม่ใช่ปล่อยให้ลอยนวล
    ขณะนี้ประชาชนตั้งตารอดูว่าท่านอาจารย์แห่งวัดจานบินจะเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมวันใด อยากเห็นการเดินหน้าของคดีเงินทอนวัดโดยไม่ต้องห่วงว่าที่เป็นพระเถระผู้ใหญ่กำลังรอดูว่าหมายจับที่ออกไปให้จับนายใหญ่ที่หนีคดีจะมีความคืบหน้าอะไร และนายใหญ่พูดนั้นจะมีการตีความว่าคนนอกเข้ามาครอบคลุมพรรค และทำให้ยุบพรรคหรือไม่ จะคอยดูว่าใช้หลักนิติศาสตร์หรือรัฐศาสตร์.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"