พร้อม! รับ '13 หมูป่า' กลับบ้าน


เพิ่มเพื่อน    

      บรรยากาศที่ตึงเครียดมากว่า 10 วันผ่อนคลายลงไปเยอะ หลังสามารถค้นหานักเตะและโค้ชทั้ง 13  คน ของทีมหมูป่าอะคาเดมีแม่สายได้สำเร็จเมื่อค่ำคืนวันที่ 2 ก.ค.ที่ผ่านมา

      ถือเป็นการจบภารกิจแรกคือ การค้นหา ได้อย่างสมบูรณ์แบบ เพราะทั้ง ผู้ปฏิบัติหน้าที่ และ ผู้ประสบภัย ปลอดภัยทุกคนหลังจากลุ้นกันมาราวกว่าสัปดาห์

      ทว่าทุกอย่างยังไม่เสร็จสิ้น เพราะขั้นตอนที่ยากรองลงมาคือ การกู้ภัย หรือการลำเลียง 13 ชีวิต ออกจากจุดเนินนมสาว ซึ่งเป็นจุดที่เด็กๆ ใช้เป็นที่หลบภัย ระยะทางห่างจากปากถ้ำหลายกิโลเมตร

      ขณะเดียวกันปริมาณน้ำภายในถ้ำจากจุดที่เด็กอยู่ยังคงสูงและเชี่ยวอยู่ กอปรกับสภาพร่างกายของเด็กที่ต้องได้รับการ อนุบาล เพื่อให้มีสภาพร่างกายแข็งแรง ทำให้ยังไม่สามารถนำตัวออกมาได้ทันที

      โดยขั้นตอนนี้เจ้าหน้าที่ต้องรอจนกว่าจะมั่นใจ 100% ถึงจะนำออกมาได้ ซึ่งตัวแปรสำคัญคือ ระดับน้ำ ภายในถ้ำและ ร่างกาย ของเด็กๆ

      ซึ่งยึดหลัก ไม่รีบ แต่ เอาชัวร์ เพราะเด็กๆ อยู่ในความดูแลของหน่วยซีลแล้ว แพทย์ พยาบาล  อาหาร เวชภัณฑ์ อยู่ตรงนั้นทั้งหมด

      ระหว่างนี้ที่ทุกคนภายนอกต่างรอคอย สิ่งที่ หน่วยซีล กำลังทำคือ ดูแลสภาพร่างกายของเด็กๆ  ตลอดจนสอนการใช้อุปกรณ์ดำน้ำอย่าง

        “หน้ากากดำน้ำ”

      นอกจากนี้ เจ้าหน้าที่ทุกฝ่ายยังคงเร่งดำเนินการสูบและพร่องน้ำทุกจุดที่เชื่อมโยงกับปริมาณน้ำในถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอน เพื่อให้ระดับน้ำในถ้ำลดลงให้มากที่สุดจึงจะสามารถลำเลียงได้

      ขณะที่ความพร้อมอื่นๆ ในด้านนอกเพื่อรอรับ 13 หมูป่า กลับบ้าน

      ถึงตรงนี้แทบจะพูดได้ว่า เมื่อใดที่สามารถลำเลียงเด็กๆ ออกมาจากถ้ำได้ ทุกชีวิตจะไปถึงโรงพยาบาลได้อย่างปลอดภัยและรวดเร็วที่สุด

      ที่ศูนย์อำนวยการค้นหาผู้สูญหาย วนอุทยานถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอน มีโรงพยาบาลสนามและรถพยาบาล 13 คัน จอดสแตนด์บายเอาไว้นานแล้วหลายวันตั้งแต่ยังไม่พบตัวเด็ก

      มีการเคลียร์พื้นที่ซึ่งจะใช้เป็นเส้นทางในการลำเลียงเด็กไปยังโรงพยาบาล ไม่ว่าจะเป็นการนำหินคลุกมาถมและเกลี่ยบริเวณถนนให้รถสามารถแล่นได้อย่างรวดเร็ว เนื่องจากหลายวันที่ผ่านมามีฝนตกหนักจนทำให้หน้าดินเป็นโคลนแทบทุกจุดบริเวณศูนย์อำนวยการร่วมฯ

      มีการซักซ้อมกำลังทหารตั้งแนวกำแพงตลอดเส้นทางที่จะใช้ลำเลียง หรือกำหนดเขตหวงห้ามเพื่อป้องกันการชุลมุนวุ่นวาย หรือกีดขวางระหว่างนำเด็กไปโรงพยาบาล

      นอกจากนี้ พล.ต.วุฒิชัย อิศระ แพทย์ใหญ่ กองทัพภาคที่ 3 หัวหน้าทีมโรงพยาบาลสนาม ยังเตรียมแพทย์ในการรักษาพยาบาล โดยกระบวนการรักษามีเป็นลำดับขั้นตอนทั้งขั้นเตรียมการ มีการหาข้อมูลความเจ็บป่วยของทั้ง 13 คน ประเมินจากน้ำหนัก อายุ โรคประจำตัว และปัจจัยเสี่ยงของแต่ละบุคคลที่ก่อให้เกิดความเจ็บป่วย

      ขั้นการวางแผนวิเคราะห์เหตุที่จะเกิด คือการขาดสารอาหาร ซึ่งแพทย์ได้เตรียมสารอาหารสำหรับบำรุงร่างกายให้แข็งแรงก่อนนำออกมา เบื้องต้นเมื่อหน่วยค้นหาพบและให้การรักษาพยาบาลเพื่อช่วยชีวิตแล้ว จะได้นักประดาน้ำคือ พ.ท.นพ.ภาคย์ โลหารชุน แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านการดำน้ำ จบหลักสูตรนักทำลายใต้น้ำจู่โจมหรือซีล ทำการประเมินเพื่อวางแผนเคลื่อนย้ายมายังโรงพยาบาลสนาม 

      เส้นทางเคลื่อนย้ายมีการจัดทีมแพทย์ไว้ 13 ทีม ในหนึ่งทีมประกอบด้วยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านอายุรกรรม ด้านภาวะฉุกเฉิน พยาบาล ผู้ช่วยพยาบาล พลเปลขนย้ายผู้ป่วยจากปากถ้ำมาสู่รถพยาบาล  เมื่อขึ้นรถจะมีแพทย์คนที่สองมาดำเนินการตรวจร่างกาย เพื่อประเมินว่าจะให้การรักษาอย่างไร โดยมีเครื่องมืออุปกรณ์ทางการแพทย์พร้อม ณ จุดรับผู้ป่วย

      สิ่งสำคัญคือต้องให้ความอบอุ่นแก่ร่างกาย ให้สวมแว่นตาดำ เนื่องจากเด็กอยู่ในที่มืดเป็นเวลานาน  เมื่อออกมาสู่ที่มีแสงสว่าง รูม่านตาจะไม่ทนต่อการรับแสงจ้าชั่วคราว

      จากนั้นจะนำส่งขึ้นรถพยาบาล 13 คัน แต่ละคันจะมีแพทย์ดูแล 1 คน พาไปที่โรงพยาบาลสนาม  ณ จุดคัดแยก มีแพทย์ พยาบาลดำเนินการคัดแยก 3 ขั้นตอน ขั้นตอนแรก สีแดง-ขั้นวิกฤติ จำเป็นต้องรักษาอย่างเร่งด่วน สีเหลือง-บาดเจ็บเล็กน้อย สีเขียว-ไม่บาดเจ็บ หลังจากประเมินจะรักษาพยาบาลอีกครั้ง เปลี่ยนเสื้อผ้าและใส่อุปกรณ์ป้องกันตามมาตรฐานการรักษาสากล เพื่อให้เด็กมีร่างกายพร้อมที่จะเคลื่อนย้าย

      โดยจัดทีมแพทย์ประกบตัวต่อตัวเพื่อนำส่งโรงพยาบาลเชียงรายประชานุเคราะห์ ทั้งนี้ต้องวิเคราะห์จากสภาพอากาศว่าจะสามารถนำส่งทางอากาศยานหรือรถพยาบาล ซึ่งขึ้นอยู่กับสภาวะร่างกาย อากาศ และเวลา ขั้นตอนสุดท้ายเมื่อถึงโรงพยาบาลเชียงรายประชานุเคราะห์ ทีมแพทย์จะตรวจรักษาร่างกายอย่างละเอียดและให้การรักษาจนกว่าร่างกายจะเข้าสู่ภาวะปกติ

      ซึ่งทุกขั้นตอนทุกวิธีการ ณรงค์ศักดิ์ โอสถธนากร ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย ย้ำชัด

        "ทุกอย่างต้องสมบูรณ์แบบที่สุด เพื่อความปลอดภัยของเด็กๆ"

      ทั้งหมดนี้คือแผนรองรับที่เจ้าหน้าที่เตรียมการไว้หลังนำเด็กออกมาจากทางปากถ้ำได้ หรือที่ ผู้ว่าฯ ณรงค์ศักดิ์ เรียกว่า แผนเข้าทางไหน ออกทางนั้น ที่เป็นแผนหลัก

      หรือหากที่สุดต้องใช้ช่องทางอื่น ศูนย์อำนวยการร่วมฯ ก็ได้มีการเตรียมการไว้ ตามยุทธศาสตร์มีทั้ง แผนหลัก และ แผนรอง!!!


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"