ใบไม้เริ่มเปลี่ยนสีที่ ‘อุทยานโอนุมะ’


เพิ่มเพื่อน    

       

อุทยานแห่งชาติโอนุมะ ด้านหลังคือภูเขาไฟโคมากาตาเกะผู้ให้กำเนิดอุทยานแห่งนี้ ขณะเดียวกันก็ได้คร่าชีวิตผู้คนไปราว 700 ราย  

รถไฟเจอาร์ท้องถิ่นวิ่งจากสถานีฮาโกดาเตะถึงสถานีโอนุมะโคเอ็ง ตอนเวลาเกือบบ่าย 2 โมง ผู้โดยสารพร้อมใจกันลงที่สถานีนี้ เพราะเป็นที่ตั้งของ “อุทยานแห่งชาติโอนุมะ” สถานที่ท่องเที่ยวที่กำลังได้รับการผลักดันส่งเสริมอย่างเป็นล่ำเป็นสัน หากว่ามาเยือนเมืองฮาโกดาเตะก็ไม่ควรละเลย พอๆ กับที่ไม่ควรพลาดวิวล้านดอลลาร์จากเขาฮาโกดาเตะที่ผมได้แนะนำไปเมื่อฉบับที่แล้ว

มีแผนที่บอกทางแสดงรูปร่างแผนผังของอุทยานอยู่หน้าสถานีรถไฟ แต่ผมก็ยังเดินไปคนละทางกับที่คนทั่วไปเขาเดินกัน ซึ่งจะไปเริ่มที่ Onuma Park Plaza เหตุคงเพราะเห็นใบไม้ที่กำลังเปลี่ยนสีหลอกล่อให้เดินไปบนถนนเลียบรางรถไฟ ซึ่งจะว่าไปก็ไม่ได้ผิดเสียทีเดียว เพราะสุดท้ายแล้วก็จะกลับไปออกยังทางเข้าอยู่ดี แถมมีเพื่อนร่วมทางที่ไม่เฉลียวใจเดินตามผมมาสามสี่คนด้วย ส่วนค่าเข้าอุทยานนั้นฟรีอยู่แล้ว จึงไม่ได้กังวลว่าจะเดินเข้าทางไหน

ภูเขาไฟโคมากาตาเกะ มุมมองจากจุดที่ 4 ของเส้นทางเดินที่อุทยานจัดไว้ให้

ภูเขาไฟโคมากาตาเกะ มุมมองจากจุดที่ 4 ของเส้นทางเดินที่อุทยานจัดไว้ให้

ไม่ถึง 1 กิโลเมตร ก็เห็นป้ายบอกทางอยู่ด้านขวามือให้เดินเข้าไป ส่วนทางด้านซ้ายมือ อีกฝั่งของรางรถไฟนั้นคือทะเลสาบขนาดเส้นรอบวงประมาณ 16 กิโลเมตร มีชื่อว่า “โคนุมะ” ปกคลุมด้วยดอกลิลลี่น้ำ และมีอีกทะเลสาบขนาดเล็กชื่อว่า “จุงไซนุมะ” ซึ่งจุงไซถือเป็นพืชตระกูลบัว เก็บไปทำอาหารและวางขายกันในช่วงหน้าร้อน ทะเลสาบสองแห่งนี้อาจไม่เป็นที่นิยมในการเดินชมเท่ากับทะเลสาบ “โอนุมะ” พื้นที่เส้นทางรอบทะเลสาบประมาณ 24 กิโลเมตร ที่ผมกำลังเดินเข้าไป แต่ทะเลสาบหรือบึงทั้งสามก็เรียกรวมกันว่า “อุทยานแห่งชาติโอนุมะ” (Onuma Quasi-National Park)

จุดนี้เป็นจุดที่ 4 ของทั้งหมด 7 จุด ตามเส้นทางเดินในแผนที่ (ไม่ได้ครอบคลุมทั้งทะเลสาบ) นั่นคือควรจะเดินจาก 1 ไล่ไปถึง 7 ก็จะวนออกทาง Onuma Park Plaza อย่างสะดวกและประหยัดเวลา จุดที่ 4 นี้นอกจากวิวมองภูเขาโคมากาตาเกะความสูง 1,131 เมตร ซึ่งเป็นภูเขาไฟที่ยังไม่ดับแล้ว ยังเป็นที่ตั้งของร้านอาหารดังประจำอุทยาน ชื่อว่าร้าน Table de Rivage ผมเห็นมีคนใช้บริการอยู่จำนวนหนึ่ง อีกทั้งมีลานจอดรถเล็กๆ อยู่ด้วย

อุทยานแห่งชาติโอนุมะมีพื้นที่ทั้งหมดประมาณ 9,000 เฮคตาร์ เกิดจากการระเบิดของภูเขาไฟโคมากาตาเกะเมื่อเกือบ 400 ปีก่อน ธารลาวาไหลลง “อ่าวฟังกะ” ในฝั่งทะเลแปซิฟิก เกิดเป็นคลื่นสึนามิกวาดซัดบ้านเรือน คร่าผู้คนไปราว 700 ชีวิต ส่วนธารลาวาที่ไหลลงมาอีกฝั่งก็ได้ขวางทางแม่น้ำสายต่างๆ จนกลายเป็นทะเลสาบ และเกิดเป็นเกาะเล็กเกาะน้อย จำนวน 126 เกาะ ทางการได้ประกาศเป็นอุทยานแห่งชาติเมื่อปี ค.ศ.1958 บริหารโดยรัฐบาลของจังหวัด เมื่อมีการสร้างสะพานเชื่อมเกาะต่างๆ ที่ส่วนมากจะเป็นสะพานโค้งรูปทรงสวยงาม อุทยานแห่งนี้จึงกลายเป็นสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญของภูมิภาคฮอกไกโด

ล่องแพกินดื่มแกล้มธรรมชาติงาม

ในฤดูใบไม้เริ่มเปลี่ยนสีที่ผมไปถึงนั้นอากาศยังไม่หนาวนัก ผู้คนเช่าจักรยานเป็ดน้ำปั่นกันเป็นคู่ๆ เป็นหมู่ ที่ล่องเรือยนต์ชมน้ำชมป่าลัดเลาะไปตามเกาะก็มีไม่น้อย บ้างก็พายเรือแคนูได้ใกล้ชิดกับผืนน้ำยิ่งขึ้น แถมยังได้ออกกำลังกาย หรือจะนั่งแพร้านอาหารที่เรียกว่าเทอร์เรสกินและดื่มแกล้มธรรมชาติงามก็ให้ความรู้สึกดีไปอีกแบบ เส้นทางสำหรับจักรยานภายในอุทยานก็จัดเตรียมไว้อย่างดี รวมถึงเซ็กเวย์ที่ขึ้นไปยืนบนฐานระหว่างล้อ 2 ล้อ แล้วเราก็จะเคลื่อนที่ไปข้างหน้าได้เองแค่จับแฮนด์ บางคนจะใช้บริการท่องไพรชมบึงไปบนหลังม้าก็ไม่มีใครว่า ส่วนผมนั้นไม่ต้องคิดมาก เดินแน่นอนครับ

หลังจากชมวิวภูเขาไฟโคมากาตาเกะ และมองบรรดานกน้ำและพวกเป็ดลอยน้ำไปมาอยู่ได้สักพักก็เดินข้ามจากเกาะนั้นไปเกาะนี้ด้วยสะพานเชื่อมทั้งที่สร้างด้วยหินและเหล็ก ใบไม้ของต้นเมเปิลและเบิร์ชกำลังเปลี่ยนสีจากเขียวเป็นเหลือง มีส้มๆ แดงๆ บ้าง แต่ยังไม่มาก อากาศที่บริสุทธิ์และเย็นสบาย หายใจเข้าเต็มปอด ทำให้เวลาเกือบๆ 2 ชั่วโมงที่เดินอยู่จนครบพื้นที่ส่วนที่เป็นทะเลสาบโอนุมะเป็นความเพลินอุราล้วนๆ ไม่รู้สึกเหนื่อยแม้แต่นิด

อีกมุมหนึ่งภายในพื้นที่อุทยานโอนุมะ

หลังจากเดินวนไปครบทั้ง 7 จุด ก็ออกสู่ Onuma Park Plaza มีร้านค้าร้านอาหารไว้รองรับนักท่องเที่ยว แต่พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นสนามหญ้าเตียนโล่ง เห็นเด็กๆ วิ่งเล่นอยู่ภายใต้การดูแลของพ่อแม่ ที่มากันเป็นครอบครัวใหญ่หรือเพื่อนฝูงหลายๆ คนปั่นจักรยานนับสิบที่นั่งต่อกันก็มีไม่น้อย บริเวณนี้เป็นเหมือนศูนย์กลางหรือฐานบัญชาการของอุทยาน มีผู้คนอยู่มากกว่าส่วนอื่นๆ แถมยังมองเห็นภูเขาไฟโคมากาตาเกะได้ในมุมที่ไม่อายใคร

ในฤดูหนาวเมื่อผืนน้ำกลายเป็นน้ำแข็งและหิมะปกคลุม กิจกรรมการนั่งรถเลื่อน ปีนเขา หรือแม้แต่ขี่หลังม้าลุยหิมะ ชมนกอพยพสีขาวที่จะมาอยู่อาศัยในพื้นที่จุดเชื่อมแคบๆ ระหว่างบึงโอนุมะและบึงโคนุมะ การตกปลาโดยหย่อนสายเบ็ดลงไปทางรูน้ำแข็งก็เป็นที่นิยมอย่างมาก และยังมีงานแกะสลักประติมากรรมน้ำแข็งประจำปีในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ ซึ่งถือเป็นงานใหญ่สุดของอุทยาน เมื่อย่างเข้าสู่ฤดูใบไม้ผลิก็จะได้เห็นกะหล่ำสกังค์สีขาวตัดกับสีเขียวของต้นไม้ที่กำลังออกใบอ่อน ในช่วงหน้าร้อนบางส่วนของอุทยานโอนุมะยังเป็นที่นิยมมาแคมปิ้งในพื้นที่ที่อุทยานจัดให้โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย หรือจะขี่ม้าไปเล่นกับกระต่ายและแพะที่เลี้ยงไว้ในฟาร์ม ดอกลิลลี่น้ำก็จะบานสะพรั่งในช่วงนี้ อีกทั้งมีงานหน้าร้อนประจำปีจัดติดต่อกัน 2 วัน ไฮไลต์อยู่ที่การลอยโคมไฟในบึงเพื่อรำลึกถึงบรรพบุรุษและผู้ที่ประสบภัยจากการระเบิดของภูเขาไฟครั้งกระโน้น นอกจากนี้ยังมีการจุดพลุดอกไม้ไฟเพื่อให้สว่างไสวไปทั้งทะเลสาบ

มองภูเขาไฟโคมากาตาเกะจากอนุสรณ์สถาน “หนึ่งพันสายลม”

จาก Onuma Park Plaza หากหันหน้าสู่ภูเขาไฟโคมากาตาเกะไปทางขวามือ มีเส้นทางเดินชมน้ำชมป่า ผ่านสะพานเชื่อมเกาะเพียง 3 สะพานก็สามารถวนกลับมาออกมาทางเดิม หากเดินตามแผนผังไปยังเกาะแรกจะพบอนุสรณ์สถานแบบนูนต่ำขึ้นมาจากพื้น ชื่อว่า “Monument of One Thousand Winds” ซึ่งว่ากันว่าเป็นจุดที่นักร้องนักแต่งเพลงนาม “แมน อาราอิ” ได้แปลกวีเมื่อปี ค.ศ.1932 ของ “แมรี เอลิซาเบธ ฟราย” ชื่อ “โปรดอย่าร้องให้คร่ำครวญต่อหน้าหลุมศพของฉัน” (Do Not Stand at My Grave and Weep) มาเป็นบทเพลงในชื่อ “หนึ่งพันสายลม” จนโด่งดังและมีคนร้องคัฟเวอร์ในเวลาต่อมา และมีการสร้างอนุสรณ์นี้ขึ้นมาในที่สุด ผมเดินไปจนจบเส้นทางนี้แล้วก็กลับมายังที่ตั้งที่คึกคักอยู่ด้วยคนหลากหลายวัยในลาน Onuma Park Plaza ซึ่งเป็นเวลาที่คำนวณแล้วไม่ควรอ้อยอิ่งอยู่อีกนานนัก เพราะเย็นพอสมควรแล้ว กลัวว่ารถไฟจะหมด

แต่ก่อนจะเดินออกจาก Onuma Park Plaza ผมดูแผนที่จากป้ายที่ติดไว้ มีเบียร์ฮอล์ตั้งอยู่ห่างออกไปนิดเดียว จึงเจียดเวลาเดินไปตามแผนที่ ก็พบว่าเป็นโรงเบียร์กึ่งร้านอาหาร จำหน่ายเบียร์ท้องถิ่น Onuma Craft แตกต่างในปริมาณแอลกอฮอล์ 3 ระดับ ใช้วัตถุดิบในท้องถิ่นและน้ำที่มีความเป็นด่างจากเชิงเขาโยโคสึที่ตั้งอยู่ไม่ห่างออกไป

เลือกได้แบบกระป๋องที่มีแอลกอฮอล์ระดับกลาง แล้วเดินจิบไปจนถึงสถานีรถไฟ โดยผ่านร้านขนม Numa no Ya ที่มีชื่อเสียงเรื่องเค้กดังโงะสูตรเฉพาะ เปิดมาตั้งแต่ปี ค.ศ.1905 แต่นอกจากดังโงะจะไม่เข้ากับเบียร์ในมือแล้ว มันก็มักจะหมดลงก่อนเวลาเย็นเยี่ยงนี้

ผมนำเบียร์ขึ้นไปดื่มบนรถไฟได้อย่างไม่มีปัญหา เพราะคนญี่ปุ่นดื่มแบบแก้กระหายบนรถไฟกันเป็นเรื่องธรรมดา เบียร์ทำมือเพื่อเศรษฐกิจของคนท้องถิ่นหมดไปนานแล้วตอนรถไฟจอดที่สถานีฮาโกดาเตะ ซึ่งใช้เวลาวิ่งมาจากสถานีโอนุมะโคเอ็งประมาณ 40 นาที ผมเดินออกจากสถานีสู่โรงแรมแคปซูลที่ห่างออกไป 1 กิโลเมตร ถามพนักงานต้อนรับเรื่องปลาแซลมอนที่ไม่ยอมกลับสู่แม่น้ำลำธารเพื่อวางไข่ แต่ใช้ชีวิตอย่างไม่รู้ร้อนรู้หนาวรู้ฤดูกาลอยู่ในทะเลเรื่อยไป เรียกว่า toki shirazu แปลว่า “ไม่รู้เวลา” แต่อร่อยกว่าและราคาแพงกว่าปลาแซลมอนทั่วไป พนักงานต้อนรับไม่รู้เรื่องนี้ ผมเองก็เพิ่งได้รับการแนะนำมาโดยเพื่อนชาวญี่ปุ่นคนหนึ่ง จึงเดินออกไปฝากท้องกับร้านในย่านอิซากายะของเมือง

เดินวนไปเวียนมา พินิจพิจารณาแทบทุกร้าน มีร้านอยู่ 2 แบบ คือร้านที่คนเต็ม และร้านที่ไม่มีลูกค้าเลย ผมจึงคิดว่าที่คนเข้าร้านร้านหนึ่งจนคนเต็มก็เพราะเห็นว่ามีลูกค้า น่าจะเป็นร้านอร่อย ส่วนร้านที่เห็นว่าไม่มีลูกค้าก็คิดว่าคงไม่อร่อย แล้วก็เลยคิดตามๆ กัน สำหรับคนที่ไม่อยากรอคิวอย่างผมจึงเลือกเข้าร้านบะหมี่ที่ไม่มีคน เนื่องจากเป็นร้านขนาดเล็กประมาณห้าหกที่นั่ง มีหนึ่งคนก็เหมือนมีหลายคน สักพักลูกค้านักท่องเที่ยวก็ทยอยเข้ามาจนเต็ม

บะหมี่และเบียร์เป็นอะไรที่ไม่เข้ากันเลย ยิ่งเป็นบะหมี่ชามใหญ่ยักษ์และเบียร์สดแก้วขนาดครึ่งลิตร กว่าจะกินหมดก็พุงป่องด้วยความอืด ไม่นานความง่วงก็เข้ารุกราน ขากลับเดินผ่านร้านหนึ่งมีทหารหนุ่มที่ผมเจอเมื่อวันก่อนนั่งอยู่ในนั้น แต่เขามีเพื่อนอยู่หลายคนจึงคิดว่าเดินผ่านเลยไปจะดีกว่า โชคดีที่เขามองไม่เห็น

อีกประมาณ 100 เมตรจะถึงที่พัก ผมหยุดที่หน้าร้านร้านหนึ่ง มีโลโก้รูปแมวสีดำและขวดสาเกติดอยู่ เขียนภาษาญี่ปุ่นกำกับไว้ มองไม่เห็นด้านในร้าน ความจริงผมสงสัยอยู่ตั้งแต่วันก่อนแล้ว จึงถ่ายรูปส่งไปให้เพื่อนชาวญี่ปุ่น เขาแปลกลับมาว่า “Nihon-shu Bar” วันนี้เลยขอเข้าไปพิสูจน์ดับความง่วงและความหนาวเสียหน่อย

รถไฟที่นำผู้เขียนกลับฮาโกดาเตะ​​​​​​​

มีรูปแมวดำติดไว้หลายที่ แต่ไม่มีแมวสักตัว โต๊ะในร้านเป็นแบบเคาน์เตอร์บาร์หันหน้าเข้าหาตู้เก็บขวดสาเกขนาดใหญ่ มีสาเกอยู่ในตู้นับร้อยขวด คั่นกลางด้วยคุณลุงผู้คอยแนะนำและรินสาเกให้กับลูกค้าอย่างชำนิชำนาญ ภรรยาของแกก็คอยหยิบโน่นหยิบนี่สนับสนุนการงานของสามี ตอนที่ผมเข้าไปมีสตรี 2 คนนั่งอยู่ด้วยกันทางด้านซ้ายมือ คะเนอายุคงประมาณสี่สิบกลางๆ ถึงปลายๆ พอพูดภาษาอังกฤษได้ ส่วนคุณลุงและภรรยาพูดแทบไม่ได้

พี่ผู้หญิงข้างๆ ช่วยอธิบายว่าให้ผมเลือกสาเกมา 3 ตัว แล้วลุงจะรินให้ทดลอง หากเราชอบตัวไหนก็ค่อยสั่ง ลุงก็จะรินใส่แก้วให้ ผมจึงขอให้ลุงในฐานะผู้เชี่ยวชาญแนะนำตามที่แกชอบ แกหยิบออกมา 3 ขวด แล้วรินใส่แก้วช็อต ผมลองแล้วก็ชี้บอกลุงว่าชอบตัวไหน

พี่ผู้หญิงทั้งสองออกจากร้านไปแล้ว ก่อนกลับคนหนึ่งเอามือมาลูบหลังผมอย่างเอ็นดูผสมสงสาร ผมชี้เลือกสาเกมาอีกหนึ่งแก้ว หนุ่มสาวคู่หนึ่งเดินเข้ามาและทักทายสนทนากัน ชายหนุ่มมาจากเกาะชิโกกุ ทำงานอยู่ในฮาโกดาเตะได้สักพักแล้ว ส่วนหญิงสาวเป็นคนท้องถิ่น พูดภาษาอังกฤษดีทั้งคู่

ผมขอสาเกอีกแก้ว บอกลุงว่าขอตัวที่ทำจากข้าวเมืองนิงาตะ แกก็ทำหน้าแปลกใจที่ผมรู้เรื่องนี้ ความจริงแล้วผมก็รู้แค่ว่าข้าวจากเมืองนิงาตะเป็นข้าวที่ดี อีกทั้งนิยมนำมาทำสาเก ส่วนอะวะโมริที่มาจากเกาะโอกินาวะนั้น ต้องมีข้าวเมืองไทยผสมอยู่ด้วย ไม่อย่างนั้นจะไม่ใช่อะวะโมริ เพราะในอดีตต้องนั่งเรือมาซื้อข้าวจากกรุงศรีอยุธยาไปใช้ทำสุราตัวนี้

ร้านปิดห้าทุ่มครึ่ง หนุ่มสาวอัธยาศัยดีออกไปก่อนแล้ว ผมออกจากร้านเป็นคนสุดท้าย เจ้าของร้านทั้งคู่ออกมาส่งที่หน้าร้านทำเอาผมปลื้มประทับใจอย่างมาก ก่อนลาผมหันไปมองโลโก้ร้านที่มีรูปแมวกับขวดสาเกอีกครั้ง แล้วถามออกไปว่า “ไม่เห็นมีแมวเลยครับ แมวอยู่ไหน”

ได้รับคำตอบว่า “แมวอยู่บ้าน”.

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"