"บ้านเตื่อมฝัน"ศูนย์ดูแลคนไร้ที่พึ่งสูงวัย  ฝึกอาชีพ-สร้างรายได้-ถ้อยอาศัยด้วยกติกา


เพิ่มเพื่อน    

      ปัญหาของคนไร้บ้านไม่ใช่เรื่องไกลตัว เพราะคนกลุ่มนี้ถือเป็นประชากรของประเทศ และหากสามารถฟื้นฟูให้มีอาชีพที่มั่นคง และสามารถกลับเข้าไปอยู่ในครอบครัวเดิมได้อย่างปกติสุข หรือพึ่งตัวเองได้โดยไม่เป็นภาระของสังคม ย่อมถือเป็นการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ที่มีคุณค่า

      จากข้อมูลในปี 2560 ของ สสส. พบว่าคนไร้บ้านของเทศบาลนครเชียงใหม่นั้นมีจำนวน 75 คน ขณะที่กรุงเทพมหานครมีอยู่ประมาณ 1,307 ราย ซึ่งกลุ่มคนไร้บ้านส่วนใหญ่จะมีอายุเฉลี่ยของวัยกลางคนระหว่าง 45-80 ปี และมีจำนวนคนเร่ร่อน เสียชีวิตจากการติดสุราถึงร้อยละ 64 และอีกร้อยละ 70 ที่ป่วยเป็นโรคไม่ติดต่อ อาทิ โรคเบาหวาน, หัวใจ, โรคกระเพาะ, มะเร็งปอด รวมถึงโรคปอดติดเชื้อ และติดเชื้อทางเดินหายใจ ฯลฯ จากการกินอยู่หลับนอนในพื้นที่สาธารณะต่างๆ

      เพื่อร่วมกันแก้ไขปัญหานี้ สสส.ได้จับมือกับกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของชีวิต เปิด “ศูนย์ฟื้นฟูและพัฒนาศักยภาพคนไร้บ้าน จ.เชียงใหม่” เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของคนกลุ่มนี้ในแง่ของการมีสุขภาพที่ดี มีรายได้ เพื่อช่วยเหลือตัวเองอย่างยั่งยืน โดยมี พลเอกอนันตพร กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) เป็นประธานเปิดงาน ที่ใช้ชื่อว่า “บ้านเตื่อมฝัน” ณ ต.หายยา อ.เมือง จ.เชียงใหม่ ภายใต้พื้นที่ 330 ตารางวา โดยใช้งบของภาครัฐในการก่อสร้างอยู่ที่ 26.40 ล้านบาท ทั้งนี้เพื่อรองรับกลุ่มคนเร่ร่อนในพื้นที่ดังกล่าว จำนวน 50 ราย ซึ่งปัจจุบันมีผู้มีทะเบียนเข้ามาอยู่บ้านดังกล่าวอยู่ที่ 18 ราย ซึ่งเป็นคนเร่ร่อนที่อยู่ในความดูแลก่อนหน้าของสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) สำนักงานภาคเหนือ (พอช.) และมูลนิธิพัฒนาที่อยู่อาศัย (มพศ.) ในการเช่าอาคารพาณิชย์ให้อยู่อาศัย กระทั่งหมดสัญญาลง

(สมพร หารพรม)

        พี่โด้ง-สมพร หารพรม เจ้าหน้าที่มูลนิธิพัฒนาที่อยู่อาศัย เล่าให้ฟังว่า จุดประสงค์หลักของ “บ้านเตื่อมฝัน” (บ้านเติมฝัน) หรือ “ศูนย์ฟื้นฟูและพัฒนาศักยภาพคนไร้บ้าน จ.เชียงใหม่” อันที่จริงแล้วไม่ใช่สถานสงเคราะห์ แต่เราต้องการให้พี่ๆ และคุณลุงที่เข้ามาอยู่ทำงานและมีรายได้ โดยทุกคนจะต้องจ่ายค่าห้องที่เรากำหนดไว้ 3 รูปแบบคือ “ห้องชั่วคราว” ซึ่งผู้ที่เข้าพักจะต้องจ่ายค่าน้ำ ค่าไฟ เป็นเงินวันละ 10 บาท ส่วน “ห้องประจำ” ผู้ที่เข้าอยู่จะต้องจ่ายเงินเดือนละ 350 บาท ส่วนผู้ที่เข้าพัก “ห้องมั่นคง” จะต้องจ่ายเงินเดือนละ 450 บาท โดยการหัก 50 บาทไว้สำหรับเก็บออมไว้ให้กับผู้อยู่อาศัย

      “วัตถุประสงค์จริงๆ ของ “บ้านเตื่อมฝัน” เราต้องการการอยู่อาศัยแบบบริหารจัดการร่วมกัน ซึ่งนอกจากกฎกติกาดังกล่าวแล้ว ภายในบ้านของเรายังมีการฝึกอาชีพ เช่น การทำแปลงเกษตร หรือการปลูกผักที่สวนดาดฟ้า ตลอดจนการสอนอาชีพช่างเฟอร์นิเจอร์ที่สามารถต่อยอดเป็นชิ้นงานที่สร้างรายได้ กระทั่งการส่งเสริมการจ้างงานของคนเร่ร่อนที่พักอาศัยใน “บ้านเตื่อมฝัน” เช่น พนักงานทำความสะอาด ช่างทาสี ทำเบเกอรี่ ฯลฯ ทั้งนี้เพื่ออยากให้คนในบ้านลุกขึ้นมาเปลี่ยนแปลงตัวเองและคิดถึงเรื่องปากท้อง ซึ่งนั่นจะเป็นการเพิ่มความแข็งแรงให้กับคนกลุ่มนี้ ทั้งนี้ก็เพื่อให้คนเร่ร่อนกลับเข้าสู่ครอบครัว หรือในรายที่ไม่สามารถกลับบ้านได้อีก แต่สิ่งที่เกิดขึ้นก็ทำให้รู้ว่านี่คือครอบครัวใหม่ของพวกเขา”

(ภรณี ภู่ประเสริฐ)

      ปัจจุบันศูนย์ดังกล่าวก่อสร้างเสร็จสิ้นพร้อมให้คนเร่ร่อนได้เข้าพักอาศัย แต่ทว่าการสนับสนุนเรื่องการบริหารจัดการภายในบ้าน เช่น การดูแลสุขภาพ การฝึกอาชีพเพื่อสร้างรายได้ เพื่อสร้างความเข้มแข็งที่ยั่งยืนให้คนกลุ่มนี้ จึงเป็นหน้าที่ของ สสส. พี่แอน-ภรณี ภู่ประเสริฐ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะประชากรกลุ่มเฉพาะ สสส. กล่าวว่า “จังหวัดเชียงใหม่ เป็น 1 ใน 3 พื้นที่นำร่องการดำเนินงานสำคัญของ สสส.และภาคีเครือข่าย โดยสสส.หนุนเสริมศักยภาพภาคีเครือข่ายให้เกิดการบูรณาการทำงานกับหน่วยงานทั้งภาครัฐและภาคประชาสังคมอื่นๆ ในพื้นที่ รวมถึงสนับสนุนทางด้านองค์ความรู้ทางวิชาการ ทั้งในเชิงข้อมูลเชิงประชากร และโมเดลการดูแลฟื้นฟูและเสริมศักยภาพคนไร้บ้าน ทั้งทางด้านสุขภาพ และอาชีพที่ต้องมีความเหมาะสมกับระยะของการเข้าสู่ภาวะไร้บ้าน ทั้งกลุ่มเสี่ยงที่จะเข้าสู่ภาวะไร้บ้าน คนไร้บ้านหน้าใหม่ และคนไร้บ้านถาวร

      เนื่องจากคนไร้บ้านในแต่ละช่วงมีลักษณะทางประชากรและระดับปัญหาทางสุขภาพที่แตกต่างกัน ดังนั้นกระบวนการหนึ่งที่ สสส.ใช้ในการสร้างเสริมสุขภาพคนไร้บ้าน คือการชักชวนให้คนไร้บ้านที่ติดเหล้า ติดบุหรี่ มาทดลองทำแปลงเกษตรปลูกผักปลอดสารพิษ ซึ่งพบว่าทำให้คนไร้บ้านลด ละ เลิกเหล้า บุหรี่ได้ในที่สุด นอกจากนี้ผลิตผลที่ปลูกได้ ยังนำมาทำอาหารสำหรับตนเอง และแจกจ่ายคนไร้บ้านอื่นๆ ที่อาศัยในพื้นที่สาธารณะ ที่เหลือยังขายสร้างรายได้อีกด้วย”

(นรินทร์ เอื้ออมรรัตน์)

      ด้าน ลุงรินทร์-นรินทร์ เอื้ออมรรัตน์ วัย 54 ปี สมาชิกของ “บ้านเตื่อมฝัน” ที่พ่วงตำแหน่งตัวแทนเครือข่ายคนไร้บ้าน เล่าว่า เจ้าตัวใช้ชีวิตอยู่ กทม.เป็นเวลา 40 ปี กระทั่งปี 2545 ที่ตัดสินใจไม่เกี่ยวข้องกับญาติพี่น้อง และก้าวเข้าสู่คนเร่ร่อนเต็มรูปแบบโดยการเก็บของเก่าอยู่ที่ประตูท่าแพ และถนนวัวลาย จ.เชียงใหม่ กระทั่งปี 2551 ที่เริ่มรู้สึกว่าอยู่คนเดียว เริ่มห่วงว่าจะใช้ชีวิตไปไม่รอดหากไม่เข้าสังคม จึงเข้าสู่ศูนย์คนไร้ที่พักพึ่งตั้งแต่นั้นมา กระทั่งเป็นสมาชิกของ “บ้านเตื่อนฝัน” ในวันนี้

      “ตอนที่เก็บของเก่าอยู่ประตูท่าแพไม่ค่อยได้เข้าสังคม แต่มาอยู่ที่นี่ได้แอคทีฟ ได้พูดคุย ทำให้ผมกล้าตั้งคำถามในเรื่องที่ไม่รู้มากขึ้น และการที่ท่านรัฐมนตรีได้มาเปิดบ้านทำให้ตัวเองผมและพี่น้องที่ไร้บ้านได้มีที่อยู่ สิ่งที่เกิดขึ้นถือเป็นประวัติศาสตร์ที่ภาครัฐได้นำงบประมาณส่วนนี้มาสร้างบ้านให้ ที่สำคัญยังเป็นการอยู่ร่วมกันโดยการจัดการเอง ตรงนี้จึงถือเป็นจุดเปลี่ยนชีวิตของคนไร้บ้านก็ได้ ที่สำคัญยังเป็นต้นแบบที่ดีให้กับศูนย์คนไร้บ้านที่อื่นๆ อีกด้วย ส่วนตัวผมก็มีรายได้จากช่วยทาสี ลงแล็กเกอร์ เนื่องจากพอมีความรู้เรื่องการทำเฟอร์นิเจอร์อยู่บ้างครับ ก็มีความสุขที่ได้อยู่ที่นี่ครับ”

(สุชิน เอี่ยมอินทร์)

      ไม่ต่างจาก ลุงดำ-สุชิน เอี่ยมอินทร์ วัย 64 ปี ชาว กทม.จากอดีตที่เคยทำอาชีพช่างเฟอร์นิเจอร์ในโรงงาน กระทั่งตกงานกลายเป็นคนเร่รอน ซึ่งตอนนั้นอายุ 47 ปี กระทั่งไปรู้จักพี่เลี้ยงหรือเจ้าหน้าที่จาก “ศูนย์คนไร้ที่พึ่งตลิ่งชัน” และได้เข้าไปอยู่ ต่อมาจึงได้เป็นตัวแทนของคนไร้บ้านในการเสนอข้อร้องเรียนต่างๆ ไปยังภาครัฐ และภายหลังจนได้มีการก่อตั้ง “ศูนย์คนไร้บ้านบางกอกน้อย” และศูนย์ที่ 3 ซึ่งย้ายจากหมอชิตไป ชื่อว่า “บ้านมั่นคง” ย่านพุทธมลฑล กระทั่งปัจจุบันได้มาพักอยู่ใน “บ้านเตื่อมฝัน” พร้อมดำรงตำแหน่งนายกสมาคมคนไร้บ้าน เล่าว่า

      “สมัยก่อนตอนที่อยู่ข้างนอกเป็นคนไร้บ้าน ไม่ค่อยสบายนัก เพราะต่างคนก็ต่างอยู่ แต่พอได้เข้ามาอยู่ใน “บ้านเตื่อมฝัน” แห่งนี้ ก็รู้สึกถึงความเอื้ออาทรของคนที่อยู่ชายคาเดียวกัน ทำให้เกิดความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ต่อกัน การกินอยู่ การแต่งตัวก็ดีขึ้น ผมเผ้าและเสื้อผ้าก็ดูสะอาดสะอ้านขึ้น ทำให้ภาพของคนไร้บ้านดูไม่น่ากลัว ที่สำคัญลุงอยากบอกว่า ตอนนี้นกขมิ้นมีรังแล้ว และก็เป็นรังที่ถาวรมากขึ้น ต่างจากเมื่อก่อนที่อยู่อาคารเช่า พอหมดสัญญา นกก็กระจายออกจากรัง บอกเลยว่าศูนย์แห่งนี้เป็นรังที่ถาวร ไม่เพียงทำให้คนไร้บ้านมีที่อยู่ แต่ยังเป็นบ้านที่สามารถฟื้นฟูศักยภาพของคนเร่ร่อนได้”

(ดี พันธุ์ทัดชัย)

      ปิดท้ายกันที่ คุณลุงดี พันธุ์ทัดชัย วัย 74 ปี ที่อยู่ภายใต้ความดูแลของ “บ้านเตื่อมฝัน” ที่ปัจจุบันผันตัวเองจากคนเร่ร่อน เก็บขยะขายย่านถนนช้างเผือกร่วม 10 ปี มาทำอาชีพคนปลูกผัก ณ “แปลงเกษตรกรรมยั่งยืน เพื่อการฟื้นฟูสุขภาวะคนไร้บ้าน” ณ อ.สันป่าตอง จ.เชียงใหม่ บอกว่า “มาอยู่ที่นี่ได้ 1 ปีเศษแล้ว สบายมาก คนไม่พลุกพล่าน และความเป็นอยู่ก็ดีขึ้น นอนหลับสบายมากขึ้น ไม่ต้องกลัวคนมาขโมยของ เพราะลุงเคยโดนกระชากกระเป๋าย่านถนนช้างเผือก อยู่ที่นี่ได้ปลูกผัก เช่น ผักกาด ถั่วฝักยาว มะละกอ ผักกวางตุ้ง ก็มีรายได้จากการที่พี่เลี้ยงได้นำผักไปจำหน่ายยัง “บ้านเตื่อมฝัน” และหน่วยงานราชการต่างๆ หรือบางครั้งก็นำไปขายในตลาด ก็มีพอรายได้ครับ”.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"