โชว์13หมูป่าแข็งแรง ถอดสายนํ้าเกลือหมดทุกคน/ปิดศูนย์ภารกิจประวัติศาสตร์


เพิ่มเพื่อน    

   นายกฯ ขอบคุณทุกฝ่าย ทั้งไทยและต่างประเทศ ที่ร่วมมือ เสียสละ อดทน จนภารกิจกู้ภัย 13 หมูป่าสำเร็จ ยก "จ่าแซม" ต้นแบบความกล้าหาญ ศอร.แถลงปิดภารกิจประวัติศาสตร์ แพทย์เผยหมูป่าอาการปลอดภัยทั้งหมด คาดไม่เกิน 10 วันกลับบ้านได้ เปิดคลิปขณะหมูป่ารักษาตัวใน รพ.เชียงรายฯ โชว์ถอดสายน้ำเกลือออกหมดแล้ว ผู้ว่าฯ ณรงค์ศักดิ์ย้ำความสามัคคีทุกชนชาติ ผบ.หน่วยซีลรับภารกิจสู้ธรรมชาติสาหัสสากรรจ์ “ผู้การซีล” เผยสุดเครียดลูกน้องขาดการติดต่อ 23 ชม. เป็นโอกาสดีได้ร่วมงานทีมดำน้ำต่างชาติ พัฒนาเทคนิครับมือภัยพิบัติ
    ภายหลังปฏิบัติการช่วยเหลือนักฟุตบอลเยาวชน ทีมหมูป่าอะคาเดมีแม่สาย และโค้ช รวม 13 ชีวิต ที่ติดอยู่ภายในถ้ำหลวงขุนน้ำนางนอน ต.โป่งผา อ.แม่สาย จ.เชียงราย ออกมาได้อย่างปลอดภัย จนได้รับการชื่นชมไปทั่วโลก 
    เมื่อเวลา 10.20 น. วันที่ 12 กรกฎาคม เพจ Thai NavySEAL โพสต์ข้อความในหัวข้อ "ปฏิบัติการที่โลกต้องจดจำ....." ว่า ปฏิบัติการพาหมูป่ากลับบ้าน เสร็จลงแล้ว Thai NavySEALs ขอขอบคุณทุกทีม ทั้งนักดำน้ำจากทั่วโลก ทีมแพทย์ ทีมสนับสนุนนานาชาติ ทีมซีลนอกราชการ ทีมครูบา ทีมสนับสนุนทางจิตวิญญาณปลุกขวัญกำลังใจ ทีมส่งเสบียง ทีมอัดอากาศ ทีมดูดน้ำ ทีมไฟฟ้า ทีมปีนถ้ำ ทีมแม่ครัว ทีมทำความสะอาดห้องน้ำ ทีมเก็บขยะ ชาวแม่สาย และผู้คนจากทั่วโลกที่ส่งกำลังใจมาถึงพวกเราจนปฏิบัติการนี้สำเร็จ
    "วันนี้พลังของพวกเราทั้งโลก ทำให้ปฏิบัติการนี้ .....เป็นปฏิบัติการที่โลกจะต้องจดจำไปอีกนาน" เพจ Thai NavySEAL ระบุ
    ที่โรงพยาบาลเชียงรายประชานุเคราะห์ เวลา 10.40 น. นายแพทย์ธงชัย เลิศวิไลรัตนพงศ์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข เขตสุขภาพที่ 1 แถลงความก้าวหน้าผลการรักษา 12 เยาวชนและโค้ชทีมหมูป่าอะคาเดมีแม่สายว่า สำหรับกลุ่มที่ 1 จำนวน 4 คน เข้ารับการรักษาวันที่ 8 ก.ค. ช่วงอายุ 14-16 ปี ล่าสุดเช้านี้สภาพโดยรวมทุกคนสดชื่นดี สามารถลุกนั่ง ทำกิจวัตรประจำวัน รับประทานอาหารปกติได้ โดยเริ่มอาหารที่มีพลังงานตามที่ร่างกายของผู้ป่วยควรได้รับ ทีมแพทย์อนุญาตให้ญาติเยี่ยมได้ โดยต้องสวมชุดป้องกันตามมาตรฐานป้องกันควบคุมโรค อยู่ห่างจากเด็กระยะ 2 เมตร และงดการสัมผัสผู้ป่วย ส่วนการรักษายังทำต่อ ส่วนที่สงสัยว่าติดเชื้อในปอด อาการดีขึ้นกว่าเดิม ภาพรวมอยู่ในเกณฑ์ดีมาก
    กลุ่มที่ 2 จำนวน 4 คน อายุ 12-14 ปี เข้ารับการรักษาวันที่ 9 ก.ค. ล่าสุดเช้านี้สภาพโดยรวมทุกคนสดชื่นดี สามารถลุกนั่ง ทำกิจวัตรประจำวัน พูดคุยโต้ตอบได้ดี ไม่มีไข้ รับประทานอาหารปกติ ขณะนี้ไม่ต้องปิดตา สามารถมองสู้แสงได้ดี ผลตรวจเอกซเรย์ปอดปกติ แต่ยังต้องเฝ้าระวังต่อเนื่อง ทีมแพทย์อนุญาตให้ญาติเยี่ยมได้ โดยจะต้องปฏิบัติตามมาตรฐานการป้องกัน ควบคุมโรค สวมชุดป้องกัน อยู่ห่างจากเด็กระยะ 2 เมตร และงดการสัมผัสผู้ป่วย
    กลุ่มที่ 3 จำนวน 5 คน อายุ11-25 ปี ทยอยเดินทางมาถึงโรงพยาบาลตั้งแต่เวลา 18.34 น. ของวันที่ 10 ก.ค. ผลการตรวจประเมินจากทีมแพทย์แรกรับสัญญาณชีพ ความดันโลหิตดี ไม่มีภาวะอุณหภูมิร่างกายต่ำ ผลเอกซเรย์พบมีปอดอักเสบเล็กน้อย 1 คน ผู้ป่วยทุกคนทีมแพทย์ได้ให้สารน้ำทางหลอดเลือดต่ำ ฉีดวัคซีนป้องกันบาดทะยักและพิษสุนัขบ้า ให้วิตามินบี 1 และยาปฏิชีวนะทางหลอดเลือดดำตามแผนการรักษา และวางแผนให้ผู้เชี่ยวชาญเข้าประเมินร่างกายโดยละเอียดอีกครั้ง ทีมแพทย์ยังอนุญาตให้ญาติเยี่ยมได้ผ่านห้องกระจกตามเวลากำหนด ส่วน พ.ท.นพ.ภาคย์ โลหารชุน และทีมซีลอีก 3 คน ได้มาโรงพยาบาลและต้นสังกัดกำลังดูแล
    สำหรับผลการตรวจทางห้องปฏิบัติการที่ส่งตรวจเพิ่มเติมที่ กทม. ในผู้ป่วยกลุ่มแรกไม่พบเชื้อโรคติดต่อประจำถิ่นที่อันตราย ส่วนการตรวจเชื้ออื่นยังอยู่ระหว่างตรวจเพิ่มเติม ทั้งนี้เราต้องเฝ้าระวังจำนวน 14 วัน คือที่โรงพยาบาล 7 วัน และที่บ้าน 7 วัน นอกจากนี้ สำหรับผู้ปฏิบัติงานในพื้นที่ถ้ำหลวงขุนน้ำนางนอน ได้ให้บัตรเฝ้าระวังโรค พร้อมคำแนะนำอาการผิดปกติ หากพบให้ภายใน 2 สัปดาห์ ให้ไปพบแพทย์ที่โรงพยาบาลใกล้บ้านทันที และโรงพยาบาลสนามบริเวณหน้าถ้ำจะดำเนินการดูแลอีก 2 วัน เพื่อดูแลผู้ปฏิบัติงาน
     “ทีมแพทย์และสหสาขาวิชาชีพของโรงพยาบาลเชียงรายประชานุเคราะห์ยังทำมุ่งมั่นทำงานเต็มที่ในการดูแลรักษาผู้ป่วยทุกคน เพื่อส่งนักฟุตบอลและโค้ชทั้ง 13 คนกลับสู่ครอบครัวอย่างแข็งแรง ปลอดภัย” นพ.ธงชัยกล่าว และว่า ตอนทุกคนมาถึงโรงพยาบาลรู้สึกตัวดี ตอบคำถามได้
ขอบคุณทุกฝ่ายที่เสียสละ
     ต่อมาเมื่อเวลา 11.50 น. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช. แถลงผ่านโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย ว่า ประชาชนชาวไทยที่รักทุกคน นับตั้งแต่วันที่ 23 มิถุนายน 2561 ที่นักฟุตบอลและผู้ช่วยโค้ชทีมหมูป่าอะคาเดมีแม่สาย รวม  13 คน ได้ประสบอันตรายติดอยู่ภายในวนอุทยานถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอน อำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย รัฐบาลได้รวบรวมสรรพกำลังเพื่อให้การช่วยเหลืออย่างเต็มกำลังความสามารถ ด้วยการบูรณาการความร่วมมือของทุกฝ่าย ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ประชาชนทั้งชาวไทยและต่างประเทศ ที่ได้ร่วมมือกันเสียสละ อดทน ปฏิบัติภารกิจอย่างเต็มขีดความสามารถ ด้วยสติปัญญาและความกล้าหาญ ประกอบกับกำลังใจจากทั่วทุกมุมโลก ทุกชาติศาสนาที่ส่งมายังประเทศไทย จนบัดนี้ ภารกิจการค้นหาและกู้ภัยได้สำเร็จลุล่วงลงแล้ว รวมใช้เวลาทั้งสิ้น 17 วัน ส่งผลให้ผู้ประสบภัยทั้ง 13 คน และหน่วยกู้ภัยประสบความสำเร็จ ออกจากวนอุทยานถ้ำหลวงฯ ได้อย่างปลอดภัย
    "ในยามที่ประชาชนประสบทุกข์ภัย เราได้รับพระเมตตาและพระมหากรุณาธิคุณขององค์สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ตลอดจนพระบรมวงศานุวงศ์ทุกพระองค์ ที่ทรงติดตามข่าวสารการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่อย่างใกล้ชิด และพระราชทานความช่วยเหลือต่างๆ ตลอดจนพระราชทานขวัญกำลังใจแก่เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานตลอดเวลา นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณอย่างหาที่สุดมิได้ต่อปวงชนชาวไทย ขอจงทรงพระเจริญ"
    นายกฯ กล่าวว่า ในนามของรัฐบาลไทย ต้องขอแสดงความขอบคุณอย่างสุดซึ้งในความเสียสละและความมุมานะในการปฏิบัติงานของผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทุกคน ทุกองค์กร ประชาชน จิตอาสา และสื่อมวลชนทั้งไทยและต่างประเทศ ที่สนับสนุนทั้งองค์ความรู้ กำลังคน เครื่องมือและอุปกรณ์ต่างๆ ตลอดจนกำลังใจและไมตรีจิตจากมิตรประเทศทั่วโลก จนทำให้ภารกิจในครั้งนี้สำเร็จได้ด้วยดี เหตุการณ์ในครั้งนี้ นับเป็นบทเรียนครั้งสำคัญให้พวกเราได้เรียนรู้ว่า แม้ภารกิจจะยากลำบากและมีอุปสรรคกีดขวางมากมายเพียงใด แต่หากเรามีสติ มีความมุ่งมั่น มีความสามัคคีร่วมแรงร่วมใจกัน ด้วยจิตใจที่บริสุทธิ์ พร้อมที่จะเสียสละเพื่อส่วนรวม อุปสรรคทุกอย่างจะสามารถคลี่คลายได้  
    "แม้วันนี้ภารกิจจะเสร็จสิ้นแล้ว แต่ภาพของความร่วมแรงร่วมใจโดยไม่แบ่งเชื้อชาติ ศาสนา จะยังคงอยู่ตลอดไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งภาพของเจ้าหน้าที่ผู้กล้าหาญ  จ่าเอกสมาน กุนัน อดีตนักทำลายใต้น้ำจู่โจมแห่งกองทัพเรือ อาสาสมัครผู้สละชีพในปฏิบัติการในครั้งนี้ อย่างสมเกียรติ ความเสียสละของจ่าเอกสมาน จะเป็นต้นแบบแห่งความกล้าหาญ และประทับในจิตใจของพวกเราตลอดไป ในโอกาสนี้ ผมขออาราธนาสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลายในสากลโลก อีกทั้งพระบารมีแห่งองค์สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว โปรดดลบันดาลประทานพรให้คณะเจ้าหน้าที่ทุกท่าน ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาชน ตลอดจนชาวต่างประเทศทุกประเทศ ประสบแต่ความสุขความเจริญ สมบูรณ์พร้อมด้วยกำลังกาย กำลังใจ กำลังสติปัญญา และเดินทางกลับสู่มาตุภูมิโดยสวัสดิภาพโดยทั่วกัน" นายกฯ กล่าว  
    ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์กล่าวตอนหนึ่งระหว่างให้โอวาทเยาวชนโครงการ “เยาวชนไทยในเขตมิดเวสต์ของสหรัฐอเมริกาเยือนถิ่น” จำนวน 70 คน ว่า  เหตุการณ์สำคัญที่เกิดขึ้นในช่วงนี้ ถือว่าน่ายินดีที่ปฏิบัติการถ้ำหลวงประสบความสำเร็จ ตอนนี้ทุกฝ่ายได้ดูแลเด็กๆ อยู่ แต่ก็มีเรื่องที่น่าเสียใจ ที่มีผู้เสียสละเสียชีวิตไปหนึ่งราย เขาทำอย่างเต็มที่ ไม่ได้ประมาทหรืออะไรทั้งสิ้น ตั้งแต่วันแรกที่สมัครใจเข้ามา เป็นทหารก็พร้อมตาย ออกสู้รบเมื่อไหร่ ก็ไม่รู้จะรอดกลับมาหรือไม่ เป็นชะตาชีวิตของแต่ละคน ตนชื่นชมเขา เหตุการณ์ที่ถ้ำหลวงต่างประเทศได้เข้ามาช่วยเหลือจำนวนมาก หลายประเทศชื่นชมไทย บอกว่าไม่มีที่ไหนเป็นแบบนี้ ทุกฝ่ายช่วยกันเต็มที่ ถึงขนาดมีการมาช่วยซักถุงเท้า รองเท้า ซักเสื้อผ้า เงินก็ไม่ได้ ถือว่าทุกคนเสียสละ นอกจากนี้ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระราชทานครัวจิตอาสามาเลี้ยงอาหารทั้งสามมื้อ ใครต้องการอะไรก็พระราชทานมาให้ ทั้งอุปกรณ์ เครื่องมือ จึงขอให้ทุกคนเป็นกำลังใจให้เด็กๆ ทั้ง 13 คนและครอบครัวด้วย
อย่าดรามา"อีลอน มัสก์"
    จากนั้น พล.อ.ประยุทธ์ให้สัมภาษณ์ว่า เรื่องการช่วยเหลือวันนี้สำเร็จไปเกือบร้อยเปอร์เซ็นต์แล้ว ยังเหลือขั้นตอนการฟื้นฟูทางการแพทย์ที่ดูแลให้เด็กๆ ปลอดภัยร้อยเปอร์เซ็นต์ ก่อนที่จะส่งกลับไปอยู่ที่บ้านได้ ตลอดเวลาที่ผ่านมา เราทำตามขั้นตอนทั้งหมด สิ่งสำคัญที่เราได้มาคือเรื่องการบูรณาการการช่วยเหลือซึ่งกันและกัน เป็นการแสดงออกถึงน้ำใจของคนไทยทั้งประเทศทุกภาคส่วน ตนเปิดโทรทัศน์ก็มีข่าวถ้ำหลวงทุกช่องแทบจะทุก 15 นาที ต่างคนต่างเสนอข่าวในทางที่ดีที่สุด
    นายกฯ บอกว่า ตนได้มีโอกาสพบกับอีลอน มัสก์  เจ้าของบริษัทเอกชนที่อาสามาช่วย โดยเอาเครื่องบินบินมาเอง นำแคปซูลมา ถึงไม่ได้ใช้เครื่องมือนี้ก็ไม่เป็นไร  เพราะเหตุการณ์ไม่เหมือนที่อื่น เขาก็พร้อมที่จะทิ้งไว้ให้เราไปศึกษาเผื่อจะใช้ประโยชน์ได้ในวันหน้า สิ่งที่ได้คือน้ำใจของเขา โดยที่ไม่ต้องไปว่าจ้างเรียกร้องหรือขอความช่วยเหลือ เขามากันเองหมด และวันนี้เราได้ทั้งทวิตเตอร์และเฟซบุ๊ก จากผู้นำหลายประเทศที่ชื่นชมในความสำเร็จของเราในการช่วยชีวิตทั้ง 13 คนออกมาได้โดยปลอดภัย 
    ผู้สื่อข่าวถามถึงการวิพากษ์วิจารณ์เรื่องการแถลงของ ผบ.ศอร. กรณีแคปซูลของอีลอน มัสก์ ใช้ไม่ได้กลายเป็นดรามา พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า  อีลอน มัสก์ ก็พูดกับตนแล้ว ให้ตนดูที่สนามบินแล้วว่าอุปกรณ์เป็นแบบนี้ ตนก็ให้คนเข้าไปลองนอน ลองลากดู ไปดูในถ้ำว่าใช้ได้มากน้อยเพียงใด ถ้าใช้ไม่ได้ก็ไม่เป็นไร ก็ขอบคุณที่นำมาช่วย อย่าให้ทุกเรื่องเป็นดรามาไปหมดเลย ไม่ได้หมายความว่ามันใช้ไม่ได้ ก็ต้องทดสอบทดลองก่อน ของเขาได้ใช้ประโยชน์ในหลายสถานการณ์ แต่ในประเทศไทยพื้นที่แคบ บางอย่างจะไม่สามารถทะลุไปได้ แต่ถ้าเป็นทางน้ำโล่งๆ ก็ใช้ได้ ซึ่งอีลอน มัสก์ บอกว่าจะไปหาวิธีการอื่นอีกที ฉะนั้นอย่าพูดอะไรให้เสียหาย ผบ.ศอร.คงไม่ได้มีเจตนารมณ์พูดอย่างนั้น ทีมของเขามาด้วยความเต็มใจ ตนยังให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องช่วยตัดสินใจว่าใช้ได้หรือไม่ได้ สิ่งสำคัญคือเทคโนโลยีและความรู้ประสบการณ์คนของเราก็มีความพร้อมในระดับหนึ่ง 
    "ส่วนเรื่องการจัดเลี้ยงต่างๆ จะพิจารณาในเวลาที่เหมาะสม ผู้ที่ทำงานทั้งหมดกำลังปรึกษาหารือกันอยู่กับ รมว.มหาดไทย ให้สถานการณ์มันจบจริงๆ ก่อน วันนี้ยังไม่เรียบร้อย เรียบร้อยเมื่อไหร่ เด็กออกจากโรงพยาบาล นั่นคือจบ วันนี้ ศอร.จะย้ายมาอยู่ที่จังหวัด และในพื้นที่จะเป็นส่วนหลังตามเก็บของเช็กบัญชีต่างๆ และสำนักบริหารจัดการน้ำ กรมชลประทานต้องไปปรับพื้นที่ สิ่งสำคัญที่เรากังวลคือต้องปรับสภาพพื้นที่คืนสู่สภาพธรรมชาติเดิมให้เร็วที่สุด และได้สั่งให้คิดต่อไปว่าในเมื่อมีน้ำมาก จะทำอย่างไรกับน้ำจำนวนนี้ จะทำที่กักเก็บน้ำได้หรือไม่"
    เมื่อถามว่า คิดอย่างไรกับเสียงสะท้อนชื่นชมบทบาทนายณรงค์ศักดิ์ โอสถธนากร ในฐานะ ผบ.ศอร.ว่าคุมสถานการณ์ได้เป็นอย่างดี นายกฯ กล่าวว่า ท่านก็อยู่ตรงนั้น บทบาทของท่านก็ดี แต่ในส่วนของตนต้องรู้ทุกเรื่อง เพราะต้องรับผิดชอบ ก็โทรศัพท์ดูภาพอยู่ทุกวัน ศูนย์บรรเทาภัยพิบัติแห่งชาติ (พีม็อก) มีเจ้าหน้าที่ติดตามอยู่ ถ้าไม่คับขันตนก็ไม่ลงสั่งการ เพราะให้กรอบการทำงานไปแล้วให้ชัดเจน ขอแค่นี้ให้ทุกคนเข้าใจ ไม่ใช่ดูแผนที่คนละฉบับ ตนเอาวิชาการทหารแนะนำไปว่าการจัดศูนย์ควรจะเป็นอย่างไร เพื่อไม่ให้สับสนอลหม่าน  สำหรับตนทำงานวันนี้ใช้แรงศรัทธาในการบริหารราชการแผ่นดิน ถ้าไม่มีแรงศรัทธาก็คงยอมแพ้ 
     เมื่อเวลา 18.05 น. ที่ อบต.โป่งผา อ.แม่สาย จ.เชียงราย นายณรงค์ศักดิ์ โอสถธนากร ผู้ว่าราชการจังหวัดพะเยา ในฐานะผู้บัญชาการเหตุการณ์ศูนย์อำนวยการร่วมค้นหาผู้สูญหายในวนอุทยานถ้ำหลวง- ขุนน้ำนางนอน จ.เชียงราย (ศอร.) พร้อม พล.ร.ต.อาภากร อยู่คงแก้ว ผู้บัญชาการหน่วยบัญชาการสงครามพิเศษทางเรือ (ผบ.นสร.), นายแพทย์ไชยเวช ธนไพศาล ผู้อำนวยการโรงพยาบาลเชียงรายประชานุเคราะห์, นายจงคล้าย วรพงศธร รองอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช, นายกอบชัย บุญอรณะ รองอธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย, นายสุขชัย เจรียงประเสริฐ เกษตรจังหวัดเชียงราย และพล.ต.ต.ชูรัตน์ ปานเหง้า รองผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 5 ร่วมกันแถลงปิด ศอร.
    โดยนายณรงค์ศักดิ์กล่าวว่า เราเปิด ศอร.มาตั้งแต่ 17 วันที่แล้ว ถือว่าเมื่อวันที่ 10 ก.ค. เราประกาศความสำเร็จ มิชชั่น พอสซิเบิล เราประสบความสำเร็จอย่างยิ่ง ไม่ใช่เฉพาะที่เชียงราย ประเทศไทย แต่เป็นความสำเร็จที่ไทยสร้างชื่อเสียงระดับโลกจากภารกิจครั้งนี้ การทำงานครั้งนี้จะสำเร็จไม่ได้ถ้าเราไม่ได้รับพระบารมีปกเกล้าปกกระหม่อมของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่พระองค์ทรงติดตาม ทรงห่วงใย ชื่นชมการทำงานเจ้าหน้าที่ พระราชทานกำลังใจ สิ่งของ อุปกรณ์ ที่ไม่สามารถหาจากตลาดได้ พระราชทานมาทันเวลา การปฏิบัติครั้งนี้ถือเป็นพระมหากรุณาธิคุณ จะเทิดทูนเพื่อเป็นสิริสัพสวัสดิมงคลแก่ปวงข้าพระพุทธเจ้าทั้งหลาย
ผบ.ศอร.ย้ำความสามัคคี
    "คีย์สำคัญคือความสามัคคี ไม่ใช่เฉพาะที่เชียงราย หรือประเทศไทย แต่เป็นความสามัคคีทั้งไทยและต่างประเทศ เกินคำว่ากู้ภัย กู้ชีพ เป็นการแสดงให้เห็นว่าเป็นความสามัคคีของทุกชนชาติ ไม่ว่าเชื้อชาติใด ภาษาใด เรามาอยู่ อ.แม่สาย ช่วยน้อง 13 ชีวิต เป็นการทลายภาษา เชื้อชาติ เพื่อให้ทุกคนบรรลุเป้าหมายเดียวกัน สิ่งสำคัญที่สุดคือความร่วมมือที่ดีมากๆ ทั้งทางเทคโนโลยี ความรู้ ที่เอามารวมกัน อุปกรณ์ต่างๆ เราแลกเปลี่ยนความรู้และเครื่องมือเพื่อใช้ภารกิจเดียวกัน แม้เราจะปิดภารกิจของเราได้คือการสืบค้นและกู้ภัย แต่การส่งกลับยังไม่ได้ทำ ยังต้องดำเนินการอยู่ที่โรงพยาบาลเชียงรายประชานุเคราะห์ ที่มีแพทย์ดูแลอย่างดี"
    ผบ.ศอร.กล่าวว่า สิ่งสำคัญที่สุดที่จะเดินต่อคือการถอดบทเรียน เพราะครั้งนี้ไม่ใช่กู้ภัยธรรมดา แต่เป็นครั้งแรกโลกที่มีการกู้ภัยถ้ำที่น้ำเต็มเกือบร้อยเปอร์เซ็นต์ ถ้าใครเห็นจะบอกว่าเป็นอะไรที่ยากมาก เรียกว่าเป็นไปไม่ได้เลย เราจะถอดบทเรียนทั้งหมด บางส่วนไปสอนเด็กให้รู้ถึงความอันตรายของถ้ำ และพัฒนาวิธีการกู้ภัยต่างๆ ในอนาคต บางคนบอกว่าน้องเป็นผู้ร้าย เป็นคนผิด หรือบอกว่าเป็นพระเอก ฮีโร่ แต่เรามองเขาเป็นเด็ก 13 คน ที่ปฏิบัติหรือมีความสุขไปตามวิสัยเด็ก และเกิดเหตุสุดวิสัย เข้ามาในถ้ำแล้วออกไปไม่ได้ เด็กเหล่านี้เมื่อโตมาจะเรียนรู้ว่าคนหลายร้อยล้านคนติดตามเขาอยู่ ให้กำลังใจพวกเขา ส่วนตัวเชื่อว่าน้องๆ จะเติบโตขึ้นมาเป็นพลเมืองที่ดี เพราะเขาเป็นที่คาดหวังของทุกคน ถ้าเขามีที่ยืน เขาก็จะให้หรือตอบแทนสังคม
     ในส่วนของการปฏิบัติการครั้งนี้ เป็นความร่วมมือทุกภาคส่วน เป็นการดำเนินการแบบสากล มีผู้เชี่ยวชาญจากต่างประเทศมากมาย เช่น ทีมดำน้ำ เราจะรวบรวมว่าแต่ละท่านมีศักยภาพอย่างไร มาจากประเทศไหน เพื่อเตรียมความพร้อม เป็นบทเรียน อนาคตถ้ามีสถานการณ์ใกล้เคียง จะทำให้รู้ว่าทรัพยากรที่มีคุณค่าของโลกอยู่ตรงไหน เป็นผู้ทรงคุณค่า เป็นอาคันตุกะของประเทศไทย เมื่อเสร็จเราจะรวบรวมไว้ทั้งหมด ในอนาคตเราจะเปิดเป็นพื้นที่ท่องเที่ยวแห่งใหม่ มีสตอรี มีชีวิต อาจจะขอเสื้อผ้า เครื่องแต่งกาย มาทำเป็นพิพิธภัณฑ์มีชีวิต จะเป็นอีกจุดที่เป็นไฮไลต์ของประเทศไทย แม่สายจะเป็นที่ที่นักท่องเที่ยวจะมาเยี่ยมเยือนมากมาย ตอนนี้กำลังรวบรวมแล้วพัฒนาเป็นแหล่งเรียนรู้อะไรมากมาย ให้ทั้งโลกมาศึกษา นักดำน้ำทั่วโลกมาศึกษาและเรียนรู้
    "วีรบุรุษตัวจริงคือ จ.อ.สมาน กุนัน หรือจ่าแซม อดีตหน่วยซีลที่เสียชีวิตระหว่างปฏิบัติการ ถือเป็นพระเอกตัวจริง วันที่เสียชีวิต เราทั้งหมดซึมเศร้า แล้วเอาความเศร้าตรงนั้นมาเป็นพลังของพวกเรา จ่าแซมเสียสละอย่างมาก เรายิ่งมุ่งมั่นทำภารกิจให้สำเร็จ ขอบคุณวีรบุรุษ และวีรกรรมที่จ่าแซมได้ทำ"  ผู้ว่าฯ ณรงค์ศักดิ์บอกด้วยว่า นายกรัฐมนตรีของไทยได้รับโทรศัพท์จากนายกฯออสเตรเลียแจ้งว่า บิดาของ นพ.ริชาร์ด แฮร์ริส นายแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านการดำน้ำ ที่สำคัญต่อปฏิบัติการดำน้ำในครั้งนี้ เป็นหนึ่งในคนที่เข้าถึงตัวเด็ก ไปถึงจุดสุดท้ายมาตลอด โดยบิดาเสียชีวิตเมื่อคืนในที่ผ่านมา ทาง ศอร.ขอแสดงความเสียใจอย่างสุดซึ้ง กราบขอบคุณ ที่มีคุณูปการ ถ้าขาด นพ.ริชาร์ด ถ้าท่านไม่ช่วยเรา คิดว่าภารกิจนี้คงไม่สำเร็จ
    "อยากเล่าอีกเรื่องที่ซีเรียสว่า ก่อนวันปฏิบัติการออกชิเจนในถ้ำเหลือเพียง 15% ซึ่งถ้าเหลือ 12% จะซึม ช็อก และโคม่า เป็นสิ่งที่บีบให้เราต้องลงมือเร็วขึ้น จริงๆ แล้วเรารอเวลา แต่ออกซิเจนบีบให้เราทำงานแข่งกับเวลามากขึ้น ออกซิเจน วันที่ทดสอบเหลือ 15 ถ้าต่ำกว่าเราจะซีเรียสมาก ฝนเองก็กำลังมา ซึ่งฝนภาคเหนือไม่เหมือนฝนภาคอื่น จะตกเป็นก้อนๆ ถ้าตกเต็มที่ น้ำจะเต็มถ้ำ ไม่มียืน ที่น้องๆ ยืนจะลดลงเรื่อยๆ นั่นคือสิ่งที่ทำให้เราต้องเร่งทำงาน"
    ผบ.ศอร.กล่าวต่อว่า นักดำน้ำจากทีมและหน่วยซีล คือคนที่ปฏิบัติภารกิจข้างใน แต่คนที่ทำให้สำเร็จยังมีอีกมากมาย การปฏิบัติครั้งนี้ คนที่อยู่เบื้องหลังคือทีมสูบน้ำ การสูบน้ำให้หมดเป็นไปไม่ได้ หน่วยซีลจึงขอแค่สามารถเงยหัวมาหายใจได้ และจะพร้อมปฏิบัติทันที แต่น้ำลดทีละเซนติเมตร ซีลรอไม่ไหว ได้เอาขวดอากาศไปวางโรย แล้วว่ายโดยเท้าไม่แตะพื้นเป็นหลายชั่วโมงติดต่อกัน เราโชคดีที่เสร็จภารกิจ ไม่อย่างนั้นจะมีน้ำเติมมาอีกมาก ถ้าช้าจะยากกว่านี้เยอะ ส่วนเบื้องหลังอีกทีม คือชุดที่เดินสำรวจยอดดอย เราหาหลุมได้มากมาย แต่เจาะทะลุไม่ได้ เหมือนงมเข็มในมหาสมุทร ขนาดประเทศชิลี กิโลเมตรเดียวยังใช้เวลาเป็นเดือน ซึ่งเรารอไม่ได้ จึงต้องปฏิบัติภารกิจ สุดท้ายขอบคุณทีมงานทุกทีม ที่เป็นจิกซอว์ของความสำเร็จทั้งหมด
"ซีล"สู้น้ำสาหัสสากรรจ์
    ด้าน พล.ร.ต.อาภากร อยู่คงแก้ว กล่าวว่า  เราไม่ใช่ฮีโร่ งานนี้สำเร็จได้ด้วยพวกเราทุกคน ในส่วนของ นสร. กองเรือยุทธการ หรือหน่วยซีล เรามีภารกิจ และได้รับการฝึกลักษณะนี้เป็นประจำ กองทัพเรือ (ทร.) มีสโลแกนว่า กองทัพเรือไม่ทิ้งประชาชน ซึ่งยึดมั่นตลอด ในรอบแรก น.อ.อนันต์ สุราวรรณ ผบ.กรมรบพิเศษที่ 1 นสร. นำกำลังพลประมาณ 20 นาย ถึงเชียงรายเวลา  02.00 น. จนกระทั่งเวลา 04.00 น. ก็ลุยเข้าไปเลยถึงสามแยก เพราะทีมกู้ภัยไม่สามารถเข้าไปได้ เนื่องจากมีทรายที่ไหลมาทับถมตรงนั้นเต็มไปหมด เมื่อเราได้ทะลุช่องตรงนั้นไปจนไปถึงพัทยาบีช เจอแต่รอยเท้า แต่ไม่เจอน้องๆ จึงได้ดำน้ำต่อไป ซึ่งสภาพถ้ำแห่งนี้ เราก็ไม่เคยเจอ และมืดมาก จึงต้องถอยมาเตรียมอุปกรณ์ใหม่  
    วันนั้นฝนตกหนักมาก ทำให้ต้องถอยจากสามแยกออกมาเรื่อยๆ จนถึงโถง 3 ตนก็ได้รับรายงานมาเรื่อยๆ ว่าทำไม ยากขนาดไหน ทำไมช่วยไม่ได้ ก็เลยขออนุญาตผู้บังคับบัญชาขึ้นมาดูด้วยตนเอง มาถึงที่ถ้ำหลวงประมาณ 6 โมงเย็น และ เข้าไปถึงโถง 3 ลงไปลุยเรื่องการสูบน้ำออกทั้งคืน แต่สู้น้ำไม่ได้ ส่วนหนึ่งก็ต้องนำกำลังพลถอยร่น จนกระทั่ง 10 โมงเช้า ก็ได้ขอกำลังพลจากกองทัพเรือระลอกที่ 2-3 มาเพิ่มเติม แต่สู้น้ำไม่ได้ จึงต้องถอยออกจากโถง 3 มาถึงปากถ้ำ ช่วงนั้นความหวังน่าจะเหลือนิดเดียวแล้ว มีคำถามในใจว่า น้ำขนาดนั้นเราจะช่วยน้องๆ ได้อย่างไร และเป็นวันที่ 7-8 แล้ว น้องๆ จะอิดโรยขนาดไหน แต่เราก็ไม่ละความพยายาม
    จากนั้นมีหลายหน่วยงานทั้ง ภาครัฐและเอกชน ในการเข้าร่วมสู้กับน้ำ ซึ่งจากนั้นอีก 2-3 วันแต่น้ำลดไม่กี่ ซม. แต่เราก็มุดน้ำเข้าไปถึงโถงสาม ก็ไปพบที่ว่าง พอที่จะตั้งกองบัญชาการส่วนหน้าได้ โดยการเข้าไปจากหน้าถ้ำไปถึงโถง 3 ก็สาหัสสากรรจ์ ต้องดำน้ำ ปีนโขดหิน อย่างไรก็ตาม เราต้องสู้ เพราะความหวังที่เราต้องช่วยน้องๆ ให้ได้ จึงตัดสินใจว่าเราจะสู้กับน้ำ โดยต้องหาขวดอากาศมาเป็นจำนวนมาก ในช่วงแรกได้รับบริจาคจากภาคเอกชน 200 ขวด ต่อมาได้รับพระราชทาน 200 ขวด รวมเป็น 400 ขวด พร้อมทั้งอุปกรณ์ดำน้ำพอสมควร คิดว่าเราจะสู้ได้ จึงคิดวางขวดอากาศไปเป็นช่วง โดยให้นักดำน้ำนำขวดอากาศไปคนละ 3 ขวด เพื่อเอาขวดไปวางไว้เป็นจุดๆ  นี่เป็นความตั้งใจแรกที่จะช่วยน้องให้ได้
    “งานนี้เรามีนักต่างชาติมาช่วย ทั้งอเมริกา ออสเตรเลีย จีน อังกฤษ เยอรมนี เดนมาร์ก กลุ่มสุดท้ายเป็นผู้เชี่ยวชาญดำน้ำในถ้ำโดยเฉพาะ ตรงนี้สำคัญมาก เราก็คิดว่าทำอย่างไรจะหาน้องเจอ จึงใช้วิธีการวางเบสไลน์ทุกๆ 200 เมตร กระจายไปให้นักดำน้ำทุกชาติ เมื่อแต่ละประเทศต่อระยะเข้าไป ปรากฏว่ามีโชคดี ที่มีนักดำน้ำอังกฤษรับตรงนั้น ก็เจอน้องๆ ในถ้ำและถ่ายภาพให้พวกเราดู เราเห็นน้องๆ ก็อะเมซิ่งมาก นักดำน้ำว่าพอเห็นน้องๆ แล้วคงแปลกใจ น้องวิ่งมาหาเลย จากนั้นเราได้ส่งหน่วยซีลของเรา 4 คนเข้าไป หนึ่งในนั้นก็มี พ.ท.ภาคย์  โลหารชุน ผ่านหลายหลักสูตรพิเศษมากมาย และมีนักดำน้ำที่ผ่านหลักสูตรเวชศาสตร์ใต้น้ำเข้าไปรอบแรกนี้ด้วย รวม 4 คน ต่อมาก็ส่งไปอีก 3 คน และสุดท้ายก็มีเหลือ 4 คนอยู่กับน้องๆ เพื่อความอุ่นใจ”
    พล.ร.ต.อาภากรกล่าวว่า ที่แถลงข่าวว่าเมื่อดูจากสภาพร่างกายหากมีการเตรียมอาหาร น้ำดื่ม จะอยู่ในนั้นได้เป็นเดือนๆ จึงมีคำถามว่าจะมีช่องทางอื่นหรือไม่ในการนำน้องๆ ออกมา แต่สุดท้ายก็มาเจอข้อจำกัด เนื่องจากอากาศ และออกซิเจนน้อยลง วันแรกที่ตรวจมีออกซิเจนเหลือแค่ 15 เปอร์เซ็นต์ ทีมงานก็หาวิธีเติมออกซิเจนเข้าไป แต่ปรากฏว่าน้ำฝนที่ตกลงมามีปริมาณมาก เราสู้กับธรรมชาติยากมาก เมื่อฝนมาแล้วอะไรก็ต้านทานไม่อยู่ เมื่อน้ำเต็มถ้ำ อากาศน้อยลง การเจาะภูเขาจะทำได้อย่างไรเมื่อความหนาชั้นหิน 500 เมตร ทั้งหมดนั้น เหมือนการงมเข็มในมหาสมุทร ประกอบกับมีข้อปัจจัยเรื่องเวลา ทำให้ทีมดำน้ำต้องเริ่มคุยกัน
    “โดยนักดำน้ำมืออาชีพของโลกที่มารวมในบ้านเรา ซึ่งผมก็ตื้นตันที่ได้เจอ สุดท้ายก็มีแผนออกมา และผมก็ได้รับอนุมัติจาก ผอ.ศอร. และหน่วยเหนือ ให้ดำเนินการตามแผนได้ จนที่สุดก็ได้กลับมาครบทุกคน ภารกิจตรงนี้ถือว่ายากมาก ยากจริงๆ ยากอย่างที่เราไม่เคยเจอ จึงต้องถอดบทเรียน และต้องพัฒนาบุคลากร เพื่อเตรียมพร้อมรับมือภัยพิบัติได้ทุกรูปแบบ ที่ภูเก็ตก็เรือล่ม ทาง ทร.ก็ต้องส่งคนไปช่วย ดังนั้น เราก็ต้องเตรียมคนให้พร้อม เพราะกองทัพเรือไม่ทิ้งประชาชน“ ผบ.นสร.กล่าว และว่า การปฏิบัติมีรายละเอียดเยอะ เล่าตรงนี้คงไม่หมด มันมาก มีเรื่องสนุกๆ อีกเยอะ ไว้ใครมาถามจะเล่าให้ฟังส่วนตัว
เครียดลูกน้องหาย 23 ชม.
     ขณะที่น.อ.อนันต์  สุราวรรณ ผู้บังคับการกรมรบพิเศษที่ 1 นสร. กล่าวว่า ก้าวแรกที่ก้าวเข้าไปในถ้ำ รู้เลยว่าไม่ใช่งานง่าย ในถ้ำมืดสนิท เส้นทางจากปากถ้ำไปถึงสามแยกประมาณ 3 กิโลเมตร มีโขดหินคล้ายๆ หน้าผา  บางช่วงก็ลอดเป็นรูเล็กๆ เข้าไป วันแรกเราไปถึง 3 แยกประมาณตีห้าครึ่ง เริ่มดำน้ำประมาณ 6 โมงเช้า  สามารถทะลุเข้าไปอีกฝั่งที่คิดว่าเด็กจะไป จึงตามเข้าไปจนเข้าไปถึงระยะหนึ่ง แต่ก็ไม่รู้อะไรมาก เพราะมืดมาก  
สังเกตว่าผนังถ้ำในเส้นทางแคบๆ เป็นโคลน ซึ่งก็ทำนายได้เลยว่าถ้ำนี้เคยมีน้ำท่วมและซัดโคลนเข้ามา เราทำงานที่สามแยก น้ำจะไหลเข้ามาทางเส้นทางผาหมี จากตีห้าถึงสี่โมงเย็น เราทำงานจนลืมเวลา แต่สังเกตน้ำอยู่เรื่อยๆ เห็นน้ำขึ้นตลอดเวลา และเร็วมาก แต่ละชั่วโมงน้ำขึ้น 3 ซม. เป็นชั่วโมงละ 8 ซม.และชั่วโมงละ 13 ซม. ประมาณสถานการณ์แล้วว่าน่าจะอันตราย เพราะฝนตกตลอด ไม่รู้น้ำจะหลากเข้ามาในถ้ำเมื่อไหร่ ต้องรีบถอนตัว ในที่สุดน้ำท่วมจนถึงปากถ้ำ ตนเสนอผู้ว่าฯ ว่าถ้าเราทำงานได้ต้องสูบน้ำ เพราะเรานึกภาพว่าน้ำเต็มท่อ 3-4 กิโลเมตร โดยไม่รู้ว่าจะมีโพรงให้เราขึ้นมาหายใจได้หรือไม่ ผู้ว่าฯ ก็ระดมสรรพกำลังสนับสนุน แต่การสูบน้ำก็ได้น้อยมาก ซึ่งเราไม่สามารถรอเวลาได้ เพราะเวลาล่วงเลยมามาก จำเป็นต้องเดินหน้าต่อ   
    ผบ.กรมรบพิเศษที่ 1 กล่าวว่า ช่วงระหว่างรอน้ำลด ทีมงานก็ดำน้ำวางไกด์ไลน์จากโถงสามไปที่สามแยก เราสามารถวางเบสไลน์ไปถึงสามแยกได้ โดยที่เราไม่รู้ว่าเมื่อไหร่น้ำลด ซึ่งเป็นที่มาเราก็ขอสนับสนุนขวดอากาศเพิ่ม เพื่อมาวางเบสไลน์เป็นระยะ ระหว่างนี้ก็สูบน้ำไปเรื่อยๆ และวางเบสไลน์ไปเรื่อยๆ  จนถึงชุดสุดท้าย ต่างชาติที่ดำน้ำไปเจอเด็ก ใช้เวลาออกจากโถงสามไปถึงที่เด็กอยู่ว่าประมาณ 5 ชม.ครึ่ง พวกเราก็คิดว่าเมื่อนักดำต่างชาติดำน้ำไปถึงแล้ว วางไกด์ไลน์เรียบร้อยแล้ว จากจุดที่เราดำวันแรกถึงวันสุดท้าย และดูจากระยะที่ต่างชาติดำน้ำเข้าไปถึงเด็กประมาณว่าน่าจะเพิ่มไม่เกิน 500-700 เมตร ทางทีมงานก็คิดว่าให้เตรียมอาหาร น้ำ เจลพลังงาน ขนม แผ่นฟอยล์ โดยส่งทีมแรกไป 4 คนเป็นหน่วยซีลทั้งหมด ซึ่งจำไม่ได้ คาดว่าน่าจะเป็นเวลาเช้าๆ  
    “ต้องเรียนว่าผมอยู่ในถ้ำ เราทำงานอย่างไม่รู้วัน เพราะมืดตลอดเวลา เราจะดูว่านักดำน้ำออกมากี่ชั่วโมงที่นักดำน้ำเราส่งเข้าไปถึงจะกลับมา จะส่งเฉพาะขวดอากาศออกมาเปลี่ยน เราไม่รู้ว่าเป็นวันไหน นับเป็นชั่วโมง เราส่งนักดำไป 4 คนแรก นำเสบียงไปคัดคนไป 4 คน ชั่วโมงต่อไปคัดไป 3 คน มี พ.ท.ภาคย์ด้วย เชื่อหรือไม่ว่าสองทีมที่ส่งไปขาดการติดต่อไป 23 ชั่วโมง นี่คือความเครียดของผู้ปฏิบัติที่ส่งลูกน้องไปทำงานแล้วไม่รู้ว่าเป็นหรือตาย เพราะเราประเมินว่าต่างชาติดำน้ำ 5 ชั่วโมงครึ่ง ศักยภาพเราอย่างน้อยน่าจะใช้เวลา 7-8 ชม.แล้วต้องกลับ แปดชั่วโมงก็แล้ว สิบชั่วโมงก็แล้ว จน 23 ชั่วโมงผ่านไป ชุดซีลชุดแรกกลับมาที่โถงสามแค่ 3 คน เพราะว่าที่เหลือที่ดำเข้าไปโดยใช้ขวดอากาศคนละ 4 ถัง ดำเกือบหมดทุกคน เหลือแค่ 3 คนที่พอจะมีโอกาสเหลือดำกลับมาที่โถงสามเพื่อรายงานข่าว ผู้รับผิดชอบตรงหน้างานเครียดตลอดเวลา เพราะว่าความยากของงานนี้คืองานใหม่ที่ทีมเราไม่มีประสบการณ์มาก่อน ความเย็นของน้ำในถ้ำ และไม่รู้ว่าน้ำจะมาเมื่อไหร่ ปัจจัยต่างๆ คือความเสี่ยงที่เราต้องคิดตลอดเวลา แต่เรามีทีมนักฟุตบอล 13 ชีวิตที่คอยเราอยู่ ที่เราทิ้งไม่ได้"
    น.อ.อนันต์กล่าวว่า 3 คนออกมาต้องส่งโรงพยาบาล สภาพร่างกายแย่มาก เจอเหตุการณ์อย่างนี้เราก็คิดหนัก จะเดินต่อไปอย่างไร ทุกครั้งที่ผู้บังคับบัญชามาให้กำลังใจ ได้รับข่าวจากนอกถ้ำว่าเดินสำรวจแล้วไม่มีรูที่หย่อนเข้าไปหาเด็กได้ ความหวังที่เป็นไปได้ที่สุดแม้ตรงนั้นจะมีโอกาสน้อยคือทางน้ำเท่านั้น เป็นแรงกดดันที่เราต้องเดินต่อ ก็ปรับแผนใหม่ว่าจะดำเข้าไปหาเด็กได้ต้องวางขวดอากาศเข้าไป เป็นที่มาในการจัดทีมในการวางขวดอากาศเป็นระยะ ทุกครั้งที่ส่งลูกน้องไปทำงาน 7 ชั่วโมงก็มี 10 ชั่วโมงก็มี 3-4 ชั่วโมงก็มี กว่าที่เขาจะกลับเข้ามาให้เห็นหน้าว่าเขามีชีวิตอยู่ นี่คือความยากของมัน คือนิ่งสุด
    “วันที่มีเหตุการณ์จ่าแซม เป็นวันที่ท่านรับอาสาวางขวดอากาศร่วมกับทีมดำน้ำต่างชาติ 4 คน และคนไทย 1 คน หนึ่งในนั้นคือจ่าแซม ต่างชาติก็ไปวางขวดอากาศตามที่กำหนดไว้ และกลับมา ใช้เวลาประมาณ 3 ชม. จ่าแซมกับอีกท่านยังไม่กลับ คำนวณเวลาว่าของเราไม่น่าจะเกิน 5 ชม. แต่ 7 ชม.ผ่านไปก็ยังไม่กลับทั้งสองคน ดูจากสถานการณ์ก็ยังคิดเข้าข้างตัวเอง เพราะดำจากโถงสามไปแล้วประมาณ 400 เมตร จะมีช่วงน้ำตื้นที่เดินได้ มีดำน้ำเป็นช่วงๆ ก็ยังมั่นใจว่าเหนื่อยและพัก จนประมาณตีหนึ่งคู่บัดดี้ก็ดำมาที่โถงสามคนเดียว แจ้งว่าเกิดเหตุไม่ดีขึ้น ก็เป็นคืนที่เราสูญเสีย แต่สูญเสียหนึ่งชีวิต กับอีก 13 ชีวิตที่รอเราอยู่เราก็เดินหน้าต่อ ทุกคนยอมรับในความเสี่ยง เพราะหน่วยเราฝึกให้รับภารกิจเสี่ยงอยู่แล้ว เรื่องของความสูญเสียเราต้องเตรียมใจอยู่แล้ว สุดท้ายก็ถือว่างานนี้เป็นโอกาสดีของหน่วยงานของผมเอง ที่มีโอกาสร่วมมือกับนักดำน้ำระดับโลก ทำให้เห็นแนวทาง วิธีการ  เทคนิคในการดำน้ำในถ้ำ เพื่อพัฒนาขีดความสามารถ เพื่อรองรับอุบัติภัยของเราในอนาคต” น.อ.อนันต์กล่าว 
เปิดคลิป 13 หมูป่าโชว์
    ส่วนนายแพทย์ไชยเวช ธนไพศาล กล่าวว่า ในนามเจ้าหน้าที่โรงพยาบาลกว่า 3,000 ชีวิต ขอขอบคุณทุกภาคส่วนในการช่วยเหลือจนทำให้ภารกิจนี้ประสบความสำเร็จ และขอยืนยันว่าแนวทางการดำเนินการของโรงพยาบาลเชียงรายประชานุเคราะห์ มีการรักษาอย่างถูกต้องเป็นไปตามทฤษฎี ซึ่งเหตุการณ์ช่วยเหลือผู้ประสบภัยทั้ง 13 ชีวิตนั้น ไม่ได้ส่งผลกระทบต่อการดำเนินการในส่วนปกติของโรงพยาบาลแต่อย่างใด สำหรับผู้ประสบภัยทั้ง 13 คน และนักดำน้ำอีก 4 คนที่อยู่กับผู้ประสบภัยชุดสุดท้าย ถึงวันที่ 10 ก.ค. โดยเริ่มมีการลำเลียงผู้ป่วยมายังโรงพยาบาลตั้งแต่วันที่ 8 ก.ค. ถึงวันที่ 10 ก.ค. ทั้ง 17 คน 
    "ขณะนี้มีอาการปลอดภัยทั้งหมด ภายหลังการตรวจร่างกายแล้วพบว่ามีอาการปกติ แต่มี 3 คนที่มีอาการปอดอักเสบบ้าง คาดว่าจะใช้เวลาอยู่ในโรงพยาบาลสำหรับรอดูอาการทั้งสิ้น 7-10 วัน จึงอนุญาตให้กลับบ้านไปพักฟื้นอีกอย่างน้อย 30 วัน ซึ่งต้องมีการติดตามอาการอย่างใกล้ชิดต่อไป กรณีดังกล่าวเป็นกรณีที่พบน้อยมาก ก่อนต้องมีการฟื้นฟูสภาพจิตใจ ทั้งครอบครัว ตัวเด็ก ในเรื่องการตอบสนองต่อสังคม การเข้าสังคม"
     ในขณะแถลงข่าว นายแพทย์ไชยเวชได้เปิดเทพบันทึกภาพของเยาวชนทีมหมูป่าที่อยู่ระหว่างการรักษาตัวภายในโรงพยาบาลเชียงรายประชานุเคราะห์ โดยยังอยู่ในพื้นที่ควบคุม และไม่อนุญาตให้ญาติเข้าเยี่ยมได้ พร้อมกล่าวต่อว่า ทุกคนถอดสายน้ำเกลือออกทั้งหมดแล้วมีบางส่วนเริ่มทานอาหารปกติได้
    พล.ต.ต.ชูรัตน์ ปานเหง้า  กล่าวว่า ในส่วนของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) ได้ปฏิบัติการในส่วน การอำนวยการ ปฏิบัติการ และสนับสนุน ใชกำลังพลทั้งสิ้น 922 นาย สำหรับภารกิจหลักที่ได้รับมอบหมาย ได้แก่การรักษาความปลอดภัยบริเวณที่เกิดเหตุ การอำนวยความสะดวกในการจราจร นอกจากนี้เจ้าหน้าตำรวจยังคอยดูและป้องกันทรัพย์สิน ซึ่งในการปฏิบัติการมีเหตุเกิดขึ้น 3 เหตุ และมีการดำเนินคดีกับผู้ต้องสงสัย 2 ราย สำหรับภารกิจฝ่ายสนับสนุน มีการสำรวจปล่องร่วมกับฝ่ายป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย โดยใช้เฮลิคอปเตอร์ ขณะที่ตำรวจตระเวนชายแดน (ตชด.) ตำรวจพลร่ม และตำรวจน้ำ ช่วยปฏิบัติภารกิจทางน้ำ และให้ความช่วยเหลือในส่วนของเครื่องสูบน้ำ และเครื่องปั่นไฟอีกด้วย
    ส่วนนายสุรชัย เจรียงประเสริฐ กล่าวว่า สำหรับแผนเยียวยาเกษตรกรที่เป็นพื้นที่รับน้ำนั้น เบื้องต้นจะมีการช่วยเหลือเรื่องเมล็ดพันธุ์ ปัจจัยการผลิต เพื่อเสริมรายได้หลังน้ำลด ส่วนการชดเชยเยียวยา คาดว่าจะจ่ายได้ประมาณปลายเดือน ก.ค. โดยจากการสำรวจพบผู้ประสบภัยแท้จริงที่เสียหายโดยสิ้นเชิง เข้าเกณฑ์ได้รับเงินเยียวยาจำนวน 126 ราย 1,266 ไร่
     นายจงคล้าย วรพงศธร รองอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กล่าวว่า เราเป็นหน่วยงานที่สนับสนุนเพื่อให้หน่วยงานทั้งหมดสามารถขับเคลื่อนไปได้ โดยมีหลักๆ ทั้งหมด 3 ด้าน คือ 1.การหาโพรงถ้ำ 2.การสำรวจลำห้วยเพื่อเปลี่ยนทางน้ำ 3.ช่วยหน่วยซีลในการนำถังออกซิเจนเข้าไปด้านในถ้ำ ส่วนด้านของกรมน้ำบาดาลมีการสูบน้ำออกจากปากถ้ำ จำนวนทั้งสิ้น 3 เครื่อง ดูดน้ำออกได้วันละ 6,000 ลูกบาศก์เมตร โดยทำงานตลอด 24 ชม. เพราะฉะนั้นฝั่งลำห้วยมีการปิดทางน้ำได้ประมาณ 32,000 ลูกบาศก์เมตร ส่วนเรื่องฟื้นฟู ทาง รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมได้มาพูดคุยสั่งตนว่าให้มีการเตรียมแผนฟื้นฟูให้ดี และในวันที่ 25 ก.ค.นี้ รัฐมนตรีได้เตรียมลงพื้นที่เพื่อมาคุยกับผู้ว่าฯ เชียงราย สำหรับในเรื่องการปิดถ้ำนั้น ผู้ว่าฯ สั่งการไว้ว่า 10.00 น.  วันที่ 12 ก.ค. เราต้องดำเนินการปิดถ้ำ มีรั้วกั้นเอาไว้เป็นที่เรียบร้อย ของที่ยังอยู่ข้างในขอให้อยู่แบบเดิม ไม่มีการเข้า-ออก และมีการดูแลตลอด 24 ชม.  
    หลังการแถลงข่าว ได้เปิดให้สื่อมวลชนได้ซักถาม โดยมีผู้สื่อข่าวถามว่า ท้อหรือไม่ ซึ่งนายณรงค์ศักดิ์ตอบว่า การทำภารกิจนี้ ทุกคิดว่าเป็นภารกิจที่หนักที่สุด ไม่เชื่อว่าจะมีภารกิจที่หนักและยากกว่านี้ ต้องแข่งกับน้ำและเวลา ทุกคนมีความท้อในการปฏิบัติงานอยู่เสมอ อย่างเมื่อวันที่ 27 มิ.ย. เป็นวันที่เราเสียพื้นที่การสูบน้ำทั้งหมด เราท้อมาก เพราะเราสูบเต็มศักยภาพ แต่ภายในเวลา 4 ชั่วโมง ตั้งแต่สามแยกจนถึงปากถ้ำ เราเสียพื้นที่ให้น้ำหมดเลย 3 กิโลเมตร ที่เราสูบเราเสียให้น้ำภายใน 3 ชั่วโมง ตี 1 เราต้องสั่งถอนกำลัง ถ้าไม่ถอย เราจะเสียคน ยุทโธปกรณ์ทั้งหมด เราระดมคนกลับมาตั้งหลัก และ 4-5 วันต่อมา เราก็สู้กลับไปได้ ทุกวันทุกนาที ทุกคนท้อ มีความอ่อนล้า เหนื่อยแรง แต่พลังใจทุกคนที่อยู่หน้างานทั้งหมดมีพลังเพื่อจะสู้เพื่อ 13 ชีวิต มุ่งมั่นเสมอว่าตราบใดที่เรายังชิงพื้นที่อยู่ได้ มีอุปกรณ์ที่จะสู้ กำลังพลเหลืออยู่ เราจะต้องเจอ 13 คน ไม่มีวันไหน ไม่มีนาทีไหน ที่เราจะไม่สู้เพื่อ 13 คน คนที่อยู่ในภารกิจค้นหามีเป็นหมื่นชีวิต ถือว่าทุกคนเป็นฮีโร่ เป็นจิกซอว์ที่ทำให้ภาพสวยงาม เมื่อขาดคนใดคนหนึ่งภาพจะไม่สวยงาม
    นอกจากนี้ยังมีคำถามว่า ช่วยอธิบายสภาพตอนเด็กถูกนำออกมามีลักษณะอย่างไร วิธีการใด และใช้ยาอะไร พล.ร.ต.อาภากร กล่าวว่า จากจุดเนินนมสาว จะใส่ฟูลเพซแมส หรือหน้ากากเต็มหน้า เวสสูท ติดตัดขวดออกซิเจน มีคนดูแล 2 คน ต่อ 1 คน โดยต้องใช้วิธีการไม่ให้เด็กตื่นตระหนกระหว่างนำพาออกมา ซึ่งดำน้ำจากจุดเนินนมสาวมาถึงโถง 3 บางจุดมีน้ำลึก น้ำตื้น ทางขึ้นลง ดำน้ำจริงๆ ประมาณ 40% เพราะน้ำในถ้ำลดลงเยอะ ส่วนที่เห็นเปล จะใช้เมื่อขึ้นโถง 3 เพื่อลำเลียงมาถึงปากถ้ำ เพราะไม่อยากให้น้องต้องเดิน เนื่องจากบางคนเพิ่งเจอความหนาวมา บางคนมีสติ บางคนหลับ ส่วนยาที่ใช้เพื่อไม่ให้เด็กตื่นตระหนก แต่ยาอะไรนั้นเป็นเรื่องของทีมงานชุดดำน้ำ ซึ่งเป็นมืออาชีพและระดับโลก กระบวนการบางเรื่องต้องให้เกียรติเขา เป็นจรรยาบรรณของเขา เราจะไม่แทรกแซง แต่เราตกลงร่วมกันว่าเป้าหมายคือ น้องมีชีวิตอยู่รอดปลอดภัย
    เมื่อถามว่า ใช้เงื่อนไขใดว่าใครจะออกมาก่อนหรือหลัง พล.ร.ต.อาภากร ตอบว่า เขาเลือกกันเอง โดยโค้ชเขียนว่าคนไหนจะออกก่อน ส่วนโค้ชไม่ใช่คนสุดท้าย เพียงแต่มาชุดสุดท้าย.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"