ถอดบทเรียน 'ถ้ำหลวง' การเมืองไทยจะไปทางไหน


เพิ่มเพื่อน    

    ความสำเร็จจากปฏิบัติการช่วยเหลือนักฟุตบอลเยาวชน ทีมหมูป่าอะคาเดมีแม่สาย และโค้ช รวม 13 คน ที่ติดภายในถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอน ต.โป่งผา อ.แม่สาย จ.เชียงราย ออกมาได้ทั้งหมดอย่างปลอดภัย ได้รับการชื่นชมไปทั่วโลก กลายเป็นโมเดลการกู้ภัย และการทำงานเป็นทีมที่สามารถถอดบทเรียนได้หลายมิติ

    เหตุการณ์ดังกล่าวเป็นปรากฏการณ์ระดับโลก เป็นการกู้ภัยที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ทำให้ทั่วโลกต้องจารึกไว้ในประวัติศาสตร์ และทำภาพลักษณ์ประเทศไทยเป็นที่ยอมรับจากทั่วโลกมากขึ้น นอกจากความสำเร็จจากปฏิบัติการอันยากลำบากแล้ว ยังรู้จักและชื่นชมประเทศไทยในมิติอื่นๆ อีกด้วย  
    บุคคลที่เป็น "ฮีโร่" ครั้งนี้คือคนไทยและคนทั้งโลกตามที่ นายณรงค์ศักดิ์ โอสถธนากร อดีตผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย ในฐานะผู้บัญชาการเหตุการณ์ศูนย์อำนวยการร่วมค้นหาผู้สูญหายในวนอุทยานถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอน จ.เชียงราย (ศอร.) กล่าวยกย่อง เพราะเป็นปฏิบัติการที่คนไทยและคนทั่วโลกร่วมแรงร่วมใจกันมากที่สุด
    ต้องยอมรับว่าปฏิบัติการกู้ภัย 13 ชีวิตติดถ้ำที่ต้องแข่งกับเวลาเช่นนี้สำเร็จลงได้ เป็นผลจากการบริหารการจัดการในภาวะวิกฤติ (CRISIS MANAGEMENT) ที่มีประสิทธิภาพ โดยมี ผู้ว่าฯ ณรงค์ศักดิ์ เป็น ผบ.เหตุการณ์ เริ่มต้นจากการขอให้ หน่วยซีล-นักทำลายใต้น้ำจู่โจม ที่มี พล.ร.ต.อาภากร อยู่คงแก้ว ผู้บัญชาการหน่วยบัญชาการสงครามพิเศษทางเรือ (ผบ.นสร.) มาช่วย
    ซึ่งภาวะวิกฤติเช่นนี้ ภาวะผู้นำ-การตัดสินใจ เป็นเรื่องสำคัญที่สุด โดยมีการร้องขอ นายเวิร์น อันสเวิร์ธ นักสำรวจถ้ำชาวอังกฤษ ที่มีประสบการณ์ในการสำรวจถ้ำและทำการสำรวจถ้ำแห่งนี้มาแล้วให้มาช่วย เมื่อนายเวิร์นเข้ามาเห็นหน้างาน ประเมินสถานการณ์แล้วเห็นว่าเป็นงานหินที่ต้องได้มืออาชีพระดับโลก
    เวิร์น อันสเวิร์ธ จึงเขียนโน้ตให้กับ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย ระบุหัวข้อว่า "เวลาใกล้จะหมดแล้ว" ให้ประสานขอความช่วยเหลือ ทีม World Best Cave Diver (นักดำถ้ำที่ดีที่สุดในโลก) จากอังกฤษ คือ นายริชาร์ด สแตนตัน และ นายจอห์น โวลันเธน และ นายโรเบิร์ต ฮาร์เปอร์ มาช่วย ก่อนที่จะหารือกับ ผบ.ศอร. แล้วประสานกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กระทรวงการต่างประเทศ ให้รีบประสานงานอย่างเร่งด่วน
    รวมทั้ง ดร.ริชาร์ด แฮร์ริส คุณหมอนักดำถ้ำชาวออสเตรเลีย ที่เป็นผู้ประเมินร่างกายและความพร้อมของทีมหมูป่าในการดำน้ำออกจากถ้ำหลวง 
    นอกจากนี้ยังมีนักดำน้ำระดับโลก ประมาณ 50 นาย มาช่วยกู้ภัยครั้งนี้ด้วย รวมทั้งนักกู้ภัยอีกหลายประเทศ อาทิ อังกฤษ สหรัฐอเมริกา ลาว ญี่ปุ่น เมียนมา ออสเตรเลีย จีน เป็นต้น 
    แม้แต่ อีลอน มัสก์ มหาเศรษฐีด้านอวกาศ ซีอีโอบริษัท สเปซเอ็กซ์ ผู้ก่อตั้งบริษัท เทสล่า ได้ขนอุปกรณ์ดำน้ำขนาดเล็กที่เพิ่งผลิตมาร่วมปฏิบัติการครั้งนี้ โดยเฉพาะภายหลังได้ทวีตข้อความว่า "thailand is so beautiful - ประเทศไทยสวยงามมาก"
     ขณะที่นักกู้ภัยชาวไทย จิตอาสาจากทั่วสารทิศ ก็รุดมาช่วยกันอย่างมากมาย ความเสียสละ มีน้ำใจอันดีงาม เป็นที่ประจักษ์ต่อสายตาชาวโลก
    ตลอดระยะเวลาทั้ง 17 วัน คนไทยและชาวโลกได้เห็นปฏิบัติการแบบมืออาชีพของ ศอร.จนได้รับความร่วมมือจากทุกฝ่าย รวมทั้งสื่อมวลชนทั้งไทยและต่างประเทศ 
    ที่น่าสนใจ บนบอร์ดหน้าถ้ำหลวง เขียนข้อความเป็นภาษาอังกฤษ ความว่า "เรามาที่นี่เพื่อจุดประสงค์เดียวกัน"  
    หลักปฏิบัติของการปฏิบัติงานของกองกำลังเฉพาะกิจร่วม 
    - ให้ความเคารพ
    - พูดภาษาคน
    - การสื่อสาร : ชัดเจน กระชับ และตรงประเด็น
    - เคารพความแตกต่าง
    - งดการแบ่งแยก
    - ไม่มีแนวคิดใดเป็นแนวคิดโง่ๆ
     พวกเราเป็นทีมเดียวกัน
    หลักปฏิบัติของกองกำลังเฉพาะกิจร่วมดังกล่าว สะท้อนถึงหลักการทำงานเป็นทีมแบบมืออาชีพได้เป็นอย่างดี โดยเฉพาะการทำงานร่วมกับมืออาชีพระดับโลกจากทั่วโลก 
     จาก mission impossible จึงเป็น mission impossible 
    แต่ก็ต้องสูญเสีย หน่วยซีล ไป 1 นาย คือ จ่าแซม-จ.อ.สมาน กุนัน อดีตนักทำลายใต้น้ำจู่โจม ซึ่งคนไทยและทั้งโลกต่างยกย่องเขาเป็นผู้เสียสละ และเป็นต้นแบบแห่งความกล้าหาญ
    ภายหลังภารกิจสำเร็จแล้ว ทีมนักดำน้ำระดับโลกต่างชื่นชมเป็นเสียงเดียวกันว่า ความสำเร็จครั้งนี้มาจากการทำงานเป็นทีม ทั้งทีมไทยและต่างประเทศ 
    และก็ไม่มีใครยอมรับว่าเป็น วีรบุรุษ หรือ ฮีโร่ แต่อย่างใด 
    "คีย์สำคัญคือ ความสามัคคี ไม่ใช่เฉพาะที่เชียงราย หรือประเทศไทย แต่เป็นความสามัคคีทั้งไทยและต่างประเทศ เกินคำว่ากู้ภัย กู้ชีพ เป็นการแสดงให้เห็นว่าเป็นความสามัคคีของทุกชนชาติ ไม่ว่าเชื้อชาติใด ภาษาใด" ผบ.ศอร. กล่าวถึงความสำเร็จ มิชชั่น พอสซิเบิล
    นายณรงค์ศักดิ์ บอกด้วยว่า "การทำงานครั้งนี้จะสำเร็จไม่ได้ถ้าเราไม่ได้รับพระบารมีปกเกล้าปกกระหม่อมของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่พระองค์ทรงติดตาม ทรงห่วงใย ชื่นชมการทำงานของเจ้าหน้าที่ พระราชทานกำลังใจ สิ่งของ อุปกรณ์ ที่ไม่สามารถหาจากตลาดได้ ทรงพระราชทานมาทันเวลา การปฏิบัติครั้งนี้ถือเป็นพระมหากรุณาธิคุณ จะเทิดทูนเพื่อเป็นสิริสัพสวัสดิมงคลแก่ปวงข้าพระพุทธเจ้าทั้งหลาย"
    ขณะที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช. แถลงผ่านโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจ ขอบคุณทุกฝ่าย ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ประชาชนทั้งชาวไทยและต่างประเทศ ที่ได้ร่วมมือกันเสียสละ อดทน ปฏิบัติภารกิจอย่างเต็มขีดความสามารถ ด้วยสติปัญญาและความกล้าหาญ ประกอบกับกำลังใจจากทั่วทุกมุมโลก ทุกชาติศาสนาที่ส่งมายังประเทศไทย แม้วันนี้ภารกิจจะเสร็จสิ้นแล้ว แต่ภาพของความร่วมแรงร่วมใจโดยไม่แบ่งเชื้อชาติ ศาสนาจะยังคงอยู่ตลอดไป
    นายกฯ ยังกล่าวในรายการ "ศาสตร์พระราชา สู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน” ด้วยว่า การจัดทำแผนบทเรียนของเรา ต้องตอบอีก 3 โจทย์ ได้แก่ 1.คือการแก้ไขข้อบกพร่องในอดีต 2.การป้องกันไม่ให้เกิดซ้ำในอนาคต และ 3.ความพร้อมของบุคลากร และหน่วยงาน 
    วิกฤตการณ์กู้ภัย 13 ชีวิตครั้งประวัติศาสตร์นี้ สามารถสร้างกระบวนการเรียนรู้ในทุกด้าน รวมทั้งการเมืองไทยที่มีความขัดแย้งในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ทุกฝ่ายจะถอดบทเรียนการกู้ภัยถ้ำหลวงเป็น "โมเดล" ในการแก้วิกฤติทางการเมืองได้อย่างไร
    ก่อนอื่นทุกภาคส่วน ทุกกลุ่มการเมือง ทุกเสื้อสี รวมทั้งรัฐบาล คสช. ต้องวิเคราะห์ปัญหา ความผิดพลาดในอดีตให้มีข้อสรุปตรงกันก่อน แล้วสร้างความเข้าใจร่วมกัน ถึงจะกำหนดทิศทางแก้ปัญหาในแนวทางเดียวกันได้
    แต่ปรากฏการณ์หลังการยึดอำนาจ 22 พ.ค.2557 ผ่านมา 4 ปีกว่า ทั้ง คสช. และบรรดากลุ่มการเมืองต่างๆ ยังมองปัญหาคนละทิศทาง เหมือนพูดกันคนละภาษา  
    พล.อ.ประยุทธ์ ยังวิพากษ์นักการเมืองว่า รัฐบาลที่ไม่มีธรรมาภิบาลทำให้เกิดปัญหาทางการเมือง จน คสช.ต้องเข้ามา ตนเองจึงเป็นนายกฯ และกำลังปฏิรูปประเทศ เพื่อวางรากฐานให้กับประเทศชาติในอนาคต
    ขณะที่ฝ่ายการเมืองก็วิพากษ์ คสช.ว่าทำการรัฐประหาร ฉีกรัฐธรรมนูญ ทำลายประชาธิปไตย ทำให้เกิดความขัดแย้ง รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ก็เอื้อประโยชน์ให้ตัวเองสืบทอดอำนาจ บางคนประกาศว่าหากได้กลับมามีอำนาจจะต้องเช็กบิล คสช.ด้วย
    แม้จะมีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ มีกฎหมายลูกแล้ว และเตรียมเข้าสู่โหมดการเลือกตั้ง ในต้นปี 2562 แต่บางพรรคการเมืองก็มองว่ากติกาใหม่ทำให้เกิดความยุ่งยาก มีเจตนาบั่นทอนพรรคใหญ่ให้ได้คะแนนน้อยลง
    โดยเฉพาะข้อกล่าวหา รัฐบาล คสช.หนุนพรรคการเมืองใหม่อย่าง พรรคพลังประชารัฐ แล้วมีการเสนอผลประโยชน์และการช่วยเหลือคดีความกับอดีต ส.ส.แลกกับการย้ายมาสังกัดพรรคพลังประชารัฐ
    ล่าสุดจะมีการลงพื้นที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) นอกสถานที่ จ.อำนาจเจริญ และ จ.อุบลราชธานี ก็ถูกมองว่ามีนัยทางการเมืองอีก
    แม้นายกฯ จะปฏิเสธว่าไม่มีนัยทางการเมือง พร้อมบอกว่า "การทำงานของนายกรัฐมนตรีคือการลงพื้นที่ ไม่ใช่อยู่บนหอคอยงาช้าง ซึ่งไม่จำเป็นต้องทำเพื่อใครหรือพรรคการเมืองใด"
    แต่ก็ไม่สามารถทำให้การโจมตี กล่าวหา ตอบโต้ทางการเมือง จางหายไป  
    ช่วงกลางสัปดาห์ที่ผ่านมา อดีต ส.ส.อีสาน ภาคกลาง พรรคเพื่อไทย หลายคน ร่วมกันหารือประเด็นการเมืองหลายประเด็น
    โดย นายสมคิด เชื้อคง กล่าวถึงกระแสดูดว่า "ยังมีการส่งเจ้าหน้าที่ เพื่อนฝูง หรือคนที่สนิทสนมรู้จัก ส.ส.มาชักชวนให้ไปอยู่กับอีกฝ่าย แต่ไม่ครึกโครม เพราะมีบทเรียน โดยพูดกันว่าออกไปเถอะ ยังไงเพื่อไทยก็สลายอยู่แล้ว เขาต้องทำให้สลาย การเลือกตั้ง หน่วยงานต่างๆ ในจังหวัด อำเภอ จะดูแลช่วยเหลือเต็มที่ในการทำงานการเมือง ซึ่งคนที่มาพูดคุยต่างย้ำเรื่องการจะย่อยสลายพรรคเพื่อไทยทำให้เล็กลง มีการใช้อำนาจรัฐมาล่อให้ไปอยู่อีกฝ่าย เชื่อว่าจะยังมีไปจนถึงใกล้วันรับสมัครรับเลือกตั้ง พวกเราต่างอยากให้มีการปลดล็อกการเมืองโดยเร็ว จะได้เตรียมตัวกันในการเดินไปสู่สงครามการเลือกตั้ง”
    วิกฤติถ้ำหลวงเป็น "โมเดล" ในการแก้วิกฤติการเมืองไทยได้เป็นอย่างดี แต่สภาพการณ์ปัจจุบันการเมืองไทยยังวนเวียนอยู่ที่เดิม แต่ละฝ่ายพูดเอาดีเข้าตัวเอง กล่าวโจมตีฝ่ายตรงข้าม หากยังไม่มีการถอนบทเรียนถึงความผิดพลาด ล้มเหลวในอดีต ให้ได้ข้อสรุปร่วมกัน ทิศทางการเมืองไทยในอนาคตก็จะยังไร้ทางออก!.
    
                                ทีมข่าวการเมือง
 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"